คลุกคลีในวงการกางเกงยีนส์ในฐานะรับจ้างผลิต ก่อนเดินหน้าสร้างแบรนด์ Mc วันนี้ยีนส์สัญชาติไทยกำลังท้าชนแบรนด์นอก ย้ำผงาดสู่ผู้นำตลาดยีนส์เมืองไทย พร้อมรุกประเทศเพื่อนบ้านรองรับกำลังซื้อ ด้วยเป้าหมายยีนส์ “อันดับ 1” ในอาเซียน
ในฐานะเจ้าของยีนส์อันดับ 1 ของประเทศ "สุณี เสรีภาณุ" ลูกสะใภ้ร้านซินไฉ่ฮั้ว ธุรกิจซักแห้งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับ พิชัย กัญจนาภรณ์ อดีตสามีและผู้ก่อตั้งแบรนด์ Mc ซึ่งเริ่มจากการรับจ้างผลิต (OEM) ให้ยีนส์แบรนด์นอกตั้งแต่ปี 2518 ก่อนจะก่อตั้งบริษัท พี.เค.การ์เม้นท์ (อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ Mc ในปี 2523 “เมื่อปี 2540 ตรงกับภาวะวิกฤต ภายใต้สถานการณ์นั้น เราทำให้เขาเห็นว่าจะใช้วิธีการแบบเดิมไม่ได้ จากเชิงรับต้องเปลี่ยนเป็นเชิงรุก ใช้เวลาไม่นานก็ฟื้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เราคิดว่า แค่วิธีคิดถูกต้อง กลยุทธ์ถูกต้อง วิกฤตก็กลายเป็นโอกาสได้” สุณีเล่าถึงบทบาทผู้บริหารช่วงต้น และวันแรกที่เริ่มเปลี่ยน Mc ภายใต้การนำของซีอีโอหญิง พิสูจน์ฝีมือได้จากการปั้นแบรนด์และเฟดรอยทางธุรกิจให้แจ่มชัด นับตั้งแต่การชักชวนธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กรของดีแทคให้เบนเข็มเส้นทางธุรกิจจากวงการโทรคมนาคม สู่การเป็นประธานกรรมการบริหารในปี 2554 ก่อนที่จะเปลี่ยนมือเป็นปรารถนา มงคลกุล ซึ่งรับตำแหน่งที่ปรึกษาและกรรมการบริหารในปี 2555 และในปี 2556 สุณีได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันชาติสหรัฐอเมริกา เมื่อนำกลุ่มบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และทำราคาเปิดเหนือกว่าราคาจองซื้อที่ 15 บาท จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานและผลงานที่เข้าตา ทำให้คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์แต่งตั้งให้เธอรับตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแม็ค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พร้อมถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแทนพิชัยที่สละเก้าอี้ประธานกรรมการเมื่อช่วงกลางปีนี้ ในวันนี้ Mc ติดปีกรุกขยายตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเพิ่มความหลากหลายของแบรนด์ให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการตั้งแต่กลุ่มเป้าหมายระดับบน-ล่าง และเด็ก-ผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะ Mc Lady เน้นการออกแบบเป็น Denim Street Fashion, Bison ไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่ราคาต่ำกว่า แต่คงคุณภาพการตัดเย็บ, Mc Pink แฟชั่นไลฟ์สไตล์เต็มรูปแบบสำหรับวัยรุ่นหญิง, Mc Mini ขยายฐานลูกค้ากลุ่มเด็กอายุ 6-12 ปี, Mc Mc กลุ่มสินค้า Value for money, Mc Me สำหรับลูกค้าอายุ 40 ปีขึ้นไป, Mc Plus สำหรับผู้มีรูปร่างใหญ่ทั้งชายและหญิง รวมทั้ง The Blue Brothers เจาะตลาดพรีเมียมด้วยการเปิดร้านค้าปลีก The Blue Brothers Denim Store จำหน่ายยีนส์ The Blue Brothers และยีนส์นำเข้าแบรนด์ดังทั่วโลก เช่น K.O.I., KUICHI และ DSTREZZED ความพยายามต่อยอดธุรกิจรอบด้าน สะท้อนในตัวเลขยอดขายช่วงครึ่งปีแรกที่เพิ่มขึ้น 27% อยู่ที่จำนวน 1,670 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 10% หรือ 380 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ในปี 2556 ที่ 38.4% เอาชนะ Levi’s 27.5% Wranger 11.6% และ Lee 10.5% “เวลาโร้ดโชว์ต่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศมักจะถามว่า เราเป็นที่ 1 ได้อย่างไร คำตอบ คือ เราไม่เคยคิดว่าจะเป็น Global Brand แต่คิดว่าจะทำงานตอบโจทย์ลูกค้าอย่างไร พร้อมสร้างความสามารถทางการแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศ เพราะเราเชื่อว่า เขามีความได้เปรียบด้านขนาด แต่เราสามารถใช้ความคล่องตัวสร้างความได้เปรียบ”อ่าน "สุณี เสรีภาณุ: ปั้น Mc ยีนส์ไทยเทียบอินเตอร์" ฉบับเต็มได้ใน Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2014