วิทวัส วิภากุล - อมรินทร์ นฤหล้า นำทัพ GRAND คว้าโอกาสที่ท้าทาย - Forbes Thailand

วิทวัส วิภากุล - อมรินทร์ นฤหล้า นำทัพ GRAND คว้าโอกาสที่ท้าทาย

เริ่มต้นจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อนจะขยับมาสู่ธุรกิจโรงแรม นักธุรกิจหนุ่มใหญ่คร่ำหวอดในแวดวงอสังหาฯ มายาวนานกว่า 40 ปี ผ่านประสบการณ์อย่างโชกโชน วันนี้การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมหลังโควิด-19 เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายรอบใหม่

    

    สองผู้บริหารหลักของแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) วิทวัส วิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ อมรินทร์ นฤหล้า กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ทั้งคู่ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์บ่อยนักแต่ก็เป็นที่รู้จักดีทั้งในแวดวงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรม เนื่องจาก GRAND เป็นเจ้าของโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น รอยัล ออคิด เชอราตันโฮเทลส์ แอนด์ ทาวเวอร์ส, ไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท, เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท, เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า, และเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา ล้วนเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวที่บริหารโดยเชนอินเตอร์ ทุกแห่งอยู่ในทำเลท่องเที่ยวหลัก เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ

    ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2566 โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทลส์ฯ เพิ่งฉลองครบรอบ 40 ปี ได้ร่วมกับพันธมิตรจัดแคมเปญการตลาดยิ่งใหญ่ นับเป็นก้าวรุกการตลาดที่ชัดเจนของโรงแรมเก่าแก่ที่ยืนหยัดคู่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยมาอย่างยาวนาน ก่อนหน้านี้รอยัล ออคิด เชอราตันฯ มีผู้ถือหุ้น  3 กลุ่มหลักหลังจากผู้ก่อตั้งรายแรกกลุ่มอิตัลไทยขายหุ้นเปลี่ยนมือออกไป เหลือผู้ถือหุ้นหลัก 3 ราย คือ บริษัท สตาร์วูด โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด 44% บริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ลแอนด์ รีสอร์ท จำกัด 29.865% และ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) 24% ต่อมาในปี 2561 กลุ่มแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH จากผู้ถือหุ้นทั้ง 3 ราย ทำให้ GRAND มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ROH ถึง 97%  

    ประวัติศาสตร์ยาวนานของโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตันฯ มีเรื่องเล่าและเส้นทางมากมาย ด้วยทำเลที่ตั้งโรงแรมอยู่ในทำเลศักยภาพ (prime area) ในแง่ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต่างชาติคุ้นเคย เนื่องจากอยู่คู่กรุงเทพฯ มาหลายทศวรรษมูลค่าโรงแรมแห่งนี้จึงมหาศาล เป็นสินทรัพย์หลักอีกแห่งที่มีอนาคตด้านการท่องเที่ยวสดใส แต่ด้วยการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทุกคนต่างเร่งออกตัวส่งแคมเปญและโปรโมชั่นแข่งขันกันอย่างหนัก น่านน้ำในธุรกิจโรงแรมจึงมีสถาพเป็น red ocean โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการจะทำอย่างไรให้โดดเด่นและเป็นตัวเลือก ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดที่ทุกคนกำลังช่วงชิงโอกาสฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวหลังหยุดชะงักจากสถานการณ์โควิดไปหลายปีเพิ่มแม่เหล็กดึงดูดตลาด

    “ผมมองอนาคตการท่องเที่ยวบ้านเราน่าจะดีมาก เพราะคนอัดอั้นอยากจะเดินทางข้อ 2 การไปยุโรปไม่ง่ายอย่างที่คิด เมืองไทยดี อยู่จุดศูนย์กลางระหว่างอินเดียกับจีน ประชากรรวมกันเกือบ 40% ของโลก” วิทวัสเผยมุมมองที่มีต่อธุรกิจท่องเที่ยว หลังจากนี้ แม้เขาจะมองว่าอนาคตการท่องเที่ยวสดใส แต่ก็ยอมรับว่าการแข่งขันนั้นไม่ธรรมดา เขาจึงต้องเพิ่มแม่เหล็กใหม่ๆ ให้กับโรงแรม ไม่เฉพาะที่รอยัล ออคิด เชอราตันฯ แต่รวมถึงทุกโรงแรมของ GRAND ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ย่านถนนสุขุมวิทและริมแม่น้ำเจ้าพระยา

    แม่เหล็กด้านการตลาดที่วิทวัสกล่าวถึงคือ การเพิ่มส่วนบริการของโรงแรมให้เป็นแหล่งรวมของคนที่ต้องการพักผ่อนหรือสัมผัสบรรยากาศที่ดีของร้านอาหาร บาร์ และแหล่งแฮงก์เอาต์ “การกลับมาของการท่องเที่ยวรอบนี้ผมให้ความสำคัญเรื่อง food & beverage เป็นหัวใจที่จะดึงดูดให้คนมาใช้บริการ” ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีแผนปรับปรุงเปลี่ยนโฉมภัตตาคารในโรงแรมให้เป็นห้องอาหารใหม่ที่มีคอนเซ็ปต์แตกต่างเป็นจุดขายสำคัญของโรงแรม เช่น ที่รอยัล ออคิด เชอราตันฯ ได้จัดงานเปิดตัว “Siam Yacht Club” ภัตตาคารริมน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นำเสนอบรรยากาศของยอช์ตคลับที่เป็นทั้งภัตตาคารหรู เสิร์ฟอาหารซีฟู้ด และอาหารหลากหลายภายในบรรยากาศที่เป็นเสมือนยอช์ตคลับ ให้อารมณ์การดื่มด่ำเสมือนได้รับประทานอาหารอยู่ในห้องอาหารบนเรือยอช์ตด้วยสีสันและบรรยากาศที่ลงตัว

    นอกจากนี้ ที่ห้อง Siam Yacht Club ยังมีบริการบาร์ริมน้ำให้แขกเลือกจิบเครื่องดื่มไปพร้อมกับฟังเพลงจากการแสดงที่จัดให้บรรยากาศแฮงก์เอาต์ยามค่ำคืน และพิเศษกว่าเพราะเป็นบาร์ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือเสน่ห์และสีสันที่รอยัล ออคิด เชอราตันฯ จัดขึ้นเพื่อเป็นแม่เหล็กใหม่ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงคนทั่วไปที่ต้องการบรรยากาศพิเศษของห้องอาหารและบาร์ริมน้ำได้อย่างเต็มที่ “ดีไซน์เหมือนอยู่ในเรือ เนื่องจากเราอยู่ริมน้ำลมมาบรรยากาศดี ข้างนอกมีไฟสวย มีดีเจเปิดเพลง บางครั้งแสดงสด” วิทวัสอธิบายบรรยากาศคร่าวๆ ของห้องอาหารที่เพิ่งปรับปรุงเสร็จเมื่อราวปลายปี 2565 และเพิ่งเปิดบริการมาได้ราว 4 เดือน เขาย้ำว่า ร้านอาหารที่ปรับปรุงนี้เป็นคอนเซ็ปต์ร้านอาหารบวกเอนเตอร์เทนต์ คือแขกมารับประทานอาหารแล้วสามารถอยู่ต่อได้ในบรรยากาศบาร์ริมน้ำ นั่งดื่ม นั่งคุย มีเพลงให้ฟัง อยู่ได้จนถึงดึก และที่นี่เป็นบรรยากาศเปิดโล่งจะให้ความรู้สึกโปร่งสบายนั่งได้เรื่อยๆ ไม่แออัด

    “อยากให้เข้าใจคอนเช็ปต์ Siam Yacht Club เราปรับจากร้านอาหารธรรมดาๆ ที่เปิดมา 30 ปี ร้านซีฟู้ดมาเป็นคอนเซ็ปต์เรืออาหารเต็มรูปแบบ” ส่วนบาร์ริมน้ำคือ สเปกตรัม บาย เดอะ ริเวอร์ ที่ประยุกต์มาจากสเปกตรัม รูฟบาร์ มาใส่บรรยากาศริมน้ำ จิบเครื่องดื่มฟังเพลงในพื้นที่บาร์แบบเปิดโล่งริมแม่น้ำ สัมผัสชีวิตชีวาของสายน้ำเจ้าพระยาที่วันนี้เต็มไปด้วยเรือสำราญ เรือท่องเที่ยวที่ล่องชมวิวประดับสีแสงสวยงาม ให้ผู้คนบนฝั่งได้ชื่นชม เพิ่มสีสันความคึกคักของวิถีการท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยาไปพร้อมๆ กัน

    วิทวัสบอกว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างในการปรับปรุงโรงแรม นอกเหนือจากการรีโนเวตห้องพักให้สวยงามทันสมัยแล้ว แผนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องอาหารให้มีจุดขายพิเศษ มีความแตกต่าง และเป็นที่เที่ยวแห่งใหม่ของผู้คนจะเป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูดคนมาใช้บริการในโรงแรม อาจไม่ได้เป็นแขกที่มาพักแต่เป็นคนทั่วไปที่มารับประทานอาหาร มานั่งชิลที่บาร์ เพิ่มสีสันให้กับโรงแรมไปในตัว

    นอกจากปรับปรุงร้านอาหารในโรงแรมยังมีธุรกิจที่ต่อเนื่องคือ การจัดแคทเทอริ่งให้กับลูกค้าที่จ้างเฉพาะกิจ “โรงแรมเราไป catering ให้ไอคอนสยามอยู่บ่อยๆ ไปช่วยเซ็ตอาหารโรงแรมริมน้ำเวลามีงานสำคัญเช่น งานปีใหม่” ซีอีโอ GRAND เผยและว่าในส่วนของธุรกิจโรงแรมยอมรับว่ามีการปรับตัวค่อนข้างมากเพื่อรองรับความต้องการให้ได้มากขึ้น ซึ่งการมีจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำยังไม่พอ ต้องปรับตัวและบริการให้เป็นแม่เหล็กสำคัญช่วยดึงลูกค้าเพิ่มขึ้น

    ส่วนด้านการตลาดเขาเผยว่า โรงแรมปรับมาทำตลาดออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบันจะเห็นว่านักท่องเที่ยวเป็นกลุ่ม FIT (Free Individual Traveler) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเองไม่ผ่านบริษัททัวร์กลุ่มนี้มีเข้ามามากขึ้น ส่วนกรุ๊ปทัวร์จะเหลือไม่กี่ประเทศหลังโควิดมีมาน้อย เมื่อลูกค้าเป็นกลุ่ม FIT ราคาห้องพักก็ดีขึ้น ได้ราคาดีขึ้นมา 20% เนื่องจากไม่โดนกดซื้อราคาเป็นกลุ่มแบบเอเย่นต์ทัวร์เหมือนในอดีต

    นอกจากร้านอาหาร วิทวัสยังเดินหน้ารีโนเวตพื้นที่บริการอื่นของโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตันฯ คือ ห้องคอนเวนชั่นที่มีวิวแม่น้ำเป็นฉากอันสวยงาม ห้องจัดเลี้ยงนี้รองรับแขกได้ 1,000 คน ปัจจุบันกำลังปรับปรุงและคาดว่าจะเปิดบริการได้ก่อนสิ้นปีนี้ ให้ทันกับช่วงการจัดงานปลายปี ซึ่งคาดว่าทำเลริมแม่น้ำจะได้รับความนิยมมากขึ้น

    

    ทำเลทองสุขุมวิท

    

    วิทวัส คือซีอีโอผู้ขับเคลื่อน GRAND ขณะที่อมรินทร์เป็นกรรมการบริหารและหุ้นส่วนคนสำคัญ เนื่องจากครอบครัว “นฤหล้า” เป็นเจ้าของโรงแรมเดอะ เวสทินแกรนด์ และโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท ที่เพิ่งเปิดบริการไปเมื่อปี 2561 และยังรวมถึงโรงแรมเชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า, โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา “เราร่วมธุรกิจกันมา 20 ปีแล้ว โรงแรม The Westin Grande คือตัวแรก คุณพงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ เป็นผู้ก่อตั้งคนแรกก่อนจะขายออกมาให้ผู้ถือหุ้นปัจจุบัน” ก้าวย่างความเป็นมาของ GRAND มีเรื่องเล่ามากมายก่อนจะมาอยู่ในมือผู้ถือหุ้นปัจจุบัน อย่างไรก็ตามครอบครัวนฤหล้ายังคงอยู่ต่อเนื่อง

    “ผมทำงานให้ครอบครัวมาตั้งแต่แรก โรงแรมที่พูดถึงนี่แหละผมอยู่มาตั้งแต่ต้น” อมรินทร์แจกแจงบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้นและร่วมอยู่ในทุกขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่าน และหลายโครงการที่พัฒนาและเปิดใหม่ก็เป็นการรีโนเวตของเดิมสร้างเป็นแบรนด์ใหม่ขึ้นมา เช่น ที่ปราณบุรีแต่เดิมคือ ซิกซ์เซนส์ ได้ปรับมาเป็นเชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า

    อมรินทร์เป็นคนหนุ่มบุคลิกเคร่งขรึม ปัจจุบันเขาอายุ 47 ปี ตลอดชีวิตการทำงานกว่า 20 ปี เขาอยู่ในธุรกิจฐานะเจ้าของโรงแรม แต่ในด้านบริหารจัดการโรงแรมเหล่านี้ใช้เชนระดับอินเตอร์เป็นผู้บริหารมาโดยตลอด ส่วนวิทวัสปัจจุบันอายุ 67 ปี ประสบการณ์กว่า 40 ปีของเขาอยู่ในแวดวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการลงทุน ทำโครงการอสังหาฯ มาหลายโครงการในลักษณะการพัฒนาที่ดินขึ้นโครงการและขาย เช่นเดียวกับบริษัทอสังหาฯ ทั่วไป โดย GRAND มีสายสัมพันธ์กลุ่มทุนเดียวกับ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ดังนั้น หากเทียบเคียงประสบการณ์แล้วการพัฒนาอสังหาฯ ไม่น้อยกว่าธุรกิจโรงแรมที่เพิ่งจับอย่างจริงจังหลังจากซื้อรอยัล ออคิด เชอราตันฯ เข้ามาในพอร์ตเมื่อปี 2561

    ด้วยความพร้อมของโรงแรมที่อยู่ในมือซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในทำเลดี ทำให้ GRAND เดินหน้าธุรกิจโรงแรมเพราะเชื่อมั่นในความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องของทำเล ซึ่งนอกจากริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โรงแรมอีก 2 แห่งคือ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท, โรงแรมเดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท อยู่ย่านถนนสุขุมวิทซอย 13 และริมถนนสุขุมวิทใกล้แยกอโศก ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับนักเดินทางกลุ่มธุรกิจ จึงมีจุดขายความเป็นโรงแรมเพื่อธุรกิจทำเลใจกลางเมืองติดสถานีรถไฟฟ้าซึ่งถือว่าได้เปรียบในการแข่งขัน

    หากประเมินจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา สองแม่ทัพ GRAND เผยว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาก่อนคือ สิงคโปร์ เกาหลี อินเดีย และญี่ปุ่น จีนเริ่มเห็นมาตั้งแต่ต้นปี ทยอยเข้ามามากขึ้น “ตอนนี้ room rate กลับมาได้มากกว่าเดิม ดีมานด์สูง คนอั้นเดินทางอยู่หลายปี ดีมานด์กลุ่ม prime location ทั้งหมดขายห้องได้ดี” อมรินทร์แจกแจงว่า โรงแรมของกลุ่มมีอยู่ 5 แห่ง รวมแล้วมีประมาณ 2,000 ห้อง ส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ ถึง 90%อย่างไรก็ตามการกลับมาของการท่องเที่ยวรอบนี้อินเดียและจีนยังคงเป็นหลัก เพราะทั้งสองชาติชอบเมืองไทยมาก

    

    ประเทศจีนมีประชากร 1.5 พันล้านคน

    

    มาเที่ยวสัก 10% ก็ได้ 150 ล้านคนแล้ว และมีความเป็นไปได้ มีสัญญาณที่ดีมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565 ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ในต่างจังหวัดก็กลับมาดีขึ้น โดยกรุงเทพฯ มาก่อน อัตราเข้าพักเมื่อต้นปีทำได้ 80% โดยเฉพาะโรงแรมที่สุขุมวิททั้งสองแห่ง เพราะนักธุรกิจเดินทางมาก่อนเพื่อดูงาน เดินทางก่อนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ “ตอนนี้แขกที่เข้ามาเป็นนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวครึ่งต่อครึ่ง แต่ทำเลสุขุมวิทเป็นนักธุรกิจมากกว่า” ถึงกระนั้นวิทวัสย้ำว่า ทุกโรงแรมที่มีอยู่ต้องเพิ่มแม่เหล็กด้าน food & beverage เข้ามาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจแก่นักเดินทาง นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจทั่วไป นั่นคือหัวใจของการพัฒนาธุรกิจโรงแรมในมุมของแกรนด์ แอสเสทฯ ที่จะนำมาใช้รับมือการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ

    

    รุกอสังหาฯ บ้าน 100 ล้าน

    

    “Grande Asset เราทำทั้งโรงแรมและ real estate” วิทวัสย้ำก่อนจะเผยว่า ล่าสุดเขาได้เตรียมพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวประมาณ 30 ยูนิต เป็นบ้านหลังใหญ่ขายราคา 100-200 ล้านบาท เพราะมองว่าเป็นตลาดที่เติบโตดีในปัจจุบัน ซึ่งการทำอสังหาฯ ระดับหรูเป็นประสบการณ์ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว “เราทำไฮเอนด์คอนโดอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยาก ตอนนี้บ้านแพงๆ ใครทำก็ขายได้ ตลาดเปลี่ยน คนไม่อยากอยู่คอนโดหลังเจอโควิด” เมื่อมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้เขาจึงเตรียมพัฒนาบ้านเดี่ยวราคาแพงออกมารองรับตลาดผู้มีกำลังซื้อสูง “เราจะทำโครงการเพื่อ fulfill ให้กับคนที่สามารถซื้อบ้านราคา 100 ล้านได้ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือบ้านคุณภาพดี ทำเลดี”

    ประสบการณ์ที่ผ่านมาแกรนด์ แอสเสทฯทำโครงการอสังหาริมทรัพย์สำหรับกำลังซื้อระดับบน เช่น คอนโดมิเนียม เดอะ ไฮท์ ที่ทองหล่อ ขายอยู่ที่ 150,000 บาท/ตารางเมตร “Grande Asset ทำของแพง แต่ถ้าเป็นระดับกลางที่ราคา 3-5 ล้านบาทจะเป็นพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” เขาย้ำและว่า โครงการบ้านที่จะทำในปีนี้มีอยู่ 2-3 ทำเล มีที่ดินแล้วบางส่วนและบางส่วนมองหาที่ดินใหม่แต่มองไม่เกินรอบกลางของกรุงเทพฯ เช่น กรุงเทพกรีฑาเลียบด่วนรามอินทรา พหลโยธิน จะเลือกทำเลที่ดีจริงๆ และอาจมองยาวไปถึงย่านบางนา

    “เรามีความมั่นใจ มองภาพทุกอย่างค่อนข้างดี แต่ต้องรอดูเรื่องรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้บอกได้ว่าโดยภาพรวมค่อนข้างดี คนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น” ทั้งคู่ทิ้งท้ายประเด็นที่กังวลเล็กน้อยคือการมีรัฐบาลใหม่จะรวดเร็วและสร้างความเชื่อมั่นได้มากเพียงใด ส่วนภาคธุรกิจนั้นเชื่อว่าทุกคนก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มที่

    

    อ่านเพิ่มเติม : มองโลกแบบ Biden : ทั้งหดหู่และผิดเพี้อน

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine