BSR ทุ่ม 6,000 ล้านลงทุนเอง 4 สถานีสายสีชมพู-เหลือง ขยายเข้าเมืองทองฯ-รัชโยธิน - Forbes Thailand

BSR ทุ่ม 6,000 ล้านลงทุนเอง 4 สถานีสายสีชมพู-เหลือง ขยายเข้าเมืองทองฯ-รัชโยธิน

กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ผู้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลือง ประกาศลงทุนเองต่อขยายเพิ่ม 4 สถานี มูลค่า 6,000 ล้านบาท เข้าเมืองทองธานี-เชื่อมสายสีเขียวที่แยกรัชโยธิน ใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีครึ่ง ยื่น EIA-เสนอรวมในแผนแม่บท สนข. อีก 3 ปี 3 เดือนคนกรุงได้ใช้

หลังจากเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ กิจการร่วมทุนระหว่างบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ และผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ เป็นผู้ได้รับคัดเลือก แต่อย่างไรก็ตามในส่วนข้อเสนอเพิ่มเติมของเอกชนที่เสนอให้มีการต่อขยายอีก 2 สถานีในสายสีชมพูเข้าสู่เมืองทองธานีระยะทาง 2.8 กม. และอีก 2 สถานีในสายสีเหลืองขยายสถานีปลายทางจากเดิมลาดพร้าวเป็นที่แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ครม.ไม่ได้รวมในสัญญานี้ เนื่องจากไม่อยู่ในกรอบที่ครม.อนุมติโครงการไว้ก่อนหน้านี้ คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากมติครม.ดังกล่าว กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ จึงเสนอที่จะลงทุนเองทั้งหมดในส่วนต่อขยาย 4 สถานี มูลค่าลงทุนรวม 6,000 ล้านบาท โดยครม.ขอให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเอกชนมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประเมินความคุ้มค่าและเหมาะสมของของส่วนต่อขยาย 4 สถานี และจัดทำเสนอเพื่อบรรจุในแผนแม่บทของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) หากกระบวนการเสร็จสิ้นได้รับอนุมัติจะมีการจัดทำสัญญาเป็นอีกฉบับ  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลา 12-18 เดือน
แผนการต่อขยาย 2 สถานีบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และ 2 สถานีบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่เอกชนเสนอต่อครม. (ขอบคุณภาพจาก: กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์)
"เมืองทองธานีมีคนอาศัยกว่า 2 แสนคน และศูนย์ประชุมอิมแพคฯ มีคนมาร่วมงานแสดงสินค้าปีละ 10 ล้านคน การขยายสถานีเข้าไปจะทำให้เกิดความสะดวกและลดการจราจรติดขัด ส่วนสายสีเหลือง การขยายไปเชื่อมต่อกับสายสีเขียวจะทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่ม เชื่อมต่อได้ทั้งสายสีน้ำเงินและสีเขียว ได้รับความสะดวกสบายไม่ต้องเข้าออกสถานีหลายครั้ง ที่ผ่านมามีคนมองว่าบีทีเอสต้องการเอื้อประโยชน์ให้บางกอกแลนด์ (ผู้พัฒนาโครงการเมืองทองธานี) ที่เป็นพี่น้องกัน หรือให้บีทีเอสเองเพราะเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีเขียวหมอชิต-คูคต ยืนยันว่ามองเรื่องความสะดวกของผู้โดยสารมากกว่าจะพยายามปิดกั้นโอกาสใคร" คีรีกล่าว ทั้งนี้ แผนเบื้องต้นของ 4 สถานี ในสายสีชมพูจะเชื่อมจากสถานีศรีรัชวิ่งตามแนวถนนใต้ทางด่วน มีสถานีบริเวณ 1)อิมแพค ชาเลนเจอร์ 2)สนามกีฬาเอสซีจี
ผังเบื้องต้นสถานีส่วนต่อขยาย 2 สถานีบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี (ขอบคุณภาพจาก: กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์)
และสายสีเหลืองจะขยายไปตามถนนรัชดาภิเษก คาดว่าสถานีจะตั้งอยู่ที่ 1)บริเวณศาลและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 2)แยกรัชโยธิน โดยมีทางเดินเชื่อมไปถึงสถานีพหลโยธิน 24 ของสายสีเขียวหมอชิต-คูคตที่กำลังก่อสร้าง เบื้องต้นคิดค่าบริการ 14-42 บาท แต่อาจมีการปรับขึ้นเมื่อสร้างเสร็จพร้อมบริการ เป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อตามที่ระบุในสัญญาทีโออาร์
ผังเบื้องต้นสถานีส่วนต่อขยาย 2 สถานีบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง (ขอบคุณภาพจาก: กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์)
คีรีกล่าวต่อว่า คาดหวังในปีแรกจะมีผู้ใช้บริการ 1.2 แสนเที่ยวคน/วัน ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนการลงทุนประมาณ 8% ต่อปี ถือว่าค่อนข้างน้อย แต่บีทีเอสมีความเชี่ยวชาญในการเดินรถและการจัดซื้อขบวนรถ ซึ่งน่าจะทำให้ลดต้นทุนลงได้ รวมถึงการลงทุนเพิ่มอีก 4 สถานีเชื่อว่าจะทำให้มีผู้โดยสารเข้าระบบมากขึ้นเพราะเป็นการต่อเชื่อมที่ครบสมบูรณ์ จึงมีความมั่นใจในการลงทุนครั้งนี้ ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเป็นหุ้นส่วน 15% ในบีเอสอาร์และรับดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง ซึ่งได้ออกแบบงานเสาเข็มไว้ก่อนแล้วพร้อมเริ่มงานทันทีที่กรมทางหลวงและกทม.มอบพื้นที่ให้เข้าดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ โดยครม.ให้กรอบเวลาการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน หรือแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2563 ส่วนสถานีต่อขยาย ถ้าหากมีการอนุมัติในช่วงที่เส้นทางหลักยังอยู่ระหว่างก่อสร้างก็จะสามารถสร้างได้เร็วภายใน 2-3 เดือน ด้าน กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วน 10% และจะเป็นผู้สนับสนุนด้านการจัดการไฟฟ้าพลังงานให้โครงการ และพร้อมที่จะร่วมดำเนินโครงการอื่นๆ ร่วมกันในนามบีเอสอาร์ในอนาคต คีรีกล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 16 มิถุนายน 2560 จะมีการเซ็นสัญญาโครงการ พร้อมทั้งสัญญาการสนับสนุนแหล่งทุนโดยสถาบันการเงิน รวมถึงการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าจำนวน 288 ตู้ จากบริษัทที่ได้รับคัดเลือก