ริศรา เจริญพานิช PRTR ตอบทุกโจทย์ HR - Forbes Thailand

ริศรา เจริญพานิช PRTR ตอบทุกโจทย์ HR

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Aug 2023 | 11:00 AM
READ 4249

นักการตลาดสาวสวยพ่วงดีกรีปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา มาสมัครงานกับบริษัทจัดหางานกลายเป็นว่าเจ้าของบริษัทเสนองานให้ ทำงานครบ 3 เดือนถามเจ้านายว่าพ้นโปรไหม กลับได้รับคำตอบว่าจะโปรโมตให้เป็นผู้จัดการ ปัจจุบันเธอเป็นผู้บริหารสูงสุด และถือหุ้นมากเป็นอันดับแรกของบริษัท

    

    บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PRTR ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 ด้วยความร่วมมือผู้บริหารชาวไทยและชาวอังกฤษ 3 คนคือ ลักษณ์ เด่นดี, Paul David Chaundy และ Richard Hugh Bennett ประกอบธุรกิจให้บริการด้านบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างครบวงจร ช่วงแรกให้บริการสรรหาพนักงาน ต่อมาจึงเพิ่มงานบริการจัดจ้างพนักงาน กระทั่ง 3 ปีล่าสุดจึงเพิ่มธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมด้านทรัพยากรบุคคล ธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย 

    1. บริการจัดจ้างบุคลากรและให้บริการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR outsourcing services หรือ outsource) เป็นการการจัดจ้างบุคลากรตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการพนักงานจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่มีความพร้อมด้านการบริหารบุคลากร อาทิ พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า พนักงานบริการลูกค้า วิศวกร พนักงานประจำสำนักงาน และพนักงานดูแลสายการผลิตในโรงงาน

    2. บริการสรรหาบุคลากร (recruitment services) ตั้งแต่ระดับทั่วไปจนถึงระดับผู้บริหาร โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้สมัครงานที่กำลังหางานและบริษัทที่กำลังหาพนักงาน ดำเนินการภายใต้ บจ. จัดหางาน พีอาร์ทีอาร์ และ บจ. จัดหางาน พีอาร์ทีอาร์ แอนด์ เอ๊าท์ซอสซิ่ง (อีสเทิร์น ซีบอร์ด) บริษัททำหน้าที่สรรหาบุคลากรโดยผ่านการคัดกรองทั้งแบบทดสอบด้านความรู้ และทักษะเฉพาะทาง ตลอดจนการสัมภาษณ์ เมื่อพบผู้สมัครที่ตรงความต้องการของลูกค้าจึงนำส่งรายชื่อและประวัติการทำงานให้บริษัทลูกค้าสัมภาษณ์

    3. ให้บริการแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ ดำเนินงานภายใต้ บจ. จัดหางาน เน็กซ์มูฟ แพลตฟอร์ม จำกัด ซึ่งเริ่มดำเนินธุรกิจปลายปี 2565 โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้สนใจสมัครงานและบริษัทที่ต้องการหาพนักงานมาเจอกันผ่านทางเว็บไซต์ 

    4. ให้บริการฝึกอบรมแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและออฟไลน์ (integrated learning services)

    5. ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการบุคลากรภายใต้ บจ. เดอะแบล็คสมิธ โดยให้บริการคอร์สเรียนออฟไลน์และออนไลน์ซึ่งมีมากกว่า 30 และ 200 คอร์ส ตามลำดับ 

    6. ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการบุคลากร ดำเนินการภายใต้ บจ. พินโน โซลูชั่นส์ เนื่องจากจากลูกค้าองค์กรต้องการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเอง แต่ยังขาดแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม บริษัทจึงพัฒนาบริการด้านนี้เพิ่มขึ้นมา

    ปัจจุบันมีพนักงาน 550 คน และพนักงานที่บริษัทจ้างและส่งไปทำงานให้กับลูกค้า (outsource) ประมาณ 15,000 คน ปี 2563-2565 บริษัทมีรายได้ 4,867.4 ล้านบาท 5,558.3 ล้านบาท และ 6,116.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 120.7, 183.2 และ 199.4 ล้านบาทตามลำดับ โดยรายได้มากกว่า 95% มาจากธุรกิจเอาท์ซอร์ส

    สัดส่วนรายได้ปี 2565 เทียบกับปีก่อนหน้า ธุรกิจบริการเอาท์ซอร์สเพิ่มขึ้น 68.5 ล้านบาทคิดเป็น 5% บริการรีครูตเมนต์เพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาท คิดเป็น 4.7%  ขณะที่ธุรกิจฝึกอบรมมีรายได้เพิ่ม 1.3 ล้าน คิดเป็น 92.9%

    ทั้งนี้บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหมวดธุรกิจบริการเฉพาะกิจ และเทรดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี 2566

    

เป็นหัวหน้าทีมตั้งแต่ปีแรก

    

    “ชอบความท้าทาย มี achievement ทำแล้วชอบรู้จักลูกค้าเยอะ ก็เลยยาวมา 20 ปี” ริศรา เจริญพานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีอาร์ทีอาร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสาวในชุดสูทกระโปรงสีแดงสดใส สีเดียวกับโลโก้ของบริษัท กล่าวน้ำเสียงที่เป็นกันเองและมีท่าทีที่กระตือรือร้นตลอดการให้สัมภาษณ์

    ริศราเรียนจบคณะวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำงานที่แกรมมี่ 1 ปีในตำแหน่งเออี ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Marketing Communication, Illinois Institute of Chicago ที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาร่วมงานที่ PRTR ในตำแหน่งรีครูตเมนต์ คอนซัลท์แทน หลังผ่านทดลองงานได้รับโปรโมตให้เป็นรีครูตเมนต์แมเนเจอร์ คุมทีมเฮดอันเตอร์ของตนเอง ช่วงที่ย้ายไปอยู่แผนกการตลาดก็ไปช่วยพัฒนาโปรเจกต์ ทำได้สักพัก “Richard” ผู้ก่อตั้งบริษัท มีนโยบายให้พนักงานที่หน่วยก้านดีออกไปเปิดบริษัทย่อย ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในนั้น และก่อตั้ง บจ.จัดหางาน พีอาร์ทีอาร์ แอนด์ บิสซิเนส โปรเซส เอ๊าท์ซอสซิ่ง โดยบริษัทแม่ถือหุ้น 60% และริศราถือหุ้น 40% จับตลาดพนักงานระดับทั่วไป

    “ปี 2556 คุณ Richard บอกว่าอีก 6 เดือนจะกลับอังกฤษ และเลือกให้มาเป็นผู้บริหาร ตอนเขา offer เราก็คิดนาน เขาคิดว่าเราจะดีใจ ปรากฏว่าคิดหนัก เพราะตอนนั้นมีเราและ Director อื่นอีก 3 คนไปตั้งบริษัท ตอนนั้นเราทำบริษัทไซซ์ไม่ใหญ่มาก ก็คล่องตัว ตัดสินใจเอง แต่พอเขาบอกว่าย้ายมาอยู่ส่วนกลางไหม และต้องคุม Director คนอื่นๆ ที่แยกไปตั้งบริษัทด้วย เราบอกขอคิด 1 เดือน เขาบอกมากไป (หัวเราะ) ไม่ได้หรอก เขาจะนอนไม่หลับเดือนหนึ่ง ก็เปลี่ยนเป็นขอเวลาอาทิตย์ เราเป็นลูกจ้าง สบาย ไม่ต้องยุ่งกับคนอื่น ตอนนั้นบริษัทมีรายได้หลักร้อยล้านแล้ว คิดว่า success จะไปยุ่งกับชาวบ้านทำไม คือดูแล้วปัญหาน่าจะเยอะ แต่สรุปก็ตอนรับ”

    ถามว่า ทำไมถึงได้รับการโปรโมตจากผู้บริหาร ริศราตอบว่า อาจเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวที่ทำงานทุกอย่าง แม้ไม่ใช่หน้าที่ของตน ไม่คิดว่าเป็นเพียงลูกจ้าง ครั้งหนึ่งเธอเสนอเจ้านายให้เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ทำระบบบัญชี และอาสาว่าจะมาช่วยทำงานนี้ เพื่อรับรู้สถานะการเงินเดือนต่อเดือน จากเดิมจ้างเอาท์ซอร์สต้องใช้เวลา 5 เดือนจึงทราบผลว่ากำไรหรือขาดทุนเท่าไร

    ช่วงที่ตอบรับตำแหน่งเป็นเบอร์ 1 ของบริษัทนั้น ริศราอายุ 30 ปีเศษ ทั้งยังมีผู้บริหารอื่นๆ ที่วัยใกล้เคียงกันหรือสูงวัยกว่า แน่นอนว่าเป็นความท้าทายไม่น้อย ทว่าการเติบโตของบริษัทที่ผ่านมา พิสูจน์ว่าเจ้านายมองคนไม่ผิด

    “ตอนแรกก็ suffer เพราะ Director บริษัทอื่นอายุใกล้ๆ กัน senior กว่าก็มี ต้องปรับตัวเพราะทุกคนก็เก่ง และเขาคงมีคำถามในใจว่าทำไมเป็นเรา และบริษัทที่เราดูแลไม่ใช่ core business ตั้งแต่ต้น...อีกอย่างคือผู้บริหารบางท่านเป็นต่างชาติ ผู้หญิงไทย manage ฝรั่งต่างชาติ แต่เราเป็นคนตรงๆ ไม่คิดเล็กคิดน้อย มีอะไรเถียงกันในห้อง ตรงไหน agree กันได้ไหม ถ้าไม่ได้ agree ที่ไม่ agree กันก่อน กลับบ้านไปก่อนแล้วเดี๋ยวกลับมาใหม่

    “ที่นี่จะเถียงกันว่า point of view ของแต่ละฝ่ายคืออะไร แล้วหาข้อสรุป จบแล้วไปกินข้าวกอดคอกันได้เหมือนกัน เราใช้สไตล์ฝรั่ง ที่นี่มีต่างชาติ มีผู้บริหารผู้หญิงเยอะ ส่วนใหญ่จบจากต่างประเทศ จนบางทีต่างชาติบอกว่าทำไม you ต้อง aggressive ขนาดนั้น เขาเป็นอังกฤษ สกอตแลนด์ แต่เราก็สนุก เป็น culture ที่ mix กัน เราไม่ได้ promote คนตามอายุงาน ดูผลงานเป็นหลัก ค่อนข้าง dynamic”

    

โตจากธุรกิจเอาท์ซอร์ส

    

    ริศราอธิบายถึงลักษณะงานของบริษัทว่า ช่วงแรกมี 2 แบบ คือ recruitment หรือ head hunter หาผู้สมัครไปทำงานกับลูกค้า แบบที่ 2 และเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบันคือ จัดจ้างพนักงานให้ลูกค้าหรือเอาท์ซอร์สซิ่ง โดย PRTR หาพนักงานให้ลูกค้าและเป็นนายจ้างให้พนักงานด้วย เช่น บริษัทต้องการพนักงานขับรถ แต่ไม่อยากจ้างเอง PRTR จะจ้างพนักงานและจัดส่งไปทำงานในหน่วยงานหรือบริษัทของลูกค้า

    ก่อนหน้านี้ไม่เคยจับกลุ่มพนักงานโรงงาน กระทั่ง 3 ปีก่อนเห็นดีมานด์ของตลาด เนื่องจากมีสำนักงานอยู่ที่ชลบุรี และลูกค้ามักถามว่า ทำไมไม่ทำ เธอจึงขยายงานให้ครอบคลุมส่วนนี้ ทำให้พอร์ตเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งเปิดธุรกิจใหม่ผ่านบริษัท 3 แห่ง โดยรายได้มาจากลูกค้าที่ต้องการหาพนักงาน ส่วนคนที่หางานทำ ไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด  

    “เมื่อก่อนเราหาคน จ้างคน พอจะพัฒนาคนก็จ้างบริษัทอื่นทำ เรามองเห็นโอกาสและ train เอง เปิดบริษัท เดอะแบล็คสมิธ ปี 2564 เป็นบริษัทฝึกอบรม และเทรนพนักงาน เพื่อ upskill reskill ให้คนของเราและลูกค้า ลักษณะเป็น integrated learning เรียนออนไลน์ที่ไหนก็ได้ เพื่อให้เข้มข้นมีการ follow up ต้องมาเจอหน้ากัน เป็น concept ว่าเรียนแล้วต้องมีความเปลี่ยนแปลง”

    ธุรกิจที่ 2 เปิดในปี 2565 เป็นเว็บไซต์เป็นแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ ซึ่งในไทยมีผู้เล่นไม่กี่ราย บริษัทก็เลยมาทำ ขณะนี้อยู่ในระยะนำข้อมูลผู้สมัครเก็บเข้าเป็น data base ถ้าลูกค้าต้องการพนักงาน มาประกาศหาบนเว็บไซต์ ธุรกิจที่ 3 เพิ่งเปิดปีนี้ในนาม บจ. เน็กซ์มูฟ แพลตฟอร์ม เป็นการให้บริการซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล เช่น การจ้างงาน การทำเงินเดือน การประเมินผล

    ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้แตะหลักพันล้านตั้งแต่ปี 2557 ด้วยตัวเลข 1,497 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 2,381 ล้านบาท ในปีถัดมา  ปี 2559 มีรายได้ 3,114 ล้านบาท หลังจากนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องมาทุกปี ในการสรรหาพนักงานบริษัทดูจากข้อมูลที่สะสมไว้จำนวน 500,000 ราย หากลูกค้าต้องการพนักงานตำแหน่งใดก็จะเช็กจากฐานข้อมูลและเชิญมาสัมภาษณ์ หากผ่านก็ส่งต่อให้ลูกค้าพิจารณา ส่วนตำแหน่งระดับบริหารทีมงานบริษัทจะโทรศัพท์ไปทาบทามโดยตรง

    “ถ้าเป็น level executive บางทีเขาทำงานอยู่แล้วเราโทรไป offer ว่าอยากเปลี่ยนงานไหม แต่นัดเจอตามร้านกาแฟหรือโรงแรม พอเราได้โปรไฟล์มาแล้วก็เก็บเป็น data base บางทีลูกค้าอยากได้ (คนนี้) แต่ไม่ทำเอง ก็ให้เราทำให้  ส่วนที่เป็น junior เช่น พนักงานโรงงาน เรามีทีมไปเปิดบูธหน้านิคมฯ เลย เพราะเขาออกจากโรงงานนี้ไปสมัครงานงานในโรงงานอีกแห่ง...แต่ละกลุ่มเรามีคอนซัลท์ต่างกัน

    ส่วนพนักงานเอาท์ซอร์สบริษัทมีรายได้จากการคิดค่าบริการออนท็อปจากเงินเดือนพนักงาน เช่น พนักงานเงินเดือน 20,000 บาท บริษัทคิดจากลูกค้า 22,000 บาท แม้ลูกค้าต้องจ่ายราคาสูงกว่าจ้างเอง แต่เมื่อคิดค่าใช้จ่ายโดยรวมไม่ต่างกันมากนัก

    “ถ้าเขาจ้างพนักงานเองโดยตรง นอกจากต้องจ่ายค่าประกันสังคม อาจมีค่ารักษาพยาบาล เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งมากกว่า 2,000 บาท ถ้าให้เราจัดการไม่ต้องจ่ายพวกนั้น นอกจากนั้น ตำแหน่งที่เราทำ มีคนเข้าออกบ่อย ลูกค้าไม่ต้องจ้าง HR มาทำงานด้านนี้เอาไปทำงานพัฒนาคนหรือทำอย่างอื่นได้ เวลาเรานัดสัมภาษณ์ นัด 10 ราย อาจมา 7 ราย และใช้ได้แค่ 2 ราย แต่รายละเอียดเหล่านี้เราทำให้หมดแล้ว ก็มาจ้างเรา แทนที่ต้องจ้างพนักงานเองมาทำ role นี้

    “นี่เป็นแนวคิดจากเมืองนอก เขา outsource หมด ถ้าไม่ใช่ core business ตลาดส่วนนี้โตขึ้นเรื่อยๆ outsource เป็น trend จากเมืองนอก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติเยอะ ประเทศไทยจ้างคนได้เท่านี้ หากอยากจ้างเพิ่มก็ outsource แต่บริษัทไทยก็เห็น trend แล้วว่าประหยัด คล่องตัวกว่า เพิ่งมีลูกค้ารายหนึ่งต้องผลิตโทรศัพท์มือถือ อยากได้คนงานเดือนหน้า 100 คน เขาไม่ต้องปวดหัวว่าจะหาคนจากที่ไหน ความสะดวกคือไม่ต้องประกาศรับสมัคร ออกบูธ หรือทำสัญญาจ้างเอง”

    ทั้งนี้ตำแหน่งงานที่ตลาดต้องการมากที่สุดในปัจจุบันคือ พนักงานไอที อีกตำแหน่งคือ ฝ่ายขายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

    ปัจจุบันมีบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านนี้ที่ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม จำนวน 3 แห่ง อีก 2 แห่งเป็นบริษัทข้ามชาติ ส่วนที่เหลือเป็นบริษัทที่ทำเฉพาะตำแหน่ง เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน หรือในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง

    ปีที่ผ่านมา PRTR เพิ่งแซงหน้าบริษัทข้ามชาติ โดยครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 แม้จะบอกว่าเป็นเบอร์ใหญ่สุด ทว่ามีสัดส่วนตลาดเพียง 5% จากมูลค่าตลาดเอาเอาท์ซอร์สปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท 

    

ความยากอยู่ที่ตัวสินค้า

    ถามว่า ธุรกิจแข่งขันกันดุเดือดมากไหม ผู้บริหารสาวตอบว่า “พูดอย่างนี้ดีกว่า ยาก (เน้นเสียง) เพราะเป็นเรื่องคน ถ้าขายสินค้าเรารู้ว่าสินค้าคืออะไร เช่น แก้วกาแฟ พยายามหาลูกค้าให้เจอและบรรยายว่าดีอย่างไร ถ้าคุณโอเคเราหาสินค้าให้ แต่สินค้าของเราคือคน เราไม่ใช่เจ้าของเขา ต้องขายพนักงานและไปขายให้ลูกค้าอีกทีเหมือนจับคู่ งานยังไม่จบถ้ายังหาคนให้ลูกค้าไม่ได้ สินค้าเราเปลี่ยนใจได้เสมอ สมมติผู้สมัครงานรับว่าจะทำแล้ว ปรากฏว่าพรุ่งนี้นายเก่าบอกอยู่ต่อเถอะ เราก็ต้องหาคนใหม่ เพราะสินค้าคือคน ยากกว่าการขายสินค้าปกติๆ รู้ว่าคืออะไร ราคาเท่าไร ผลิตเสร็จเมื่อไร

    “แต่คนไม่มีวันรู้ อยู่ใน data base อยู่ในตลาด พอขายเสร็จ ก็หาสินค้าอีกว่าอยู่ที่ไหน convince เขา ในไทยถ้าไม่ใช่บริษัทข้ามชาติ ตลาดผู้เล่นไม่ใหญ่มาก เขาอาจเก่งด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ทำ full loop แบบเรา ก็เป็นโอกาส บริษัทไหนอยากโตๆ ไม่ได้ ขาดเงินทุน เราอาจเข้าไปดู และทำให้เติบโตได้”

    เหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทโลคัลเติบโตยากเพราะขาดเงินทุน เนื่องจากบริษัทไม่มีสินทรัพย์ เช่น โรงงาน ที่ดิน ขอกู้เงินจากธนาคารลำบาก ในทางกลับกันต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมาก เพราะต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเอาท์ซอร์สก่อน แล้วจึงเรียกเก็บจากลูกค้าอีกที ดังนั้น แม้จะมีโปรเจกต์ใหม่ๆ ก็ไม่สามารถรับได้ เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน ขนาดที่ว่าผู้ก่อตั้งบริษัทต้องเอาคอนโดมิเนียมไปค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินจากธนาคาร  

    หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บริษัทวางเป้าหมายว่าต้องเติบโต 10-15% ต่อปี มองหาโอกาสใหม่ๆ ขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูงมากขึ้น เช่น กลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยว และกลุ่มไอที รวมทั้งวางวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นองค์กรด้านบุคลากรอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    “ตอนนี้บริษัทใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว มองว่ามีตลาดอะไรทำได้อีก ถ้าเมืองไทยค่าแรงแพงขึ้นก็ดีกับเราเพราะค่า fee เพิ่มขึ้น ถ้าแพงจนอยู่ในจุดที่คนไม่ลงทุน ก็คิดว่าตลาดไหนไปได้อีก โมเดลที่ใช้ในไทย success แล้ว น่าจะไปต่างประเทศได้ อยากให้ทีมมี career pass เป็น challenge ให้ตัวเองด้วยว่าเราไม่จบแค่ที่นี่ ตอนนี้มองไว้ 2 ประเทศเริ่มสำรวจบ้างแล้ว แต่ยังคงไม่เริ่มภายใน 1-2 ปีนี้

    “สำหรับ 3 บริษัทใหม่ที่เพิ่มมา เรารู้แล้วว่าพวกนี้ต้องเติบโต อีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่ารายได้จากส่วนนี้คิดเป็น 15% ต้องปั้นให้โตให้ได้ แต่เราจับกลุ่มเดิมที่ถนัด HR และลูกค้าบริษัท...พอมีเงินแล้วก็ไม่ worry ว่าหากมีโปรเจกต์เข้ามาจะหาเงินจากไหน ก็มีอิสระมากขึ้น รวมทั้งสามารถมองคู่แข่งรายเล็ก มีบาง industry ที่มีใน port เราไม่เก่งแต่บริษัทอื่นเก่ง เช่น พนักงานขับรถ ให้เขามา merge กับเราแล้วได้ benefit ทั้งสองฝ่าย” ริศรากล่าวในตอนท้าย

    

    อ่านเพิ่มเติม : จับกระแสโรงเรียนนานาชาติ กับแนวโน้มการแข่งขันที่เข้มข้น

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine 

TAGGED ON