หากเอ่ยชื่อ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (RBF) หลายคนคงอาจไม่รู้จัก แต่กระนั้นก็เชื่อว่าคงมีจำนวนไม่น้อยที่ได้ลิ้มลองอาหารและเครื่องดื่มที่บริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมปรุงแต่งด้วยการจัดหาวัตถุแต่งกลิ่นและรสให้โดยไม่รู้ตัว บริษัทสัญชาติไทยแห่งนี้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ลูกค้าต่างชาติน้อยใหญ่ต่างให้การยอมรับ ที่สำคัญคือ มีอนาคตอีกยาวไกลที่ขับเคลื่อนด้วย "นวัตกรรม"
RBF ก่อตั้งโดย สมชาย รัตนภูมิภิญโญ บัณฑิตสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้หลงใหลในเทคโนโลยีทางเคมี เขาได้บุกเบิกสร้างธุรกิจวัตถุแต่งกลิ่นรส จนวันนี้กว่า 3 ทศวรรษ บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะเป็นผู้นำด้านการผลิตวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหาร ไม่เพียงในไทยแต่ยังในระดับนานาชาติ ทั้งยังเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และถูกนำเข้าดัชนี SET100 ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหาร (food ingredients) ชั้นนำของไทย ผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าด้วยทีมงานวิจัยผู้เชี่ยวชาญของบริษัท นอกจากนี้ ยังผลิตและจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้าร้านค้าปลีกทั่วไปภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น อังเคิลบาร์นส์, เบสท์ โอเดอร์ และ super-find เป็นต้น มาวันนี้บริษัทมีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเข้ารุกตลาดกัญชง ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตโรงงานสกัดสาร CBD-THC จากกัญชงจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นรายแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงได้รับใบอนุญาตเพาะปลูก-สกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงจาก อย. ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจกัญชงครอบคลุมต้นน้ำถึงกลางน้ำ นอกจากนี้ ยังเปิดประตูให้ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เข้าถือหุ้น 10% เพื่ออาศัยประโยชน์จากเครือข่ายของ TU ที่มีอยู่ทั่วโลกสร้างการเติบโต ตามข้อมูลจากรายงานประจำปี 2564 ระบุว่า กลุ่มบริษัท RBF มีโรงงานผลิตวัตถุผสมอาหารและผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกอยู่ 10 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 8 แห่ง และต่างประเทศ 2 แห่ง ขณะที่ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่าในปี 2564 RBF มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,391.06 ล้านบาท กำไรสุทธิ 420.10 ล้านบาท ส่วนปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 3,187.27 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 519.02 ล้านบาท โดยผลประกอบการของบริษัทในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามคาดว่า ในปี 2565 จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่ใช่ว่าความสำเร็จนั้นจะได้มาได้ง่ายๆ เพราะที่ผ่านมาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายอย่างล่าสุดก็วิกฤตโควิด-19 โดย พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ ทายาทรุ่น 2 ในฐานะกรรมการ RBF บอกกับ Forbes Thailand ถึงการเอาชนะวิกฤตคือ “ต้องปรับตัวให้ไว” โดยเธอให้เครดิตกับวัฒนธรรมองค์กรที่ “เป็นคนขี้กังวล” เพราะสิ่งนี้ได้ปลูกฝังความขี้กังวลให้เป็น mindset ขององค์กร ทำให้พนักงานจะประเมินตัวเองรอบด้านเสมอ ในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะด้านลูกค้า ตลาดซัพพลายเออร์ คู่แข่ง สถานการณ์โลก ความเสี่ยงใหม่ๆ ที่จะมาดิสรัปต์ธุรกิจ รวมไปถึงภัยธรรมชาติที่อาจจะส่งผลกระทบในห่วงโซ่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้บริษัทก้าวไปสู่โอกาสธุรกิจใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งตัวเองต้องทบทวนว่า ได้ทำเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ถ้าไม่จะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่ม “ที่ผ่านมาเราผ่านวิกฤตหนักๆ 2 ครั้ง...ซึ่งก็คือวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ค่าเงินผันผวนและกำลังซื้อที่เปลี่ยนไป ด้วยความขี้กังวลเราจึงรอดมาได้ เพราะมีหนี้สินน้อย มีเงินสดหมุนเวียนที่ดี มีการหา supplier สำรองรอไว้ รวมถึงการระวังในการให้เครดิตลูกค้า และการลงทุนใน fixed asset ที่ไม่มากจนเกินไป” ตัวอย่างเช่น ภาวะสงคราม หรือการปรับตัวขึ้นของต้นทุนสินค้าต่างๆ คือวิกฤตที่ทุกบริษัทต้องเผชิญ นอกจากการเจรจากับคู่ค้าแล้ว บริษัทยังต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ต้นทุนถูกลง หรือเสนอสินค้าใหม่ๆ เช่น แป้งสาลีราคาแพง บริษัทก็ต้องเตรียมว่าเสนอสินค้าอื่นในกลุ่ม ingredients ได้ไหม หรือใช้แป้งอื่นมาผสมหรือทดแทนแป้งสาลี ซึ่งบริษัทได้มีการพัฒนารอไว้ สำหรับการเติบโตในอนาคต พ.ต.พญ.จัณจิดาบอกว่า จะยังเติบโตในลักษณะของผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบอาหารเช่นนี้ต่อไป เธอเปรียบ RBF เหมือนกับบริษัทยาที่ต้องผลิตยาใหม่ๆ ให้กับแพทย์ไปเลือกใช้กับผู้ป่วย ถ้าไม่มียาใหม่ๆ การรักษาโรคก็คงไม่คืบหน้า เช่นเดียวกับธุรกิจอาหาร ถ้าไม่มี ingredient ใหม่ๆ อาหารก็คงจะมีแต่รสชาติเดิมๆ อาหารเดิมๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการสร้างนวัตกรรมโดยบริษัทมุ่งเน้นการคิดค้นที่ก้าวหน้ากว่าคนอื่นๆ เพื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการ “แนวโน้มอาหารมีความหมายมากกว่าอร่อยและอิ่มท้อง แต่คนมองอาหารเป็นยาเป็นการบำรุงร่างกาย ซึ่งนั่นคือแนวทางของ RBF ในอนาคต ซึ่งก็ได้เริ่มทำมาพักใหญ่แล้ว CBD จากกัญชงเป็นเพียงแค่สารที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายตัวหนึ่งที่เราทำ จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายตัวที่เริ่มเตรียมไว้ อาทิ ลดเกลือ, การเติมไฟเบอร์, prebiotic และการลด glycemic index ในอาหารกลุ่มแป้ง” ภาพ: RBF อ่านเพิ่มเติม:- ชวพงษ์ เชาวพัฒนวงศ์ ผงาดเครื่องมือช่าง “PUMPKIN”
- จากเมนูหลังร้านปั้นแบรนด์ “NSL” อาหารพร้อมเสิร์ฟเก็บง่ายไม่ต้องแช่เย็น
- ONE CHAMPIONSHIP คลุกวงใน ติดท็อป 5 ธุรกิจสื่อกีฬาระดับโลก
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine