อัญมณีงามที่ส่องประกายบนทางธุรกิจกว่า 89 ปี ได้รับการส่งต่อยังคลื่นลูกใหม่ที่พร้อมรังสรรค์นวัตกรรมเพชรควบคู่การยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ในระดับโลก
ธุรกิจค้าเพชรในประเทศได้รับการพลิกโฉมให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคไทยมากขึ้นด้วยสาขาเคาน์เตอร์เพชรในห้างสรรพสินค้าที่เปิดให้บริการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเป็นครั้งแรกในประเทศ ภายใต้ชื่อแบรนด์“Jubilee Diamond”
บนเส้นทางธุรกิจของครอบครัวพรประกฤตที่เริ่มต้นจากบรรดาเครื่องประดับจำนวนมากภายในโรงรับจำนำย่านสะพานเหล็กในรุ่นทวดสู่ร้านจำหน่ายเครื่องประดับที่ส่งต่อให้กับ วิโรจน์ พรประกฤต ทายาทผู้เล็งเห็นโอกาสการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเครื่องประดับเพชรสู่ผู้บริโภค จนมาถึงรุ่นที่ 3 อัญรัตน์ พร-ประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) บุตรสาวคนโตของวิโรจน์ ผู้ริเริ่มปฏิวัติวงการค้าเพชรในประเทศไทย
ก้าวแรกในการทำงานของอัญรัตน์เริ่มต้นขึ้นนอกรั้วธุรกิจครอบครัว หลังคว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 จากคณะบริหารธุรกิจสาขาบัญชี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เธอเลือกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี ของบริษัท PricewaterhouseCoopers ราว 2 ปี ก่อนจะรับสืบทอดกิจการในช่วงรอยต่อระหว่างเตรียมตัวศึกษาปริญญาโท
“เราพอมีเวลาในช่วงเรียน GMAT เพื่อต่อปริญญาโท ซึ่งขณะนั้นบริษัทขาดพนักงานคีย์ข้อมูลการเงิน คุณพ่อจึงให้เราเข้ามาช่วยเหมือนจับพลัดจับผลูแบบไม่ตั้งใจ แต่เราเป็นคนที่ทำอะไรแล้วโฟกัสจริงจัง จากการเป็นเจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลต้นทุนและติดป้ายราคาสินค้าก่อนเข้าสาขา คุณพ่อให้เราไปศึกษาเรื่องเพชรที่ GIA พอเรียนเข้าใจเราก็เริ่มสนุก”
จากพนักงานคีย์ข้อมูล อัญรัตน์เริ่มศึกษาและให้ความสนใจเครื่องประดับเพชรของครอบครัวอย่างจริงจัง พร้อมรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป ผู้บริหารแบรนด์ และซีเอฟโอของบริษัทตามลำดับ ซึ่งผ่านการทำงานตั้งแต่สั่งซื้อเพชร บริหารการขาย ติดต่อซัพพลายเออร์ รับโทรศัพท์ลูกค้า ดูแลการออกแบบ ช่วยทำการตลาด รวมถึงเดินทางติดตามผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเพชรไปต่างประเทศ
ขณะเดียวกันอัญรัตน์ยังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการจำหน่ายเพชรขนาด 1 กะรัตที่มีใบรับรองจากสถาบัน HRD (Hoge Raad voor Diamant) Certificate ประกอบสินค้า ซึ่งออกโดย Diamond High Council ประเทศเบลเยียม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ซื้อ รวมถึงการริเริ่มจำหน่ายเพชรที่มีใบรับประกันจากสถาบัน GIA (Gemological Institute of America) ประเทศสหรัฐอเมริกา
“ช่วงคาบเกี่ยวที่เราทุ่มเทให้กับการทำงาน ทำให้เราตัดสินใจใช้เวลาเรียนในประเทศตอนกลางคืน เพราะไม่อยากทิ้งงาน ซึ่งระหว่างเรียนเรามีโอกาสได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยแข่งขันทำแผนธุรกิจและได้รับรางวัลชนะเลิศในเอเชีย รวมถึงรองชนะเลิศระดับโลก ยิ่งไปกว่านั้นการแข่งขันนำเสนอแผนระดมทุนกับ VC ยังทำให้เราได้รับประสบการณ์เหมือนผ่านสนามซ้อมที่โหด ก่อนนำเสนอธุรกิจของเราให้ ก.ล.ต. ฟัง” อัญรัตน์ยังคงระลึกถึงช่วงเวลาที่สามารถนำธุรกิจเข้าตลาดหุ้นในช่วงปลายปี 2552
“เราใช้เวลามากกว่า 3 ปีกว่าจะสำเร็จ ทุกคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะนำบริษัทเพชรเข้าตลาด เพราะอัญมณีเป็นธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในไทยเป็นเวลานานมาก แต่คุณพ่อมีวิสัยทัศน์ต้องการให้ธุรกิจนี้ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง ไม่เฉพาะด้านเงินทุน แต่ยังสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”
พลิกโฉมเพชรมาตรฐานโลก
จากผลงานตลอดเส้นทางการเจียระไนธุรกิจของครอบครัวจนถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุน อัญรัตน์พร้อมก้าวสู่ตำแหน่งซีอีโอกุมบังเหียนธุรกิจค้าปลีกจำหน่ายเพชรและเครื่องประดับเพชรอันดับ 1 ของประเทศในปี 2558 ด้วยความสามารถในการบริหารสร้างยอดขายให้เติบโตขึ้นมากกว่า 300% นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดทุนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งฐานสมาชิกลูกค้ากว่า 130,000 ราย
ขณะเดียวกันเธอยังสามารถพลิกโฉมภาพลักษณ์ของบริษัทให้โดดเด่นด้านการเป็นผู้นำที่สร้างความแตกต่าง และสร้างมาตรฐานคุณภาพเพชรของไทยให้เทียบเท่าระดับโลก
เพชรของยูบิลลี่เป็นบริษัทเพชรรายแรกของโลกที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของ HRD Antwerp สถาบันอัญมณีศาสตร์อันดับ 1 ประเทศเบลเยียม ซึ่งมอบรางวัลระดับโลก HRD Antwerp Certified Diamond Jeweller ให้กับบริษัทในด้านคุณภาพสินค้า การให้บริการระดับชั้นนำ และความโดดเด่นด้านการบริหารที่โปร่งใส
“เราได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ ในด้านนวัตกรรมและภาพลักษณ์ตลอดจนซัพพลายเออร์ระดับโลกที่ยอมรับมาตรฐาน เพชรน้ำ 100 ของเรา ในฐานะที่เราสามารถเข้าถึงแหล่งเจียระไนเพชรและผสมผสานดีไซน์รวมถึงเทคนิคการผลิต โดยสามารถออกใบรับรองเพชรน้ำ 100 ได้ตั้งแต่น้ำหนัก 30 สตางค์ ไม่ต้องเป็นมหาเศรษฐีก็เป็นเจ้าของเพชรน้ำ 100 ที่ใสและสวยที่สุดได้”
“เราเชื่อว่าถ้าเพชรดีมูลค่าไม่ตก และคุณภาพการผลิตที่ต้องเก็บรายละเอียดงานให้เนี้ยบ รวมถึงดีไซน์ที่ช่วยเสริมให้เครื่องประดับมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น” อัญรัตน์กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการออกแบบเครื่องประดับเพชรที่นำเสนอดีไซน์คอลเล็คชั่นใหม่ทุกไตรมาสราว 30-40 แบบ โดยรวมไม่ต่ำกว่า 200 แบบในแต่ละปี
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายผ่านสาขา ทั้งสาขาของบริษัทและผู้ประกอบการธุรกิจในลักษณะคล้ายแฟรนไชส์ตามเคาน์เตอร์ห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์ตจำนวนมากที่สุดในประเทศรวมกว่า 125 สาขา
“เรายังริเริ่มจัดงานเอ็กซ์โปเพชรที่ไม่มีแบรนด์ใดทำมาก่อน” อัญรัตน์กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมสุดยอดเพชรกะรัตส่งท้ายปีในชื่อ The World of Karat
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้คาดการณ์ผลประกอบการของ JUBILEE ในปี 2561 อยู่ที่ 1.68 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.8% ปีต่อปี จากประมาณการรายได้ปี 2560 ที่ 1.53 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 194 ล้านบาทจาก 178 ล้านบาทในปี 2560 เนื่องจากการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม ซึ่งมีการปรับกลยุทธ์การจำหน่ายใหม่ จัดกิจกรรมการตลาดและส่งเสริมการขาย รวมถึงสร้างแรงจูงใจจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่และความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างแดน
“เราจะมีการขยายสาขาไม่ต่ำกว่า 6 สาขา ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวมแล้วน่าจะประมาณ 130 สาขา ทั้งยังเตรียมช่องทางอี-คอมเมิร์ซไว้รองรับความต้องการในอนาคต” อัญรัตน์กล่าว
ขณะเดียวกันเธอยังสนใจโอกาสการขยายฐานธุรกิจไปยังต่างประเทศในรูปแบบพันธมิตรกับบริษัทท้องถิ่นโดยเฉพาะในแถบเอเชีย ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้เครื่องประดับเพชรใกล้เคียงกับไทยอีกด้วย แต่ยังอยู่ในช่วงพิจารณาความเหมาะสม
นอกจากนั้น การซื้อเพชรเพื่อการลงทุน ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกที่ช่วยเพิ่มความต้องการในตลาดและหนุนให้ธุรกิจเครื่องประดับเพชรเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งอัญรัตน์ให้ความเห็นการลงทุนในเพชรที่กำลังได้รับความสนใจเป็นสินทรัพย์กระจายความเสี่ยง โดยแนะนำให้เลือกเพชรคุณภาพดีที่มีใบรับประกันคุณภาพสามารถเชื่อมโยงกับราคาในตลาดโลก และเลือกลงทุนในเพชรน้ำหนักตั้งแต่ 0.30 กะรัต หรือ 30 สตางค์ขึ้นไป ซึ่งถ้าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของราคาชัดเจนควรซื้อเพชรหายากและมีคุณสมบัติพิเศษเป็นที่ต้องการของตลาด
“ตลาดรับซื้อเพชรอาจจะน้อยกว่าทองคำ แต่อนาคตจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เนื่องจากเพชรเป็นผลิตภัณฑ์ global demand ได้รับความนิยมทั่วโลก แต่อาจจะยังใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งเพชรเป็นแร่ที่แข็งที่สุด และเก็บอยู่กับเราได้ตลอด ผู้ซื้อส่วนใหญ่ 60% จึงนำไปใช้เป็นเครื่องประดับและเก็บเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย”
ภายใต้เป้าหมายการเป็นแบรนด์ระดับโลก อัญรัตน์เชื่อมั่นใน “passion” และทัศนคติเชิงบวกเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งต่อพลังบวกให้ทีมงานหรือบุคคลรอบข้างสามารถก้าวผ่านความท้าทายและมุ่งสู่โอกาสทางธุรกิจที่เล็งเห็นอย่างชัดเจน
“การทำงานมีเรื่องท้าทายทุกวัน แต่เราควรสนุกกับสิ่งที่ทำ เรามี passion และทัศนคติที่ดี ทั้งหมดจะขับเคลื่อนให้เราไม่หยุดนิ่งและสร้างพลังให้คนรอบข้างได้”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่าน "อัญรัตน์ พรประกฤต เพชรน้ำร้อยแห่งยูบิลลี่" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine