เก่งรอบด้าน - Forbes Thailand

เก่งรอบด้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Aug 2016 | 11:08 AM
READ 14222

การดำรงซึ่งสถานะสตรีหมายเลขหนึ่งของภาคธุรกิจอินเดีย เป็นเพียงแค่บทบาทส่วนหนึ่งในชีวิตที่ไร้วันว่างของ Nita Ambani

ชาวอินเดียจดจ่อรอคอยวันที่บริการ 4G จะเปิดให้บริการแบบเต็มตัว และในที่สุด Reliance Jio Infocomm บริษัทลูกด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของ Reliance Industries ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ได้เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ณ คอมเพล็กซ์ของบริษัทขนาด 500 เอเคอร์ นอกเมืองMumbai ถึงจะไม่เป็นทางการ แต่ต้องถือว่าเป็นงานช้าง บริษัทเทเลคอมซึ่งมี Mukesh Ambani เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ใช้พนักงานมากถึง 37,000 คนในงานครั้งนี้ ขณะที่อีกกว่า 75,000 คนที่ประจำอยู่ตามสำนักงานอื่นๆ ของ Reliance ทำงานผ่านวิดีโอลิงก์ บริษัทเลือกจัดงานเปิดตัวในวันก่อนหน้าวันครบรอบวันเกิดของ Dhirubhai Ambani ผู้ก่อตั้งบริษัท โดยมี Nita Ambani ภรรยาของ Mukesh Ambani ซึ่งรับผิดชอบงานด้านกลยุทธ์การตลาดและแบรนด์ของบริษัท เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง อีเวนต์ใหญ่ครั้งนี้ ได้ Shah Rukh Khan ซูเปอร์สตาร์แห่ง Bollywood ซึ่งเป็น Brand Ambassador ของบริษัทมือถือรายใหม่มาเป็นพิธีกร เป็นครั้งแรกที่ Ambani ปฏิเสธจะใช้ชื่อ Reliance สำหรับบริษัทลูก ธุรกิจให้บริการเครือข่าย 4G ถูกเรียกสั้นๆ ว่า Jio ซึ่งมีความหมายในภาษาฮินดีว่า “ใช้ชีวิต” โลโก้ทรงกลมของบริษัทแม่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ก็ไม่ถูกนำมาใช้เช่นกัน “นี่เป็นก้าวใหม่ในธุรกิจของเรา ดังนั้น หลังจากหารือกันอย่างถี่ถ้วนแล้ว เราจึงตกลงใจที่จะทำอะไรใหม่ๆ” Nita จากสำนักงานใหญ่ของ Reliance ใน Mumbai ใต้ได้อธิบายโต๊ะทำงานของ Nita ตั้งอยู่ในสำนักงานแบบเปิดโล่งเป็น open office ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทลูกของ Reliance ที่ดำเนินธุรกิจเครื่องกีฬา ซึ่งเธอเองก็บริหารงานอยู่ด้วย ในประเทศที่บรรดาภริยาของมหาเศรษฐีส่วนใหญ่เป็นแค่เงาของสามี บทบาทของ Nita กลับโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เธอติดอันดับ Power Businesswomen ของเราเป็นครั้งแรกในปีนี้ Reliance เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของอินเดีย ทำรายได้ 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (และยังเป็นเจ้าของ Network18 ผู้ได้รับใบอนุญาตของ Forbes Media ซึ่งเป็นผู้ตีพิมพ์ Forbes India) Nita เป็นผู้จัดหา ‘ซอฟต์แวร์’ ให้กับ Reliance ซึ่งเน้นหนักด้านฮาร์ดแวร์ เพื่อสร้างศักยภาพที่นำความสำเร็จ Adil Zainulbhai อดีตประธาน McKinsey อินเดีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณะกรรมการอิสระของ Reliance กล่าวว่า “ขณะที่ Reliance ต้องรับมือกับผู้บริโภคมากขึ้น บุคลิกอันนุ่มนวลของเธอจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ” Nita รับบทบาทมากมาย นอกเหนือจากงานที่บริษัทด้านอุปกรณ์กีฬาของ Reliance ซึ่งรวมถึงการบริหารทีมคริกเก็ต Mumbai Indians และธุรกิจที่ร่วมลงทุนกับ IMG บริษัทบริหารจัดการด้านกีฬา เธอยังรับตำแหน่งประธานมูลนิธิ Reliance Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการกุศลของ Reliance ตลอดจนดูแลโรงเรียน Mumbai K-12 โรงเรียนของชนชั้นระดับบนที่เธอเปิดดำเนินงานเมื่อปี 2003 โดยตั้งชื่อตามพ่อสามีผู้ล่วงลับ ในส่วนของ Mukesh นั้น เขากล่าวว่า “ภูมิใจในสิ่งที่ Nita ให้กับบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกหรือกับ Jio เอง Nita สร้างทีมที่รวบรวมคนเก่งๆ ไว้มากมาย และทำงานด้วยความกระตือรือร้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย” Nita ยืนกรานว่า นอกเหนือจากการทำหน้าที่คุณแม่เต็มเวลาตลอดหกปี ดูแลลูกๆ ทั้งสามคนแล้ว เธอยังเป็นคู่ชีวิตที่ทำงานอย่างขันแข็ง “สำหรับฉัน ฉันใช้เวลาทำงาน 11 ชั่วโมงต่อวันหกวันต่อสัปดาห์” เธอกล่าวขณะเดินทางไปเยี่ยมโรงพยาบาล Sir H.N. Reliance Foundation Hospital ทางใต้ของ Mumbai ซึ่งเธอทำเป็นประจำสัปดาห์ละสามครั้งมูลนิธิรับโรงพยาบาลอายุ 91 ปี เข้ามาอยู่ในการดูแลเมื่อปี 1998 และหลังจากขออนุมัติจากทางการเป็นที่เรียบร้อย มูลนิธิได้ออกทุนในการบูรณะโรงพยาบาลครั้งใหญ่โดยได้มีการก่อสร้างอาคารสูง 19 ชั้น เชื่อมอาคารเดิม Nita เป็นผู้ดูแลงานด้วยตนเอง ปี 2014 Nita เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแพทย์แลกเปลี่ยน Anderson Ronald DePinho ประธานคณะกรรมการกล่าวถึง Nita ว่าเป็น “พลังธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ เธอเป็นนักคิดที่มียุทธศาสตร์แต่ขณะเดียวกันก็เป็นนักปฏิบัติตัวยง” นอกเหนือจากโครงการแลกเปลี่ยนแพทย์แล้ว Nita อยากเสนอโครงการตรวจสุขภาพประชาชนเพื่อตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ “นั่นจะช่วยชีวิตคนได้มากมาย” เธอกล่าวขณะเยี่ยมเยียนโรงพยาบาล เธอทักทายคนไข้ด้วยการกล่าวนมัสเตอย่างสุภาพ Nita เปิดเผยว่าเธอสัมภาษณ์พยาบาลทั้ง400 คน ด้วยตัวเอง และก็เช่นเดียวกัน เธอสัมภาษณ์ครูทุกคนที่เข้าทำงานที่โรงเรียน “ฉันวิตกเรื่องคุณภาพและมักจะลงลึกในรายละเอียดจนเกินเหตุ แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นผลดีกับงาน” Nita กล่าวว่า เธอได้บทเรียนพวกนี้มาจากพ่อสามีและสามีทั้งคู่หมกมุ่นกับคุณภาพและปริมาณในระดับสากล ความช่างเลือกมีบทบาทมากทีเดียว เพราะด้วยความช่างเลือกนี้เอง ทำให้เธอไปเข้าตาพ่อสามี ระหว่างการแสดงฟ้อนรำ Bharatnatyam อันเป็นการแสดงคลาสสิกของอินเดีย ซึ่ง Nita ร่ำเรียนมา เขาคิดว่าเธอน่าจะเป็นภรรยาที่ดีของ Mukesh ได้Nita เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางในชานเมือง Mumbai โดยมีพ่อเป็นผู้บริหารของกลุ่ม Birla เธอจบปริญญาตรีด้านพาณิชยศาสตร์ และมีความทะยานอยาก “ฉันบอก Mukeshตั้งแต่แรกว่าฉันไม่ต้องการเป็นแค่ช้างเท้าหลัง” หลังจากทั้งคู่แต่งงานกัน Nita ลงทะเบียนเรียนระดับประกาศนียบัตรด้านการศึกษาพิเศษ และทำงานเป็นครูอยู่สองสามปี “คนสงสัยกันว่าทำไมฉันต้องทำงาน แต่ Mukesh เองก็ส่งเสริม” เธอหยุดทำงานหลังจากคลอดลูกแฝด ซึ่งเป็นการคลอดก่อนกำหนดหลังตั้งครรภ์ด้วยวิธีการปฏิสนธินอกร่างกาย(IVF) อันยากเย็น ชีวิตทำงานของเธอเริ่มต้นอีกครั้งในอีกหกปีถัดมา ด้วยความเห็นชอบจากพ่อMukesh ให้ Nita มาช่วยงานในโครงการสร้างที่อยู่สำหรับพนักงานในเมือง Jamnagar รัฐ Gujarat ซึ่ง Reliance กำลังก่อสร้างโรงกลั่นขนาดใหญ่ ข้อเสนอนี้สร้างความกระอักกระอ่วนให้ Nita เธอว่า “ฉันไม่มีประสบการณ์เลย” แต่ก็รู้สึกท้าทายเป็นกำลังที่จะได้สร้างโอเอซิสขึ้นในดินแดนอันแสนจะแห้งแล้ง ความสนใจใหม่ของเธอคือการอนุรักษ์ศิลปะของอินเดียและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักของชาวโลกมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเป็นผู้อุปถัมภ์ให้กับนิทรรศการแสดงภาพวาดเทพ Shrinathji ซึ่งเป็นเทพประจำตระกูล Ambani ภาพทั้งหมดเป็นการวาดแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า Pichwai โดยจัดแสดงที่ Art Institute of Chicago เมื่อปีกลาย สำหรับที่ Mumbai นั้น เธอกำลังตระเตรียมพื้นที่สำหรับนิทรรศการศิลปะที่หมุนเวียนจัดแสดงตามที่ต่างๆ ศูนย์แสดงงานขนาดยักษ์นี้สร้างอยู่บนที่ดิน 47.5 ไร่ แผนงานต่อไปคือการสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ และมหาวิทยาลัยด้านศิลปศาสตร์ที่เธอตั้งใจให้ติดอันดับโลก Nita ยอมรับว่าเธอไม่อาจเอาชนะความต้องการควบคุม ช่วงที่เปิดโรงเรียนใหม่ๆ เธอจะยืนที่หน้าประตูเพื่อดูว่าใครเป็นคนมารับเด็กๆ กลับบ้าน แม้จะเป็นที่ทราบกันดีในความช่างบงการของ Mukesh ในด้านธุรกิจ แต่ Nita ให้เครดิตเขาในการเป็นผู้ผลักดันให้เธอได้รับผิดชอบงานมากขึ้น “เขาใช้ไฟสาดแสง” เธอกล่าว “ขณะที่ฉันมักใช้ไฟสปอตไลท์” ด้วยหน้าที่รับผิดชอบมากมาย เธอตระหนักดีว่าต้องวางมือ “ฉันมีความรู้สึกแรงกล้ามากกว่าครั้งไหนๆ แต่ฉันก็ยังต้องเรียนรู้ต่อไป”   เรื่อง: Naazneen Karmali เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม ภาพ: Rajat Ghosh
คลิ๊กอ่าน "Asia's Power Bussiness Woman 2016" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ June 2016