The Tangs ยึดมั่นในปรัชญาของครอบครัว - Forbes Thailand

The Tangs ยึดมั่นในปรัชญาของครอบครัว

มรดกสืบสาน ประเพณี และความเชื่อใจ คือ 3 คำสำคัญประจำใจของ Tang Wee Kit กรรมการบริหารผู้อยู่เบื้องหลัง Tang Holdings เขาเป็นลูกชายคนเล็กของ Tang Choon Keng นักธุรกิจชาวจีนแต้จิ๋วผู้ล่วงลับที่ได้สร้างตำนานเสื่อผืนหมอนใบสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นมหาเศรษฐีชื่อดังของสิงคโปร์ “รากเหง้าของเรา และหลักการที่เรายึดถือ คือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่าง” Wee Kit อธิบายขณะนั่งอยู่ในห้องประชุมกรรมการ โดยมี Sean ลูกชายคนโตของเขานั่งอยู่ข้างๆ

ชาวสิงคโปร์รุ่นเก่ารู้เรื่องราวของ C.K. Tang เป็นอย่างดี เจ้าของฉายา “ราชาผู้สรรหาของหายาก”อพยพจาก Shantou ของจีนมายังสิงคโปร์ในปี 1922 ประกอบธุรกิจขายผ้า จนในปี 1932 C.K. ผู้มีนิสัยประหยัดอดออมรวบรวมเงินได้ 3,000 เหรียญสิงคโปร์และตัดสินใจเปิดธุรกิจห้างสรรพสินค้าเปลี่ยนทำเลจนกระทั่งใน ปี 1958 มาตั้งห้างสรรพสินค้าที่ หัวมุมถนน Orchard และ Scotts จนกระทั่งในปัจจุบัน ตอนที่ C.K. อายุได้ 53 ปีเขามีลูกทั้งหมด 7 คนและในปีเดียวกัน Wee Kit ลืมตาขึ้นมาดูโลก แม้ว่าเขาไม่ได้เป็นพ่อที่เลี้ยงดูลูกๆ อย่างใกล้ชิด แต่ได้วางรากฐานให้พวกเขามีความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม เครือธุรกิจครอบครัวแบ่งออกเป็นสองส่วนที่เกี่ยวเนื่องกัน เปรียบได้เสมือนกับ “แฝดสยาม” Wee Kitวัย 60 ปีรับหน้าที่บริหาร Tang Holdings บริษัทด้านการลงทุนส่วนบุคคลและอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1958 ส่วน Wee Sung นักธุรกิจหนุ่มโสดวัย 61 ปีดูแล C.K. Tang Ltd. บริษัทเอกชนนอกตลาดและห้างสรรพสินค้า Tangs 6 แห่งที่อยู่ในสิงคโปร์และมาเลเซีย สินทรัพย์ในการถือครองของ Tang Holdings รวมถึงอาคาร Gianurn Building บนถนน River Valley Road (ที่ตั้งเดิมของห้างสรรพสินค้า Tangs) ตึกแถว 3 ห้องที่อยู่ติดกัน อสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยจำนวนหนึ่งและ Singapore Marriott Tang Plaza Hotel โรงแรม 33 ชั้นซึ่งเป็นทรัพย์สินเรือธงของบริษัทที่อยู่ภายใต้บริษัทย่อย Legacy Hotel สองพี่น้องถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ C.K. Tangยกเว้น 2% ที่กระจายอยู่ในมือของนักลงทุนไม่กี่ราย Forbes Asia ประเมินว่ามูลค่าทรัพย์สินของพวกเขาอยู่ที่ 1.37 พันล้านเหรียญ ณ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในปี 1975 C.K. ตัดสินใจจะนำห้างสรรพสินค้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่เพราะต้องการเงินทุนแต่เขาต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในครอบครัวที่ อาจก่อความเสียหายต่อธุรกิจ “พ่อคิดว่ามันจะช่วยให้บริษัทเป็นระบบมากขึ้น” Wee Kit กล่าวถึงอดีต ในธุรกิจครอบครัว “สมาชิก ครอบครัวบางคนอาจรู้สึกว่าตนมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น เกินตำแหน่งตัวเอง โดยญาติพี่น้องอาจเข้ามาแล้วก็ออกไป แต่อภิสิทธิ์พิเศษยังคงติดตัวอยู่เสมอ ซึ่งพ่อต้องการแก้ปัญหานี้” แม้ทั้งสองพี่น้องจึงพยายามเปลี่ยนใจพ่อถึงสามครั้งเพื่อทัดทาน ความศรัทธาในพระเจ้ายังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ Wee Kit เช่นเดียวกับพ่อและพี่ชาย โดยเขามักไปเข้าโบสถ์ที่ Barker Road Methodist Church ซึ่งอยู่ติดกับ Anglo-Chinese School โรงเรียนที่เขาและ Sean บุตรชายเคยศึกษา เขาเชื่อว่าความสำเร็จและการตัดสินใจของพ่อมีรากฐานสำคัญมาจากความเชื่อใน ศาสนาคริสต์ ซึ่งรวมถึงข้อห้ามเปิดร้านขายของในวันอาทิตย์ แม้ว่า Wee Kit ต้องการคงหลักปฏิบัตินี้ไว้ แต่เขาก็ยอมรับการตัดสินใจของพี่ชายที่จะเปลี่ยนแปลงวันทำการของห้างในปี 1966 เนื่องจากพี่ชายของเขาเป็นผู้ดูแลบริหารธุรกิจส่วนห้างสรรพสินค้า ลูกๆ ของ Wee Kit รักใคร่สนิมสนมกันดี Sean ซึ่งอยู่ตัวคนเดียวกับสุนัขที่เขารับเลี้ยงจะมาร่วมโต๊ะกับพ่อแม่เพื่อกิน อาหารทำเองที่บ้านทุกวันพุธ และกินตามร้านอาหารสำหรับมื้อกลางวัน Sean เป็นคนสุภาพ พูดจานุ่มนวลและวางตัวได้เหมาะสมเช่นเดียวกับพ่อ เขาเข้าร่วมงานกับบริษัทเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยดูแลด้านฝ่ายปฏิบัติการและขึ้นตรงกับ Thoo Kah Fah ประธานบริหารซึ่งอยู่ในตำแหน่งมานานเพื่อเรียนรู้งาน Sean เห็นปัญหาเรื่องการสื่อสารภายในองค์กรจึงริเริ่มให้มีการประชุมพนักงานประจำวัน “ผมพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กร” เขาอธิบายและบอกว่าตอนนี้บรรดาพนักงานทั้งพนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วิศวกร และตัวแทนจากฝ่ายธุรกิจค้าปลีก มีการแบ่งปันความคิดเห็น พูดคุยเกี่ยวกับแผนงานต่างๆ แม้กระทั่งการจัดงานวันเกิดให้เพื่อนร่วมงาน “มัน เป็นแบบแผนการสื่อสารแบบเปิดกว้างและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน และทำให้พนักงานอยู่กับองค์กร อันที่จริงคนที่ออกไปแล้วกลับเข้ามาร่วมงานอีกด้วยซ้ำ” เมื่อถามถึงเส้นทางในอนาคตกับบริษัท Sean กล่าวว่า “ผมไม่อยากคิดอะไรไปล่วงหน้า ผมเข้ามาทำงานเพื่อเรียนรู้” แต่จากนั้น Wee Kit ก็หันไปพยักหน้ากับลูกชายพร้อมพูดว่า “ผู้สืบทอดตำแหน่งของผม” เขายิ้มด้วยความภูมิใจและพูดเสริมว่า “และอาจจะมีผู้สืบทอดอีกคน” โดยเขาหวังว่าลูกชายคนเล็กวัย 25 ปีจะมาช่วยงานธุรกิจในอนาคต “ผมมอบหมายหน้าที่ให้เขา” Sean ได้รับการสนับสนุนให้เรียนด้านประติมากรรมและเลือกทัศนศิลป์เป็นวิชาเอกขณะ ศึกษาที่ Chicago และชอบเดินทาง ระหว่างการเดินทางครั้งที่สองในประเทศแถบเอเชีย Sean รับรู้ถึงแรงกระตุ้นในการสานต่อธุรกิจครอบครัว หลังจากนั้นไม่นานพ่อของเขาได้เอ่ยปากให้เขามาช่วยธุรกิจ “ผมเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้” Sean กล่าว “เวลา เพื่อนๆ ของผมเห่อแต่จะซื้อรถหรูราคาแพงที่โดดเด่นที่สุด พวกเขากำลังสูญเสียความหมายของการใช้ชีวิต ผมพบว่ายังมีความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่บนโลกนี้ ผมพบเห็นจากการกระทำในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ชาวบ้านที่ยากจนเสียสละอาหารให้กับเด็กบนรถไฟ” ย้อนกลับมาที่ห้องทำงานผู้บริหารที่อยู่บนชั้น 4 ของตึก Wee Kit กำลังนั่งฟัง Thoo สรุปรายงานประจำวันอยู่ที่โต๊ะทำงาน เนื่องจากมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งพวกเขาจึงสนใจและเปิดโอกาสในการเข้า ซื้อธุรกิจอื่น ในอนาคตพวกเขาอาจลงทุนปรับโฉม Tang Plaza ใหม่แต่เขากล่าวว่ายังไม่มีแผนดำเนินการในตอนนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น Wee Kit ให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมสละสิ่งที่สำคัญที่สุด “ปรัชญา หลักที่เป็นรากฐานสำคัญของพ่อ ซึ่งประกอบด้วยความจริงใจ ความเที่ยงธรรม ความมีเมตตาและการให้ความเคารพอยู่ในทุกการกระทำของเรา”   เรื่อง: JANE A. PETERSON เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิ๊กอ่าน "The Tangs ยึดมั่นในปรัชญาของครอบครัว" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JANUARY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine