กลุ่มทุนญี่ปุ่น เริ่มเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2496 และมีการลงทุนขนานใหญ่ในปี 2502 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนทางอุตสาหกรรม เริ่มทศวรรษแรกการลงทุนระหว่างปี 2502-2512
การลงทุนของ กลุ่มทุนญี่ปุ่น ในไทยเริ่มจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน (labor intensive) และใช้เทคโนโลยีเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักก่อนที่จะขยายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหารในทศวรรษที่ 2 ระหว่างปี 2513-2522 และในทศวรรษที่ 3 ได้ขยายการลงทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มาจนถึงปัจจุบันกลุ่มทุนญี่ปุ่นเริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การค้า เทคโนโลยีขั้นสูง และกลุ่มธุรกิจบริการ ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นถือเป็นกลุ่มทุนหลักที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและอาเซียนเฉพาะในประเทศไทยตลอดระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษ มีเม็ดเงินลงทุนหลายล้านล้านบาท เฉพาะที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2551-2563 มีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท“มิตซูบิชิ” ปักธงฐานผลิตหลัก
Morikazu Chokki กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยครบ 60 ปีในปี 2564 ถือว่าเป็นกลุ่มทุนแรกๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทยนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุน ได้ให้สัมภาษณ์ในวันครบรอบการลงทุนในประเทศไทยเป็นปีที่ 60 เมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2564 ว่า บริษัทได้เข้ามาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยในปี 2504 โดยวางรากฐานให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์นอกประเทศญี่ปุ่น เพื่อจำหน่ายรถยนต์ทั้งภายในประเทศไทยและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก “เราเริ่มต้นจากที่ผลิตรถยนต์ได้เพียง 59 คันต่อปีในปีแรกที่ทำธุรกิจในไทย จนปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 424,000 คันต่อปี ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น นอกประเทศญี่ปุ่น และยิ่งไปกว่านั้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยเป็นรายแรก และสามารถสร้างยอดการส่งออกสะสมครบ 4 ล้านคัน (ตั้งแต่ปี 2531-2562) ไปจำหน่ายทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ ในปี 2562 ครองแชมป์อันดับ 1 ด้านการส่งออกรถยนต์ในปีดังกล่าว และมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ครบ 6 ล้านคันในประเทศไทยในปี 2564 ไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของมิตซูบิชิด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน มีความพร้อมในเรื่องของบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับกับการพัฒนาและการลงทุนของกลุ่มมิตซูบิชิในปัจจุบันและในอนาคต” Chokki กล่าว ปัจจุบัน บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีโรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่งในประเทศไทย โรงงานผลิตเครื่องยนต์ 1 แห่ง สนามทดสอบรถยนต์แห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น และสถาบันการศึกษาและฝึกอบรม (Education Academy) สำหรับพนักงานและผู้จำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ได้ลงทุนในประเทศไทยในด้านต่างๆ ไปแล้วกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท และบริษัทยังคงมีแผนขยายการลงทุนในประเทศไทยอีกไม่น้อยกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564-2569 “ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของเรานอกประเทศญี่ปุ่น ด้วยศักยภาพด้านการผลิตของประเทศไทย ทำให้เรายังคงเดินหน้าตามแผนธุรกิจระยะกลาง โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านทรัพยากรในประเทศไทย การสร้างความแข็งแกร่งด้านการผลิตรถยนต์เพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาดในเมืองไทยให้มากขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า” นายใหญ่ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวย้ำถึงเป้าหมายและทิศทางการลงทุนของมิตซูบิชิที่ยังคงมองไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค กลุ่มอสังหาฯ พาเหรดร่วมทุน นอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว กลุ่มทุนญี่ปุ่น อีกหลายรายยังทยอยเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และระลอกการลงทุนล่าสุดคือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งพาเหรดเข้าร่วมทุนกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยหลายราย นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการก่อสร้างเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก “ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยสภาพของภูมิประเทศที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ” Tomohiko Eguchi กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน บริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท จำกัด เข้ามาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556 โดยร่วมทุนกับ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) พัฒนาคอนโดมิเนียมตั้งแต่ปี 2556 ถึงไตรมาสแรกปี 2564 รวม 20 โครงการมูลค่า 99,900 ล้านบาท Eguchi ระบุว่า กลุ่มมิตซูบิชิ เอสเตท ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพราะมองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย กำลังซื้อทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติ ถึงแม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 แต่ตลาดอสังหาฯ ในประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ยอดขายและการรับรู้รายได้ของบริษัทร่วมทุนในไทยในปี 2563 และไตรมาสแรกของปี 2564 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นโอกาสในการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาฯ ในประเทศไทย นอกจาก กลุ่มมิตซูบิชิ เอสเตท ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556 แล้วยังพบว่า กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ได้เข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทยมูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเข้ามาร่วมทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับกลุ่มทุนไทยตั้งแต่ปี 2550 เช่น กลุ่มมิตซุย ฟูโดซัง ร่วมทุนพัฒนาคอนโดมิเนียมร่วมกับ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มูลค่ารวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท กลุ่มฮันคิว โฮลดิ้งกรุ๊ป ร่วมทุนพัฒนาคอนโดมิเนียมกับ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทโตคิว ร่วมทุนกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กลุ่มโนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ร่วมทุนกับบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กลุ่มชิวะร่วมทุนกับ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด กลุ่มซูมิโตโม ฟอเรสทรี ร่วมทุนกับ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เป็นต้น การเคลื่อนทัพของกลุ่มทุนอสังหาฯ จากประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทยสะท้อนถึงความมั่นใจของผู้ประกอบการอสังหาฯ จากประเทศญี่ปุ่นต่อการเติบโตของภาคอสังหาฯ ในประเทศไทย ที่ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของผู้ซื้อชาวไทยและผู้ซื้อต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาพำนักและทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก ตามการเคลื่อนย้ายการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการ ของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาสู่ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ญี่ปุ่นลงทุนตรงกว่า 1.8 ล้านล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) รายงานการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติตั้งแต่ปี 2551-2563 สูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มงานบริการด้านวิศวกรรมเป็นต้น นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการ BOI กล่าวถึงการลงทุนของ "กลุ่มทุนญี่ปุ่น" ในประเทศไทยว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ในปี 2563 รองลงมา ได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และไต้หวัน ขณะที่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังคงได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนญี่ปุ่น และคาดว่าในปี 2564 จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ที่ BOI ออกมาใหม่ในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้การส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้า (EV) รอบใหม่ครอบคลุมทุกประเภททั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถ 3 ล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า การเปิดส่งเสริมกิจการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร กิจการวิจัยทางคลินิก เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย “ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ยังคงขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ทั้งในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี และภาคบริการ” รองเลขาธิการ BOI กล่าว ขณะที่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) สำนักงานกรุงเทพฯ เปิดเผยผลการสำรวจแนวโน้มการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2563 จากการสำรวจเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปี 2563 - 12 มีนาคม ปี 2564 พบว่า ทิศทางการลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่นในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Atsushi Taketani ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า การสำรวจแนวโน้มการลงทุนฯ ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 4 หลังจากทำการสำรวจเมื่อ 3 ปีก่อน (ปี 2560) ซึ่งขณะนั้นมีการประกอบธุรกิจญี่ปุ่นในไทยจำนวน 5,444 บริษัท แต่ในการสำรวจปีนี้พบว่า มีเพิ่มขึ้นที่ 5,856 บริษัท หรือเพิ่มขึ้น 412 บริษัท ทั้งนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรมพบว่าอันดับ 1 คือ อุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 2,344 บริษัท อันดับ 2 คือ การค้าส่งและการค้าปลีก จำนวน 1,486 บริษัท และอันดับ 3 การบริการ จำนวน 1,017 บริษัท สำหรับธุรกิจบริการผลสำรวจครั้งนี้ชี้ว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นถึง 121 บริษัท เทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่มีจำนวน 896 บริษัท และเพิ่มเป็น 1,017 บริษัท จึงนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ทำการสำรวจที่จำนวนบริษัทจากกลุ่มธุรกิจบริการทะลุ 1,000 บริษัท “แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้ความยากลำบากอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทยยังคงเพิ่มจำนวนมากกว่า 400 บริษัท และมีบริษัทที่ยังดำเนินกิจการต่อไปได้อยู่ถึง 5,856 บริษัททำให้ผมรู้สึกมั่นใจเป็นอย่างมาก เจโทร กรุงเทพฯ ยังคงสนับสนุนการลงทุนของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างแข็งขันเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” Taketani ย้ำเขายังบอกด้วยว่า การลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่นนอกจากในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ยังขยายการลงทุนไปในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก อาทิ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ “ทัศนคติการลงทุนของนักธุรกิจญี่ปุ่นเริ่มเป็นบวกมากขึ้นในปี 2564 หากดูจากตัวเลขการลงทุน การส่งออกในตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต และอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจล้วนอยู่ในเกณฑ์ดี นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงลงทุนในประเทศไทย เพราะมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทั้งด้านการลงทุนการส่งออก ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังเห็นถึงการฟื้นตัวของค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index: DI) ที่กลับมาเป็นบวกในอุตสาหกรรมหลายประเภท และคาดการณ์ว่า ดัชนี DI จะปรับตัวดีขึ้นอีกในครึ่งแรกของปี 2564” ประธานเจโทรคาดการณ์ด้วยมุมมองที่เป็นบวกท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ขณะเดียวกัน การจัดทำรายงานแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย ซึ่งสำรวจสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ประจำปี ปีละ 2 ครั้ง ในครั้งนี้สำรวจบริษัท 607 รายจาก 1,702 ราย ผลสำรวจในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปี 2563 พบว่าค่าดัชนี DI ซึ่งอยู่ที่ -64 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ปรับตัวมาอยู่ที่ 6 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีเดียวกัน และขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ตามตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนี DI โดยจะเห็นว่า การปรับตัวนี้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับค่าดัชนี DI ในช่วงแรกของปี 63 Taketani ระบุว่า ในผลสำรวจชี้ให้เห็นการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรของอุตสาหกรรมการผลิต โดยพบว่าบริษัทญี่ปุ่นจะลงทุนเพิ่มในปี 2564 คิดเป็น 34% ขณะที่บริษัทที่คาดว่าจะลงทุนคงที่ 28% และบริษัทที่คาดว่าจะลงทุนลดลงมีสัดส่วน 25% ส่วนการส่งออกและตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในอนาคตนั้น การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีบริษัทญี่ปุ่นที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น 41% บริษัทที่คาดว่าการส่งออกคงที่ 43% และบริษัทที่คาดว่าการส่งออกลดลงมีสัดส่วน 16% กลุ่มทุนญี่ปุ่นขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ประธานเจโทรระบุว่า การลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีมาโดยตลอดจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยทางเจโทรพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม แมคคาทรอนิกส์ และเครื่องจักรผลิตอาหาร เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดทั้งภายในและภาคการส่งออก รวมถึงการพัฒนาการลงทุนในภาคบริการ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติ จึงเล็งเห็นลู่ทางธุรกิจการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ เป็นโอกาสที่จะถ่ายทอดนวัตกรรมในการพัฒนางานบริการในด้านนี้ในประเทศไทย ปัจจุบันการค้าญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดอาเซียนร้อยละ 15 ขณะที่จีนอยู่ที่ร้อยละ 24 ซึ่งประธานเจโทรมองว่า ไทยเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่สำคัญมากในภูมิภาคอาเซียน นอกจากมีความสัมพันธ์ด้านการค้าที่ยาวนานกับญี่ปุ่นแล้ว ไทยยังเป็นประเทศที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน “บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งสนใจที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายังประเทศไทยเพราะญี่ปุ่นพอใจอย่างยิ่งต่อระบบห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งของไทย ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมจะเป็นผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็งและอยู่ชั้นแนวหน้าของอาเซียน” Taketani ย้ำถึงมุมมองและทัศนคตินักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทย ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้การลงทุนของกลุ่มทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เขากล่าวว่า เจโทรได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเรียกร้องจากบริษัทญี่ปุ่นในช่วงระบาดของโควิด-19 เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลไทยส่วนใหญ่ต้องการให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสาธารณูปโภค รองลงมาเป็นการปรับปรุงการบังคับใช้ระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากร และดำเนินการตามมาตรการรองรับผลกระทบจากโควิด-19 โดยนักธุรกิจญี่ปุ่นต้องการให้มีมาตรการผ่อนคลายทางภาษี ลดความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบออนไลน์เพื่อยื่นคำขอต่างๆ รวมทั้งการผ่อนปรนกฎระเบียบใหม่ให้ชาวต่างชาติเข้าออกประเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากกลุ่มทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยมากขึ้น “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพของประเทศด้านภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงมาตรการทางภาษีและการผ่อนปรนกฎระเบียบให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้มากขึ้นจะเอื้อประโยชน์ให้เกิดการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จากการสำรวจของเราพบว่า ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในภูมิภาคนี้ที่นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค” Taketani ยืนยันอีกครั้งถึงแนวโน้มและความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น เรื่อง: สมฤทัย ศรีเศษฐ ภาพ: เจโทร-มิตซูบิชิ-โตโยต้า อ่านเพิ่มเติม: ซีพี เผย 4 กลยุทธ์สำคัญ ชู “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” รวมพลังผู้ประกอบการไทยคลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine