เสกสรร ครองพาณิชย์ ขยายธุรกิจเสริมแกร่ง PSP - Forbes Thailand

เสกสรร ครองพาณิชย์ ขยายธุรกิจเสริมแกร่ง PSP

รุ่น 2 ของครอบครัวครองพาณิชย์ ที่เข้ามาช่วยบิดาสานต่อกิจการผลิตภัณฑ์หล่อลื่นหมื่นล้าน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เพื่ม


    กว่า 35 ปีที่ บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจรสร้างรายได้กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ล่าสุดได้เพิ่มไลน์ธุรกิจมุ่งตลาดอาเซียน

    บริษัท พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP ก่อตั้งในปี 2532 โดยเริ่มจากการเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายน้ำมันหม้อแปลง (Transformer Oil) แบรนด์ Buchanan จากประเทศอังกฤษ ต่อมาได้เริ่มดำเนินธุรกิจเป็นผู้พัฒนาและผลิตน้ำมันหล่อลื่น (Lubricant) แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิต และขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ ในเวลาต่อมา

    ปัจจุบันให้บริการโซลูชันธุรกิจผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจร (total solution provider) โดยเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ ออกแบบ ผลิต มีบริการจัดเก็บและศูนย์กระจายสินค้า บริการจัดการด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า น้ำมันผสมยาง น้ำมันหล่อลื่นสำหรับยานยนต์ น้ำมันหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรม น้ำมันจาระบี หัวเชื้อและสารเติมแต่ง โดยรับจ้างผลิตให้กับเจ้าของแบรนด์ ล่าสุดทำแบรนด์ของบริษัทเองเจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (B2C) คือ PROTECT เป็นน้ำมันหล่อลื่นอเนกประสงค์ และ Master สเปรย์ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศและสเปรย์กำจัดกลิ่นอับ

    “เราพยายามไป B2C มากขึ้น แต่ต้องไม่ทับไลน์กับลูกค้าเรา เช่น ปตท. ขายน้ำมันใช้ในรถยนต์ โรงงาน เรามองว่าจะทำอะไรได้บ้างที่ใช้ know-how, facility ของเรา ตลาดตรงนี้ marjin 10-20% มี room โตได้ ก็ลองทำขึ้นมาเป็นอีกตลาด ใช้เซลส์อีกกลุ่ม เริ่มขายในออนไลน์ TikTok, Facebook ไลฟ์ขายใน TikTok และกำลังเริ่มวางในโมเดิร์นเทรด” เสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บมจ. พี.เอส.พี.สเปเชียลตี้ส์ ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่ออฟฟิศบนถนนสาทรใต้ ซึ่งภายในบริเวณเดียวกันเป็นที่ตั้งของบริษัทย่อยอีกหลายแห่ง ส่วนสำนักงานใหญ่และโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร


3 กลยุทธ์หลัก

    เสกสรร เป็นลูกชายคนกลางของ “สินธุ์ ครองพาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เข้ามาเริ่มงานที่ PSP เมื่อ 9 ปีที่แล้ว หลังเรียนจบปริญญาโทด้าน Marketing Management, Northumbria University, London

    ผู้บริหารหนุ่มเริ่มต้นทำงานที่ PSP ในตำแหน่ง Management Trainee ทำงานงานโอเปอเรชั่นด้านต่างๆ 2 ปีครึ่ง ก่อนย้ายมาอยู่ฝ่ายการตลาดอีก 5 ปี ในตำแหน่ง Sales Executive และ Sales Manager รับผิดชอบดูแลลูกค้า ตั้งแต่ปี 2565 รับตำแหน่งเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และดูแลงานทุกส่วน และมีบทบาทสำคัญในการนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อเดือนสิงหาคม 2566

    นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบโครงการ Digital Transformation เป็นการพัฒนาระบบการจัดการและการ transform ภายในองค์กร ผู้บริหารวัย 34 ปีอธิบายว่า 

    “ตรงนี้ยากนิดหนึ่ง ด้วยความที่เป็น family business ทำมานาน มีคนและ process เยอะ พอเจอปัญหาหนึ่งก็สร้าง process มาครอบ และเอาคนมาตรวจ พอเจออีกเอา process มาครอบอีก หลังๆ รู้สึกว่าช้าจึงทำโครงการ Digital Transformation เพื่อช่วยลดกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ...ผมเป็นคน initiate review ทำใหม่หมด เช่น process A ไป B เดิมมี 5 ขั้นตอน ลดเหลือ 3 ขั้นตอน ใช้พนักงาน 5 คน ก็ลดเหลือ 2 คน”

    ปัจจุบันบริษัทมีการดำเนินงานผ่าน 3 กลยุทธ์หลักคือ 1.รักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ขยายฐานลูกค้าใหม่ทั้งในและต่างประเทศ จากความได้เปรียบด้านต้นทุนและประสิทธิภาพในการผลิต 2.ยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมสินค้า อาทิ น้ำมันหล่อลื่นอเนกประสงค์ น้ำมันหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร (Food Grade Lubricant) น้ำมันหล่อลื่นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Application Fluids) น้ำมันหล่อลื่นชีวภาพ (Bio Based Lubricant) 3.ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งธุรกิจผลิตภัณฑ์หล่อลื่น โลจิสติกส์ ธุรกิจที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และธุรกิจที่เป็น New S-Curve

    PSP เป็นหนึ่งในผู้นำด้านผลิตภัณฑ์หล่อลื่นแบบครบวงจรของภูมิภาคอาเซียนและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของประเทศไทย โดยมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ในน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า และน้ำมันผสมยาง (Rubber Process Oil) คิดเป็นสัดส่วน 68 และ 45% ตามลำดับ แต่รายได้หลักมาจากผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่น หน้าเว็บไซต์ของบริษัท ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ระบุว่ามีสูตรผลิตภัณฑ์หล่อลื่นมากกว่า 1,000 สูตร และกำลังการผลิต 250 ล้านลิตรต่อปี

    “ลูกค้ารายหลักเป็น OEM เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ เรารับจ้างผลิต มีเซอร์วิสจัดส่ง จัดเก็บให้...สมัยก่อนผลิตอย่างเดียว ลูกค้าแต่ละรายเช่า ware house ไปทั่ว เราคิดว่าถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ทำของตัวเอง ปี 2018 ก็เลยเริ่มสร้างผลิตเสร็จ (จัด) เก็บให้ด้วยและคิดค่าเช่า ใครอยากให้เราส่งก็ทำได้”


รุกตลาดอาเซียน

    ปี 2560 PSP ได้ร่วมกับพันธมิตรตั้งบริษัทย่อยในเมียนมา เพื่อพัฒนาและผลิตน้ำมันหล่อลื่น จำหน่ายในเมียนมา และเริ่มดำเนินธุรกิจปี 2562 ช่วงแรกที่เปิดโรงงาน เป็นจังหวะเดียวกับที่ในประเทศมีปัญหาด้านสถานการณ์ทางการเมือง ตามมาด้วยการระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องหยุดดำเนินการไประยะหนึ่ง และเพิ่งกลับมาผลิตช่วงต้นปี 2567

    “ตอนแรกเราขายให้ลูกค้าหลายราย เขาสนใจเพราะตลาดพม่า demand เยอะขึ้นเรื่อยๆ ที่นั่นไม่มีโรงงานผลิต นำเข้า 100% มีผลิตแบบ local แต่ไม่ได้มาตรฐาน ลูกค้าหลายรายโอเคกับเรา...ปีนี้รัฐบาลพม่า strict ไม่ให้นำเข้าเลย หรือ limit มากๆ เขาสนับสนุนการผลิตในประเทศ order จึงไหลเข้ามามาก จ้างเราผลิต มีทั้ง local brand และ brand ต่างชาติ เพิ่มหลายสิบเท่า ปี 2566 (ออเดอร์) ยังไม่เยอะมาก สมัยก่อนหลักแสนลิตรต่อปี ปี 2566 อยู่ที่เกือบล้านลิตร ครึ่งปีนี้อยู่ที่ 66 ล้านลิตร และยังมี backlog อีก 10 ล้านลิตร กำลังการผลิตที่นั่น 28-30 ล้านลิตร”

    ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต 250 ล้านลิตรต่อปี ส่วนบริษัทขนาดรองลงมามีกำลังการไม่ถึง 100 ล้านลิตร ขณะที่ความต้องการตลาดน้ำมันหล่อลื่นในประเทศปี 2566 อยู่ที่ 689 ล้านลิตร และคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มมีอัตราการเติบโต 1.5% ต่อปี ด้วยตัวเลขนี้ดูเหมือนว่าตลาดในประเทศจะเล็กไปแล้ว และอาเซียนคือเป้าหมายลูกค้าใหม่ที่บริษัทให้ความสำคัญในช่วงต่อจากนี้ โดยภายใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะปรับสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มจาก 15.9% ปี 2566 เป็น 25%

    สำหรับเป้าหมายรายได้ปีนี้ ผู้บริหารหนุ่มบอกว่าตั้งเป้าไว้ประมาณหมื่นล้านบวกๆ และภายใน 3 ปีข้างหน้าจะมีอัตราการเติบโต 10-15%



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, PSP



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล KCG ทรานส์ฟอร์มรับเทรนด์โลก

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine