บนเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพเกษตรกรรมที่ควรได้รับการเพิ่มมูลค่าบนผืนแผ่นดินที่มีอู่ข้าวอู่น้ำอุดมสมบูรณ์ พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารเพื่อเปิดบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด (CEO) ผลิตน้ำมันรำข้าวดิบ และรำข้าวสกัดไขมัน เมื่อปี 2549 หลังจากเปิดดำเนินการเพียงแค่ 3 เดือน เขาเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน
“ผมคุยกับคุณพ่อวันศุกร์ ท่านเข้าโรงพยาบาลและเสียวันอาทิตย์ ตรงกับวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมอยู่ New York เรียนปริญญาโท กลับเมืองไทยไม่ได้สนามบินปิด กว่าจะมาได้ก็วันที่ 2 เมื่อเห็นงานเผาศพคุณพ่อทำให้ผมคิดว่า ทุกอย่างที่คนเราพยายามดิ้นรน สุดท้ายชีวิตก็เหลือเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้นแค่ทำให้มันเต็มที่ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ กระบี่กำแน่นไป มันก็ยิ่งไม่ได้ดั่งใจ” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในวัย 33 ปี ทายาทคนโตของพงษ์ศักดิ์ รำลึกถึงความหลังในวันที่เขาต้องกลับมาสืบทอดธุรกิจที่เป็นเสมือนหัวใจของบิดา
เป็นบริษัทที่เริ่มตั้งไข่กับหนี้สินจำนวนมากกว่าร้อยล้านบาทอุปสรรคสำคัญที่พิธาต้องก้าวผ่านอยู่ที่ความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะวัยและประสบการณ์ด้วยอายุเพียง 25 ปี และการดำเนินงานของบริษัทที่บิดาดำเนินการไว้เพียงการกู้เงินตั้งชื่อบริษัท และสร้างสำนักงานทำให้เขาต้องเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นกับทุกฝ่ายไล่เรียงตั้งแต่พนักงานบริษัท โรงสีข้าวธนาคาร และกลุ่มลูกค้า
ความสำเร็จทางด้านการเรียน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ระดับปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท 2 ใบด้านการเมืองการปกครอง สาขาภาวะผู้นำที่ John F. Kennedy School of Goverment มหาวิทยาลัย Harvard และด้านบริหารธุรกิจที่ Sloan, Massachusetts Institute of Technology (MIT) ไม่ได้ช่วยให้การสานต่อธุรกิจง่ายดาย
“ครอบครัวเราอยู่แบบชนชั้นกลาง ไม่ได้สบาย ไม่ได้ลำบาก มีเงินทุกเดือน เริ่มจากความต้องการของคุณพ่อที่อยากเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมข้าว แต่กลับมาเสียชีวิตโดยที่ลงทุนไปแล้ว การเริ่มต้นไม่ง่าย ผมถูกปฏิเสธจากธนาคารที่ไปขอกู้เพิ่ม เขามองว่าเด็กอายุ 25 จะทำอะไรได้ โรงสีก็ดูถูกว่าจะไม่มีเงินมาจ่าย ลูกค้าไม่แน่ใจในสินค้าที่จะผลิตออกมา ขณะที่แม่และน้าก็แนะนำให้ขาย ท่านมองว่า หนักเกินกว่าเราและน้องอายุ 21 จะทำได้”
เขาเปรียบเทียบแรงฮึดในช่วงเวลานั้นว่า “สถานการณ์เหมือนไฟไหม้ที่ยายอายุ 80 สามารถยกตู้เย็นวิ่งหนีออกจากบ้านได้” เพราะความจำเป็นต้องทำให้ธุรกิจของบิดาอยู่รอด ท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นรอบตัวเขาเลือกทุ่มเทความสนใจและใช้เวลาอย่างคุ้มค่ากับการดำเนินธุรกิจในแต่ละวันให้ดีที่สุด
พร้อมกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นจนกระทั่งได้รับความเชื่อมั่นจากโรงสี และลูกค้า รวมทั้งธนาคารยินดีปล่อยกู้สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 100 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทสามารถพลิกขาดทุนเป็นกำไรสร้างยอดขายกว่า 300 ล้านบาทภายในปีแรก
- ภารกิจบริหารทรัพย์ในดิน -
ภายใต้การบริหารอย่างมุ่งมั่นและจริงจังพิธาสามารถนำธุรกิจก้าวขึ้นแท่นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะเวลาเพียง 2 ปี และพัฒนายอดขายสู่ระดับพันล้านบาทในปีถัดมา โดยรำข้าวไทยได้รับการต่อยอดแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สินค้าด้านความงามและสุขภาพ ทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างวิตามินและอาหารเสริมต่างๆ ภายใต้แบรนด์ T.R.B.O: The Rice Bran Oil Company
ขณะที่บริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานสากลที่ช่วยยืนยันในคุณภาพของสินค้าและระบบการจัดการ ไม่ว่าจะเป็น GMP, HACCP, ISO 9001, ISO 14000, ISO 22000, kosher, ฮาลาล และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทยไว้วางใจให้เข้าร่วมในโครงข่ายส่งเสริมการลงทุนในประเทศ
พร้อมกลุ่มลูกค้าที่เป็นพันธมิตรของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนในประเทศ 60% และส่งออกต่างประเทศ 40% ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีกลุ่มลูกค้าสำคัญ เช่น กลุ่มบริษัท Boso Oil & Fat แห่งญี่ปุ่น, CJ Corp แห่งเกาหลีใต้, Marico Group ประเทศ อินเดีย, Cargill แห่งอเมริกา และ บริษัทในไทย คือ CP Group, Betagro, GFPT
“ธุรกิจของผมดูเหมือนยาก แต่ผมคิดกลับกันว่า ถ้าง่ายใครๆ ก็ทำมันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการสร้างธุรกิจขนาดไหน แค่ทำจุดเล็กๆ ให้ดีที่สุดในหลักพันล้านก็มีความสุขผมพอใจกับการเป็นเจ้าป่าในธุรกิจเล็กมากกว่าเป็นหนูในธุรกิจน้ำมันปาล์ม”
ความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้จบแค่การสร้างความเชื่อมั่น แต่ยังต้องสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดนับตั้งแต่ปัญหาวัตถุดิบ เนื่องจากรำข้าวเกิดจากการสีข้าวเปลือกเทียบสัดส่วนข้าวเปลือก 100 ตัน จะได้ข้าวแค่ 7 ตัน ส่งผลให้ทุกปัญหาในอุตสาหกรรมข้าวไทยล้วนกระทบกับธุรกิจรำข้าว
ขณะเดียวกันค่ากรดที่อยู่ในธรรมชาติของข้าวยังเป็นข้อจำกัดด้านการส่งมอบและการเก็บรักษาข้าว โดยโรงสีข้าวต้องรีบนำส่งรำข้าวที่ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนที่เอนไซม์ในข้าวจะรวมกับไขมันจนทำให้ค่ากรดสูงเกินกว่าจะนำไปผลิตน้ำมันเพื่อสุขภาพ
นอกจากนั้น ความท้าทายในธุรกิจรำข้าวที่พิธาต้องเอาชนะคือ การทำให้รำข้าวเป็นที่รู้จักในประเทศและได้รับการยอมรับในตลาดโลก ในฐานะที่ข้าวเป็นพืชหลักของประเทศและน้ำมันรำ ข้าวเป็นน้ำมันที่คนไทยได้รับประโยชน์โดยตรง ทั้งวัตถุดิบที่มาจากประเทศและเม็ดเงินที่อยู่ภายในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันชนิดอื่น เช่น น้ำมันถั่วเหลืองที่นำเข้าถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ หรือน้ำมันปาล์มที่มีหุ้นส่วนเป็นชาวต่างประเทศ
“ผมเชื่อว่า ข้าวไทยมีความสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ เรื่องการปลูกข้าวเราไม่แพ้ใคร 40% ของประชากรไทยยังเป็นชาวนา แม้ธุรกิจรำข้าวจะทำยาก ต้นทุนสูงแต่มีประโยชน์ เราต้องใช้เวลาสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งต้องยอมรับว่ามันเป็นสินค้าที่เป็น niche ไม่เหมือนน้ำมันปาล์มหรือถั่วเหลือง แต่ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ คิดว่ามีโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมข้าวให้กับประเทศในระยะยาว”
กลยุทธ์ที่พิธาเลือกใช้เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกทำเลจังหวัดสิงห์บุรีเป็นศูนย์กลางตั้งโรงงานผลิตน้ำมันรำข้าวกำลังการผลิต 400 ตันต่อวันจากโรงสีจำนวนมากกว่า 300 โรง เนื่องจากเป็นบริเวณเพาะปลูกแหล่งข้าวสำคัญของประเทศ และเป็นทำเลยุทธศาสตร์ในระบบขนส่ง เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ และอ่างทอง
ขณะเดียวกันด้านสายการผลิต พิธายังให้ความสำคัญกับการรวบรวมเทคโนโลยีในหลากหลายประเทศนำมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น บราซิล และอินเดีย พร้อมทั้งมุ่งมั่นพัฒนามูลค่าของรำข้าว สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ โดยร่วมทำงานกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและนักวิทยาศาสตร์เพื่อวิจัยให้ได้มาซึ่งประโยชน์สูงสุด
“เราต้องหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อทำลายข้อจำกัดและกระจายความเสี่ยงจาก localization สู่ regionalization และ internationalization ต่อไป โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม่โจ้ ขอนแก่น และนเรศวร รวมทั้งเซ็นสัญญากับมหาวิทยาลัย Cornell นำแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับถั่วเหลืองข้าวสาลี และข้าวโพดได้”
ความร่วมมือกับ Cornell ได้แก่ การลดค่ากรดที่มีผลต่อระยะเวลาการเก็บรักษารำข้าวได้ยาวนานขึ้น โดยใช้ความร้อนและความดัน ยืดอายุรำข้าวได้นาน 3 เดือน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดึงโปรตีนออกจากรำข้าว เพื่อสร้างทางเลือกโปรตีนจากพืชเช่นเดียวกับอาหารเสริมโปรตีนจากรำข้าวในประเทศญี่ปุ่น
พร้อมทั้งการวิจัยเรื่อง zero waste กำจัดของเสียทั้งหมดให้เหลือศูนย์ไม่ว่าจะเป็น ไขข้าวหรือยางข้าว (wax and gum) โดยไขข้าวสามารถนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์สบู่ เทียนไข เคลือบหนัง และเครื่องสำอางจากส่วนประกอบของธรรมชาติได้ ขณะที่ยางข้าวนำมาใช้เพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตอาหารเสริมเรซิตินที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง ทิศทางของธุรกิจรำข้าวดูเหมือนจะสดใส ตามที่พิธาวาดหวัง
จากบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งสะท้อนภาพโอกาสของธุรกิจรำข้าวที่กำลังมาแรงตามกระแสการตื่นตัวในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยอาจมีมูลค่าการส่งออกน้ำมันรำข้าวอยู่ที่ 1,600-1,700 ล้านบาท หรือขยายตัว 10-12% ปีต่อปีและมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะญี่ปุ่นจะเป็นตลาดส่งออกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต
จากการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและคุณค่าทางอาหาร พิธาบอกว่า ธุรกิจของเขาเป็น sunrise business “ธุรกิจรำข้าวของผมเป็นธุรกิจ hybrid ระหว่างอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานที่มีแต่ราคาจะขึ้น เมืองขยายตัวพื้นที่เพาะปลูกลดลงจาก urbanization ขณะที่ demand ของคน 7,000 กว่าล้านคนเพิ่มมากขึ้นทั้งอาหารและน้ำมัน”
ขณะที่แรงขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จไม่เพียงมาจากภายนอกเท่านั้น แรงขับเคลื่อนภายในบริษัทยังมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการเดินหน้าธุรกิจให้พร้อมรับกับโอกาสในอนาคต ได้แก่ innovation, partner และ strategic alliance โดยมีความท้าทายอยู่ที่การนำจุดแข็งภายในเชื่อมกับโอกาสภายนอกพร้อมรับมือกับอุปสรรคและปัญหาทางธุรกิจเช่น ปัญหาอุทกภัย การแทรกแซงราคา หรือ การปลอมปนทราย
- “รับน้องใหม่” -
นักธุรกิจหนุ่มเล่าถึงการ “รับน้อง” ในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน ด้วยการปลอมปนทรายในรำข้าว กว่าจะรู้ก็เมื่อนำรำข้าวไปผลิตเป็นน้ำมันและได้รับผลผลิตน้อยผิดปกติ หรือในปีต่อมาที่เขาต้องไปยืนขึ้นศาลเป็นโจทก์ฟ้องลูกค้าที่ขอซื้อเชื่อแบบไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ทั้งที่มีสัญญาผูกมัดและลูกค้าเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง
“ส่วนตัวถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่หาจากที่อื่นไม่ได้ อยู่อเมริกาเรียน Harvard เรียน MIT ไม่ได้สอน เรียน 3 ปีเสียเงิน 10 ล้านที่นี่ปีเดียว 15 ล้าน เจอมหาวิทยาลัยสำเพ็งเรียนหนังสือมามากแค่ไหน โลกจริงมนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์”
จากเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พิธาสามารถตกตะกอนความคิดมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน ขอเพียงตัดสินใจถูกมากกว่าผิดเพราะการโทษตัวเองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องยอมรับความผิดพลาดและพยายามจัดการแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น
แม้ธุรกิจเผชิญทั้งปัญหา ความท้าทายและโอกาสตลอดระยะเวลา 8 ปี แต่ CEO หนุ่มยังคงยึดมั่นในเป้าหมายการเป็น SME ที่มาจาก Smart Medium Enterprise สามารถนำพาพืชผลเกษตรที่เติบโตบนแผ่นดินไทยให้ยืนหยัดได้อย่างภาคภูมิในเวทีโลก เช่นเดียวกับน้ำมันมะกอกของอิตาลี น้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย หรือถั่วเหลืองของอเมริกา พร้อมทั้งการสร้างยอดขายให้เติบโตระดับหมื่นล้านภายใน 10 ปีข้างหน้า
“หลายอุตสาหกรรมหลักในโลกต้องฟังต่างประเทศ เช่น ธนาคาร การท่องเที่ยวอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาหารที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานต่างประเทศ แต่เรื่องรำข้าวเขาจะรู้ดีกว่าผมได้อย่างไร ในเมื่อบ้านเขายังปลูกข้าวไม่ได้ ผมไม่ได้คลั่งชาติ และไม่ได้รังเกียจฝรั่ง ผมแค่อยากให้ซีอีโอเป็นผู้นำเรื่องรำข้าว เหมือนอเมริกาเป็นผู้นำเรื่องถั่วเหลือง มาเลเซียเป็นผู้นำเรื่องปาล์ม”
- เคล็ดลับ CEO -
แม้ต้องก้าวสู่ตำแหน่ง CEO อย่างกะทันหันในวัย 25 ปี แต่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สามารถสร้างการยอมรับและเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ใหญ่ทั้งในและนอกองค์กรได้เป็นอย่างดีพร้อมถ่ายทอดสูตรบริหารคนในการเอาชนะช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในประเทศไทย “credit management” ก็คือคีย์เวิร์ดสำคัญของความสำเร็จ ซึ่งการสร้างความเชื่อถือเกิดขึ้นจากการศึกษาหาความรู้และความสามารถในการสื่อสาร เพียงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและนำเสนอข้อมูลผ่านการสื่อสารที่ถูกต้อง
“สังคมไทยเอ็นดูผู้ที่อ่อนน้อม เด็กรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจ สามารถนำไอเดียเข้าถึงเงินทุนได้ถ้ามีความรู้ สื่อสารได้ วิเคราะห์เป็นไม่เพียงความน่าเชื่อถือ แต่ยังต้องปฏิบัติเป็น” ผลลัพธ์ที่ได้รับไม่ใช่เพียงช่องว่างระหว่างวัยที่ลดลง แต่ยังสามารถผสมผสานความสามารถของเด็กรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ร่วมกันได้แก่ ความกระตือรือร้นในการค้นหาความรู้ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ผู้ใหญ่สามารถเป็นฐานแห่งความรู้เดิมและประสบการณ์ที่สั่งสมถ่ายทอดมุมมองที่รอบคอบรัดกุมกว่าได้ ท้ายที่สุดการเดินบนเส้นทางธุรกิจย่อมมีทั้งการตัดสินใจที่ถูกต้องและผิดพลาด แม้จะพยายามแค่ไหนก็ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย สิ่งสำคัญคือการรู้จักฟังให้เป็น โดยฟังทุกข้อความ แต่เลือกสนใจเฉพาะข้อความที่เกิดประโยชน์ และแนะนำให้ใช้ศิลปะแห่งความเพิกเฉยสำหรับข้อความที่ไม่เกิดประโยชน์
“อย่าคาดหวังว่าผู้ใหญ่หรือใครจะฟังเราทั้งหมดตั้งแต่ในครั้งแรก เราอาจจะต้องถูกปฏิเสธก่อน กว่าจะ yes ต้อง no หลายครั้งไม่มี yes ในครั้งแรก”
ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2557 ในรูปแบบ e-magazine