MQDC ออกแบบเมืองเพื่ออนาคต รับคนสูงวัย-Gen Z - Forbes Thailand

MQDC ออกแบบเมืองเพื่ออนาคต รับคนสูงวัย-Gen Z

การเปลี่ยนแปลงของประชากรในแต่ละเจเนอเรชั่น ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต รวมทั้งการเผชิญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ โรคระบาดที่เกิดขึ้น MQDC ดึงหน่วยงานรัฐ เอกชน ร่วมออกแบบสังคม ชุมชน ที่อยู่อาศัยในอนาคต

ศูนย์วิจัยอนาคตศาสตร์ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (Future Tales Lab) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดเสวนา “Future Generations and Their Impact of Future of Living” นาจิบ แอสซิฟี ผู้อำนวยการ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ขณะที่แนวโน้มครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทำให้เกิดช่องว่างที่จำนวนผู้สูงอายุจำนวนมากจะขาดคนดูแล ประกอบกับสังคมยังเผชิญกับปัญหาสภาวะอากาศ เกิดโรคระบาดที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับภาครัฐและเอกชนในการออกแบบ พัฒนาสังคม ชุมชน และที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในอนาคต จากข้อมูลของ World Population Prospects พบว่าปัจจุบันการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้เวลาเร็วขึ้น โดยประเทศไทยใช้เวลาเพียง 20 ปี ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่มีจำนวนไม่ถึง 7 แสนคน จากการคาดการณ์จำนวนประชากรในประเทศไทยจะเพิ่มสูงสุดในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2025 ที่ 70 ล้านคน จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงจนมีจำนวนประชากรประมาณ 45 ล้านคนในปี 2084 ซึ่งเป็นผลจากการมีอัตราการตายมากกว่าเกิด 4 รูปแบบของการใช้ชีวิตในอนาคต ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้จัดการกลยุทธ์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยผลวิจัย “อนาคตของการใช้ชีวิต” (Future of Living) ที่ NIA ร่วมกับ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ พบว่า ปัจจุบันมนุษย์ใช้เวลาอยู่บ้านมากถึง 11.4 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้เวลาในการอยู่บ้านมากขึ้น ดังนั้นบ้านจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้บ้านมีความทันสมัยมากขึ้น โดยร้อยละ 43 ของผู้คนมองว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะนั้นจำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ราคาของที่อยู่อาศัยและที่ดินกลับมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงเทพที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี  เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ประมาณ 280,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เมื่อเทียบรายได้กับแนวโน้มราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในอนาคตผู้คนไม่สามารถถือครองทรัพย์สินที่ดินของตนเองได้ ด้วยข้อจำกัดนี้ และความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นจากการมีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งผลการศึกษามี 4 แบบด้วยกัน ได้แก่
  1. This is comfy! รูปแบบแรกเป็นความลงตัวของที่อยู่อาศัยที่ถูกออกแบบให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ของคนทุกวัย โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในราคาที่ไม่แพง ทำให้คนเข้าถึงได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย สะดวกสบายและมีความสุข
  2. Low – cost Lifestyle การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ทำให้รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่เน้นให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ ประชาชนมีที่อยู่อาศัยขนาดย่อมเป็นของตนเองได้ และมีบริการเทคโนโลยีพื้นฐาน เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพ อาจสะดวกสบายระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ยกระดับชีวิตของประชาชน
  3. Only Privilege เศรษฐกิจที่เติบโต และการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทำให้เข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ง่าย แต่ด้วยต้นทุนที่สูง ประชาชนที่จะเข้าถึงได้ต้องมีรายได้สูง หรือเฉพาะคนรวยเท่านั้น ที่จะได้ใช้เทคโนโลยีและที่อยู่อาศัยที่สะดวกสบาย คนที่ไม่มีกำลังใช้จ่ายต้องอยู่กับชีวิตที่ไม่มีคุณภาพต่อไป
  4. Inequality as a friend ความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาสำคัญของสังคม เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกล แต่เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ทางการค้าและมีราคาแพง ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานได้ รวมทั้งรัฐไม่ลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานสำหรับประชาชน ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ไม่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัย ต้องอาศัยห้องเช่าขนาดเล็ก
MQDC ออกแบบที่อยู่อาศัยรับความเปลี่ยนแปลง การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ MQDC กล่าวว่า ปัจจุบัน Generation Z (Gen Z) มีประมาณ 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของจำนวนประชากรในประเทศ คนกลุ่มนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเป็นหลัก และ 60% มีความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี 76% มี่ความกังวลต่อโลก สภาพแวดล้อม และมี 26% ที่ทำงานเป็นอาสาสมัคร กลุ่มนี้ยอมจ่ายแพงขึ้น 20% เพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ คน Gen Z มีแนวคิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) โดยร้อยละ 66 ยินดีที่เช่าสินค้าหรือบริการจากคนอื่น รวมทั้งยินดีที่แชร์พื้นที่ส่วนกลางของโครงการที่อยู่อาศัย เช่น สระว่ายน้ำ หรือฟิตเนสให้กับชุมชนรอบข้าง หรือสถานศึกษา เป็นต้น จากผลการศึกษาต่างๆ ทำให้บริษัทนำไปพัฒนาการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุอยู่ร่วมกับเจเนอเรชั่นใหม่มากขึ้น การออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานที่อยู่อาศัยที่แตกต่างระหว่างคนแต่ละช่วงวัย รวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยที่มีการแชร์พื้นที่ร่วมกันของผู้อยู่อาศัย รวมไปถึงชุมชน เพราะคนรุ่นใหม่ หรือ Generation Z จะคำนึงถึงสังคม สภาพแวดล้อมและชุมชนมากขึ้น อ่านเพิ่มเติม: เอ็มจี เปิดตัว “NEW MG EP” สเตชั่นแวกอน รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกในไทย

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine