จากคลินิกเสริมความงามย่านสยามสแควร์ ภายในเวลาเพียง 10 ปี นายแพทย์หนุ่มได้ปลุกปั้นให้เป็นโรงพยาบาลศัลยกรรมเสริมความงามครบวงจร และเป็นแห่งแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER สถานพยาบาลด้านศัลยกรรมเสริมความงาม ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ แม้บริเวณด้านหน้าจะดูเงียบสงบ ทว่าแต่ละวันมีคนไข้และผู้มาติดต่อวันละ 200 ราย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายละ 110,000 บาท
ผู้บริหารหนุ่มวัย 39 ปีรายนี้ไม่มีห้องทำงานประจำ หลังจบการให้สัมภาษณ์เขาขอตัวไปคุยกับทีมงานต่อ ระหว่างเดินอยู่บริเวณระเบียงทางเดินชั้น 2 ของอาคาร เมื่อชะโงกมองลงไปชั้นล่างมองเห็นนายแพทย์หนุ่มนั่งขัดสมาธิอยู่กับพื้นและกำลังพูดคุยกับทีมงาน บรรยากาศเหมือนการทำงานของ NGO มากกว่าเป็นบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์
นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล หรือ “หมอเส” ก่อตั้งคลินิกความงาม “มาสเตอร์พีซคลินิก” ในปี 2555 ด้วยแพทย์เพียง 1 ราย ทุน 400,000 บาท ระยะแรกเน้นบริการดูแลผิวพรรณและศัลยกรรมความงาม ระหว่างปี 2556-2558 เพิ่มพื้นที่ให้บริการจนเป็นคลินิกความงามและศัลยกรรมขนาดใหญ่ที่สุดย่านสยามสแควร์ มีทีมแพทย์ 7 ราย บุคลากร 190 ราย
ปี 2561 จึงย้ายมาตั้งที่ไปที่ถนนสุโขทัย และขอใบอนุญาตเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางภายใต้ชื่อโรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ ให้บริการด้านการศัลยกรรมครบวงจร อาทิ ศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมยกคิ้วและกรอบหน้า ศัลยกรรมหน้าอก ศัลยกรรมดูดไขมันปรับรูปร่าง ศัลยกรรมปรับโครงสร้างรูปหน้า
รวมถึงให้บริการปลูกผม ดูแลเส้นผม และการดูแลผิวพรรณและเลเซอร์ ปัจจุบันมีแพทย์ 41 ราย บุคลากร 533 ราย พื้นที่ให้บริการ 4,267 ตารางเมตร
ปี 2565 รายได้จากการทำศัลยกรรม 4 ลำดับแรกมาจากการเสริมจมูก ยกคิ้ว เสริมหน้าอก และดูดไขมัน โดยที่ผ่านมาศัลยกรรมยกคิ้วอยู่ในลำดับ 4 และเพิ่งแซงขึ้นเป็นลำดับ 3 ในปีดังกล่าว โดยราคาทำศัลยกรรมจมูกเริ่มต้นที่ 79,000 บาท แพงสุดคือ 1.2 ล้านบาท ส่วนศัลยกรรมยกคิ้วแบบ foxy eyes ราคาประมาณ 150,000 บาท
“แต่ละปีโตขึ้น 100% ตอนโควิดเป็นจังหวะที่ได้กลับมา เราเอาระบบทุกอย่างมาดีไซน์จนจบหมด โดยระบบที่บ่มเพาะเป็นจังหวะและโอกาสมาพร้อมๆ กัน พอเจอโควิด (รายได้) ยังสูงกว่าปีก่อนโควิด และปี 2565 double จากปีก่อน”
นักแกะ business
นายแพทย์ระวีวัฒน์เป็นคนสุราษฎร์ธานี หลังเรียนจบ ม.6 เลือกต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทว่าหลังรับฟังปฐมนิเทศเปลี่ยนใจไปเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เขาเล่าถึงความคิดในคราวนั้นว่า
“ผมถามตัวเองว่าอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร...ผมไม่มีญาติพี่น้องเป็นวิศวะ เลยถามตัวเองว่าคนที่ประสบความสำเร็จมีอะไร เจอ 2 ข้อคือ มีความรู้กับมี connection ก็ถามว่าอาชีพอะไรจะมีทั้งสองอย่าง
นึกถึงคุณพ่อ คุณยายเรียกพ่อผมว่าหมอ ทุกวันนี้แม่ยายก็เรียกผมว่าหมอ (หัวเราะ) มันแปลกมาก พอผมจับเจอคีย์เวิร์ดนี้ก็คิดว่าดีนะ ถ้าผมเป็นหมออาชีพชัดเจน...ผมใช้ความเป็นหมอไปขอความรู้ก็ได้ความรู้เยอะมาก...พอคิดอย่างนี้ปั๊บตอนเที่ยงลาออกจากคณะวิศวะมาเรียนหมอเลย”
ขณะที่นักศึกษาแพทย์ทั่วไปอาจเคร่งเครียดกับการเรียน ทว่านักศึกษาแพทย์หนุ่มรายนี้ กลับหากิจกรรมอื่นๆ ทำตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาเลย และจะกลับมาอ่านตำราจริงจังเมื่อถึงเวลาสอบ
“คนอื่นพกตำราแพทย์ ผมง่ายมากฉีกทิ้งๆๆ แล้วเหลือเล่มบางๆ พกไปไหนก็ง่าย เพื่อนหมอบอก บ้าหรือเปล่าฉีก textbook ไม่คิดจะกลับมาอ่านอีกเหรอ ผมหันกลับไปตอบเพื่อน จะเอาเวลาที่ไหนกลับมาอ่าน ผมกล้าตัดสินใจ คงเป็นโดย type”
หลังเรียนจบไปทำงานที่คลินิกแห่งหนึ่งก่อนจะมาเปิดกิจการของตนเองในเวลาต่อมา กระทั่งเป็นโรงพยาบาลมาสเตอร์พีซในปัจจุบัน
“ผมเริ่มทำตาสองชั้นก่อน มันถูกและคนทำน้อย ผมพัฒนาเทคนิคคนอื่นทำ 1 ชั่วโมงครึ่ง ผมทำต่ำสุด 9 นาที ผ่าตัดเอง จนผมดัง เซเลบต้องทำกับผมหมด
พัฒนายังไง เวลาไปงานประชุมต่างประเทศ มีอุปกรณ์ เอามาหมดมาเป็นตั้ง ดีไซน์กระบวนการใหม่ ดูจาก YouTube ดาวน์โหลดมา 30 วิดีโอ ไม่ใช่วิดีโอการสอน แต่ถ่ายเฉียดไปมา (แคปภาพ) และเอามาใส่ PowerPoint มี 30 PowerPoint
ตั้งหัว (ข้อ) ว่าวางแผน วาดรูป ฉีดยาชา เปิดผิวหนัง และเอามารวมกัน ตัดอันที่ไม่ชัดออก เหลือวิธีการทำศัลยกรรมและดูเครื่องมือ นั่งคิดว่าทำไมต้องฉีดแบบนี้ แค่นี้”
เมื่อความคิดตกผลึกจึงออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ ทั้งหมดนั้นนายแพทย์หนุ่มเรียนรู้ด้วยตนเอง หลังจากนั้นก็นำมาใช้กับทำเทคนิคอื่นๆ
“จากตาก็เป็นจมูก คนอื่นทำจมูกใช้กระดูกอ่อน ผมใช้สิ่งอื่น...เขาดึงหน้าแผลยาวผมทำเหลือ 2 ชั่วโมงเราเป็น trendsetter"
ถามว่า ได้ไอเดียเหล่านี้จากที่ไหน เขาตอบสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า “จินตนาการครับ”
นายแพทย์หนุ่มค้นพบในเวลาต่อมาว่าเขามีความถนัดในการคิดและแกะกระบวนการต่างๆ ซึ่งไม่เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ในด้านอื่นๆ ด้วย รวมทั้งด้านทรัพยากรบุคคล
กระทั่งมีผลงานออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กชื่อ MTP Philosophy 83 ปรัชญาการบริหารงานให้ราบรื่น “งานอดิเรกของผมชอบแกะ business บางคนอาจชอบเล่นเกม แต่เกมของผมคือแกะ business”
แปรรถหรูเป็นคลินิก
หลังเรียนจบนายแพทย์หนุ่มมีความฝันว่า ก่อนอายุ 30 ปี จะต้องมีรถยนต์ Lamborghini ซึ่งความจริงเขาสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ทว่าจู่ๆ ก็มีความคิดใหม่ผุดขึ้นมา ทำให้ล้มเลิกความตั้งใจนั้น
“ผมนั่งรถไปศูนย์ จังหวะกำลังจะจ่ายเงิน จับความรู้สึกได้ขอคิดแป๊บหนึ่ง กลับมาที่คอนโดฯ หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน อยู่ดีๆ คิดได้ ซื้อ Lamborghini เสร็จแล้วไงต่อ
จะซื้อจริงหรือ แล้วพบนิตยสาร Forbes จำไม่ได้ว่าหน้าปกเป็นใคร ผมตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะขึ้นหน้าปก Forbes แทน goal กับ purpose ไม่เหมือนกัน goal เพื่อเราคนเดียว ทำให้เรา achieve เสร็จแล้ว passion หาย แต่ purpose ทำไงให้คนรอบข้างเราโตไปด้วยกัน ทำไงให้สร้างอาณาจักรขึ้นมาได้ วันนั้นเปลี่ยนความคิด”
นายแพทย์ระวีวัฒน์เอ่ยถึงบุคลิกตนเองว่า เป็นคนกล้าตัดสินใจ และการตัดสินใจ 3 ครั้งใหญ่ที่ผ่านมาใช้เวลาเพียงครู่เดียว ครั้งแรกตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียนแพทย์
ครั้งที่ 2 ยกกิจการของครอบครัวให้น้องชาย และครั้งที่ 3 คือ การเปิดคลินิกที่สยาม ซึ่งตอนแรกเป็นล็อกเล็กๆ ระหว่างกำลังตกแต่ง มีพื้นที่ว่างใหม่ 2 ห้องใหญ่ เขาตัดสินใจทิ้งพื้นที่เดิมและเช่าพื้นที่ใหม่ซึ่งกว้างขวางกว่า “พ่อสอนเรื่องการวางแผนตั้งแต่เด็ก ผมไม่ต้องพึ่งคนอื่นเยอะ ออกแบบ หาช่าง สั่งงาน จึงสร้างคลินิกได้เร็ว”
เกณฑ์ในการเลือกแพทย์มาประจำที่โรงพยาบาล ต้องเก่งและดัง? คำตอบคือ “ไม่เลยครับ เลือกจากนิสัย” และโรงพยาบาลจะปั้นให้เป็นดาว ด้วยโปรแกรมในการพัฒนา R&D เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วจึงโปรโมตผ่านสื่อโซเชียล
“แต่ก่อนใช้เวลา 3 ปีทำให้ดัง เดี๋ยวนี้แค่ 7 วัน...เราสร้างความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เกิดจากเราทำได้ เมื่อทำได้ก็ภูมิใจ พอผมทำให้หมอเก่งขึ้นในทุกวัน คนเราไม่ได้ต้องการแค่เงิน
ผมให้ความรู้ด้านการผ่าตัด soft skill การเป็นคนดีขึ้น ฉลาดขึ้น พนักงานที่นี่ได้เรียนกับโค้ชมืออาชีพ รู้สึกว่าเขาตื่นมาแล้วเก่งกว่าอาทิตย์ที่แล้วยังไง…ผมบอกทุกคนว่าเป้าหมายของชีวิตเหมือนดวงอาทิตย์ ถ้าไม่มีคงสะเปะสะปะ แต่อย่าไปมองมากเพราะแสบตา แค่เหลือบมองก็พอ”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER เปิดเผยถึงความนิยมในการทำศัลยกรรมเพื่อความสวยงามในประเทศไทยว่า 3 อันดับแรกคือ จมูก ตา หน้าอก พร้อมเปิดคลิปจากโทรศัพท์มือถือของเขาให้ดู เป็นคลิปของคนไข้หญิงที่มาทำศัลยกรรมหน้า เพื่ออธิบายถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า “ว้าว เอฟเฟกต์”
ในคลิปดังกล่าวเผยให้เห็นภาพใบหน้าก่อนและหลังทำศัลยกรรม รวมทั้งคำพูดของคนไข้ที่บ่งบอกถึงความพอใจภายหลังการผ่าตัด
“คนนี้อายุ 69 ปี จ่ายเงิน 400,000 กว่าบาท เขาลง (สื่อโซเชียล) ให้เอง หมอคนที่ทำผ่าตัดยังอยู่กับผมไม่ครบเดือนเลย
เนื่องจากโปรดักต์ของเราสิ่งที่เราทำ ทำให้เกิดว้าว เอฟเฟกต์ เป็นไง สิ่งที่วิ่งเร็วกว่าความเร็วแสงคือข่าวลือ ศัลยกรรมเลยเป็น combination การเม้าท์ พูดต่อ โชว์ผลลัพธ์ และความภูมิใจ เลยเป็นการจ่ายเงินและถ่ายคลิปลงให้เรา คนไข้จ่าย 400,000 เขานึกว่าได้ 1 ล้าน (บาท) นั่นคือสิ่งที่เขาอยากตอบแทนเรา”
ผู้บริหารหนุ่มสรุปถึงจุดแข็งที่ทำให้โรงพยาบาลเติบโตและได้รับความนิยมว่า มาจาก 1. โปรดักต์ที่ทำให้เกิดว้าวเอฟเฟกต์ คนไข้จึงพูดกันปากต่อปาก 2. สภาพสังคมปัจจุบันที่ทุกคนยอมรับและไม่เขินอายที่จะบอกว่าตนเองต้องการทำศัลยกรรม 3. การมีแพทย์จำนวนมากที่ทำงานเต็มเวลาและให้บริการได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย
“ผมชอบเล่นไพ่ยาก ท่าไม้ตายต้องยาก ต่อให้ผมบอกคนอื่นก็เอาไปทำไม่ได้ คนส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการเป็นหุ้นส่วน แต่ผมรับผิดชอบต่อทุกคน ผมมี contract รักษาสัญญา เป็นแพทย์ full-time และผมทำให้เขาสำเร็จจริงๆ
ปกติคนไข้มาหน้าห้องจะเป็นผู้แจกจ่ายให้หมอ แต่ผมรักษาสัญญา ทำให้หมอดังๆ จะดึงคนไข้เข้ามา พอคนไข้เข้ามาก็จะเป็น eco system…มีคนเคยถามผมว่า ถ้าขยายต่อแล้วเราจะโฟกัสได้ไหม ผมตอบว่าทุกวันนี้ไม่ได้ทำอยู่แล้ว
ที่นี่เหมือนมีเจ้าของ 30 คน หน้าที่ผมไม่ใช่ทำงานในการ execution หน้าที่ผมคือทำให้ทุกคนทำงานได้ อย่างคึก” ผู้บริหารหนุ่มเน้นเสียงในตอนท้าย
สำหรับแผนการลงทุนหลังจากบริษัทเข้าระดมทุนในตลาด เอ็ม เอ ไอ คือปี 2566 ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารและห้องผ่าตัดสำหรับทำศัลยกรรม จำนวน 10 ห้อง เพิ่มเตียงผู้ป่วยในสำหรับพักค้างคืน 10 เตียง และเพิ่มเตียงพักฟื้นจำนวน 12 เตียง และขยายศูนย์บริการต่างๆ
ปี 2567 แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 150 ล้านบาท จัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการศัลยกรรม การปลูกผมและดูแลเส้นผม และบริการดูแลผิวพรรณและเลเซอร์ อีก 200 ล้านบาทสำหรับก่อสร้างและปรับปรุงอาคาร ขยายพื้นที่ศูนย์บริการ เช่น ศูนย์ดูแลเส้นผม, ศูนย์ดูดไขมัน, ศูนย์ตา และศูนย์สุขภาพชาย เป็นต้น โดยคาดว่าปี 2566 บริษัทจะอัตราเติบโต 40%
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
อ่านเพิ่มเติม : "ยอด ชินสุภัคกุล" นำทัพ LINE MAN Wongnai ติดปีกยูนิคอร์นหมื่นล้าน