ชีวิตในวัยเยาว์ที่ลำบากและขัดสนของ คมสันต์ ลี เป็นแรงขับให้เด็กหนุ่มที่เติบโตจากดอยวาวี จังหวัดเชียงราย มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะบุตรชายคนโตและเป็นพี่ชายของน้องๆ อีก 2 คน ระหว่างเรียนปริญญาตรีก็ค้าขายและทำงานบริหารในบริษัทหลังจบการศึกษามีเงินออมนับ 10 ล้านบาท
คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จดทะเบียนก่อตั้ง บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ในปี 2560 ขณะอายุเพียง 26 ปี และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเดือนพฤษภาคม 2561 ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า ต้องใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาทซึ่งเป็นทุนส่วนตัว หากไม่ทำธุรกิจนี้ก็มีเงินจับจ่ายใช้สอยสบายๆ ไปตลอดชีวิต แต่เขามีความฝันที่จะเป็นผู้สร้าง ecosystem ให้กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทย “หลายๆ ครั้งเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง เรามีความฝันว่าอยากทำสิ่งหนึ่งผมเคยถามพ่อว่า ตอนที่เขามีเงินทำไมไม่ซื้อที่ดินในกรุงเทพฯ ถ้าเขาซื้อ ผมไม่ต้องทำงานเหนื่อยอย่างนี้ เหมือนกันลูกจะถามว่า ตอนที่พ่อยังมีโอกาสดีขนาดนี้ทำไมพ่อไม่ทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ" ในยุค new normal ที่การช็อปปิ้งสินค้าทางออนไลน์เฟื่องฟู คงมีสักครั้งที่ต้องรับหรือส่งพัสดุผ่านบริษัทขนส่งสินค้าเอกชนหนึ่งในนั้นคือ แฟลช เอ็กซ์เพรส น้องใหม่ที่มาแรง มีการเติบโตอย่างน่าจับตา โดยปี 2563 มียอดส่งพัสดุทะลุ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ปี 2563 เติบโต 4,400% จากปี 2562 ปัจจุบัน มีพนักงาน 27,000 คน รถขนส่งสินค้าทุกชนิด 15,000 คัน ให้บริการครอบคลุม 77 จังหวัดมีจุดรับส่งพัสดุมากกว่า 2,500 แห่ง และคาดว่าจะถึง 10,000 แห่งภายในสิ้นปี 2563 นี้ บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ให้บริการด้านอี-คอมเมิร์ซแบบครบวงจร ภายใต้คอนเซ็ปต์ “คิดถึง ส่งถึง” และเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่มีนโยบายเข้ารับพัสดุถึงที่เปิดให้บริการ 365 วัน และมีบริการอื่นๆ เช่น บริการด้านโลจิสติกส์ (Flash Logistics) ให้บริการรับส่งสินค้าขนาดใหญ่ บริการด้านคลังสินค้า (Flash Fulfillment) ดูแลจัดเก็บสินค้า บริการตัวแทนรับส่งพัสดุ (Flash Home) และบริการด้านการเงิน (Flash Money) ความลำบากคือ แรงผลักดัน บ่ายแก่ๆ วันหนึ่งในออฟฟิศบนถนนรัชดาภิเษก ชายร่างสูงผิวคล้ำเปิดประตูห้องประชุมขนาดเล็กเข้ามาเมื่อได้เวลานัดหมาย ในมือถือกระดาษโน้ตขนาด A4 มาด้วย นั่นเป็นร่างคำตอบที่คมสันต์เขียนด้วยลายมือเพื่อประกอบการให้สัมภาษณ์และออกตัวว่า ช่วง 3 ปีนี้ให้สัมภาษณ์สื่อน้อยมาก พ่อของเขาเป็นนักธุรกิจ ส่วนแม่เป็นอาจารย์สอนภาษาจีนเกือบ 30 ปี พ่อไม่ค่อยอยู่บ้านและหย่ากับแม่ตอนเราอายุ 13 ปี อยู่กับแม่ ครอบครัวลำบากทำให้ทะเยอทะยานหาทางออกให้ชีวิตตนเอง พอเรียนมหาวิทยาลัยเริ่มทำธุรกิจจริงจัง ตอนเรียนจบมีรายได้หลัก 10 ล้านบาท การสร้างรายได้จำนวนมากยขนาดนั้นมาจาก รายได้ในการค้าขายและขนส่งเสมือนการจำนวนธุรกิจในปัจจุบัน ทำ 3 ตัว 1. เปิดขายของชำหน้าหอพักหญิง ขายมาม่า ไข่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ให้นักศึกษาทั่วไป 2. นำเข้าสินค้าจากจีน เพราะมีนักศึกษาจีนมาเรียนที่มหาวิทยาลัย 300 คน เขาอยากใช้สิ่งของที่คุ้นเคย ทั้งอาหาร เครื่องใช้เราก็นำเข้ามาขายให้ 3. ส่งของให้ร้านอาหารทั้งหมดหน้ามหาวิทยาลัย ผมตื่นตั้งแต่ตี 5 ขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งให้ทุกร้าน ไม่เก็บตังค์ ตอนเย็นไปรับออร์เดอร์ใหม่พร้อมเก็บตังค์ ของที่ส่งมี น้ำปลา กะปิ น้ำมันพืช ข้าวสาร ตัวนั้นกำไรเยอะ แม่ค้ายอมให้เราบวกกำไร เพราะไม่อยากไปจ่ายตลาดเองและขาดเงินสดเขาผัดข้าวขายถึงได้เงิน แต่เราไม่เก็บตังค์ก่อน เขาไม่ต้องไปกู้เงินสำหรับซื้อของเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ย 10% เป็นอย่างน้อย ระหว่างเรียนปี 2 เป็นมือปืนรับจ้างให้บริษัทซึ่งค้าขายทรายและหิน เจ้าของเป็นคนจีนซึ่งเทกโอเวอร์กิจการคนไทย มีปัญหาคือ เครื่องจักรเก่า เสียบ่อย กิจการขาดทุนส่วนตัวเขาพูดได้ทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ ผ่านไปครึ่งปีพลิกกลับทำให้บริษัทมีกำไร 15 ล้านบาท ทำอยู่ปีเศษ กระทั่งใกล้เรียนจบจึงลาออก โดยระหว่างเรียนและทำงานบริษัทยังจัดเวลาส่วนหนึ่งมาเป็นครูสอนสอนภาษาจีนให้กับนักเรียนที่โรงเรียนประชาวิทย์ จังหวัดลำปางอีกด้วย หลังเรียนจบปริญญาตรีทำงานด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะเห็นว่ามีคนจีนมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยจำนวนมาก แต่ขาดช่องทางการสื่อสารทำให้ถูกหลอกง่ายเขาจึงเข้ามาดูแลในส่วนนี้ “เราเห็นโอกาส เพราะมีความรู้ภาษาจีนและมีความรู้ทางกฎหมาย ตอนนั้นเป็นตัวแทนขายบ้านให้แสนสิริและอีกหลายแบรนด์ ชักชวนคนจีนซื้อคอนโด ทำได้เกือบ 2 ปี ตอนนั้นการขายบ้านเหมือนธุรกิจขายประกัน ทุกคนไม่อยากเข้าใกล้ คิดว่าเราจะขายบ้านเอากำไร ผมเลยทำธุรกิจอีกอย่างคือ ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพราะคนจีนที่อยู่ในไทยต้องการใช้สินค้าจากจีนและต้องการส่งสินค้าไทยกลับไป พอเราเปิดธุรกิจขนส่งเขาก็เข้าใกล้เราง่ายขึ้น เขาอยู่ที่นี่คือเช่าบ้านหรือซื้อบ้าน ถ้าเช่าบ้านเราก็ได้ค่านายหน้า หากต้องการซื้อบ้านเราก็ได้ขาย ตอนนั้นทำกำไรได้เยอะพอสมควร” ต่อมาทำธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศในชื่อ บจ. ซอร์ไทย พาณิชย์ แนวคิดคือคนจีนอยู่ที่ไหนไปให้บริการที่นั่น ชีวิตช่วงนั้นต้องเดินทางไปต่างประเทศตลอด ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เพื่อบริการลูกค้าและดีลกับสายการบิน ทำได้ 5 ปีก็ถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า การทำธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ แต่สำคัญที่สุดคือกฎหมายศุลกากร ช่วงนั้นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในจีนเริ่มเติบโต มีคู่แข่งรายใหญ่แข่งกับบริษัทโดยตรง ประกอบกับศุลกากรเปลี่ยนกฎหมายทำให้กิจการขาดทุน


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine
