มนุษย์สร้างความเจริญก้าวหน้าแก่โลก แต่เมื่อได้มาย่อมมีบางอย่างที่ต้องเสียไป ทุกการพัฒนาล้วนบั่นทอนทรัพยากรธรรมชาติ คนจึงต้องหันมาสร้างพลังแห่งความยั่งยืนสู่โลก
วลีคุ้นหู "ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า" เป็นแท็กไลน์ที่ปรากฏคู่โลโก้สีส้มเหลือง สะท้อนความสดชื่นสดใส และตัวอักษรสีน้ำเงินให้ความรู้สึกถึงพลังที่พร้อมจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมาย ด้วยความเป็นมิตรต่อผู้คน ชุมชน และโลก เพราะกลุ่มธุรกิจ TCP ดำเนินธุรกิจในกลุ่ม FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) ผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย เช่น เรดบูล กระทิงแดง เรดดี้ โสมพลัส แมนซั่ม ไฮ่! สปอนเซอร์ เพียวริคุ ซันสแนค ทุกแบรนด์ล้วนเป็นที่ยอมรับแพร่หลาย ในตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ เรียกได้ว่าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผลิตสินค้าโดยมี "น้ำ" เป็นวัตถุดิบสำคัญ และคำนึงถึงทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่เรื่องความยั่งยืน
คิดยั่งยืนตั้งแต่ต้น
ตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งบริษัท "คุณเฉลียว อยู่วิทยา ได้ปลูกฝังแนวคิดให้ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีความห่วงใยดูแลสังคม กลุ่มธุรกิจ TCP จึงได้ทำโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาตลอดเวลากว่า 68 ปี" เดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ชัดเจน หลายโครงการที่ได้ลงมือทำยังเป็นที่จดจำ และกลายเป็นต้นแบบของการทำ CSR ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการอีสานเขียว โครงการกระดานดำกับกระทิงแดง กระทิงแดงสปิริต เรารักษ์น้ำ โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน โครงการยุวเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน และโครงการกระทิงแดง ยูโพรเจกต์ เป็นต้น
เมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนไปกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ยกระดับความเข้มข้นของการทำงานด้าน CSR มาสู่แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ในปี 2561 ได้ประกาศกรอบการทำงานด้านความยั่งยืน "TCP Sustainability Framework" ประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ "Integrity" "Quality" และ "Harmony" เป็นการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ มีธรรมาภิบาล ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ และรวมพลังทั้งองค์กรในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างชุมชนยั่งยืน
และเมื่อโลกเต็มไปด้วยความท้าทาย การดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืนยิ่งมีบทบาทมากขึ้น ด้วยแนวคิดการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนอยู่แล้ว ทุกอย่างจึงก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มกำลัง แต่โลกก็มาสะดุดอีกครั้งเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มธุรกิจ TCP จึงปรับเปลี่ยนเป้าหมายองค์กรใหม่ จากที่เคยใช้คำว่า "ส่งต่อพลังชัยชนะ" เป็น "ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า" เพื่อเติมพลังกาย พลังใจ ให้คนไทย สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกใบนี้ให้ดีขึ้นสำหรับทุกคนในภาวะที่โลกถูก disrupt อย่างรวดเร็ว
สืบสานรุ่นต่อรุ่น
จากเป้าหมายใหม่ที่ได้ประกาศไป กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ยกระดับกลยุทธ์หลายด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยวางแผนงานไว้ 3 ข้อ ได้แก่ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Water Sustainability) ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงเป็นวาระสำคัญขององค์กร แต่ยังเป็นวาระเร่งด่วนระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและมีแผนปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนที่ชัดเจน
ข้อมูลจากจากรายงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ TCP ในปี 2566 ทำให้เห็นภาพการปรับแผนที่เข้มข้นขึ้น เช่นแผนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero สอดคล้องกับความจำเป็นของโลกที่นานาประเทศต้องปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่กลยุทธ์ด้านอื่นๆ ยังคงคืบหน้าในทุกด้าน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสนใจ
ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP วางประเด็นเรื่องการจัดการน้ำเป็นหัวข้อสำคัญเร่งด่วน จัดงาน TCP Sustainability Forum 2024 ด้วยหัวข้อการเสวนา "Water Resilience in a Changing Climate" เตรียมพร้อมให้ธุรกิจไทยรับมือกับความท้าทายด้านน้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชูแนวคิด 'ความยืดหยุ่นและการปรับตัวเร็ว'
ซีอีโอกลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวไว้ชัดเจนว่า น้ำเป็นหนึ่งในทรัพยากรหลักของโลก ที่กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่เราต้องเผชิญ เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป และฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นความผันผวนได้อย่างชัดแจ้ง กรณีฝนตกหนักเป็นระยะเวลานานอยู่เพียงจุดใดจุดหนึ่ง เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน เพราะระบายไม่ทันกลายเป็นอุทกภัยในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เห็นภาพชัดเจนในหลายจังหวัดทั่วไทย ดังนั้น การเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ความแปรปรวนนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับการบริหารทรัพยากรน้ำในสภาวะ climate change เมื่อโลกร้อนขึ้นในทุกปี
"ในวันที่ปริมาณน้ำสะอาดมีน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้งานมากถึง 40% ภาคธุรกิจควรจะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดและอยู่ร่วมกับภาคอื่นๆ ในสังคมอย่างไรให้ได้อย่างยั่งยืน" เป็นคำถามที่เปิดกว้างให้ทุกคนพยายามหาคำตอบเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการบริโภค และน้ำเพื่อการดำรงชีวิตของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้
จัดการน้ำอย่างยั่งยืน
กลุ่มธุรกิจ TCP วางเป้าหมาย "Net Water Positive" คืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าที่ใช้ในกระบวนการผลิต ภายในปี 2573 โดยล่าสุดสามารถคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนได้แล้ว 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ระหว่างปี 2562 - 2566 ซึ่งมากกว่า 5 เท่าของที่ใช้ในกระบวนการผลิตต่อปี
"แม้ว่าเราจะบรรลุเป้าหมายการคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ แต่กลุ่มธุรกิจ TCP ยังคงผลักดันการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป ตามเป้า Net Water Positive ด้วยการจัดการ 3 ด้าน" สราวุฒิ ย้ำหนักแน่นพร้อมแจกแจงรายละเอียดการจัดการ 3 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำแบบฟื้นฟู การใช้น้ำหมุนเวียนแบบ 100% และการใช้นวัตกรรมที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อทรัพยากรน้ำ
จากกิจกรรมและการติดตามผลจะเห็นว่าการสร้างวงจรความยั่งยืนนี้ให้มั่นคงไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนระยะสั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP ได้เปรียบการสร้างรากฐานความยั่งยืนนี้ว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำบวกกับการวางแผนที่ชัดเจน โดยกล่าวว่า "การจัดการน้ำและมาตรการด้านความยั่งยืนอื่นๆ เปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอนที่เราต้องวิ่งไปให้ได้นานที่สุด เป็น long-term game"
เขาย้ำว่า การสร้างความยั่งยืนไม่ใช่แค่การทุ่มทุนลงแรงไป แล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับมาในระยะเวลาสั้นๆ ทว่าเกิดจากการวางแผนระยะยาวต้องทำด้วยความใจเย็น และต้องเริ่มตั้งแต่ในระดับองค์กร ด้วยการปลูกฝังแนวคิดด้านนี้ให้กับคนภายในองค์กร เพื่อให้ทุกคนมองเป้าหมายเป็นภาพเดียวกัน และเต็มใจที่จะวางรากฐานความยั่งยืนนี้ไปด้วยกัน
สำหรับการวิ่งมาราธอนของกลุ่มธุรกิจ TCP เป้าหมายเรื่องน้ำต่อไปในปีหน้า คือ การยกระดับเรื่องน้ำไปสู่สากล เดินหน้าเต็มที่เตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอใบรับรองมาตรฐาน จาก Alliance for Water Stewardship(AWS) องค์กรพันธมิตรด้านการจัดการและดูแลทรัพยากรน้ำระดับโลก เพื่อเป็นเครื่องหมายการันตีถึงการทำงานที่ได้มาตรฐานระดับสากลที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
อีกสิ่งที่ยืนยันเจตนารมณ์และการลงมือปฏิบัติจริงต่อการคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติ คือการที่โครงการ "TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย" ได้รับ 2 รางวัลระดับภูมิภาค คือ รางวัล Steward Leadership 25 ประจำปี 2567 ซึ่งกลุ่มธุรกิจ TCP เป็น 1 ใน 25 องค์กรในเอเชียที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลดังกล่าวและเป็นบริษัทไทยบริษัทเดียวที่ได้รับรางวัลในปีนี้ รวมถึงรางวัล Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2024 ในสาขา Social Empowerment ในงาน Asia Responsible Enterprise Awards 2024 ในฐานะผู้ทำโครงการที่โดดเด่นด้านการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมที่ผสานความร่วมมือกับชุมชน ภาครัฐ และพันธมิตร บริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำไทย เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน
แม้กลุ่มธุรกิจ TCP จะบรรลุเป้าหมายเรื่องการบริหารจัดการน้ำไปแล้ว แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ปลายทาง เพราะยังมีเป้าหมายการจัดการในด้านอื่นๆ อีก อย่างเป้าหมาย Low Carbon Economy โดยปักธงปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2593 รวมไปถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้สามารถรีไซเคิลได้ 100% (Circular Economy) ซึ่งตั้งเป้าให้สำเร็จในปีนี้
"กลุ่มธุรกิจ TCP ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกๆ มิติให้ตอบโจทย์และรับมือกับโลกที่ผันผวน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำได้โดยลำพังต้องมีความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน" เป็นแนวคิดที่ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP ฝากถึงสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกๆ ด้าน ต้องรวมพลังเพื่อสร้างวันที่ดีกว่าไปด้วยกัน
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine