ONE Championship คลุกวงใน ติดท็อป 5 ธุรกิจสื่อกีฬาระดับโลก - Forbes Thailand

ONE Championship คลุกวงใน ติดท็อป 5 ธุรกิจสื่อกีฬาระดับโลก

ความยากลำบากไม่ได้ทำให้ ชาตรี ตรีศิริพิศาล หยุดฝัน แต่ตรงกันข้ามได้แปรเปลี่ยนเป็นแรงมุ่งมั่นให้เขานำวิชามวยไทยที่ได้ร่ำเรียนตั้งแต่วัยเด็กมาต่อยอดสร้างธุรกิจ sport entertainment ซึ่งปัจจุบันเป็นรายการ ONE Championship ที่ติด 1 ใน 5 อันดับ รายการกีฬาระดับโลกที่มีผู้ชมมากที่สุด

จากชายวัยรุ่นฐานะมีอันจะกิน “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ได้ซัดธุรกิจของครอบครัวล้มครืนซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างให้ ชาตรี ศิษย์ยอดธง ปากกัดตีนถีบเลี้ยงตนเอง แม่ และน้อง ที่อาศัยรวมกันภายในหอพักขนาดเล็กระหว่างเรียนปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน พร้อมกับนำวิชามวยไทยที่ติดตัว ตระเวนสอนหารายได้และทำงานเสริมเพื่อจุนเจือชีวิต ไม่นานนักชีวิตมวยรองเริ่มเดินเกมได้ดีขึ้นจากวิชาการที่เล่าเรียนในคณะบริหารธุรกิจจาก Harvard Business School หลังจบการศึกษาเมื่อปี 2542 เขาและเพี่อนร่วมชั้นเรียนตั้งบริษัท NextDoor Networks ที่ Silicon Valley หนึ่งในกลุ่มก่อตั้งคือ Soon Loo เพื่อนร่วมอะพาร์ตเมนต์ของชาตรี และปีต่อมา NextDoor Networks เติบโตและได้รับเงินระดมทุน ทำให้เขาตัดใจขายหุ้นในส่วนที่ถือได้รับเงินก้นถุงเป็นจำนวน 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เดินทางเข้า New York สู่บทบาทผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และถือเป็นช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จในชีวิตของเขาช่วงหนึ่ง แต่ด้วยความรักในศิลปะการต่อสู้และความเข้าอกเข้าใจวิถีการใช้ชีวิตของนักมวยไทย อาชีพที่ต้องสร้างรายได้อย่างลำบากทำให้เขารวบรวมนักมวยค่ายศิษย์ยอดธงตั้งค่าย Evolve Mixed Martial Arts Singapore ซึ่งจดทะเบียนในปี 2562 เป็นสถาบัน ซึ่งสอนศิลปะการป้องกันตัวแบบผสมผสานจากหลายๆ ศาสตร์ ซึ่งรวมไปถึงการนำศิลปะมวยไทยสร้างนักชกชาวไทยและต่างชาติจากทั่วโลก ก่อนที่จะสบไอเดียธุรกิจกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเปิดตัวเป็นผู้จัดการแข่งรายการ ONE Championship รายการที่นำศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานมาแข่งขัน เลือกสิงคโปร์เป็นสำนักงานใหญ่และเวทีมวยเป็นสถานที่ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก รายการ ONE Championship จดทะเบียนทางพาณิชย์ที่ประเทศสิงคโปร์ในนาม Group One Holdings Pte. Ltd. เป็นการเริ่มต้นธุรกิจร่วมกันระหว่างชาตรีและ Victor Cui อดีต Senior Executive ESPN Star Sports เปิดฤกษ์ธุรกิจวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 2554 ชาตรีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การสร้างรายการการแข่งขันที่มูลค่าหลักพันล้านเหรียญดังเช่นรายการแข่งขันอย่าง The National Football League หรือ NFL หรือ The National Basketball Association ในสหรัฐฯ รายการแข่งขันฟุตบอลอย่าง Premier League การแข่งขันฟุตบอลระดับสูงสุดของอังกฤษ หรือ Formula One การแข่งขันรถทางเรียบที่เร็วที่สุดในโลกรายการกีฬาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีฐานแฟนจากทั่วโลก แต่เมื่อมองกลับมาที่ภูมิภาคเอเชียซึ่งมีประชากรมากถึง 4.4 พันล้านคนในวันนี้ยังไม่มีรายการการแข่งขันที่มีมูลค่ารายการถึงหลักพันล้านเหรียญ ขณะที่เอเชียเต็มไปด้วยศิลปะการต่อสู้หลากหลายแขนง เขาจึงหมายมั่นปั่นมือสร้างธุรกิจนี้ให้สำเร็จด้วยการพัฒนาเนื้อหาเข้าไปยังสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ให้ตรงกลุ่มผู้ชม จุดแข็งของรายการ ONE Championship คือ การผสมผสานศาสตร์การต่อสู้และความบันเทิงเข้าด้วยกันผ่านความสนุกและเสน่ห์ของการแข่งขันบนเวทีทุกซีรีส์การแข่งขันที่ ONE Championship โดยนำเสนอเรื่องเล่าของบรรดานักชกถึงความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคที่ดึงจำนวนผู้ชมเพิ่มจำนวนสูงขึ้นตามลำดับ นำมาซึ่งจุดแกร่งของธุรกิจด้านการถ่ายทอดคือจำนวนผู้ชมจากทั่วโลก ตามข้อมูลของ Nielsen จากรายงาน Year in Review: Sports Consumption Evolution รายการมียอดรับชมวิดีโอใน Facebook, Instagram, YouTube และ TikTok มากกว่า 13.8 พันล้านครั้ง ตามหลังอันดับ 1 NBA ที่มียอดวิวในปี 2564 มากกว่า 14.5 พันล้านครั้ง ตั้งแต่ก่อตั้ง ONE Championship แสงสปอตไลต์การลงทุนสาดแสงพุ่งตรงมาที่บริษัทและชาตรีในทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเงินทุนที่เข้ามาร่วมลงทุนในช่วงเริ่มอย่างบริษัทจากกลุ่ม Temasek รวมไปถึงช่องทางการถ่ายทอดผ่านฟรีทีวีและสื่อดิจิทัลมากมาย อาทิ Amazon Prime Video, Star Sports, Beijing TV และล่าสุดได้ทำสัญญาร่วมกับ Amazon Prime Video สามารถบรรลุข้อตกลงเป็นจำนวน 12 รายการในปี 2564 นี้ ภาพ: ONE Championship
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine