วานิตา ศรีเฟื่องฟุ้ง ร่วมปรุงรสชาติ 'เกลือพิมาย' - Forbes Thailand

วานิตา ศรีเฟื่องฟุ้ง ร่วมปรุงรสชาติ 'เกลือพิมาย'

รากฐานธุรกิจอันแข็งแกร่งที่สั่งสมจากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ ผลักให้ วานิตา ศรีเฟื่องฟุ้ง เร่งบ่มประสบการณ์เพื่อผลักดัน “เกลือพิมาย” รุกตลาดต่างประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเกลือหินที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่สามารถนำมาแปรเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ น้ำมัน ปิโตรเลียม ยา อาหาร ฯลฯ กลายเป็นหนึ่งในจุดตั้งต้นธุรกิจของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง ภายใต้ บริษัท เกลือพิมาย จำกัด ที่เป็นผู้ผลิต โดยมี บริษัท อุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นในเกลือพิมายราว 32% (ข้อมูล ณ 25 เมษายน ปี 2560) เป็นผู้จัดจำหน่ายและทำการตลาด

  “เกลือเป็นธุรกิจที่ครอบครัวของเราทำมานาน ที่ผ่านมาจำหน่ายในประเทศค่อนข้างเยอะ แต่ต่อไปจะพยายามมองหาตลาดต่างประเทศมากขึ้นเพราะมีแผนขยายการเติบโต” วานิตา ศรีเฟื่องฟุ้ง วัย 31 ปี Business Development/International Market ของเกลือพิมาย เอ่ยกับ Forbes Thailand

ทรัพย์ใต้ผืนดิน

รุ่นคุณปู่ของวานิตา คือ เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง บุญทรง ศรีเฟื่องฟุ้ง ฯลฯ เริ่มจากการทำธุรกิจกระจกไทยอาซาฮี ทำให้เริ่มต้นทำเหมืองเกลือใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เพื่อนำมาใช้ผลิตกระจก ปี 2515 บริษัท ไทยอาซาฮี เคมีภัณฑ์ จำกัด จึงก่อตั้งหน่วยผลิตเกลือจากเกลือหินขึ้นมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยายการผลิต จนปัจจุบันหลังปรับโครงสร้างองค์กรจึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เกลือพิมาย จำกัด มีกำลังการผลิตรวม 1.5 ล้านตันต่อปี โดยอยู่ในความดูแลของ ดร.ธีระพร ศรีเฟื่องฟุ้ง (ลูกชายของบุญทรง) ซึ่งนั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร
ฐานการผลิตของเกลือพิมาย จ.นครราชสีมา
วานิตาอธิบายถึงเทคโนโลยีของเกลือพิมายว่าอยู่ในรูปแบบการทำเหมืองละลายโดยเจาะเป็นบ่อขนาดเล็กลึกลงไปใต้ดินกว่า 100 เมตร แล้วสูบอัดน้ำจืดเข้าไปละลายชั้นเกลือ จากนั้นสูบน้ำเกลือเข้มข้นขึ้นมาผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์และเข้าเครื่องตกผลึกเกลือ  

ไต่ระดับความท้าทาย

ดร.ธีระพรและคู่ชีวิตคือบุญเรือนมีทายาท 4 คน ซึ่งวานิตาคือลูกคนโตและเป็นลูกสาวคนเดียว หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจากอังกฤษ วานิตาก็กลับไทยมาเรียนต่อระดับปริญญาตรีในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ก่อนจะกลับไปอังกฤษเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโทด้าน International Business ที่ University of Bath เมื่อเรียนจบ เธอขอหาประสบการณ์การทำงานที่บริษัทด้านการวิจัยตลาดแห่งหนึ่งแต่หลังจากทำไปได้ราว 3 ปี วานิตาก็ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำทำให้ดร.ธีระพรถึงกับออกปากว่าหากต้องทำงานหนักขนาดนี้ก็ขอให้กลับมาทำธุรกิจของตระกูลจะดีกว่า เธอจึงเข้ามาชิมลางธุรกิจเกลือพิมายในราวปี 2555-2556 ไล่ๆ กับการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบทาวน์โฮมย่านวิภาวดีของครอบครัวในชื่อ บริษัท ดับเบิ้ลวันแอสเซ็ทส์ จำกัด
วานิตา ศรีเฟื่องฟุ้ง วัย 31 ปี Business Development/International Market ทายาทรุ่นที่ 3 ของเกลือพิมาย
ธุรกิจเกลือของตระกูลในวันที่วานิตาเข้าไปช่วยเสริมกำลัง นอกจากฝั่งเกลือพิมายจะมีดร.ธีระพรเป็นหัวเรือใหญ่ ฝั่งอุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์ก็มีเครือญาติ เช่น ดารณี อัตตะนันทน์ ผู้เป็นป้า พงศธร จอมสาลักษณ์ ลูกพี่ลูกน้องของวานิตา บริหารงาน “ญาติๆ ทุกท่านที่ทำมาก่อนก็สร้างผลงานที่ดีมาโดยตลอด และเป็นสิ่งที่เราในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าต้องเรียนรู้ ดังนั้นเราจึงยังอยู่รอบนอกและช่วยเท่าที่ช่วยได้” วานิตากล่าวถ่อมตัว  

มุ่งหมายขยายตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบันกำลังการผลิตของเกลือพิมายอยู่ที่ 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตะกำลังการผลิตสูงสุด แบ่งเป็นการผลิต 2 ประเภทคือ
  1. เกลืออุตสาหกรรม (industrial salt) ใช้เป็นวัตถุดิบส่งให้อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส อาหารสัตว์ เครื่องดื่ม ระบบบำบัดน้ำ ยา เคมี เป็นต้น ซึ่งเกลืออุตสาหกรรมจะมีความบริสุทธิ์ 99.9% และมีความชื้นไม่เกิน 2.5% โดยน้ำหนัก
  2. เกลือบริโภค (table salt) เป็นเกลือที่ใช้ประกอบอาหาร มีความบริสุทธิ์มากกว่า 99.9% และมีความชื้นไม่เกิน 0.15% โดยน้ำหนัก มีการนำเกลือเข้าเครื่องเติมไอโอดีนและเข้าเครื่องอบแห้งเพื่อระเหยน้ำส่วนเกินออกจากเกลือ
“ในจำนวนกำลังการผลิตทั้งหมด 60% คือเกลืออุตสาหกรรม และ 40% คือเกลือบริโภค ส่วนถ้ามองเรื่องตลาด เราผลิตป้อนความต้องการใช้เกลือในไทยประมาณ 95% และส่งออกไปต่างประเทศ 5%” แม้จะผลิตเต็มกำลัง ทว่าก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้เกลือในไทยได้เพียงพอ บริษัทจึงวางแผนระยะยาวด้านการเพิ่มสายการผลิตบนพื้นที่โรงงาน คาดไว้ภายในระยะเวลา 10 ปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นรวมเป็น 2 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับการขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศ AEC ในอนาคต “ถ้าอยากเพิ่มไลน์การผลิต เราก็ต้องหาลูกค้าเพิ่ม ไม่อย่างนั้นโรงงานจะลำบากเพราะต้องลงทุนเยอะ เปรียบเหมือนไก่กับไข่ ถ้าเราขยายเลยแต่ยังไม่มีลูกค้ารองรับก็เสี่ยง จึงต้องทำไปพร้อมกันทั้งหาลูกค้าและวางแผนขยายการผลิต” วานิตาเล่า ขณะนี้สินค้าของเกลือพิมายส่งออกไปต่างประเทศ เช่น สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา ออสเตรเลีย ฯลฯ ในรูปแบบเกลือบริโภค ซึ่งวานิตารับหน้าที่ช่วยศึกษาและดูลู่ทางตลาดต่างประเทศของเกลือพิมายให้มากขึ้น “แต่ละประเทศจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเกลือเนื่องจากเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ก็จะมีการตั้งภาษีค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนที่เราส่งเข้าไปแพงกว่าที่ผลิตในประเทศเขา แต่ถ้าเราทำเกลือให้บริสุทธิ์มากขึ้นก็สามารถเข้าไปขายในรูปแบบอื่นๆ ได้” สำหรับตลาดนอก AEC ที่วานิตาเห็นว่ามีศักยภาพในการเติบโตคือ "เกาหลีใต้" เพราะเท่าที่ทำการศึกษา เกาหลีใต้ยังไม่มีวัตถุดิบอย่างเกลืออุตสาหกรรมเพียงพอ จึงอยากเจาะตลาดดังกล่าวโดยเฉพาะเกลือที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นอาจต้องใช้เวลานานและมีความยากในแง่ข้อกฎหมาย ปีที่ผ่านมาวานิตาให้ตัวเลขรายได้รวมคร่าวๆ ของเกลือพิมายไว้ประมาณ 2 พันล้านบาท โดยปัญหาหรืออุปสรรคของเกลือพิมายไม่ได้อยู่ที่คู่แข่ง เพราะบริษัทถือเป็นผู้ผลิตเกลือรายใหญ่ของประเทศ แต่อยู่ที่การปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่มากกว่า ส่วนการทำเหมืองเกลือที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม วานิตากล่าวว่ามีการพัฒนาพื้นที่ขุดอยู่ตลอด มีทีมวิจัยและพัฒนาที่ศึกษาว่าพื้นที่ที่ดูดเกลือขึ้นมาแล้วจะทำประโยชน์อะไรต่อได้บ้าง เช่น ปลูกต้นไม้ทนเค็ม ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น “เราใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เราเน้นคือสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ได้ ชาวบ้านต้องอยู่ได้ ที่ผ่านมาเคยเจอกระแสต่อต้าน แต่ก็มีการเปิดโรงงานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูว่าโรงงานทำอะไร ของเสียที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรและเรากำจัดอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อมโดยรอบ” วานิตากล่าว
ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และ บริษัท เกลือพิมาย จำกัด
 
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "วานิตา ศรีเฟื่องฟุ้ง ร่วมปรุงรสชาติ "เกลือพิมาย" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ พฤษภาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine