สุวิทย์ งามภูพันธ์ ยกระดับตำรับหมอยา BLC - Forbes Thailand

สุวิทย์ งามภูพันธ์ ยกระดับตำรับหมอยา BLC

การผนึกกำลังความเชี่ยวชาญของกลุ่มเภสัชกรที่กล้าเดิมพันอนาคตกับการเป็นเจ้าของโรงงานยามาตรฐานสากล พร้อมพัฒนานวัตกรรมผสานมรดกภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยโชว์สรรพคุณสมุนไพรแจ้งเกิดแบรนด์แห่งความภาคภูมิในตลาดโลก

    

    บนความเชื่อมั่นในศักยภาพการผลิตยาเทียบชั้นอินเตอร์แบรนด์ และช่องว่างทางธุรกิจที่ยังสามารถพัฒนาสร้างความแตกต่างเป็นอาวุธเสริมการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งทำให้เภสัชกรวัย 28 ปีตัดสินใจปิดร้านขายยาที่กำลังประสบความสำเร็จและชวนเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยที่มีมุมมองเดียวกันร่วมลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตยาสัญชาติไทยท่ามกลางยักษ์ใหญ่บริษัทข้ามชาติและห้างขายยาเก่าแก่ที่มีการสืบทอดกิจการมาเป็นเวลายาวนาน

    “เมื่อ 40 ปีที่แล้วธุรกิจยาส่วนใหญ่เป็นบริษัทยาเก่าแก่ที่สืบทอดจากรุ่นพ่อหรือนายห้างขายยาและบริษัทข้ามชาติจากต่างประเทศ เพราะเป็นธุรกิจที่ยากและการแข่งขันสูง ทำให้การก่อตั้งโรงงานของตัวเองเป็นเรื่องเกินฝัน ซึ่งหลังเรียนจบเราก็ทำงานเป็นเซลส์ขายยาประมาณ 2 ปีก็ฝันอยากเป็นเถ้าแก่ ตอนนั้นมั่นใจจึงลาออกจากบริษัททันทีและเปิดร้านขายยาที่บางแคและพัฒน์พงษ์ จนสะสมทุนได้ระดับหนึ่งก็เริ่มคิดไกลถึงการมีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองจากช่องว่างที่เห็นยาฝรั่งราคาแพง บรรจุภัณฑ์สวย ทำให้เราเห็นโอกาสเริ่มการจ้างผลิตและประสบความสำเร็จจึงชวนเพื่อนเภสัชกร 2 ท่านที่เรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยกันตั้งโรงงานที่ราชบุรี”

    ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC เล่าถึงการเปิดร้านขายยาหลังลาออกจากงานตัวแทนขายของ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ก่อนจะปิดกิจการร้านยาและเริ่มต้น บริษัทบางกอก ดรัก จำกัด ในปี 2533 โดยดำเนินการรับผลิตภัณฑ์ยาจากโรงงานอื่นเพื่อจำหน่ายในช่องทางร้านยา ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจนกระทั่งมั่นใจขยายธุรกิจผลิตยาและเครื่องสำอางด้วยการสร้างโรงงานและจัดตั้ง บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด เมื่อปี 2535

    ขณะเดียวกันยังจับมือเพื่อนร่วมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมผนึกกำลังกันขับเคลื่อนธุรกิจ ได้แก่ ภก.สมชัย พิสพหุธาร ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ สายบัญชีและการเงิน ซึ่งศึกษาต่อปริญญาโทวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเคยทำงานเป็นผู้จัดการ planning & controlling ธุรกิจยาของ บริษัท แซนดอส จำกัด รวมถึง ภก.ศุภชัย สายบัว นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ ด้วยความรู้ที่ศึกษาเพิ่มเติมระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทั้งแพทย์แผนไทยบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต พร้อมประสบการณ์ทำงานเป็นเภสัชกรฝ่ายผลิตเภสัชภัณฑ์ของ บริษัท อมรเกียรติเทรดดิ้ง จำกัด และเภสัชกรในองค์กรเภสัชกรรม

    “ช่วง 10 ปีแรกเราก่อตั้งโรงงานเพราะมองเห็นช่องว่างของตลาด สมัยก่อนเมืองไทยผลิตยาแผนโบราณ ยาสามัญใส่ขวดหรือกระป๋องและนับเม็ดยาจำหน่าย ซึ่งเราเห็นแนวโน้มการใช้ unit dose จากการเป็นเภสัชกร เราจึงผลิตยาเป็นแผงฟอยล์และติดราคาชัดเจน ทำให้ร้านขายยาสนใจ เพราะแพ็กเกจสวย คุณภาพน่าใช้ มาตรฐานราคาชัด หลังจากนั้นในช่วง 10 ปีต่อมาหรือประมาณปี 2543 เราเรียน MBA ที่จุฬาฯ และเริ่มความคิดว่าบริษัทยาของคนไทยจะเติบโตได้ต้องเป็นบริษัทใหญ่ที่โมเดลธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเริ่มวางแผนนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และปรับโมเดลธุรกิจของเราด้วยการสร้าง positioning บริษัท โดยบางกอก ดรักเน้นยาสามัญ ยาโรคข้อ และดึงรุ่นพี่รุ่นน้องมาร่วมกันเปิดบริษัทเน้นยาทางเดินหายใจยาทางเดินอาหาร”

    ดังนั้น สุวิทย์จึงก่อตั้ง บริษัท ฟาร์ม่าไลน์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ที่มีการใช้ในโรงพยาบาลเป็นหลักในกลุ่มโรคทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งที่ชำนาญการขายลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาลรวมถึงยาในกลุ่มโรคทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ พร้อมจัดตั้ง บริษัท บีริช (ประเทศไทย) จำกัด จำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางบำรุงผิว เพื่อตลาดร้านยาและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในปี 2543

    นอกจากนี้ บริษัทยังขยายธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสำหรับปศุสัตว์ภายใต้ บริษัท เมดิก้า จำกัด ในปี 2551 และจัดตั้ง บริษัท ฟาร์ม่า อัลลิอันซ์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการระบบคลังสินค้า ระบบคำสั่งซื้อสินค้า ระบบบัญชีและการเงิน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบขนส่งสินค้าให้กลุ่มบริษัท รวมถึงดำเนินการด้านการหาคู่ค้าในต่างประเทศและการส่งออกในปีเดียวกัน

    “ยุคแรกเราเน้นการสร้างโรงงานและระบบคุณภาพ ยุคที่ 2 เน้นโมเดลธุรกิจที่ทำให้เราสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ 2 เมื่อถึงยุคที่ 3 เราเน้นนวัตกรรม เพราะมองถึงการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติและการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งคุณศุภชัยนอกจากจะเป็นเภสัชกรและทำงานสายการผลิตแล้ว ท่านยังมีองค์-ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร แพทย์แผนไทย ทำให้เราเริ่มคิดเรื่องการนำยาสมุนไพรใช้เป็นยาต้นแบบสมุนไพรนวัตกรรมในระบบสุขภาพ และการทำให้สมุนไพรสามารถไปทั่วโลกได้ โดยปัจจุบันเราเข้าสู่ยุคที่ 4 ซึ่งเราสนใจเรื่อง sustainable growth เราจะเป็นองค์กรธุรกิจที่มีความเป็นมืออาชีพและเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร รวมทั้งการก้าวเข้าแหล่งทุนและตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษที่ 4 ที่จะทำให้มีการส่งต่อธุรกิจยาคนไทยจากรุ่นพี่สู่รุ่นถัดไป”

    

    สร้างชื่อสมุนไพรไทยต่างแดน

    

    ในปัจจุบันสุวิทย์สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งรูปแบบการจำหน่าย B2B (Business to Business) เช่น ร้านขายยา โรงพยาบาลรัฐและเอกชน บริษัทเอกชน ร้านค้าปลีก และโมเดิร์นเทรด ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรงหรือ B2C (Business to Consumer) และจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ BKD Viva Healthy at Home ภายใต้วิสัยทัศน์การเป็นผู้นำคิดค้นนวัตกรรม การเป็นธุรกิจธรรมาภิบาล และบูรณาการภูมิปัญญาไทย รวมทั้งสร้างคุณประโยชน์ให้ผู้บริโภค

    “เรากำหนดวิสัยทัศน์ธุรกิจไว้ตั้งแต่แรกและต่อยอดการเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรม 4P Innovation ได้แก่ Product Innovation เน้นการสร้างนวัตกรรมยาสามัญที่ครอบคลุมถึงยาสามัญใหม่ (new generic) ซึ่งทำได้ยากและใช้เงินลงทุนสูง ทำให้โรงงานในเมืองไทยยังมีไม่มาก โดยเราก่อตั้งศูนย์วิจัย BLC เพื่อพัฒนายา new generic และสมุนไพรนวัตกรรม รวมถึงสร้างแบรนด์สมุนไพรในต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ Place Innovation โดยเรายังเน้นเรื่อง Process Innovation การบริหารต้นทุน การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสื่อสารการตลาด และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลด้วย People Innovation เราต้องมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาผสมผสาน สร้าง ecosystem ให้พร้อม ซึ่ง 4P Innovation เป็นกลยุทธ์ที่เราใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวสู่ยุคที่ 4”

    สุวิทย์กล่าวถึงกลยุทธ์ธุรกิจสร้างการเติบโตสู่เป้าหมายรายได้ปี 2566-2570 สามารถเติบโตเฉลี่ยต่อปีไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท และทำรายได้ถึง 2 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 400 ล้านบาทในปี 2569 จากรายได้รวม 1.24 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 129.7 ล้านบาทในปี 2565 ด้วย 4P Innovation ได้แก่ Product Innovation การมุ่งเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาสามัญใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคตับ กลุ่มยาที่รองรับการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนายาสามัญใหม่จะวางแผนระยะเวลาพัฒนาและจำหน่ายทันทีหลังจากสิทธิบัตรของยาต้นแบบหมดอายุ โดยเน้นการเพิ่มยอดขายยาสามัญใหม่ของบริษัทในกลุ่มลูกค้าโรง-พยาบาลรัฐและเอกชน

    ขณะที่วางกลยุทธ์การบริหารพอร์ตสินค้าด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร เวชสำอางเสริมอาหาร ยาสัตว์ ให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาอัตราการทำกำไรในระยะยาว ซึ่งสุวิทย์ให้ความสำคัญกับการนำสารสกัดจากสมุนไพรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น พริก ไพล กระชายดำ ว่านหางจระเข้ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท ได้แก่ Capsika, Plaivana, Kachana สำหรับผู้บริโภคใช้เป็นแพทย์ทางเลือกในการรักษา เช่น กลุ่มยาที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ โดยมีหลายรูปแบบผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผง ยาน้ำ ครีม และเจล

    ส่วน Place Innovation หรือการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยบริษัทเน้นสินค้ากลุ่มยาสามัญประจำบ้านและเครื่องสำอางในช่องทางโมเดิร์นเทรดพร้อมทั้งพัฒนาช่องทางอี-คอมเมิร์ซเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้ากลุ่มเครื่อง-สำอางและเสริมอาหารแบรนด์ BKD Viva เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศด้วยการร่วมพัฒนาทีมขายในต่างประเทศ การกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจร่วมกัน และเป็นพันธมิตรพัฒนาตลาด เพื่อสร้างแบรนด์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ฮ่องกง อินโดนีเซีย จีน ประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นต้น

    “สมุนไพรนวัตกรรมของเราผ่านขั้นตอนการนำ Capsika เข้าโรงพยาบาลและโมเดิร์นเทรดแล้ว ต่างชาติมาเมืองไทยก็ได้เห็นเรา ทำให้เรามีโอกาสอีกมหาศาลและเรายังโชคดีที่รัฐส่งเสริม เนื่องจากสมุนไพรสามารถตอบโจทย์แผนไทยแลนด์ 4.0 ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตด้วยนวัตกรรมการกระจายรายได้ และความเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้มีการตั้งแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ซึ่งผมได้ร่วมเป็นกรรมการร่างแผนแม่บทด้วย โดยการพัฒนาสินค้าแต่ละตัวเราจะมองว่าสมุนไพรนั้นเป็นเอกลักษณ์ของไทยและเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งสมุนไพรที่คัดออกมา ได้แก่ พริก ไพล ว่านหางจระเข้ กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร กัญชา โดยเราเริ่มทำตั้งแต่ต้นน้ำ สร้างมาตรฐาน และมีผลวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลา ความรู้ และความสามารถในการสื่อสารให้แพทย์และเภสัชกรใช้”

    นอกจากนั้น บริษัทยังวางกลยุทธ์ด้านกระบวนการผลิตหรือ Process Innovation โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจในสินค้าที่ปลอดภัยและคุณภาพดี ด้วยกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานระดับสากล เช่น GMP, ISO 9001, ISO/IEC 17025, ISO 22000, GHP, HACCP เป็นต้น และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยในทุกขั้นตอนการผลิตและการควบคุมคุณภาพ เช่น เครื่อง High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ซึ่งใช้ในการตรวจสอบคุณภาพส่วนผสม เครื่องทดสอบการละลาย เครื่องตรวจจับโลหะ เป็นต้น

    ขณะที่กลยุทธ์ด้านบุคลากรหรือ People Innovation ได้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรในหลายด้าน เช่น ความรู้ความสามารถ ทักษะ และทัศนคติ ซึ่งจะใช้การฝึกอบรมทั้งภายนอกและภายในบริษัท การเข้าร่วมสัมมนา การศึกษาดูงาน และส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการปฏิบัติงาน โดยบริษัทได้จัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับเป้าหมายและแผนการดำเนินธุรกิจ โดยมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอทุกปีเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุคปัจจุบัน

    “เราเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อถึงยุค sustainable เราไม่ได้มองเฉพาะธุรกิจยาในประเทศ ถ้าเปรียบ-เทียบในอดีตเหมือนอยู่ในแม่น้ำ แต่ตอนนี้เรากำลังจะไปมหาสมุทร ซึ่งต้องใช้เงินทุนเพื่อสร้างกองทัพ BLC และขับเคลื่อน 4P Innovation ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานใหม่ที่จะเป็น new s-curve ของเรา ด้วยการใช้เทคโนโลยียกระดับการผลิตยาคุณภาพสูงและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ รวมถึงการทำ solar roof เพื่อก้าวสู่ green energy นอกจากนั้น เรายังต้องการนำเงินระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปเพิ่มความรวดเร็วการลงทุนในยาสามัญใหม่ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และความต้องการมากขึ้นตามสังคมผู้สูงอายุ”

    สุวิทย์กล่าวถึงแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยาอาคารใหม่พื้นที่ 11,703 ตารางเมตร บนบริเวณที่ดินเดิมที่โรงงาน จ. ราชบุรี ซึ่งเน้นการผลิตยาแผนปัจจุบันประเภทยาสามัญใหม่ และเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 193% จากกำลังการผลิตในปี 2565 พร้อมติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar roof) ขนาด 500 กิโลวัตต์ บนอาคารผลิตยาแผนปัจจุบันอาคารใหม่ ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 2.6 ล้านบาทต่อปี รวมถึงเทคโนโลยีควบคุมการผลิตและด้านการจัดการอื่นๆ (Internet of Things หรือ IoT) เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีกำลังการผลิตที่รองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทในระยะยาว

    “จุดแข็งของเราคือ 4M1A ได้แก่ Model, Marketing, Manufacture, Man และ Alliance โดยเรามีโมเดลธุรกิจที่รองรับการเติบโต เราอยู่ในตลาดใหญ่มานานทำให้ได้รับความเชื่อถือจากหมอ เภสัชกร เรามีโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายและศูนย์วิจัยพัฒนา รวมถึงพันธมิตรทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

    นอกจากนั้น บริษัทยังนำเงินระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้สำหรับการวิจัยพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันประเภทยาสามัญใหม่ 14 รายการ เฉลี่ยเงินลงทุนรายการละ 10 ล้านบาท ซึ่งเริ่มวิจัยและพัฒนา ในปี 2566 และทยอยจำหน่ายปี 2569 เป็นต้นไป โดยการผลิตยาสามัญใหม่ในประเทศสามารถช่วยประหยัดงบประมาณด้านยาในการเบิกจ่ายระบบสุขภาพของประเทศ ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น และคุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น

    “โอกาสการเติบโตหลังจากเข้าตลาดของเรามีทั้งตลาดในประเทศที่ใหญ่มาก aging society ช่องทางการจำหน่ายใหม่ และตลาดต่างประเทศจากสมุนไพรไทยที่เราพัฒนาสามารถแข่งขันได้ทั่วโลก โดยไม่จำกัดเฉพาะยาสมุนไพร แต่อาจจะเป็น cosmetic เสริมอาหาร หรือบูรณาการแพทย์แผนไทยกับสมุนไพรใช้ในการนวดไทย หรือการพัฒนากระชายดำสำหรับกลุ่ม Post Covid-19 Syndrome โดยโอกาสสำคัญจากการเป็นธุรกิจยาครบวงจรที่จดทะเบียนในตลาดยังทำให้บริษัทยาต่างชาติที่ต้องการหาพันธมิตรทางการค้าสนใจลงทุนร่วมกับเรา ซึ่งมี facility ฐานผลิตโรงงานและฝ่ายขายพร้อม ดังนั้น ในระยะสั้น 3 ปีหลังเข้าตลาดเราอาจจะเติบโตจากสินค้าและช่องทางการขาย ระยะกลางมี new s-curve โรงงานยาใหม่ new generic และถ้ามีพันธมิตรทางการค้าร่วมลงทุนเราจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด”

    ผู้ก่อตั้งธุรกิจวัย 60 ปีย้ำความเชื่อมั่นในโอกาสสร้างการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นบริษัทยาของคนไทยที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก พร้อมเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนอย่างคุ้มค่า ภายใต้ภาพลักษณ์ที่วางไว้อย่างชัดเจน Trusted Solutions for Lifelong Well-Being

    “Core value ของบริษัทเราใช้คำว่า SMILE โดย S มาจากความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม M มากกว่า Good Governance แต่เป็น Moral เพราะธุรกิจยาเกี่ยวข้องกับชีวิต Innovation นวัตกรรม และ Loyalty กับลูกค้า คู่ค้า พนักงาน รัฐ ผู้ถือหุ้น และ Excellence Performance รวมถึงเรายังเน้นเรื่อง QHI ประกอบด้วย Quality, Honesty และ Innovation

    โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์ที่เป็นเสมือนไบเบิ้ลในการทำงานของพนักงาน ซึ่งเราต้องการเป็นองค์กรมืออาชีพที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมของคนไทยให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ เพราะเรามองว่าธุรกิจยาสามารถตอบโจทย์ของประเทศในเรื่องความมั่นคงของสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย”

    

    อ่านเพิ่มเติม : Nancy Whiteman ปั้น Wana Brands ยักษ์ใหญ่วงการของกินผสมกัญชา

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine