พลวัฒน์ เอื้อสุดกิจ ดัน UTIC สู่เทรดเดอร์ไฟฟ้าครบวงจร - Forbes Thailand

พลวัฒน์ เอื้อสุดกิจ ดัน UTIC สู่เทรดเดอร์ไฟฟ้าครบวงจร

พลวัฒน์ เอื้อสุดกิจ ทายาทเจน 3 ของตระกูล “เอื้อสุดกิจ” เจ้าของบริษัท ยูไนเต็ด เทรดดิ้ง แอนด์ อิมปอร์ต จำกัด หรือ UTIC ตัวแทนจำหน่าย circuit breaker ของมิตซูบิชิ อิเล็คทริค

ห้าทศวรรษที่ผ่านมา UTIC สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับมิตซูบิชิญี่ปุ่น ด้วยการทำยอดขาย circuit breaker รายเดียวในไทยที่ขายมานานกว่าครึ่งศตวรรษทำยอดขายต่อปีมากกว่า 1 ล้านตัว และเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การบริหารของเจนที่ 2 อย่าง บุญเกียรติ เอื้อสุดกิจ ลูกชายซึ่งเป็นซีอีโอคนปัจจุบัน ที่กำลังวางแผนเกษียณจ่อรับไม้ต่อซีอีโอคนต่อไป โดยมี พลวัฒน์ เอื้อสุดกิจ วัย 30 ปี ถูกวางตัวให้เป็น “ซีอีโอ” ของบริษัท UTIC หลังจาก บุญเกียรติได้วางแผนเกษียณ และค่อยๆ วางมือจากการบริหารงาน วันนี้หนุ่มนักบริหารรุ่นใหม่ได้รับช่วงต่อการบริหารและมีหน้าที่ในการตัดสินใจธุรกิจของบริษัทที่ปัจจุบันมีรายได้ต่อปีหลักพันล้านบาทได้อย่างเต็มตัว พร้อมทำหน้าที่ดีลธุรกิจกับมิตซูบิชิโดยตรง “ตอนนี้ผมคือคนที่ดูแลภาพรวมทั้งหมดของ UTIC หน้าที่สำคัญ คือ ดีลกับทางมิตซูบิชิ รวมถึงบริหารจัดการสต็อกสินค้า คุณลุงเองเริ่มวางมือ แต่ยังนั่งเป็นซีอีโอและที่ปรึกษาอยู่ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำหน้าที่เหล่านี้ ก็ต้องเข้ามาเรียนรู้หลายเรื่อง จำได้ว่าตอนที่คุณลุงเรียกให้มาช่วยธุรกิจ ท่านส่งผมไปช่วยงานที่โกดังเก็บสินค้า และไปเรียนรู้กับฝ่ายบัญชี เพราะผมเรียนจบบัญชีมาดูบัญชีเป็น” พลวัฒน์กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มและท่วงท่ามั่นใจตามสไตล์นักบริหารรุ่นใหม่ที่คิดเร็วทำเร็ว ถือเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นอย่างแท้จริงที่ซึบซับแนวคิดทางธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่สมัยคุณปู่และคุณลุงตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งคุณลุงเห็นถึงความสามารถจึงปล่อยมือแล้วนั่งดูหลานชายเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ “จริงๆ แล้วคุณปู่มีหลานหลายคน ซึ่งแต่ละคนจะมีเส้นทางที่ชอบของเขา สุดท้ายเหลือผมคนเดียวที่มาช่วยอย่างเต็มตัวตอนนี้ก่อนหน้านี้ผมเป็นผู้ช่วยคุณลุงทำงานอยู่หลายปี ฝึกงานมาทุกแผนกจนครบ คุณลุงถึงวางใจ เพราะตอนนี้คุณลุงเริ่มวางมือลงไปแล้ว เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น”  

ผนึกมิตซูบิชิสร้างแบรนด์ “UTIC”

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา UTIC จำหน่ายอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้า รวมถึง circuit breaker ขนาดใหญ่ให้ทางมิตซูบิชิ ที่มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก พลวัฒน์เห็นช่องว่างตรงนี้มาตลอดว่าควรมี breakerขนาดเล็กสำหรับเจาะเข้าไปยังตลาดตึกสูงอาคารสำนักงาน บ้าน รวมถึงคอนโดมิเนียมด้วยจะได้ครบวงจร เขาเสนอไอเดียกับทางญี่ปุ่นทันทีถึงความเป็นไปได้ในการผลิต breaker เอง โดยใช้แบรนด์ UTIC ซึ่งมิตซูบิชิเห็นด้วย “มิตซูบิชิไฟเขียวให้เราผลิต breaker โดยใช้แบรนด์ UTIC และเขาจะเป็นคนตรวจสอบคุณภาพพร้อมติดแบรนด์มิตซูบิชิติดข้างๆ แบรนด์เรา ซึ่งในประวัติศาสตร์ของมิตชูบิชิไม่เคยอนุญาตให้ใครใช้แบรนด์ร่วมกับเขาเลย UTIC คือรายแรกในโลก ที่สำคัญมิตซูบิชิพร้อมเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายให้เราในญี่ปุ่นและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย” พลวัฒน์บอกว่า การทำแบรนด์ UTIC เป็นการขยายธุรกิจครอบครัวออกนอกประเทศครั้งแรก ซึ่งมั่นใจว่าตลาดต่างประเทศน่าจะให้การตอบรับที่ดี โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในแถบนี้ เช่น เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม เพราะเมืองกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ในต่างประเทศ เราตั้งเป้าไว้ในปีแรกแบรนด์ UTIC น่าจะมียอดขายต่อเดือนประมาณแสนตัวเป็นอย่างต่ำ” พลวัฒน์เล่า ด้วยแววตาเป็นประกายสไตล์คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ชอบความท้าทาย แฝงไปด้วยโทนเสียงแห่งความภาคภูมิใจ

ทายาทธุรกิจกงสีไม่ง่ายอย่างที่คิด

ยุคที่ 3 ของการบริหารธุรกิจครอบครัวในมือของพลวัฒน์ นอกจากเขาจะวางแผนต่อยอดธุรกิจ และอัปเกรดจากอาณาจักรตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไฟฟ้าไว้อย่างเป็นขั้นตอน ทายาทวัย 30 ปีผู้นี้ ยังมองลู่ทางการขยายสำนักงาน โกดังเก็บสินค้า รวมถึงการเล็งสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเอง “การขยายพื้นที่เก็บสินค้าอยู่ในแผนของเราไม่ใช่เรื่องยาก เพราะครอบครัวผมมีที่ดินอยู่อีกหลายที่ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ด้วยความที่พื้นที่อยู่ปัจจุบันครอบครัวอยู่กันมานานตั้งแต่รุ่นแรกๆ การขยับขยายไปที่อื่นต้องฟังเสียงคนในครอบครัวด้วย รวมถึงพนักงานในบริษัทที่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่อยู่กับบริษัทมาตั้งแต่ต้น” พลวัฒน์เล่าเสริม ขณะที่คุณลุงของเขาเอง ปัจจุบันยังมีบทบาทในการให้คำแนะนำ เพราะเขายอมรับว่าบางครั้งยังต้องฟังเสียงและขอคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับทางผู้ใหญ่ ที่แม้จะเป็นคนรุ่นเก่า แต่แฝงไว้ด้วยความเก๋า ควรอย่างยิ่งที่ต้องรับฟัง “คุณลุงเองยังมีบทบาทในแง่ของการแนะนำเพราะผมยอมรับด้วยความที่เรายังเด็กก็เหมือนมีความใจร้อนอยู่บ้าง เราอยากให้เสร็จแล้ว เพราะเรามีความเชื่ออยู่ว่า คนที่ทำเร็ว ทำเสร็จก่อนจะมีความได้เปรียบ ลุงก็จะมองว่าให้รอบคอบ ระวัง” พลวัฒน์บอกว่า หลักคิดการบริหารธุรกิจครอบครัว หรือที่เขาเรียกว่าธุรกิจกงสี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพนักงานที่ทำงานปัจจุบันเห็นเขามาตั้งแต่เด็ก และวันนี้เด็กที่พนักงานเห็นวันนั้นต้องขึ้นมาเป็นผู้บริหารบริษัท “บ้านเราเป็นกงสี และไม่ง่าย เพราะพนักงานในบริษัทปัจจุบันเห็นเรามาตั้งแต่เด็ก พอเรามานั่งบริหารเขา ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเด็กที่เขาเห็นในวันนั้นสามารถบริหารงานและนำธุรกิจของครอบครัวที่เขาทำอยู่ด้วยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เราต้องมี can do spirit มีพลังตลอดเวลา ต้องวางตัวให้ถูกและต้องการเมืองให้เป็น” ความยากการบริหารงานธุรกิจครอบครัวระหว่างรุ่นต่อรุ่นนั้นมองว่าถ้าเป็นในยุคของคนรุ่นใหม่อย่างเขา ทุกอย่างต้องเร็ว เพราะการแข่งขันสูงขึ้น ลูกค้าต้องการข้อมูลและการบริการที่รวดเร็ว ขณะที่คนรุ่นก่อนจะเน้นความเป็นกันเองสูง เขาใช้คำกว่า “กากี่นั้ง” คือช่วยๆ กัน เมื่อถามว่าอะไรคือเป้าหมายของ UTIC ในยุคการบริหารงานของเขา พลวัฒน์ตอบอย่างมั่นใจว่า บริษัทต้องเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากขึ้น “ถ้าเป็นความฝันที่ไกลที่สุด เราอยากเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าที่ครบวงจรในระดับภูมิภาคให้ได้” ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "พลวัฒน์ เอื้อสุดกิจ วางหมากดัน UTIC สู่เบอร์ 1 เทรดเดอร์ไฟฟ้าครบวงจร" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคา 2562 ในรูปแบบ e-Magazine