ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์ หมุนเข็ม “โมงยาม” ให้รุดหน้า - Forbes Thailand

ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์ หมุนเข็ม “โมงยาม” ให้รุดหน้า

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Mar 2016 | 03:37 PM
READ 2100

ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์ ใช้เวลาไม่กี่ปีพลิกธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายนาฬิกาของครอบครัว ที่มีการบริหารงานในแบบ “ไม่ขาดทุนก็ดีแล้ว” ให้กลายเป็น “เบอร์หนึ่ง” ตลาดหรูนาฬิกาเมืองไทย ด้วยตัวเลขกว่า 3 พันล้านบาท แน่นอนว่าเขาไม่หยุดการเติบโตไว้เพียงเท่านั้น

การใช้ชีวิตต่างแดนนับสิบปีคือประสบการณ์ชั้นดีที่ ณรัณ วัย 35 ปี กรรมการผู้จัดการ PMT The Hour Glass นำมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจนาฬิกาหรู หลังจบชั้นประถมศึกษาในเมืองไทย ณรงค์ – วิภาดา พ่อและแม่ของเขาซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจจิวเวลรี Blue River Diamond ก็ ส่งลูกชายวัย 11 ปี ไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ เริ่มที่ Scaitcliffe School ต่อด้วย Harrow School ก่อนจะเลือกเรียนระดับปริญญาตรีและโทด้านเคมีที่ St.Hugh’s College, University of Oxford แต่เมื่อพบว่าตัวเองไม่ชอบชีวิตการวิจัย ณรัณ จึงเข้าสู่แวดวงการธนาคารในปี 2546 ขณะอายุ 23 ปี ที่ Standard Chartered Bank ประจำฮ่องกง มีหน้าที่หลักคือการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ชีวิตของ ณรัณ มาถึงจุดเปลี่ยนในปี 2548 เมื่อผู้เป็นพ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เขาจึงต้องกลับเมืองไทย พร้อมคิดหาทางช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัวในวันที่ขาดเสาหลักของบ้าน เวลานั้น ธรรมาวรานุคุปต์ มี Blue River Diamond เป็นธุรกิจหลัก โดยมีแม่และ ณฐินี ผู้เป็นพี่สาวของเขาคอยดูแล ส่วนPrima Times ที่ก่อตั้งในปี 2536 ภายใต้ บริษัท พรีม่า ไทมส์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิการะดับไฮเอนด์ เป็นธุรกิจรอง และมีการบริหารงานในแบบ ไม่ขาดทุนก็ดีแล้ว ณรัณ มองเห็นอนาคตของธุรกิจนาฬิกาหรูในไทย จึงตัดสินใจเดินหน้ากับธุรกิจนาฬิกา แต่เส้นทางของเขาไม่ง่าย เพราะขณะนั้นมีเจ้าตลาดอยู่แล้วหลายราย ส่วนแบรนด์ระดับโลกที่เป็นพันธมิตรกันมานาน 4-5 แบรนด์ เช่น Patek Philippe, Chopard, Audemars Piquet ก็เริ่มไม่มั่นใจในการบริหารงานของคนหนุ่มรุ่นใหม่ ความท้าทายของเขาจึงอยู่ที่การนำความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ และสายสัมพันธ์อันดีกับแต่ละแบรนด์กลับคืนมาให้ได้ ณรัณ เริ่มจากการพูดคุยกับพนักงานเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน และพูดคุยกับแต่ละแบรนด์เพื่อสร้างความมั่นใจ กระทั่งยอดขายกระเตื้องขึ้น การเป็นคนชอบความท้าทาย ทำให้ ณรัณ ถามตัวเองอยู่ตลอดว่า หลังจากพลิก Prima Times ให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้นแล้ว เป้าหมายต่อไปจากที่อยู่อันดับ 5 ในตลาด จะสามารถทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 ได้อย่างไร จังหวะเหมาะเมื่อเขาได้พบกับ Michael Tay หัวเรือใหญ่ของ The Hour Glass Limited บริษัทนำเข้าและจำหน่ายนาฬิกาชั้นนำในสิงคโปร์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกัน นำสู่การก่อตั้ง บริษัท ทีเอชจี พรีม่า ไทมส์ จำกัด โดยบูทีคช็อปของ The Hour Glass ในไทย และบูทีคช็อปของ Prima Times เปลี่ยนชื่อไปเป็น PMT The Hour Glass ซึ่งปัจจุบันนำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาหรู 18 แบรนด์จากสวิตเซอร์แลนด์ และยังมี PMT The Hour Glass Duty Free Watch Gallery ที่ จ.ภูเก็ต นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาเกือบ 40 แบรนด์ เมื่อรวมธุรกิจนาฬิกาทั้งที่กรุงเทพฯ และภูเก็ตแล้ว ปี 2557 ทีเอชจี พรีม่า ไทมส มีรายได้รวมราว 2.3 พันล้านบาท ปี 2558 อยู่ที่ราว 3.7 พันล้านบาท ส่วนปี 2559 เขาหวังว่ารายได้รวมจะขึ้นไปอยู่ที่ 4.3 พันล้านบาท แม้เศรษฐกิจเมืองไทยจะอยู่ในสภาวะชะลอตัว และคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาก แต่ ณรัณ ก็ไม่หวั่น ผมคิดว่าทุกอย่างเป็นบวก ตลาดมีที่ยืนสำหรับทุกคน เพียงแต่เราต้องสร้างความแตกต่างและหาจุดที่จะยืนให้ชัดเจน” 
คลิกอ่าน "ณรัณ ธรรมาวรานุคุปต์ หมุนเข็ม “โมงยาม” ให้รุดหน้า" ฉบับเต็ม Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magaizne