แสงชัย ลิมปิโชติพงษ์ ผลักยาง 'โอตานิ' โตไกลระดับโลก - Forbes Thailand

แสงชัย ลิมปิโชติพงษ์ ผลักยาง 'โอตานิ' โตไกลระดับโลก

ชายหนุ่มผู้อาสาขับเคลื่อนธุรกิจยางรถยนต์แบรนด์ “โอตานิ” ร่วมกับพี่น้องให้เติบใหญ่ผ่านการส่งออกไปทุกทวีป พร้อมปั้นสินค้าใหม่อย่างยางรถยนต์นั่ง หวังหนุนรายได้เกือบ 7 พันล้านบาทในปี 2561

ยางรถยนต์ขนาดใหญ่ความสูงร่วม 2 เมตร ตั้งโดดเด่นสะดุดตาอยู่ด้านหน้า บริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่นี่คือขุมพลังสำคัญของบริษัทในการผลิตยางรถยนต์เรเดียลสำหรับรถบรรทุก และเมื่อต้นปีนี้ก็ได้เพิ่มการผลิตยางเรเดียลสำหรับรถยนต์นั่ง (รถเก๋ง) ซึ่งโอตานิ เรเดียล คาดว่าจะเป็นสินค้าเด่นอีกประเภทในการเจาะตลาดสหรัฐอเมริกาและอาเซียน “เราขยายกำลังการผลิตทุกปีไม่เคยหยุด และมองหาตลาดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา” แสงชัย ลิมปิโชติพงษ์วัย 39 ปี กรรมการกลุ่มบริษัทยางโอตานิ และผู้จัดการโรงงานยางโอตานิและโอตานิ เรเดียล กล่าวอย่างภาคภูมิใจ หลังพา Forbes Thailand เยี่ยมชมสายการผลิตต่างๆ ซึ่งบางส่วนอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม ไม่นับที่ดินเปล่าอีกหลายร้อยไร่ซึ่งอยู่ติดกัน ที่ เกียรติชัย ลิมปิโชติพงษ์ ผู้เป็นพ่อของแสงชัยตระเตรียมไว้ให้ลูกๆ 5 คน ได้ผนึกกำลังกันขยายธุรกิจในอนาคต ทุกวันนี้ ยางรถยนต์แบรนด์โอตานิภายใต้การดูแลของเหล่าทายาทครองส่วนแบ่งการตลาดยางรถบรรทุกในไทยราว 10% และการส่งออกยางรถยนต์ไปราว 90 ประเทศในทุกทวีป คาดว่าจะสร้างรายได้รวมให้กลุ่มยางโอตานิในปีนี้เกือบ 5 พันล้านบาท พร้อมคาดการณ์รายได้ปีหน้าที่เกือบ 7 พันล้านบาท แกร่งเส้นทางยางเรเดียล แสงชัยเป็นลูกคนกลางในจำนวนลูกๆ 5 คนของเกียรติชัยและแสงอรุณ ความที่ชอบประดิษฐ์ของเล่นเองตั้งแต่เด็กอย่างการเอารถล้อหลอดด้ายมาติดมอเตอร์ให้วิ่งได้ ประกอบกับผู้เป็นพ่อต้องการให้เรียนวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แสงชัยจึงเลือกเรียน วิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังสำเร็จการศึกษา เขาวางแผนเรียนต่อปริญญาโทที่เยอรมนี แต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลกระทบต่อ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด ที่เกียรติชัยก่อตั้งขึ้นในปี 2529 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุดแสงชัยก็ตัดสินใจพับแผนการเรียนเพื่อเข้ามาช่วยพลิกฟื้นกิจการในตำแหน่งวิศวกร แล้วขยับขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและผู้จัดการโรงงานตามลำดับ ตามหลังเอกชัยและอุทัยวรรณผู้เป็นพี่ชายและพี่สาวที่เข้ามาดูแลธุรกิจก่อนหน้านี้ “คุณพ่อปลูกฝังเสมอว่าเราต้องรู้ตั้งแต่พื้นฐาน เหมือนการสร้างโรงงานที่หากรู้ตั้งแต่ตอกเสาเข็ม ต่อไปขยายโรงงานก็จะได้รู้ว่าแต่ละส่วนมีโครงสร้างอย่างไร” ห้วงเวลานั้น โรงงานยางโอตานิซึ่งผลิตยางรถยนต์แบบผ้าใบ (bias) สำหรับรถบรรทุก ต้องแบกรับภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่เกิดจากค่าเงินบาทลอยตัว พนักงานราว 600 คนต่างเสียขวัญ เกียรติชัยก็ให้ความมั่นใจ และแก้ปัญหาด้วยการตัดธุรกิจอื่นๆ ทิ้งเหลือเพียงธุรกิจยางโอตานิ ทำการปรับโครงสร้างหนี้ บริหารการเงินอย่างรัดกุม และเร่งผลผลิตให้มากขึ้นเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ แม้ยางผ้าใบจะใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีแนวโน้มที่ความนิยมจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากถูกยางเรเดียลซึ่งทนทานกว่า เกาะถนนได้ดีกว่า และช่วยประหยัดน้ำมันได้มากกว่าเข้ามาตีตลาด ปี 2550 เกียรติชัยก่อตั้ง บริษัท โอตานิ เรเดียล จำกัด (มีทุนจดทะเบียนปัจจุบันที่ 2.7 พันล้านบาท) ผลิตยางเรเดียลประหยัดน้ำมันสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์ อาทิ รถสิบล้อ รถบรรทุกขนาดใหญ่ ฯลฯ โดยแสงชัยมีส่วนร่วมในการดูแลการก่อสร้างที่ใช้เวลา 2-3 ปี ใช้งบประมาณทั้งหมดราว 3 พันล้านบาท เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จ แสงชัยจึงรับผิดชอบงานด้านการผลิตเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งโรงงาน เมื่อไทยเป็นแหล่งยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางรถยนต์ จึงเกิดธุรกิจผลิตยางรถยนต์ขึ้นมาหลายสิบราย ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวมีการแข่งขันสูง มีผู้เล่นแบรนด์ไทย อาทิ ดีสโตน, วีรับเบอร์ ผู้เล่นแบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศ อย่าง Michelin, Bridgestone, Goodyear และระยะหลังก็มีผู้ผลิตยางรถยนต์ค่ายใหญ่จากจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น บริษัท เซนจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น “เราวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้มีราคาระดับกลาง ตอนนี้โอตานิมีส่วนแบ่งตลาดยางรถบรรทุกประมาณ 10% จากตัวเลขทางการตลาดด้านความต้องการใช้งานในประเทศประมาณ 1.2 ล้านเส้น/ปี ส่วนที่เหลือเป็นแบรนด์ใหญ่ซึ่งมีชื่อเสียงมานาน และแบรนด์จีนที่เน้นทำตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่า” แสงชัยบอก แต่ก่อนกลุ่มยางโอตานิทำการตลาดแบบ B2B และ B2C ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ทว่าขณะนี้เน้นที่ B2B เท่านั้น โดยจำหน่ายสินค้าผ่านดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ในประเทศราว 50-60 ราย และผลิตยางรถยนต์ในรูปแบบ OEM ป้อนบริษัทต่างๆได้แก่ ยางรถไถสำหรับ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และยางรถสิบล้อสำหรับ บริษัท สามมิตร มอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน) ปั้นยางรถเก๋งเสริมทัพตลาดโลก กำลังการผลิตที่โรงงานยางโอตานิอยู่ที่ 1,500 เส้น/วัน หรือขั้นต่ำ 450,000 เส้น/ปี โดยปรับจากการผลิตยางผ้าใบสำหรับรถบรรทุก มาเป็นผลิตยางผ้าใบสำหรับรถประเภท off the road (รถใหญ่ที่ใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น รถไถ รถที่ใช้ในเหมือง ฯลฯ ซึ่งวิ่งนอกพื้นผิวถนน) ส่วนกำลังการผลิตยางเรเดียลที่โรงงานโอตานิ เรเดียล อยู่ที่ 2,500 เส้น/วัน หรืออย่างน้อย 750,000 เส้น/ปี ด้วยปริมาณการผลิตจำนวนมาก ทำให้ต้องมองหาตลาดต่างประเทศซึ่งมีความต้องการใช้งานยางรถยนต์ในระดับสูงศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับการส่งออกไปต่างประเทศของกลุ่มยางโอตานิ แสงชัยให้รายละเอียดว่าปัจจุบันทั้งสองบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์แบบผ้าใบและเรเดียลไปรวม 90 ประเทศในทุกทวีป คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 70% ของกลุ่มฯ โดยทำตลาดแบบหาพันธมิตรในประเทศนั้นๆ ตลาดต่างประเทศที่นิยมใช้สินค้าของกลุ่มยางโอตานิเป็นประเทศในอาเซียน 40% เช่น เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ รองลงมาเป็นประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง 30% และอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป แอฟริกา ฯลฯ อีกราว 30% แสงชัยคาดว่าปีหน้าตัวเลขการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้นพอสมควร เป็นผลจากการส่งสินค้าประเภทยางเรเดียลรถสิบล้อเข้าไปมากขึ้น “ลูกค้าแต่ละประเทศต้องการสินค้าประเภทยางรถสิบล้อและยางรถการเกษตรซึ่งเป็นของคู่กัน ดังนั้นเขาจึงชอบเราเพราะมีสินค้าครบวงจร และมียางให้เลือกใช้งานหลากหลายรวมแล้วเกือบ 500 รายการ” กลุ่มยางโอตานิยังวางแผนสร้างตลาดต่างประเทศให้แข็งแกร่งและเติบโตยิ่งขึ้นด้วยสินค้าใหม่อย่าง “ยางรถเก๋ง” มีคุณสมบัติช่วยประหยัดน้ำมัน ซึ่งคิดจะผลิตมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ต้องล้มเลิกความคิดไปเพราะเผชิญพิษเศรษฐกิจ กระทั่งจังหวะเหมาะจึงปัดฝุ่นขึ้นมาทำให้กลายเป็นจริง และวางจำหน่ายเริ่มต้นในประเทศก่อนเมื่อต้นปีนี้ ยางรถเก๋งใช้ฐานการผลิตที่โรงงานโอตานิเรเดียล ลงทุนเครื่องจักรเฟสแรกไปราว 4 พันล้านบาท มีกำลังการผลิต 2,000 เส้น/วัน ปีหน้าคาดไว้ที่เกือบ 10,000 เส้น/วัน หรือราว 3 ล้านเส้น/ปี จากนั้นปี 2563 จะเพิ่มการผลิตให้ถึง 6 ล้านเส้น/ปี และมีแผนลงทุนเฟส 2 ขยายอาคารเพื่อเพิ่มการผลิตเป็น 12 ล้านเส้น/ปี หากยางรถเก๋งผ่านกฎระเบียบต่างๆ ในการส่งออกเรียบร้อยแล้ว ตลาดสำคัญอันดับแรกที่แสงชัยวางกลยุทธ์ไว้คือสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือกลุ่มประเทศในแถบอาเซียนและตะวันออกกลาง กลมกล่อมเก่า-ใหม่ กลุ่มยางโอตานิเดินหน้าได้ด้วยการประสานพลังของ “รุ่น 2” ทั้ง 5 คนแห่งครอบครัวลิมปิโชติพงษ์ ได้แก่ เอกชัย วัย 43 ปี ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ดูแลภาพรวมและนโยบาย ถัดมาคืออุทัยวรรณ วัย 41 ปี รับผิดชอบฝ่ายบัญชี จากนั้นเป็นแสงชัยที่ดูการผลิตทั้งหมด ตามด้วยอรวรรณ วัย 37 ปี ดูแลด้านการส่งออกต่างประเทศ และสรัลรัตน์ วัย 32 ปี รับผิดชอบฝ่ายทรัพยากรบุคคล “พวกเราคุยกันแบบง่ายๆ ตอนเที่ยงทานข้าวก็คุยกันตลอด เราไว้ใจในการทำงานของกันและกัน ซึ่งทุกคนก็รับผิดชอบกันเต็มที่” หลังจากธุรกิจอยู่ตัว แสงชัยและพี่น้องเริ่มคิดถึงการปรับโครงสร้างองค์กรที่มีพนักงานร่วม 2,000 คน จากเดิมที่แบ่งเป็นฝ่ายชัดเจนเช่น ฝ่ายผลิต ฝ่ายวิศวกรรม ฯลฯ ก็ปรับใหม่ให้ทุกฝ่ายมีหน้าที่หลักและหน้าที่รอง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหา แต่ละฝ่ายจึงไม่ถูกทิ้งอย่างโดดเดี่ยว เพราะจะมีอีกฝ่ายเข้ามาช่วยระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง ทำให้การประสานงานระหว่างกันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แสงชัยทุ่มเทเวลาเกือบทั้งหมดให้กับงานถ้าไม่ประชุมร่วมกับผู้บริหารคนอื่นๆ หรือออกไปพบปะลูกค้า เขาก็มักเดินตรวจตราความเรียบร้อยภายในโรงงานทั้งสองแห่งอยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ออกไปจากกลุ่มยางโอตานิจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด “เราไม่ได้ต้องการทำยางราคาถูก แต่เราทำยางคุณภาพเพื่อไปแข่งกับเจ้าใหญ่ และถ้ามีโอกาสสร้างโอตานิให้มีชื่อเสียงระดับโลกได้เราก็จะทำ” แสงชัยปิดท้ายอย่างมุ่งมั่น  
อ่านฉบับเต็ม "แสงชัย ลิมปิโชติพงษ์ ผลักยาง 'โอตานิ' โตไกลระดับโลก" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magazine