บัญชัย ครุจิตร เล็งพิกัดยุทธศาสตร์เจ้าพระยา - Forbes Thailand

บัญชัย ครุจิตร เล็งพิกัดยุทธศาสตร์เจ้าพระยา

เส้นทางของธุรกิจกงสีที่แตกยอดจากอุตสาหกรรมเหล็กมาเป็นผู้ให้บริการท่าเรือแม่น้ำเอกชนไทยที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด พร้อมใช้ตลาดทุนสร้างแต้มต่อโลดแล่นต่อเนื่องในชื่อ “สหไทย เทอร์มินอล”

กว่าทศวรรษของบริษัท จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงท่าเทียบเรือพาณิชย์เพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักของครอบครัว ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าส่งออกเหล็กม้วนและท่อเหล็กรวมกันมากกว่า 200,000 ตันต่อปี เพื่อแก้ปัญหาความไม่แน่นอนในการขนส่งและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในปี 2551 บริษัท ท่าเรือชายฝั่ง สหไทย จำกัด หรือ Sahathai Coastal Seaport จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นบนถนนปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งมีระยะห่างเพียง 200 เมตรจากที่ตั้งของ กลุ่มสหไทยสตีล ด้วยทุนจดทะเบียนราว 2 ล้านบาทและพื้นที่เริ่มต้น 25 ไร่ นำโดย ทวีศักดิ์ และเสาวภา ครุจิตร ขยายอาณาจักรธุรกิจท่าเรือเอกชนขนาดใหญ่ที่ครอบครองผืนน้ำเจ้าพระยา พร้อมฝึกปรือทายาทรับภารกิจเสริมทัพธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจร “Sahathai Coastal Seaport หรือท่าเรือชายฝั่งสหไทย เป็นชื่อแรกของเรา จากที่ดินแปลงแรก 25 ไร่ถึงวันนี้ 120 ไร่ เฉพาะบริษัทแม่ยังไม่รวมบริษัทในเครือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง” บัญชัย ครุจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) ทายาทของทวีศักดิ์และเสาวภา กล่าว เมื่อภาพของเรือขนส่งสินค้าจำนวนมากที่กำลังแล่นเข้าออกยังท่าเรือของสหไทย บวกกับประสบการณ์ที่ได้รับขณะฝึกงานที่ท่าเรือแหลมฉบังในวัย 18 ปี ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้บัญชัยเลือกศึกษาต่อปริญญาโท สาขา Supply Chain & Logistics Management จาก University of Warwick หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขา International Business วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล “ผมเข้ามาช่วยธุรกิจในช่วงคุณพ่อเสียชีวิตปลายปี 2554 ซึ่งที่ผ่านมาคุณพ่อและคุณแม่แบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยคุณพ่อจะดูเรื่องการพัฒนา facility การวางระบบนโยบาย และแผนงาน ส่วนคุณแม่จะเป็นผู้นำแผนไปปฏิบัติเหมือนคู่บุญหยินหยาง”
บัญชัย ครุจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) วัย 30 ปี
บัญชัยกลับมาทำความเข้าใจกระบวนการภายในบริษัท 2 ปี ก่อนจะนั่งเก้าอี้รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำงานร่วมกับเสาวภา ผู้เป็นมารดาที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บัญชัยมุ่งมั่นขยายธุรกิจให้เป็นท่าเรือพาณิชย์ครบวงจรระดับสากล จึงเสนอการรีแบรนด์ชื่อบริษัทใหม่เป็น สหไทยเทอร์มินอล หรือPORT ในปี 2556 ปัจจุบันบริษัทสามารถให้บริการครบวงจร ได้แก่ ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์สำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหรือเรือฟีดเดอร์ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งหรือเรือบาร์จ (Barge) บริการบรรจุสินค้าเข้าและถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) และซ่อมแซมทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) รวมถึงบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก บริการพื้นที่ลานพักคู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น   ค้นกลยุทธ์ยึดน่านน้ำ ความเปลี่ยนแปลงของสหไทย เทอร์มินอล เกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลังการตัดสินใจลงทุนในเครนสำหรับยกตู้คอนเทนเนอร์หน้าท่า (Gantry Crane) ในปี 2554 เพื่อขยายศักยภาพในการบริการให้แก่เรือฟีดเดอร์สำหรับขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศขนาดใหญ่ นอกจากนั้น บริษัทยังได้จับมือกับพันธมิตรสายการเดินเรือ Mitsui O.S.K. Lines หรือ MOL ซึ่งเป็นสายการเดินเรือรายใหญ่ของญี่ปุ่น ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท บางกอก บาร์จ เทอร์มินอล จำกัด (BBT) ในปี 2558 เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจท่าเรือสำหรับเรือบาร์จ โดยล่าสุดบริษัทได้รับใบอนุญาต ICD (Inland Container Depot) ทางน้ำแห่งแรกของไทยจากกรมศุลกากร ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ใช้บริการเรือบาร์จในการขนสินค้านำเข้าจากท่าเรือแหลมฉบังมาที่ท่าเรือบาร์จของ BBT สามารถตรวจปล่อยสินค้าและทำพิธีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าได้ที่ท่าเรือ ขณะเดียวกันบริษัทยังจับมือกับสายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company หรือ MSCซึ่งเป็นสายการเดินเรือที่มีปริมาณการให้บริการตู้สินค้าคอนเทนเนอร์มากที่สุดของโลก โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ บริษัท บางกอก บาร์จ เซอร์วิส จำกัด เพื่อขยายการบริการเรือบาร์จที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก รวมถึงจัดตั้ง บริษัท บางกอก คอนเทนเนอร์ เดโป เซอร์วิส จำกัด เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจการให้บริการจัดการ ล้างและซ่อมแซม ปรับปรุงตู้คอนเทนเนอร์ การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่าเทียบเรือสินค้าในประเทศยังมีผู้แข่งขันน้อยราย และไม่จำเป็นต้องใช้ปัจจัยราคาในการแข่งขันกัน ซึ่งท่าเทียบเรือเอกชนมักอ้างอิงราคาค่าระวางจากราคาค่าระวางของท่าเรือกรุงเทพ โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับปัจจัยในด้านคุณภาพอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการท่าเรือและอุปกรณ์เครื่องมือที่มีมาตรฐานเพื่อไม่ให้สินค้าเสียหาย ตารางเวลาการเทียบเรือล่วงหน้าชัดเจน การจัดให้มีการจองเวลาสำหรับการเทียบเรือ ทำเลที่ตั้งท่าเรือสะดวกในการขนส่งไปที่โรงงานลูกค้า เป็นต้น ซึ่งสหไทย เทอร์มินอล มีจุดแข็งที่ใช้ระบบกำหนดเวลาที่เรือแต่ละลำจะเข้ามาเทียบท่าอย่างชัดเจน (Fixed Window) ทำให้สายเดินเรือ ผู้ส่งออกและนำเข้า สามารถวางแผนการเดินเรือและการรับส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากท่าเรือขนาดใหญ่อื่นในกรุงเทพฯ ที่ใช้ระบบ “มาก่อน ให้บริการก่อน” (First Come First Serve) ทำให้เกิดปัญหาเรือที่จะเข้าเทียบท่าต้องจอดรอเป็นเวลานาน ปัจจุบันสหไทย เทอร์มินอลมีลูกค้ารายใหญ่ เช่น เมอร์ซิเดส-เบนซ์ พานาโซนิค ลาซาด้า “ลูกค้าของเราใช้บริการในระยะยาว โดยแบ่งเป็นกลุ่มสายการเดินเรือเป็นลูกค้าหลักประมาณ 65% ของรายได้บริษัท ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มตัวแทนจัดการโลจิสติกส์ ผู้นำเข้าและส่งออก” รองซีอีโอวัย 30 ปีกล่าว   ต่อยอดโอกาสโลจิสติกส์ ก้าวต่อไปของท่าเรือเอกชนที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 30% (ไม่รวมท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตยซึ่งบริหารโดยภาครัฐ) บัญชัยยังคงมองการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อนำเงินลงทุนสำหรับโครงการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ การจัดซื้อเรือบาร์จ การต่อสัญญาเช่าที่ดิน และการสร้างอุโมงค์ติดตั้งระบบ Mobile X-Ray สำหรับโครงการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot) ภายใต้ บริษัท บางกอก คอนเทนเนอร์ เดโป เซอร์วิส จำกัด (BCDS) บริษัทได้ลงทุนซื้อที่ดิน สร้างลานจัดการตู้คอนเทนเนอร์และซื้ออุปกรณ์ราว 580 ล้านบาท บนพื้นที่ให้บริการประมาณ 15 ไร่ภายในท่าเรือสหไทย ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความสามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือสหไทยสำหรับธุรกิจท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 420,000 ทีอียูต่อปีเป็น 500,000 ทีอียูต่อปี นอกจากนั้น บริษัทร่วมทุน บริษัท บางกอก บาร์จ เซอร์วิส จำกัด ยังมีแผนจัดซื้อเรือบาร์จขนาด 240 ทีอียูจำนวน 2 ลำ ด้วยเงินลงทุนจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์
สหไทยมีพื้นที่ปฏิบัติการรวมมากกว่า 1.68 แสนตร.ม. ได้แก่ พื้นที่ซ่อมบำรุงตู้สินค้า สำนักงานศุลกากรภายในท่าเรือ และเครื่องมือประจำท่าเรือเพื่อการยกสินค้าครบวงจร
ขณะเดียวกันบริษัทยังใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาทสำหรับการทำบันทึกข้อตกลงการติดตั้งระบบ Mobile X-Ray ของกรมศุลกากรบริเวณท่าเรือสหไทย ซึ่งใช้ในกระบวนการตรวจสอบสินค้าที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ของกรมศุลกากร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าเนื่องจากสามารถทำการ X-Ray ตู้สินค้าตามคำสั่งของกรมศุลกากรที่ท่าเรือสหไทยได้ทันที จากโอกาสทางธุรกิจและแผนการดำเนินงานในอนาคต ทำให้บัญชัยมั่นใจในการเติบโตของตัวเลขรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.2 พันล้านบาทช่วงสิ้นปี 2560 ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกบริษัทสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเขาให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือและการบริการโลจิสติกส์ที่ลูกค้าต้องนึกถึงเป็นรายแรก   ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
อ่านฉบับเต็ม "บัญชัย ครุจิตร เล็งพิกัดยุทธศาสตร์เจ้าพระยา" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2561 ในรูปแบบ E-Magazine