นอกเหนือจากงานใน บมจ.บีอีซีเวิลด์แล้ว แคทลีน มาลีนนท์ ยังดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ไทยโซล่าร์เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ซึ่งมองเห็นอนาคตอันสดใสของธุรกิจพลังงานทดแทน สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงได้ระยะยาว ไปพร้อมกับการสร้างพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ
นโยบายรัฐสนับสนุนผู้ประกอบพลังงานทดแทนโดยให้ส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ 6.5 บาทต่อหน่วยภายในระยะเวลา 10 ปี ถือว่าช่วยลดภาระต้นทุนให้กับเอกชน นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนอยู่ที่ร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย เพื่อการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2564 ลูกค้าหลักของ TSE ก็คือ กฟผ. และ กฟภ. รายได้ปัจจุบันร้อยละ 85 มาจากภาครัฐ ในปัจจุบัน TSE มีโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 11 แห่ง ตั้งอยู่ในละแวกจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี โรงงานแห่งแรงในกาญจนบุรีผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยี Solar Thermal แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถเก็กกักพลังงานความร้อนไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็มีต้นทุนที่สูงมากหากเทียบกับผลผลิตไฟฟ้าที่ได้ ต้องใช้เวลานานกว่าจะคุ้มทุน ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี Photovoltaic (PV) ซึ่งเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรงผ่านแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าได้วันละ 8 ชั่วโมง ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า TSE จึงเปลี่ยนมาใช้ระบบ PV ในสิบโรงงานใหม่ ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. อัตราโรงละ 8 เมกะวัตต์ โดยมีมูลค่าการลงทุนราว 7 พันล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้กว่าหนึ่งพันล้านบาทต่อปี ต้นทุนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 หมดไปกับค่าอุปกรณ์ที่ต้องสั่งตรงจากเยอรมนีและสหรัฐฯ ต้นทุนอื่นๆ คือค่าที่ดิน ซึ่งแคทลีนเล่าว่าเป็นเรื่องท้าทายมากในการหาทำเลที่ตั้งโรงงาน เพราะต้องมีแสงอาทิตย์เข้มข้นเพียงพอ แถมราคาที่ดินยังพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ประกอบการหลายรายแย่งกัน หลังประมูลใบอนุญาตขายไฟฟ้าทางภาคตะวันตกได้ ทำให้บริษัทเสียเวลาไปกับการหาที่ดินมากพอสมควร “แต่เมื่อไหร่ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าได้แล้ว แทบจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลย” เธอยืนยัน มีถึง 6 โรงที่จ่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ได้แล้ว ส่วนอีก 4 โรง ซึ่งพร้อมผลิตแล้ว กำลังอยู่ระหว่างรอรับใบอนุญาต นอกจากนี้ TSE ยังร่วมมือกับพันธมิตรอีกสองราย คือ บมจ.โฮมโปรดักส์เซ็นเตอร์ และ บริษัทเดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด เข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) เพื่อจำหน่ายให้ กฟภ. และ กฟผ. รวม 14 เมกะวัตต์ โดยแคทลีนมองว่าพันธมิตรทั้งสองมีฐานลูกค้าครัวเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงสามารถทำตลาด Solar Rooftop เข้าสู่กลุ่มที่อยู่อาศัยได้ โดยมีเป้าหมายที่ผู้มีรายได้ upper-middle ขึ้นไป ตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม และต้องการใช้ประโยชน์จากหลังคาบ้านเพื่อขายไฟฟ้า “ถ้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ขนาด 280,000 บาท ถึง 500,000 บาท แล้วขายไฟให้การไฟฟ้าฯ จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 8 ปี”อ่าน "แคทลีน มาลีนนท์: สตรีผู้แปลงแสงเป็นเงินตรา" ฉบับเต็มได้ใน Forbes Thailand ฉบับ MAY 2014