คงภัทร ตันติจิรสกุล ฝ่าบททดสอบ ทิมเบอร์แลนด์ - Forbes Thailand

คงภัทร ตันติจิรสกุล ฝ่าบททดสอบ ทิมเบอร์แลนด์

คงภัทร ตันติจิรสกุล  คลื่นลูกใหม่แห่งพีน่าเฮ้าส์รับโจทย์พลิกขาดทุนแบรนด์สัญชาติอเมริกันงัดกลยุทธ์คัดคอลเล็คชั่นตอบดีมานด์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ชูคุณภาพและเทคโนโลยีพร้อมเดินหน้าเสริมศักยภาพทางการแข่งขัน ชิงฐานผู้บริโภคเอเชีย

บทพิสูจน์ความสำเร็จของความมุ่งมั่นตั้งใจที่สะท้อนชัดบนเส้นทางของเด็กหนุ่มวัย 16 ปีที่เดินทางจากนครปฐมเข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวง ด้วยการเป็นลูกจ้างร้านค้าส่งผ้าย่านสำเพ็ง จนเล็งเห็นช่องว่างและโอกาสจับมือกับโรงงานผลิตผ้าขนาดเล็กและเริ่มก้าวเข้าสู่สายการผลิตในธุรกิจเครื่องแต่งกายและค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่น “จุดเริ่มของคุณพ่อมาจากลูกจ้างในสำเพ็งเหมือนคนส่งของ ท่านรู้จักโรงงาน ร้านขายผ้าและมีคอนเนคชั่น จนมีเงินทุนและทำเสื้อผ้าของตัวเองขายในสำเพ็ง โบ๊เบ๊ ชื่อ Snail มีสัญลักษณ์เป็นหอยทาก แต่เมื่อจะก้าวข้ามเข้าห้างต้องสร้างแบรนด์และเพิ่มสินค้าให้มากกว่าเสื้อผ้า ซึ่งคุณพ่อเป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างไกลให้ความสำคัญกับการจับตามองความเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนไหวก่อนความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ทำให้ในวันนี้เรามีบริษัทในเครือหลากหลายมาก” คงภัทร ตันติจิรสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พีน่าเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และบุตรชายคนที่ 3 ของสุพจน์จากทั้งหมด 4 คน เล่าถึงการเริ่มต้นธุรกิจของบิดาในยุคที่แบรนด์ไทยได้รับความนิยมและผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับการวางจำหน่ายเกือบทุกห้างสรรพสินค้าในช่วงเวลานั้น แม้จะเป็นทายาทที่เติบโตท่ามกลางธุรกิจเสื้อผ้าของครอบครัว แต่คงภัทรเลือกศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร และสาขาวิชา Hoteland Restaurant Management สถาบัน California Culinary Academy, Affiliate of Le Cordon Bleu หลังจากรับปริญญาตรีสาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศจาก University of San Francisco สหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถนำมาใช้กับธุรกิจใหม่ของครอบครัวในจังหวะที่สุพจน์เดินหน้าต่อยอดอาณาจักรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น คงภัทร ยังสามารถใช้ความรู้และประสบการณ์สร้างการเติบโตให้ธุรกิจของครอบครัวด้านอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรม Iyara Beach Hotel and Plaza บนเกาะสมุย และเดอะ วัลเลย์ กริลล์ ก่อนจะได้รับมอบหมายให้นั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ธีม แอสเซ็ทส์ พาร์ค แอนด์ โฮเต็ล จำกัด ในปี 2555 โดยช่วยพี่สาวคนโต (นัสวีร์) ในโครงการซานโตรินี พาร์ค ชะอำา ด้วยการดูแลส่วนของร้านอาหารและสร้างสรรค์การออกแบบพื้นที่ให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือนักถ่ายภาพให้ติดใจกลับมาเยือนซ้ำ

พิชิตภารกิจพลิกขาดทุน

บททดสอบของผู้บริหารมือใหม่ได้รับความคาดหวังให้กุมบังเหียนนำแบรนด์ทิมเบอร์แลนด์ที่ครอบครัวตันติจิรสกุลได้รับสิทธิจัดจำหน่ายร่วมสิบปีให้สามารถพลิกขาดทุนเป็นกำไรให้สำเร็จในช่วงเศรษฐกิจเมืองไทยกำลังซบเซายังไม่หนักเท่าการที่คงภัทรยังไม่ “อิน” กับแบรนด์สัญชาติอเมริกันอายุกว่า 44 ปี เพียงแค่ปีแรกลูกไม้ใกล้ต้นก็สามารถพิสูจน์ฝีมือด้วยการสร้างกำไรให้กับทิมเบอร์แลนด์และเติบโตต่อเนื่องไต่ระดับอยู่ที่เกือบ 10 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และรายได้ 250 ล้านบาท โดยคาดการณ์เติบโตเฉลี่ย 15% ในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 5% ของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดที่มีประมาณ 4.73 พันล้านบาท นำโดยเอาท์เล็ท 1.84 พันล้านบาทและพีน่าเฮ้าส์ 1.04 พันล้านบาทในปี 2560 “ในพีน่าเฮ้าส์มี 3 สายหลัก ทั้งผลิตเองแบรนด์ไทย และแบรนด์ลิขสิทธิ์ ซึ่งพี่น้อง4 คนได้รับการวางตัวให้อยู่ในแต่ละธุรกิจโดยเราเป็นลูกคนที่ 3 ดูทางด้านนำเข้าแบรนด์ลิขสิทธิ์ทิมเบอร์แลนด์แบรนด์เดียวซึ่งเราพยายามทุ่มเททำให้ดีที่สุด” สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต คงภัทรยังเล็งเห็นโอกาสการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น สปป.ลาว ซึ่งมีความต้องการแบรนด์ทิมเบอร์แลนด์และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่ยังไม่มีตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่าย โดยบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการทำธุรกิจใน สปป.ลาว ทั้งข้อกำหนดกฎหมาย และพันธมิตรท้องถิ่นด้านช่องทางการวางจำหน่ายในปัจจุบันของบริษัทมี 5 สาขา เคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า 25 แห่ง เอาท์เล็ท 6 แห่งทั่วประเทศ โดยให้ความสนใจช่องทางออนไลน์ เช่น การใช้ LINE เป็นช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคต่างจังหวัดให้สามารถพูดคุยสอบถามและสั่งซื้อสินค้าได้ตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดการขยายสาขาของบริษัทและเพิ่มโอกาสการจำหน่ายให้มากขึ้น “หนทางข้างหน้าแบรนด์นี้จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ผมไม่ได้มองพันล้าน แต่มองว่าทุกปีเราทำให้ที่ดีสุด ซึ่งวันนี้ผมเชื่อว่าผมพร้อมแล้วที่จะออกไปหาพาร์ทเนอร์เพิ่มในการเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายและนำเข้าภายใต้บริษัทพีน่าเฮ้าส์”
คลิกอ่านฉบับเต็ม "คงภัทร ตันติจิรสกุล ฝ่าบททดสอบ ทิมเบอร์แลนด์" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine