โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบทางใต้อายุมากกว่า 40 ปีพร้อมยกระดับความเป็นมืออาชีพสู่บริษัทมหาชนพัฒนาเทคโนโลยีสร้างความต่างอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นเพิ่มมูลค่าปาล์มดีมีคุณภาพ และขยายธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่การเติบโตอาณาจักรพันล้านในระยะยาว
ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดกระบี่เป็นมากกว่าสมบัติในดินที่ช่วยวางรากฐานธุรกิจอันแข็งแกร่งให้กับครอบครัวอุดมผลกุล โดยเด่นพงษ์ และนิพนธ์ บิดาและบุตรชายร่วมกันก่อตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งเริ่มจากกำลังการผลิต 10 ตันทะลายปาล์มสดต่อชั่วโมง และพัฒนากระบวนการผลิตสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องสู่กำลังการผลิต 60 ตันทะลายปาล์มสดต่อชั่วโมง พร้อมยกระดับเป็นบริษัทมหาชนสืบทอดความยั่งยืน
“รายได้หลักของกระบี่มาจากการท่องเที่ยวและสวนปาล์มเป็นอันดับต้นๆ โดยอำเภออ่าวลึกที่เราตั้งโรงงานไม่ติดทะเลและอยู่คนละโซนกับการท่องเที่ยว ทั้งยังสามารถดึงปาล์มจากพังงามาได้ ซึ่งเราเลือกทำเลถูกตั้งแต่เริ่มต้นบริษัทโดยคุณเด่นพงษ์ อุดมผลกุล มีศักดิ์เป็นอากง และเพื่อนอากงมีความรู้เรื่องการสร้างโรงปาล์มชวนมาลงทุนที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งอากงให้คุณพ่อมาบริหารและส่งต่อให้ผมเข้ามาช่วยธุรกิจปี 2560”
สิทธิภาส อุดมผลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ APO กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาในการสานต่อธุรกิจของครอบครัว ด้วยการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และฝึกปฏิบัติงานตำแหน่ง Fronted Developer ใน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ฝึกฝนทักษะการพัฒนาเว็บไซต์ รวมถึงการออกแบบอินเทอร์เฟซของผู้ใช้งาน
ก่อนจะตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิชา Informatics ที่ Northeastern University ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเสริมทักษะความรู้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบริหารธุรกิจสำหรับปรับใช้ในการบริหารธุรกิจโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของครอบครัว โดยระหว่างทางยังศึกษาเพิ่มเติมด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ด้วยการศึกษาปริญญาโท Financial Economics ที่ Boston University สั่งสมความรู้ความเข้าใจด้านการเงินการลงทุน พร้อมเปิดมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ภาคธุรกิจได้มากขึ้น
หลังจากเดินทางกลับประเทศไทยได้เริ่มต้นทำงานนอกรั้วธุรกิจครอบครัวกับบริษัท ABC Tech Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Telenor Group ประเทศนอร์เวย์ โดยมีโอกาสได้พัฒนาทักษะความรู้การทำงานจากการรับผิดชอบหน้าที่นักพัฒนาโปรแกรมราว 1 ปี จึงกลับเข้ามารับไม้ต่อธุรกิจโรงงานน้ำมันปาล์มในตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อปี 2560 ด้วยลักษณะธุรกิจการเกษตรแปรรูปที่ต้องบริหารจัดการเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนจึงแบ่งเวลาจากการทำงานประจำที่โรงงานเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ที่ศูนย์การศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมปรับใช้การบริหารงานเชื่อมโยงบุคลากรในพื้นที่ท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มและสร้างการเติบโตทางธุรกิจจนได้รับความไว้วางใจนั่งเก้าอี้ซีอีโอเต็มตัวในปี 2564
“ช่วงแรกเราเริ่มจากติดตามผู้จัดการโรงงานดูงานและขยับขึ้นมาบริหารเต็มตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยการทำงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับเทคโนโลยีบริหารจัดการซอฟต์แวร์ แต่งานที่บ้านหลายอย่างไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงานอย่างการชั่งผลปาล์ม เรามองเห็นจุดรั่วหลายจุดจึงหาบริษัทซอฟต์แวร์ให้เข้ามาทำเรื่องการรับซื้อวัตถุดิบเป็นออนไลน์ กระบวนการผลิตมีการติดเซนเซอร์ช่วยให้สามารถมอนิเตอร์ได้ ระบบตาชั่งเป็นเรียลไทม์และกำหนด KPI รวมถึงพัฒนาซอฟต์แวร์บนมือถือสำหรับคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากรับตำแหน่งซีอีโอได้ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่จากการดูซอฟต์แวร์เป็นการบริหารภาพรวมเหมือน conductor ในวง symphony ประสานให้คนเก่งแต่ละคนทำงานร่วมกัน”
ซีอีโอวัย 35 ปี กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งคุณภาพของทะลายปาล์มสด (FFB: Fresh Fruit Bunch) ที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิตถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (OER: Oil Extraction Rate) และวัตถุดิบทะลายปาล์มสดที่มีคุณภาพยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้ราคาขายน้ำมันปาล์มดิบที่สูงกว่าราคาทั่วไปในตลาดซื้อขาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านการควบคุมคุณภาพสินค้าระดับพรีเมียม ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท
ดังนั้น สิทธิภาสจึงเล็งเริ่มต้นโครงการตัดสุก มีสุข ปาล์มดีมีคุณภาพ หรือ Asian Plus+ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรคู่ค้าทะลายปาล์มสดให้มีความรู้ความเข้าใจในการเพาะปลูกและตัดทะลายปาล์มสดที่มีคุณภาพ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องขึ้นทะเบียนกับบริษัทตามขั้นตอนที่กำหนด และต้องทำบันทึกความเข้าใจ (MOU: Memorandum Of Understanding) ในหลักเกณฑ์คุณภาพทะลายปาล์มสดที่จำหน่ายให้กับบริษัท ซึ่งได้รับความสนใจและมีสมาชิกนำทะลายปาล์มสดที่มีคุณภาพมาจำหน่ายกับบริษัทอย่างต่อเนื่องจนมีอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มดิบอยู่ในอันดับต้นของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบจากการจัดอันดับของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดกระบี่
“เรามีอัตราการสกัดน้ำมันปาล์มเป็นอันดับต้นๆ ของกระบี่ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนการรับซื้อปาล์มในอดีตที่ให้ราคาเท่ากันทั้งปาล์มดีและปาล์มไม่ดี เราจึงริเริ่มโครงการรับซื้อปาล์มดีมีคุณภาพ โดยส่งทีมงานนักวิชาการร่วมกับเกษตรกรเป็นเครือข่ายเข้าไปสอนการบริหารจัดการ เช่น การใส่ปุ๋ย การให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ซึ่งถ้าได้ตามสเปกที่กำหนดก็จะได้ราคาพรีเมียม โดยสามารถสร้างความเชื่อมั่นทั้งคนขายและคนซื้อหรือโรงงาน เมื่อเกษตรกรตัดปาล์มคุณภาพและส่งของดีมีคุณภาพให้บริษัท เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น อัตราการสกัดของบริษัทมากขึ้น ต้นทุนก็ลดลง ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เรา”
Ecosystem เชื่อมธุรกิจครบวงจร
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้การขับเคลื่อนของคลื่นลูกใหม่ได้รับการติดปีกการเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยการนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในเดือนเมษายนปีนี้ เพื่อนำเงินระดมทุนปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรในกระบวนการผลิต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจ รวมถึงขยายกิจการในอนาคต
“การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไอเดียของผมและน้องในการพัฒนาระบบการบริหารให้มีความเป็นมืออาชีพและใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน ซึ่งการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจากธุรกิจครอบครัวเป็นมหาชนต้องปรับตัวสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องคน ซึ่งเราใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 2 ปีครึ่ง และได้นำความรู้การบริหารจัดการที่เรียนจาก Boston เคส IBM เทคโอเวอร์บริษัทซอฟต์แวร์รุ่นใหม่มาปรับใช้ด้วยการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยจนเกิดการ synergy กัน”
สิทธิภาสย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอาณาจักรธุรกิจสกัดน้ำมันปาล์มดิบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หลักจากการสกัดน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยได้ ไม่ว่าจะเป็นกะลาปาล์ม ทะลายปาล์มเปล่า น้ำมันกรดสูง (จากบ่อน้ำเสีย) เส้นใยปาล์ม ภายใต้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 60 ตันทะลายปาล์มสดต่อชั่วโมง ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001:2015
“อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเหมือน 3 กล่อง โดยกล่องแรกเป็นวัตถุดิบเข้า กองกลางเป็นวัตถุดิบน้ำมัน กล่องสุดท้ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกไป ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเรานำเทคโนโลยีจับกล่องแรกให้เป็นออนไลน์ หลังจากระดมทุนเราจะแตะกล่องกลาง โดยปกติวิธีการผลิตในวงการเรียกว่านึ่ง นวด กวน หีบ ด้วยการใช้หม้อนึ่งปัจจุบันเป็นแนวนอนทำให้สูญเสียน้ำมันหรือพลังงานจำนวนมากกว่าวัตถุดิบจะเข้าหม้อนึ่ง เราจึงเปลี่ยนเป็นระบบหม้อนึ่งแนวตั้ง automation ช่วยให้สูญเสียน้ำมันในระบบน้อยลง โดยในอนาคตเราต้องการให้ครอบคลุมจากเดิมที่เรามีอุตสาหกรรมกลางน้ำ เราเริ่มมีแปลงเพาะเมล็ดพันธุ์ปาล์มหรือต้นกล้าขายให้เกษตรกรในส่วนของต้นน้ำ และการนำวัตถุดิบมา process ส่งต่อให้ปลายน้ำ ซึ่งเราวางแผนทำเครื่องสกัดน้ำมันเมล็ดในปาล์มที่มีวิตามิน E สูงนำไปขายให้อุตสาหกรรมเบเกอรี่ คอสเมติกได้ รวมถึงสินค้าอื่นๆ มีการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น การใช้เส้นใยจากปาล์มเป็นวัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะใส่อาหาร”
ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ด้วยการนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตที่มีจุลินทรีย์จำนวนมากมาผ่านกระบวนการเพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และนำไปจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP: Very Small Power Producer) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ที่ระดับแรงดันไฟฟ้า 33,000 โวลต์ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 1.16 เมกะวัตต์ ด้วยการใช้เครื่องยนต์ประเภท Biogas Engine ซึ่งในปี 2566 สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้ PEA ประมาณ 2,226,654 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
“ธุรกิจปาล์มยังมีโอกาสการเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป้าหมายตัวเลขถ้ารับรู้รายได้จริงหลังระบบ automation สร้างเสร็จในปี 2568 จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 10% และกำลังการผลิตที่ผ่านมา 40,000 กว่าตันต่อปี แต่ capacity ยังเหลืออีก 40% เราวางเป้าหมายให้ทีมงานหาวัตถุดิบเข้ามาเติบโต 5-10% ซึ่งจะมองในเชิงน้ำมันที่เราผลิตได้ ไม่ใช่รายได้ รวมถึงพยายามทำธุรกิจเก็บต้นน้ำและปลายน้ำที่มีการผลิตน้ำมันเมล็ดในปาล์มตามแผนที่วางไว้ 3-5 ปี โดยยังคงมองหาโรงปาล์มเพิ่มให้มี capacity เพียงพอสำหรับการส่งออก” พร้อมส่งเสริมให้คนตัดปาล์มมีคุณภาพเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกร บริษัท และประเทศ”
สิทธิภาสกล่าวถึงการเดินหน้าตามเป้าหมายภาพลักษณ์บริษัทที่ส่งเสริมคู่ค้าผลิตปาล์มคุณภาพ ด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถของทีมงานและหลักการบริหารที่ได้รับถ่ายทอดจากครอบครัวในการดำเนินธุรกิจบนหลักการความถูกต้องที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนโดยรอบ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
“หลักบริหารที่ใช้ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ผมชอบอ่านซูนวู The Art of Wall ซึ่งบอกว่า ถ้าคุณได้ใจทีมงาน แม้แต่เหวที่ลึกที่สุดหรือันตรายที่สุดเขาก็จะตามเราไป ส่วนคุณพ่อจะให้หลักการกว้างๆ เป็นข้อคิดว่า การทำธุรกิจในโลกนี้เหมือนการท่องเที่ยว คุณพ่อให้ไปกับทัวร์ที่ดี เที่ยวแล้วอย่าทิ้งขยะหรือทำให้ใครเดือดร้อน เพราะสุดท้ายเวลาทัวร์เรียกขึ้นรถ ทรายสักเม็ดหรือเงินสักบาทก็เอาไปไม่ได้ โดยส่วนตัวเรายังสนใจสายเทคโนโลยีมากและต้องการนำมาผสมผสานกับอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น smart farming ซึ่งสามารถพัฒนาได้อีกมากและเป็น New S-Curve สำคัญในอนาคต”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อรรคเดช อุดมศิริธำรง ปักธง ORN โตยั่งยืน “Mill Hill School” เพิ่มมูลค่า