สุเรศพล จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นคนในตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจอีกคนหนึ่ง ที่ไม่ใช่นักเล่นหุ้น และไม่ชอบการเมือง มักจะถูกวางตัวให้ไปลุยงานใหม่ๆ นอกธุรกิจครอบครัว ด้วยวิธีคิดและแนวทางในการบริหารงาน ทำให้เขาสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้
ปีนี้ ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ หรือ APURE ไตรมาสแรกมีกำไรเพิ่มขึ้น 6 เท่า และจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปให้ได้ โดยมีแม่ทัพที่ชื่อ สุเรศพล จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง “ตั้งแต่จำความได้ ช่วงปิดเทอม แทนที่ผมจะได้ไปเล่นเหมือนเด็กอื่นๆ เขา ผมต้องไปทำงานในโรงงาน พับกล่อง ทาสี เย็บหนัง ทำทุกอย่างเหมือนที่คนงานในโรงงานเขาทำ” สุเรศพล เล่าย้อนถึงชีวิตวัยเด็กในโรงงานซัมมิท ฟุตแวร์ ธุรกิจหลักของครอบครัว ที่มีคุณพ่อ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้บริหารงานหลัก โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นลูกชายคนที่ 3 ของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ที่ได้แยกออกมาทำกิจการรองเท้า ภายใต้บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์ แอร์โรซอฟท์ (Aerosoft) มีลูกชาย 2 คน ลูกสาว 1 คน สุเรศพลเป็นลูกชายคนที่สอง ที่ถูกคุณพ่อมอบหมายให้ทำงานตั้งแต่เด็ก เพื่อที่จะสอนว่า “หากไม่อยากทำงานหนักแบบคนงานในโรงงาน ก็ต้องตั้งใจเรียน” ด้วยวิธีการสอนของคุณพ่อ นอกจากจะทำให้เขาตั้งใจเรียน ยังทำให้เขาได้วิชาเสริมมาโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ การรู้จักและเข้าใจคนงาน สามารถทำงานร่วมกับคนได้ทุกระดับ รวมทั้งความสามารถในการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว ซึ่งกลายเป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อเขาต้องเข้ามาเป็นผู้บริหารโรงงาน และกิจการที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากทั้งธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจข้าวโพดหวานแปรรูปในเวลาต่อมา หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุเรศพล ได้กลับมาช่วยทำงานในโรงงานรองเท้าอีกครั้งในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย ก่อนบินไปเรียนต่อ MBA ด้านการเงิน ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา พอกลับมาได้ไปช่วยธุรกิจก่อสร้างของครอบครัว ที่อยู่ภายใต้บริษัท ไพน์ เฮิร์สท กอล์ฟ คลับ ดูแลการก่อสร้างอพาร์ทเมนท์ โรงแรม บ้านจัดสรร สุเรศพล เล่าว่า คุณพ่อมักจะมอบหมายงานใหม่ๆ ให้ทำอยู่เสมอ พอทำจนสามารถอยู่ได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็จะหาธุรกิจใหม่ต่อไป เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของครอบครัว ซึ่งการเข้ามาซื้อกิจการ APURE ครั้งนี้ เริ่มจากการเข้ามาซื้อหุ้น โดยคุณพ่อเป็นหลัก ซื้อไปซื้อมากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงมีการเรียกร้องจากผู้ถือหุ้นให้เข้ามาบริหารแทนกลุ่มผู้บริหารเดิม ซึ่งผลประกอบการของ APURE ในขณะนั้นมีผลขาดทุน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ และสร้างผลกำไรที่ดี
ปรับโครงสร้าง ธุรกิจพลิกมีกำไร
พอเข้าไปดูแลกิจการ สุเรศพล จึงเห็นว่าธุรกิจ APURE ซึ่งประกอบด้วยโรงงานข้าวโพดหวาน ริเวอร์แคว์ และธุรกิจผักสดตัดแต่ง ภายใต้บริษัท อกริเฟรช เป็นธุรกิจที่ดี มีกำไร และมีโอกาสขยายตัวสูง แต่ที่ผ่านมาผลประกอบการขาดทุน เกิดจากการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความสิ้นเปลือง และเกิดต้นทุนโดยไม่จำเป็น จากนั้นจึงปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ลดจำนวนพนักงาน ในส่วนของสำนักงานจาก 40 คน เหลือ 7-8 คน แต่ในส่วนโรงงานยังคงจำนวนคนงานไว้ที่ประมาณ 600 คน “ผมเป็นคนทำงานเร็ว องค์กรมีปัญหา ต้องผ่าตัดเร็ว ยิ่งช้า ยิ่งไม่ดี แต่ผมก็เปิดโอกาสให้พนักงานเก่าสามารถทำงานต่อได้ ถ้าเปิดใจยอมรับในสไตล์การทำงานร่วมกันได้ก็ยินดี แต่เมื่อเขาเลือกที่จะออก ผมก็ต้องหาคนใหม่ ผมสัมภาษณ์พนักงานเองทุกคน เปลี่ยนทีมการตลาดใหม่ทั้งหมด ติดต่อลูกค้าเอง ใช้เวลา 7 – 8 เดือน เดินทางไปพบลูกค้าด้วยตัวเอง เพื่อศึกษาความต้องการของลูกค้า” สุเรศพลระบุ ช่วงแรกของการเข้าบริหารงานใน APURE ในฐานะผู้บริหารใหม่ ทีมงานใหม่ สร้างความหนักใจไม่น้อย แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า “ทุกอย่างเรียนรู้ได้” สุเรศพล จึงเดินหน้าพบปะลูกค้า ไปดูโรงงาน ศึกษาความต้องการของลูกค้า พร้อมปรับเปลี่ยนการนำเสนอสินค้าเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด และคิดไปถึงการช่วยลูกค้าลดต้นทุน เช่น การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากกระป๋องเป็นถุงพลาสติก การปรับขนาดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ลูกค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ และยังคงรักษาลูกค้าไว้ได้ประมาณ 20 ราย หลังจากเปลี่ยนทีมงานในช่วงแรก ในด้านการผลิตสินค้า หลักการของธุรกิจเกษตร หัวใจสำคัญ คือ วัตถุดิบ ถ้าสามารถกำหนดปริมาณวัตถุดิบได้คงที่ ไม่มากไป ไม่น้อยไป จะช่วยให้การบริหารต้นทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาของริเวอร์แคว คือปริมาณวัตถุดิบที่ได้ในแต่ละวันไม่คงที่ เกิดต้นทุนส่วนเกินในวันที่ผลผลิตเข้ามาน้อย ใช้วิธีบริหารจัดการเข้ามาช่วย รวมถึงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เครื่องจักรเดิมใช้เวลาในการผลิต 34 นาที พอเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ใช้เวลา 3 นาที ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น “การแก้ปัญหาเรื่องต้นทุน เรียกว่าอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ เพราะผมทำโรงงานมาตั้งแต่เด็ก ทำอย่างไรให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย และใช้คนให้น้อยที่สุด” สุเรศพลเล่าถึงวิธีบริหารต้นทุน นอกจากนี้ สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้น คือการทำให้ผลผลิตมีสีสันสวยงาม รสชาติความหวานดีขึ้น และสามารถคงคุณค่าทางอาหารได้มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของบริษัทส่งออกเป็นหลักถึง 98% และได้ขยายตลาดมากขึ้น จากเดิมมีตลาดหลัก คือ ญี่ปุ่น ได้ขยายไปสหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และเกาหลีใต้ เป็นต้น จากผลประกอบการที่ขาดทุนประมาณ 10 ล้านบาท ในปีแรกที่เข้าไปบริหาร ปีต่อมามีกำไรประมาณ 70 ล้านบาท และล่าสุดผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัททำกำไรไตรมาสแรกได้ 82 ล้านบาท เติบโตถึง 667% หรือ 6 เท่า และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่ารายได้ในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 20% และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปของประเทศไทย “นอกจากบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทางกลับกันบริษัทได้ประโยชน์จากการส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูป โดยเฉพาะในตลาดอเมริกาที่มีความต้องการสูงมาก และยังได้รับผลบวกจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปีนี้เติบโตดี และมีแนวโน้มดีต่อเนื่องตลอดทั้งปี” สุเรศพลกล่าวอย่างมั่นใจ
หาโอกาสซื้อกิจการใหม่
เมื่อกิจการ APURE มีความมั่นคง และสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีผลกำไรและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภารกิจต่อไป ของสุเรศพล คือการมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ปัจจุบัน มีเงินสดประมาณ 300-400 ล้านบาท โดยการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งมองหาโอกาสทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มเกษตรแปรรูป อาหาร หรืออาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเลยก็ได้ แต่ธุรกิจที่จะซื้อต้องเป็นธุรกิจที่ดี มีความเสี่ยงต่ำ มีโอกาสสร้างผลกำไร และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน สุเรศพล ให้นิยามตัวเองว่าเป็นนักลงทุน ที่มองหาธุรกิจที่มีศักยภาพ และเป็นนักบริหารที่สามารถจัดการธุรกิจให้เติบโตและมีกำไร แต่ไม่ใช่นักเก็งกำไร เพราะฉะนั้นธุรกิจใดที่มีความเสี่ยงมาก จะไม่สนใจ “แม้แต่เล่นหุ้น ผมยังไม่ชอบเลย ก่อนหน้านี้เคยเล่นตามคุณพ่อ ต้องคอยติดตามราคา ซื้อ-ขาย เก็งกำไรตลอดเวลา ผมเคยเล่นแล้วเลิกเลย เพราะไม่ชอบ เสียเวลา เอาเวลามาบริหารธุรกิจให้เติบโตดีกว่า” สุเรศพลกล่าวพร้อมกับหัวเราะให้กับความพยายามเป็นนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นก่อนหน้านี้ แม้จะได้รับมอบหมายให้ทำกิจการหลายอย่างของครอบครัว รวมทั้งมีกิจการบางอย่างที่ได้ทำเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ธุรกิจขนมนำเข้าจากญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ “อังเคิล เท็ตสึ ชีสเค้ก” ที่ปัจจุบันยกเลิกสัญญาไปแล้ว หรือธุรกิจปัจจุบันที่กำลังปลุกปั้น คือ Zity Clinic คลินิกรักษาทางการแพทย์รูปแบบใหม่ที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า ซึ่งตอนนี้ได้รับผลกระทบจากโควิดจนต้องชะลอขยายสาขา แต่เป้าหมายสูงสุดของจึงรุ่งเรืองกิจคนนี้ คือการได้ทำโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กยากไร้ที่เป็นคนดี ทุกวันนี้ สุเรศพล ในวัย 37 ปี พยายามเก็บเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายการเปิดโรงเรียนให้เรียนฟรีแก่เด็กดีที่ยากไร้ทุนการศึกษาจากทั่วประเทศ ได้เข้ามาศึกษาต่อ และที่สำคัญจะเปิดให้ครอบครัวของเด็กเหล่านี้มาอยู่ด้วยกัน โดยมีงานให้ทำในโรงงานหลายแห่งของบริษัท เพราะเชื่อว่าครอบครัวมีความสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตเป็นคนดี เมื่อถูกถามว่าจะเป็นนักการเมืองเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยหรือไม่ สุเรศพล รีบตอบทันใดว่า “ไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นนักการเมืองเลย เพราะเข้าไปก็แก้ไขอะไรไม่ได้ สู้ทำในแบบของเราดีกว่า” และนี่คืออีกหนึ่งแนวคิดของคนในตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ที่พิสูจน์ได้ด้วยการกระทำ ภาพ: อรรคพล คำภูแสน และ APUREคลิกอ่านเพิ่มเติม: บดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ คนเล็กภารกิจใหญ่ปั้นพอร์ตอสังหาฯ
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine