ปลายปี 2563 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัด 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งและดาวร่วงปี 2564 โดยหนึ่งในดาวร่วงคือ ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และจำหน่ายในประเทศ
แต่สำหรับ
บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา เสื้อผ้าเด็กและชุดชั้นในอีกหลายแบรนด์ ซึ่งรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์ยุโรปและสหรัฐอเมริกายังมีออร์เดอร์ยาวอีก 1- 2 ปี และประกาศรับพนักงานอยู่เป็นระยะ แม้ว่าปัจจุบันจะมีพนักงานประจำมากถึง 13,000 คน
“เราเติบโตทุกปี ขยายทุกปี ไม่เคยมี sunset ที่ Hi-Tech”
วสันต์ วิตนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด กล่าวด้วยน้ำเสียงสบายๆ ในวันที่ให้สัมภาษณ์
Forbes Thailand ที่สำนักงานใหญ่บนถนนประชาอุทิศ
โดยปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทมีรายได้รวม 6.5 พันล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 7 พันล้านบาท แต่คิดเป็นสกุลเหรียญสหรัฐฯ แทบไม่แตกต่างกัน
บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จำกัด ก่อตั้งในปี 2534 โดย ประสิทธิ์ วิตนากร, วัลลภ วิตนากร และ นิพนธ์ ชวลิตมณเฑียร สองรายหลังเป็นพ่อค้าโควตาสิ่งทอ โดยเป็นผู้จัดสรรโควตาเสื้อผ้าให้บริษัทต่างๆ ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ผลิตสินค้าเอง ต่อมามองว่าในอนาคตจะหมดยุคโควตาจึงตั้งบริษัทรับจ้างผลิตเสื้อผ้าหลายประเภท โดยช่วงแรกมีพนักงาน 50 คน
“ภาพรวมธุรกิจ garment 30 ปีก่อนมีการแข่งขันสูง ลงทุนต่ำ มีจำนวนผู้ประกอบการเยอะมาก และแข่งกันระดับ global ทุกประเทศที่ค่าแรงต่ำทำ garment หมดแรกๆ เราไม่ได้ทำธุรกิจเสื้อผ้ากีฬาเป็นหลัก เรารับลูกค้าเกือบ 100 รายในแต่ละปีลูกค้า sourcing จากบริษัทมาก นั่นเป็นยุคเริ่มต้นถึง 15 ปี พอหมดยุคโควตาลูกค้าไม่จำเป็นต้องยึดติดกับใคร เขาเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพ...
เราเป็นคู่ค้ากับ Nike ตั้งแต่สมัยโควตาและปรับตัวมาเรื่อย ปัจจุบันเป็นคู่ค้ารายใหญ่กับ Nike เป็น strategic partner ซึ่งมีไม่ถึง 10 รายในโลก”
ลักษณะงานคือ พัฒนาต้นแบบ ทำแพตเทิร์น จัดเตรียมและซื้อวัตถุดิบ ตัดเย็บ แพ็ก และส่งออก โดยเป็นผู้ผลิตให้กับแบรนด์ระดับโลก อาทิ Nike, Tchibo, Joe Boxer โดยผลิตเพื่อส่งออก 90% ส่วนที่จำหน่ายในไทยคือ แบรนด์ Warrix และ Paladin
สินค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1. เสื้อผ้ากีฬา ซึ่งใช้วัสดุรีไซเคิลเกือบ 100% 2. ชุดชั้นใน (underwear/undershirt) โดยรายได้ 80% มาจากสินค้ากลุ่มแรก ปี 2563 ช่วงโควิด-19 ระบาดได้เพิ่มไลน์การผลิตชุดป้องกันการติดเชื้อ PPE และหน้ากากผ้า จัดว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหน้ากากผ้ารายใหญ่ด้วยยอดรวมกว่า 30 ล้านชิ้น
ปัจจุบันไฮ-เทคฯ มีสาขา 10 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ โดยเปิดบริษัทใน สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เหตุผลหนึ่งที่ไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านเพราะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี 4 ปีก่อนตั้งบริษัท พาลาดิน จำกัด เพื่อผลิตชุดยูนิฟอร์มขายในประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสของตลาดซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และไฮ-เทคฯ มีศักยภาพและความพร้อม
ชุดยูนิฟอร์มของ
บจ. พาลาดิน ไม่ใช่ชุดที่ผลิตแบบทั่วไป แต่เป็นชุดยูนิฟอร์มที่มีนวัตกรรม เช่น ชุดกันไฟ ชุดสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร บริกรโรงแรม ชุดทางการแพทย์ ฯลฯ เป็นชุดที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย เชื้อโรค ป้องกันการซึมของน้ำ เป็นต้น
“Hi-Tech ไม่เคยลงเลย โตทุกปี ขยายทุกปี...เมื่อก่อนธุรกิจนี้เป็นผู้ผลิตรายย่อยเล็กๆ และปรับตัวไม่ทัน แต่เราปรับตัวยุคแรกสุดผู้บริหารเอาระบบ Kaizen เข้ามาใช้ ทำให้กำลังการผลิตต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพเป็น 2 เท่า ช่วงปี 2551 โดยเรียนรู้จากโรงงานผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ Toyota ถ้าไม่เริ่มจากตรงนั้นมาก็ไม่มีวันนี้เหมือนกัน เพราะเราไม่สามารถแข่งขันได้ เราไม่ได้แข่งเฉพาะ platform ประเทศไทยแต่แข่งกับทั่วโลก อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าเยอะคือ มาตรฐาน compliance ไม่ว่าจะเป็น labor practice สิ่งแวดล้อมที่ลูกค้าระดับ global ให้ความสำคัญมาก ซึ่งบริษัทเล็กๆ จะมีปัญหา”
ผู้บริหารหนุ่มมองว่า มาตรการต่างๆ ของบริษัทข้ามชาติไม่ใช่การกีดกันทางการค้า แต่แบรนด์สากลต้องป้องกันความเสี่ยง เพราะประเทศกลุ่มยุโรปและสหรัฐฯ มี NGO และลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน
“ธุรกิจ garment เป็น labor intensive ใช้แรงงานคนเยอะมากๆ หลายประเทศมีความเสี่ยง เขาต้อง protect แบรนด์ตัวเอง จึงใช้มาตรฐานสูงและนำมาใช้กับบริษัท OEM เราไม่ได้ผลิตแบรนด์ตัวเองแล้ว อะลุ่มอล่วยกับตัวเองว่ายังไงก็ได้ เขาเอา audit มาตรวจปีละครั้งในแต่ละ location”
วสันต์ยกตัวอย่างความเข้มงวดที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานคู่ค้า เช่น พนักงานของไฮ-เทคฯ 13,000 คน ต้องทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง (รวมล่วงเวลา) ห้ามเกินแม้แต่ 1 นาที หากบริษัทไม่มีระบบการจัดการที่ดีจะไม่ผ่านเกณฑ์
“หากตรวจสอบแล้วไม่ผ่านหลายครั้งพาร์ตเนอร์พวกนี้ก็ไม่มองเราเป็น strategic partner เพราะเรายังดูแลตัวเองไม่ได้ นี่เป็นเรื่องที่เหนือกว่าการตลาด การจะรักษาลูกค้าระดับ global เป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆ คนมองข้าม คำถามคือ ผู้บริหารระดับสูงรู้เรื่องไหม ผู้บริหารไฮ-เทคฯ รู้ทุกคน แม้เป็นแผนกที่ไม่เกี่ยวข้องก็ตามเพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก”
ปี 2564 ไฮ-เทคฯ มีอายุครบ 30 ปี และเป็นคู่ค้ากับชุดกีฬาแบรนด์ไนกี้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยผู้บริหารรุ่นแรกยังเป็นพ่อค้าโควตาสิ่งทอ ถามว่า มีวิธีการอย่างไรในการรักษาคู่ค้าข้ามชาติ ทั้งที่ในยุคการค้าเสรี สามารถหาผู้ผลิตจากประเทศไหนๆ ก็ได้
ผู้บริหารหนุ่มตอบว่า การทำการตลาดกับไนกี้สิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุดคือ performance ทั้งราคา delivery, quality, comparance การมีวิสัยทัศน์ตรงกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าลูกค้าอยู่ในช่วงเติบโตแต่บริษัทอยู่ในช่วงถดถอยก็ไม่ตรงกัน
“เราต้องหาวิธี balance business ให้ตรงกับทิศทางของลูกค้า เช่น ลูกค้าขายสินค้าทางอี-คอมเมิร์ซ เราต้องรู้ว่าธุรกิจ มันต้องเร็วขึ้น ลูกค้าจิ้มปุ๊บ อยากได้สินค้าทันที แปลว่า สไตล์หนึ่งๆ ที่เรา develop อาจผลิตจำนวนน้อยลง แต่กลยุทธ์การจัดการไลน์ผลิต แทนที่จะเป็น mass production ใหญ่ๆ เราต้องทำให้มีจำนวน สไตล์มากขึ้น โดยประสิทธิภาพไม่ด้อยลง อันนี้เป็นเรื่อง manufacturing lean การใช้ automation, digital technology เป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบัน บริษัทสามารถผลิตเสื้อตั้งแต่ 1 ตัวถึง 1 ล้านตัว ใน 1 สไตล์ ทำปริมาณแบบมากขึ้น จำนวนต่อแบบน้อยลง ทำงานที่ยากขึ้น แต่สามารถบาลานซ์ sustainable growth ให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปกับลูกค้า"
ทั้งนี้ไฮ-เทคฯ ไม่เน้นการขายสินค้าราคาถูกสุด แต่ขายสินค้าที่มีนวัตกรรม มีความสามารถในการส่งมอบและการบริหารจัดการที่รวดเร็ว ปัจจัยสำคัญอีกเรื่องคือสิทธิประโยชน์ทางภาษี นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไฮ-เทคฯ ไปตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแต่ละแห่งมีพนักงานหลักพัน โดยโรงงานที่เมือง Poipet กัมพูชามีพนักงาน 4,000 คน, เมือง Danang เวียดนาม พนักงาน 1,500 คน ส่วน Vientiane สปป.ลาว 500 คน และอยู่ในช่วงกำลังขยายกำลังการผลิต ส่วนโรงงานในไทยตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี และชัยภูมิ ในการทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม มีหลายเรื่องที่คาดไม่ถึง และต้องประยุกต์ตามสถานการณ์
จุดแข็งของไฮ-เทคฯ คือ สินค้ามีนวัตกรรม มีกำลังการผลิตที่ค่อนข้างใหญ่ และการบริหารจัดการแบบ one stop service สร้างความสะดวกให้กับลูกค้า
เมื่อรับตำแหน่งผู้บริหารเจเนอเรชั่นที่ 2 ได้รับโจทย์อย่างไรบ้าง วสันต์ตอบว่า ทั้งคู่ต้องการให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่ตัวเขาเองอยากให้เป็นบริษัทที่สามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมืออาชีพระดับโลก ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“สิ่งที่สำคัญอันดับ 1 ในช่วงนี้คือ ขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยี การที่เราทำให้ตัวเอง agile and flexible มีความยืดหยุ่น และมีความรวดเร็วสูงคือเราสามารถโยกหรือปรับได้รวดเร็วตามสถานการณ์ ถ้าปรับแล้ววันหนึ่งวิ่งไปสุดทางจำเป็นต้องปรับใหม่ไปทางซ้ายหรือขวาก็ต้องไปให้ได้...อะไรก็ตามที่ถูกเปลี่ยนในมุมของลูกค้า เราต้องเปลี่ยนตามทั้งหมด ถ้าเรามัวแต่ยื้อว่า ทำนั่นทำนี่ไม่ได้ ถ้ามีคนอื่นทำได้ลูกค้าก็ไปทำกับคนอื่น เราต้องทำก่อน”
อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine