พญ.จันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ การเดินทางของ “โรงพยาบาลมนารมย์” - Forbes Thailand

พญ.จันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ การเดินทางของ “โรงพยาบาลมนารมย์”

หลังผ่านอุปสรรคในการสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวชมา 2 ครั้ง ในที่สุดปี 2549 “โรงพยาบาลมนารมย์” โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวช ได้เปิดให้บริการบนถนนสุขุมวิท

“โรงพยาบาลมนารมย์” โดย บริษัท พีเอซี (สยาม) จำกัด เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิต ปัญหาจิตเวชและระบบประสาทให้แก่ผู้ป่วย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มีทั้งผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวช ประสาทวิทยา และสาขาที่เกี่ยวข้องจากสถาบันการแพทย์หลายแห่งในประเทศไทย รวมทั้งมีทีมสหวิชาชีพ อาทิ นักจิตบำบัด กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด ละครบำบัด อรรถบำบัด และครูการศึกษาพิเศษสำหรับเด็ก รวมทั้งให้คำปรึกษาทางออนไลน์ แพทย์หญิงจันทิมา องค์โฆษิต ไกรฤกษ์ ประธานกรรมการ โรงพยาบาลมนารมย์และผู้ก่อตั้ง กล่าวถึงความเป็นมาของโรงพยาบาลว่าความคิดอยากตั้งโรงพยาบาลมีมานานแล้ว เริ่มต้นเมื่อเป็นนักศึกษาแพทย์คุณพ่อเป็นนักธุรกิจผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมากได้พูดตั้งแต่ตอนนั้นว่า เรียนให้ดี เรียนให้เก่งจะเปิดโรงพยาบาลให้ เมื่อไปเรียนต่อที่อเมริกา professor ท่านหนึ่งพอทราบว่าจะอยู่ training 4 ปี ทำงานต่ออีก 3 ปี และกลับเมืองไทย ก็สนับสนุนว่าเมื่อกลับเมืองไทยพยายามเปิดโรงพยาบาลให้ได้ เมื่อ 50 ปีที่แล้ววงการจิตเวชถูกมองในแง่ลบ ส่วนตัวมีแรงบันดาลใจมานาน คิดมาหลายรอบ โรงพยาบาลมนารมย์เป็นความพยายามครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนบูมมาก นักธุรกิจเปิดโรงพยาบาลเอกชนกันเยอะ แต่เมื่อทำ market survey พบว่า มี over supply ต้องแย่งบุคลากรกัน ในความพยายามครั้งที่ 2 ตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ IMF ยังกลับไปคิด ช่วงนั้นธุรกิจโรงพยาบาลแย่มากและต้องปิดบริการบางส่วน ลดจำนวนเตียงเพื่อความอยู่รอด มีโรงพยาบาลเอกชนเสนอพื้นที่ให้เช่าเพื่อเปิดแผนกจิตเวชแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีจิตแพทย์เพียงพอที่จะทำงาน ทำให้ต้องล้มเลิกไป “โรงพยาบาลมนารมย์เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม จนปัจจุบันเปิดให้บริการ 15 ปีแล้วตอนนั้นหมอเกษียณค่อนข้างเร็ว ใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งเขียนตำราจิตเวชและคิดว่าน่าจะทำประโยชน์ได้มากกว่านี้ จึงเป็นที่มาของความพยายามในครั้งที่ 3 ซึ่งโชคดีสามารถฟอร์มทีม มีคุณหมอไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย ลูกศิษย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี คิดว่าเป็นจิตแพทย์คนเดียวในประเทศไทยตอนนั้นที่เรียน MBA คุณหมอไกรสิทธิ์ก็สนใจสนับสนุน ซึ่งตอนนี้เป็นกรรมการผู้จัดการ และยังได้เพื่อนร่วมก่อตั้งอีก 2 คน คนหนึ่งเคยเป็นอาจารย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีด้วยกันคือ คุณหมอประไพ สุเทวี บุรี และลูกสาวของคุณหมอประไพคือ คุณปฐมา จิตตาลาน ทั้งสองท่านสนับสนุนและสนใจเรื่องสุขภาพใจและผู้สูงอายุ เรา 4 คนก็คุยกัน ดิฉันจึงบอกว่าการเปิดโรงพยาบาลจิตเวชที่เป็นเอกชนแห่งแรกของไทยเป็นธุรกิจที่เสี่ยง แน่นอนเราต้องการธุรกิจที่มั่นคง ยั่งยืน มีกำไรต่อผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม ไม่ได้หวังกำไรมากมาย แต่ต้องทำใจว่าหากล้มเหลวเรา 4 คนจะไม่โกรธกัน เมื่อได้ข้อตกลงนี้ก็ถือว่าได้ทีมที่แข็งแกร่งมาก” เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อแรกเริ่มโรงพยาบาลแห่งนี้มีจิตแพทย์ร่วมถือหุ้นด้วยถึง 84 คน (ปัจจุบันมีจิตแพทย์ถือหุ้นรวม 102 คน ขณะที่มีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 127 คน) “เราคงจะเปิดโรงพยาบาลไม่ได้ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากทีมจิตแพทย์ ตอนหมอกลับจากเมืองนอกที่ไทยมีจิตแพทย์ประมาณ 100 คน ตอนที่พยายามเปิดรอบ 3 มีเพิ่มขึ้นเป็น 500 คน เราส่ง questionnaire ให้ทุกคน ถามว่า ถ้าจะมีโรงพยาบาลจิตเวชเอกชนแต่ละท่านมีความเห็นว่าอย่างไร มีข้อเสนอแนะ สนใจร่วมลงทุน ทำงานหรือเป็นที่ปรึกษาไหม ตั้งเป้าหมายไว้ว่าถ้าไม่ได้จิตแพทย์สนับสนุนถึง 92% ก็จะไม่เปิดโรงพยาบาล แต่โชคดีมากที่ได้รับการสนับสนุนได้คำตอบกลับมา 93.5% เห็นด้วยว่าควรมีโรงพยาบาลจิตเวชเอกชน ทำให้รู้สึกมีกำลังใจ และมีลิสต์ในมือว่าใครจะร่วมมือกับเรา เรารู้สึกดีใจมากที่มีจิตแพทย์สนับสนุนและลงทุนกับเรา เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ โรงพยาบาลนี้เป็นการรวมใจของจิตแพทย์” แพทย์หญิงจันทิมากล่าวพร้อมกลั้วหัวเราะน้อยๆ เส้นทางเปลี่ยนจากหมอศัลย์สู่จิตแพทย์ หลังจบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แพทย์หญิงจันทิมาได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา หลังได้รับเลือกให้เป็นแพทย์ประจำบ้านศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนคร Chicago โดยตั้งใจจะเรียนศัลยกรรมตกแต่งต่อด้วยและพบปัญหา เมื่อทราบว่าต้องอยู่เวรคืนเว้นคืน “คิดว่าคงสู้ไม่ไหว รู้สึกว่าทารุณเกินไปกลับมาคิดใหม่ว่า เรียนเป็นจิตแพทย์ที่เคยชอบจะดีกว่า เมื่อไปสอบสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ คณบดีถามว่า ทำไมถึงได้เลือกมาเรียนจิตเวชหลังจากที่เกือบจะเป็นศัลยแพทย์ เพราะมันช่างพลิกผันเป็นคนละเรื่องกันเลย ได้ตอบไปว่า ทั้งสองวิชามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการให้คนมีความสุขขึ้น และตนเองชอบวิชานี้เพราะรู้สึกว่าเป็นการท้าทายทางปัญญา เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก และเคยประทับใจกับครูที่จบจิตวิทยา" ดิฉันเผชิญกับทัศนคติแง่ลบมาหลายระดับตั้งแต่กลับจากเมืองนอก จิตแพทย์ถูกมองในแง่ลบในแวดวงทั่วไปรวมถึงแวดวงแพทย์ด้วย “ช่วงนั้นในไทยมีทัศนคติลบมาก แต่ไม่มีผลสำหรับตนเอง คิดว่าทุกอย่างขึ้นกับการรักษา ฝีมือการทำงานของเรา สุดท้ายคนต้องยอมรับเอง ไปทำงานที่คลินิกแพทย์สุขุมวิท ทำงานสอนอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และทำ private practice ที่สหคลินิกที่มีชื่อเสียงมาก เดือนแรกไม่มีคนไข้ เดือนที่ 2 ได้ค่ารักษา 200 บาท เดือนที่ 3 ได้ 800 บาท เป็นเรื่องที่อยู่ในความทรงจำ คิดว่าไม่เป็นไร ไม่มีคนไข้เราก็นั่งคุยกับเพื่อนและกินกาแฟ” หลังจากนั้นคนไข้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนรับไม่ไหว ชนิดที่ว่าถ้านั่งทำงานได้ 24 ชั่วโมงจะมีคนไข้มารับการรักษาตลอดเวลา คนไข้มาจากการบอกกันปากต่อปาก อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะเพื่อนแพทย์ส่งเคสต่อมาให้ โควิด-19 เพิ่มผู้ป่วยโรคเครียด เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่คนไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 และส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตไม่น้อย สังเกตได้ว่ามีผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยโรคเครียดและซึมเศร้าเป็นอันดับต้นๆ ตัวเลขจาก WHO ระบุว่า คนไทยป่วยด้วยโรคนี้ 4.4% ถ้าเทียบกับประชากรไทยคิดเป็น 3 ล้านกว่าคน ที่มาหาเรายังเป็นจำนวนน้อย อีกส่วนคือ โรคเครียด วิตกกังวล panic อันนั้นก็สูงมาก ความจริงโรคเครียดวิตกกังวลเป็นอันดับ 1 และโรคซึมเศร้าเป็นอันดับ 2 ปัญหาจิตเวชเป็นปัญหาใหญ่ในโลก 1 ใน 10 คนมีปัญหาสุขภาพจิต รวมบุคลิกภาพ เครียด การปรับตัว คิดเป็น 10.7% ของโลก และเพิ่มมากขึ้นทุกปี ช่วงโควิดยิ่งเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า โรคเครียดจากเดิม 2-7% เพิ่มสูงขึ้นอีก 28% ซึ่งความเครียดทำให้เกิดปัญหาทางจิตเวชตามมา ปัจจุบันมีคนไข้เฉลี่ยวันละ 270 คน บางวันรับได้ถึง 400 คน ขึ้นกับจำนวนแพทย์ที่มาตรวจ จำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นทุกปีแต่ไม่ใช่แบบก้าวกระโดด เพราะแพทย์ถูกจำกัดด้วยเวลาในการดูแลคนไข้ “การรักษาคนไข้ไม่ใช่แค่ดูหน้าแล้ววินิจฉัยได้เลย ต้องให้เวลาด้วย เราขอร้องคุณหมอว่า ให้เวลาคนไข้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เรามีทีมสหวิชาชีพช่วยเหลือคนไข้ แต่ตอนนี้โรงพยาบาลรับคนไข้เต็มที่แล้ว...หัวใจของโรงพยาบาลคือ การรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์เป็นตัวกลางในการวางแผนการรักษาวินิจฉัย การรักษามีหลายอย่างตั้งแต่การให้ยาโดยแพทย์ จิตบำบัดด้วยการพูดคุย แพทย์อาจทำจิตบำบัดบ้าง แต่คนไข้เยอะเราต้องมีคนช่วย นี่คือสิ่งสำคัญและดิฉันตระหนักมาก หากคนไข้ต้องการจะ therapy จะทำอย่างไร ทำให้คิดว่าน่าจะมีทีมสหวิชาชีพมาช่วย เรามีนักจิตวิทยา therapist เก่งๆ และนักกิจกรรมบำบัดทุกอย่างมารวมกัน ที่นี่ทำงานเป็นทีม แพทย์เป็นผู้ตัดสินว่า therapy ชนิดไหนเหมาะกับคนไข้ เราสรรหา therapist ไม่ว่า art therapist, music therapist, drama therapist ทุกอย่างที่เป็นการบำบัด ช่วยฟื้นฟูจิตใจให้กลับมามีชีวิตปกติ แต่ละคนจะตอบสนองต่อวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ต้องมีให้เลือกหลากหลาย อุปสรรคที่ผ่านมานอกจากความพยายาม 2 ครั้งในการเปิดโรงพยาบาล หรือจิตแพทย์ลาออกไปเปิดคลินิกเองและคนไข้ติดตามไปด้วย นั่นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับคราวที่ภาครัฐประกาศรับนักจิตวิทยาเพื่อทำงานประจำศาลเด็กและเยาวชน และทีมของโรงพยาบาลสมัคร 7-8 คน และสอบผ่านทั้งหมด ในตอนท้ายแพทย์หญิงจันทิมากล่าวถึง ปัจจัยที่ส่งผลให้โรงพยาบาลมนารมย์ประสบความสำเร็จว่า ประกอบด้วยบุคลากรและวิสัยทัศน์ “ค่านิยมที่เราพร่ำสอนตลอดเวลาคือ บุคลากร แพทย์ และ back office มีความสำคัญ ทุกคนต้องร่วมมือกัน ถ้า teamwork ดีจะทำให้ประสบความสำเร็จ และขอให้คนที่ทำงานกับเรามีจริยธรรม คุณธรรม ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของทุกคน ไม่สร้างภาพลบแก่คนอื่น ปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอด และทุ่มเทอย่างจริงใจ เพราะการทำงานด้านจิตใจ บางครั้งไม่เห็นผลทันที ต้องอาศัยความทุ่มเทและตั้งใจดี สำคัญที่สุดคือ ต้องการช่วยคนจริงๆ” ภาพ: รพ. มนารมย์
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine