ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ควบ VC ไล่ล่า Unicorn - Forbes Thailand

ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ควบ VC ไล่ล่า Unicorn

แม้ตัวเขาในฐานะทายาท จะได้รับการวางตัวให้สืบทอดกิจการของครอบครัวที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อ SHARP ในนาม บริษัท กรุงไทย การไฟฟ้า จำกัด แต่เมื่อ ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย วัย 32 ปีมีโอกาสเรียนรู้และทำงานด้านนวัตกรรมในโลกตะวันตก จึงนำไปสู่การเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ครีเอทีฟเวนเจอร์ จำกัด (Creative Ventures) ร่วมกับ Alastair Truefar และ James Wang ที่ Silicon Valley ในปี 2559

Creative Ventures มุ่งร่วมลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพด้านพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) สู่จุดหมายปลายทางที่มีขนาดกองทุนที่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปีนับจากปี 2560

ปัจจุบัน บริษัทลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพไปแล้ว 10 ราย ได้แก่ ALICE, Agridata, Dishcraft, Exo Devices, Lioness, SalesBootcamp, ReNature, Iotas , Sense Photonics และ Visolis คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวม 3.3 ล้านเหรียญ

“ตอนนั้นเรามองว่าเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาใน real sector ได้ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่อยู่ในขอบข่ายของนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI, หุ่นยนต์ (robotics), คอมพิวเตอร์วิชั่น, เทคโนโลยีเซนเซอร์ขั้นสูง และชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อตอบสนองการดำเนินธุรกิจในสาขาต่างๆ” ปุณยธรกล่าว

ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ทายาทกรุงไทยการไฟฟ้า ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า SHARP ผู้เลือกเบนเข็มออกจากธุรกิจเดิมของครอบครัวสู่การเป็น VC ร่วมก่อตั้งบริษัท ครีเอทีฟเวนเจอร์ จำกัด

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจของปุณยธรที่ต้องการช่วยผู้ก่อตั้งกิจการทั้งหลายที่ยอมวางเดิมพันกับความเชื่อของตนแม้จะตระหนักว่ามีโอกาสล้มเหลวกว่า 90% สิ่งนี้ทำให้เขามุ่งมั่นสนับสนุนผู้กล้าเหล่านี้ให้สำเร็จดังเป้าหมาย

“ผมรู้ว่าพวกเขาอยากทำจริงๆ และผมก็อยากช่วยเขา” ปุณยธรให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่า ผมมีเพื่อนเป็นลูกหลานเจ้าของกิจการเยอะมากที่เปรียบเทียบสถานการณ์ของตัวเองว่าเหมือนยืนอยู่บนตึกสูงๆ ที่มองเห็นเชือกหลายๆ เส้นที่นำทางไปยังอีกตึกหนึ่ง แต่มีหมอกบังไว้จึงไม่รู้ว่าปลายทางมีอะไรรออยู่ ที่สำคัญคือเราต้องเดินบนเชือกนั้นคนเดียวแล้วยังมีคนคอยห้ามไม่ให้เดินไปพร้อมกับบอกว่าอาจจะตายได้ถ้าข้ามไป แต่เราไม่มีทางเลือกเพราะเป็นหน้าที่ต้องเดินไป ดังนั้นผมจึงอยากเป็นคนที่ช่วยให้คนเหล่านั้นสามารถเลือกเชือกที่ช่วยให้เดินไปถึงจุดหมายได้ หรือเลือกที่จะเดินไปก่อนแล้วกลับมาบอกว่าอีกตึกหนึ่งมีอะไรและคุ้มหรือไม่ที่จะยอมเสี่ยงเดินมา”

โดยปุณยธรเปรียบเทียบเพิ่มเติมอีกว่าหลังจากผ่านการทำ VC มาได้ระยะหนึ่ง จึงเท่ากับตัวเขาเริ่มกลับมาบอกคนอีกฝั่งแล้วว่าเชือกเส้นที่เขาเลือกเป็นเส้นทางที่ดีและมีอะไรอยู่ที่ปลายทางบ้าง

คัด Deep Tech จาก 3 กลุ่ม

อย่างไรก็ตามก่อนจะมาเป็นผู้คัดสรรการลงทุนในสตาร์ทอัพ ปุณยธรเริ่มเรียนรู้จากบริษัทให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรมที่ดูแลลูกค้าหลายราย เช่น PayPal นอกจากนี้ยังเคยร่วมงานกับสตาร์ทอัพอย่าง 99designs ที่ San Francisco

ทั้งนี้ปัจจุบัน Creative Ventures จะให้ความสำคัญกับ deep technology ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การดูแลสุขภาพ และเกษตรกรรม เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ผู้ร่วมก่อตั้งต่างมีความเชี่ยวชาญและสามารถสนับสนุนให้สตาร์ทอัพเหล่านี้มาเปิดตลาดที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ได้

โดยผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนจะแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด คือ Alastair ดูแลในเรื่องการหาดีล ขณะที่ James เปรียบดังมันสมองที่ช่วยวิเคราะห์ทิศทางและโอกาสในการลงทุน ขณะที่ ปุณยธร เน้นเรื่องการสร้างเครือข่ายเงินลงทุนและสนับสนุนให้สตาร์ทอัพนำเทคโนโลยีกลับมาเปิดตลาดที่ SEA 

การร่วมลงทุนในช่วงเริ่มแรกของ Creative Ventures อาจไม่ได้ผลิดอกออกผลงดงามนัก จนกระทั่งครั้งที่ 4 ซึ่งลงใน Dishcraft หรือ Dishcraft Robotics, Inc. ที่ผลิต commercial kitchen robots โดยมูลค่ากิจการเติบโตบานสะพรั่งเป็น 10 เท่าภายใน 10 เดือน สำหรับปัจจัยที่ทำให้กิจการเติบโตดี ปุณยธรมองว่าเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน

Creative Ventures ลงทุนในธุรกิจ deep technology หลากหลาย ตัวอย่างเช่น ALICE สตาร์ทอัพที่ใช้ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้าง ช่วยลดต้นทุนและเวลา

อีกดีลที่โดดเด่นของ Creative Ventures คือ ALICE หรือ ALICE Technologies Inc. สตาร์ทอัพที่พัฒนาระบบ Artificial Intelligence Construction Engineering ที่เป็นดังเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการการก่อสร้างในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 4% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และลดเวลาในการก่อสร้างลง 14% โดยเป็นดีลที่บริษัทร่วมมือกับ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ 

ทั้งนี้ภายในเวลา 10 เดือน ALICE ระดมทุนได้อีก 20 ล้านเหรียญ ทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านเหรียญ และคาดว่าจะเริ่มมีประเทศอื่นๆ นอกจากไทยนำมาใช้ภายในปีนี้

เดินหน้าโต 5 เท่า หลังจากกองทุนแรกที่ Creative Ventures จัดตั้งประสบความสำเร็จได้ดี จึงนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนที่ 2 (Creative fund 2) ด้วยมูลค่า 50 ล้านเหรียญ ซึ่งในครั้งนี้จะมีพันธมิตรรายใหม่ๆ เข้ามาร่วมลงขันในนามส่วนตัว ได้แก่ ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.มิลล์คอน สตีล ที่ลงทุนในนามส่วนตัวและบริษัท
(ซ้าย) ชานนท์ เรืองกฤตยา ซีอีโอ อนันดาฯ (ขวา) สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล เอ็มดีแห่ง มิลล์คอน สตีล สองผู้ร่วมลงทุนกับกองทุนที่ 2 ของ Creative Ventures
ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายสร้างมูลค่าการเติบโตของการลงทุนของทั้งสองกองทุนที่ 5 เท่าตัวภายใน 7-10 ปี หรือเติบโตเป็นบริษัทที่มีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) อยู่ที่ราว 20-30% ต่อปี นอกจากนี้ยังเล็งหาโอกาสที่จะดึงนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาร่วมลงทุนกับบริษัทด้วย โดยจะวางแนวทำงานร่วมกันแบบพันธมิตรธุรกิจที่จะมีส่วนช่วยให้สตาร์ทอัพที่สนับสนุนสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ และยังมีความชัดเจนว่าจะใส่มูลค่าเพิ่มให้แก่สตาร์ทอัพเหล่านั้นได้อย่างไรด้วย
ทั้งนี้มีสตาร์ทอัพที่บริษัทสนใจที่จะให้การสนับสนุนในอนาคต ได้แก่ กิจการที่พัฒนา optimums construction vehicle ในรูปแบบหุ่นยนต์ที่ทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมแบบเปิด (มีตัวแปรมาก) ซึ่งจะช่วยลดจำนวนแรงงาน รวมไปถึงสตาร์ทอัพที่เป็นผู้พัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพที่ใช้เทคโนโลยี AI ประมวลผลและวิเคราะห์จุดบกพร่องจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
ลงแรงเร่งเติบโต ปุณยธรมองว่าปรัชญาสำคัญของการทำให้สตาร์ทอัพที่บรรดา VC เข้าไปสนับสนุนจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงใส่เงินเข้าไปแล้วนั่งอยู่เฉยๆ รอให้บริษัทเติบโตแล้วระดมเงินทุนรอบใหม่ แต่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมส่งเสริมหรือลงแรงในการร่วมคิดร่วมตัดสินใจด้วย แต่ต้องไม่ไปก้าวก่ายมากเกินไปจึงจะเลือกเกี่ยวข้องเฉพาะใน 3 เรื่องหลักคือ เรื่องการเงิน การหาลูกค้า และจ้างบุคลากรมาร่วมงาน “มันเป็นเรื่องที่มองว่าผมอยากให้ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพจดจำผมแบบไหน ไม่ใช่แบบที่ว่า อ๋อที่เคยให้เงินทุนเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ในแบบที่จดจำว่าได้ร่วมกันทำงานหรือสร้างความสำเร็จมาด้วยกัน”
  กระนั้นการคัดเลือกผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่เหมาะสมก็เป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการลงทุน โดยผู้ร่วมก่อตั้ง Creative Ventures ให้มุมมองว่าหลักเกณฑ์หลักๆ ได้แก่ หนึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีที่บริษัทดำเนินการอยู่ สอง มีมุมมองเชิงลึกหรือมีความเข้าใจถ่องแท้ในธุรกิจที่ทำอยู่ และสาม มีความเฉียบแหลมด้านธุรกิจ อย่างไรก็ตามทุกสตาร์ทอัพที่ Creative Ventures เลือกลงทุนต้องมีคุณลักษณะเด่นที่สำคัญคือต้องเป็น unicorn ได้ ประกอบด้วยควรเป็นกิจการที่ดำเนินธุรกิจในตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีโอกาสครองส่วนแบ่งได้มากในระยะยาวนาน โดยในส่วนของบริษัทมั่นใจว่าทั้ง ALICE และ Dishcraft จะกลายเป็น unicorn ได้อย่างแน่นอน
ภาพ: อรรคพล คำภูแสน

คลิกอ่าน "ปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ควบ VC ไล่ล่า Unicorn" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine