เฉลิมโชค ล่ำซำ ดัน ‘ล็อกซเล่ย์’ ทะยานสู่เป้าโฮลดิ้งคอมพานีพันล้านเหรียญ - Forbes Thailand

เฉลิมโชค ล่ำซำ ดัน ‘ล็อกซเล่ย์’ ทะยานสู่เป้าโฮลดิ้งคอมพานีพันล้านเหรียญ

หากเอ่ยถึงบริษัทคนไทยที่ดำเนินธุรกิจมายาวนาน เป็นต้นตำรับของบริษัทเทรดดิ้งมืออาชีพที่ขายทุกอย่าง ต้องมีชื่อของบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านมือบริหารจากรุ่นสู่รุ่น

มีเรื่องราวระหว่างทาง อุปสรรค ความสำเร็จ มากมายนับไม่ถ้วน วันนี้ ล็อกซเล่ย์ เดินทางมาถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 ในมือการบริหารของสองพี่น้องคนหนุ่มยุคใหม่อย่าง สุรช ล่ำซำ และ เฉลิมโชค ล่ำซำ ที่พร้อมพาล็อกซเล่ย์ก้าวสู่ “โฮลดิ้งคอมพานี” ในระดับพันล้านเหรียญ อาจเป็นตำนานบทใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้รุ่นคุณทวด “อึ้งยุคหลง” ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “ล็อกซเล่ย์” ที่เริ่มต้นจากการค้าขายข้าวและไม้ รวมถึงสินค้าทุกชนิด จนมีกิตติศัพท์เลื่องลือว่า “ขายทุกอย่างตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ” เกือบ 80 ปีของเส้นทางเดินที่ไม่ได้ปูด้วยพรมแดง ล็อกซเล่ย์ต้องฝ่าวิกฤตอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่รุ่นคุณทวดสู่รุ่นคุณปู่-จุลินทร์ ล่ำซำกระทั่งรุ่นคุณพ่อ-ธงชัย ล่ำซำที่ขยายอาณาจักรการค้าของตระกูลล่ำซำออกไปอย่างยิ่งใหญ่ Forbes Thailand มีนัดพูดคุยกับ เฉลิมโชค ล่ำซำ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่นที่ 4 บุตรชายคนโตของ ธงชัย ล่ำซำ ถึงแนวคิดและสไตล์การบริหารธุรกิจที่เป็นมรดกของครอบครัว ที่ทั้งเขาและพี่ชาย-สุรช ล่ำซำ (หลานธงชัย ล่ำซำ) คือ 2 หัวเรือใหญ่ ผู้กำลังสร้างตำนานบทใหม่ภายใต้อาณาจักรล็อกซเล่ย์ที่ใกล้จะอายุครบ 8 ทศวรรษของการทำธุรกิจ สู่เป้าหมาย “โฮลดิ้งคอมพานี “ผมกับพี่ชายคือคุณสุรช เราคุยกันทุกเรื่อง ทำงานเข้าขากันมาก มองตาก็รู้ใจ เพราะทำงานร่วมกันมานาน คุณสุรชวันนี้คือเบอร์ 1 ของล็อกซเล่ย์ ผมเป็นเบอร์ 2 เราทั้งคู่มีแนวทางการบริหาร มีวิธีคิดไปในทิศทางเดียวกัน เพราะถูกหล่อหลอมจากล็อกซเล่ย์รุ่นก่อนๆ ก็ไม่ผิดนัก เราวางเป้าว่าอีก 5 ปีข้างหน้า อยากเห็นล็อกซเล่ย์ก้าวไปสู่โฮลดิ้งคอมพานี เป็นเบอร์ต้นๆ มีความเป็นไปได้ที่เราจะกลายเป็นโฮลดิ้งคอมพานีที่มีรายได้ระดับ “one billion US dollar” เฉลิมโชค เล่าถึงสิ่งที่เขาและพี่ชายกำลังจะทำให้เกิดขึ้นในอาณาจักรล็อกซเล่ย์รุ่นที่ 4 เฉลิมโชคขยายความให้ฟังว่า เขาต้องการให้ล็อกซเล่ย์เป็นบริษัทที่สลิมขึ้นจากในอดีตที่ขายทุกอย่าง เป็นที่มาของการปรับโครงสร้างธุรกิจเหลือเพียง 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจไอที 2. กลุ่มเน็ตเวิร์กโซลูชั่น 3. กลุ่มการให้บริการ 4. กลุ่มพลังงาน และ 5. กลุ่มอาหารและการจัดจำ.หน่าย “ใน 5 กลุ่มธุรกิจนี้จะมีบริษัทลูกที่รันธุรกิจของตัวเองไป บริษัทลูกของกลุ่มธุรกิจไหนเติบโตมากๆ ก็จะให้ spin-off ไปโตด้วยตัวเอง ล็อกซเล่ย์เราจะทำตัวเป็นโฮลดิ้งมากขึ้นเพื่อความคล่องตัว ดูแต่นโยบาย และภายใน5 ปี รายได้ 60-70% ของล็อกซเล่ย์จะมาจากเงินปันผลของบริษัทที่ spin- off ออกไป”   บทบาทของเฉลิมโชควันนี้คือมือหนึ่งของหัวหมู่ทะลวงฟันในโครงการภาครัฐและเอกชนที่ถือเป็นรายได้หลักของล็อกซ์เล่ย์ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเน็ตเวิร์กโซลูชั่นและไอที ที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการประมูล เขาทำผลงานไว้เป็นที่ประจักษ์กับ backlog ที่ตุนอยู่ในมือนับ “หมื่นล้านบาท” และยังวางแผนบุกตลาดประมูลภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จะให้ความสำคัญกับโครงการในฝั่งเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50-100 ล้านบาท ซึ่งข้อดีคือจบเร็ว เก็บเงินได้เร็ว และไม่จุกจิกเหมือนโครงการภาครัฐ “ปีนี้โครงการภาครัฐเรายังเน้นอยู่ แต่ช่วงหลังได้ให้นโยบายทางทีมให้หันมาโฟกัสโครงการเล็กๆ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้าน 100 ล้าน เพราะเป็นโครงการที่จบเร็ว คู่แข่งไม่เยอะ โครงการใหญ่มักชอบมีปัญหาในการประมูล เช่น มีการร้องเรียน คู่แข่งไปฟ้องศาลปกครอง ยิ่งทำให้โครงการล่าช้าออกไปโครงการเล็กๆ ส่วนใหญ่มีมาร์จิ้นดีกว่าควบคุมต้นทุนได้ง่ายกว่าด้วย” ยังมีโครงการที่เฉลิมโชคมองว่ามีความท้าทาย และจะกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของล็อกซเล่ย์ คือโครงการที่เกี่ยวกับงานบริการระบบรักษาความปลอดภัย ด้วยจุดเด่นการให้บริการงานรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร ใช้เทคโนโลยีเข้ามาให้บริการ โดยนำระบบ Security Intelligence Application (SIAPP) เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้า พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและสั่งการ 24 ชั่วโมง ให้บริการแก่องค์กรขนาดใหญ่อย่างบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก จำกัด (มหาชน) โรงแรมบันยันทรี ฯลฯ รวมไปถึงการท่าอากาศยานไทย (AOT) และกรมการบินพลเรือน ซึ่งปัจจุบันให้บริการงานรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานครอบคลุมทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ท่าอากาศยานภูเก็ต สนามบินสมุย ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานพิษณุโลก นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ประปา ที่เน้นการนำเสนอแบบครบวงจรให้ลูกค้าในภาคเอกชนและนิคมอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน สายเลือดนักเจรจา-ต่อรอง “ผมมองว่ามันเป็นความชำนาญของเราอยู่แล้วในการติดต่อค้าขายกับราชการ เพราะเรารู้กฎระเบียบดี รู้วัฒนธรรมของแต่ละหน่วยงาน แนวคิดแต่ละหน่วยงาน ด้วยความที่เราเป็นบริษัทเก่าแก่และเราก็เข้าไป 20-30 ปีแล้ว ทำให้รู้วัฒนธรรม ได้เปรียบคู่แข่ง รู้วิธีคิดของผู้ซื้อ ส่วนความท้าทายคือการที่เราสามารถส่งมอบงานได้อย่างราบรื่นโดยปัจจัยภายนอกไม่ได้มากระทบมาก หรือบางครั้งอาจมีปัจจัยภายนอกมากระทบบ้างแต่เราเชื่อว่าเราสามารถที่จะรับมือได้ นี่คือความท้าทาย รวมถึงการขยายธุรกิจใหม่ก็ถือเป็นความท้าทายเช่นกัน” เมื่อถามถึงกลยุทธ์หลักๆ ของล็อกซเล่ย์จากนี้ ทายาทรุ่นที่ 4 ในวัย 45 ปี ย้ำว่า ยังคงเน้นไปที่โครงการภาครัฐก่อน ขณะเดียวกันต้องเริ่มสร้างฐานไปยังธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น รวมทั้งต่อยอดธุรกิจที่เป็นดาวเด่น เช่น ธุรกิจให้บริการระบบรักษาความปลอดภัย ที่เริ่มตั้ง in house ในบริษัท มีการเทรนคน รวมถึง recruit คนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) แบบมืออาชีพ พร้อมทั้งรับเทรนให้คนอื่นด้วย ถือเป็นการสร้างรายไดใหม่ๆ ให้ล็อกซเล่ย์ รวมถึงเน้นไปที่ธุรกิจเน็ตเวิร์กโซลูชั่น ที่มีโครงการระดับ 30-100 ล้านบาทเพิ่มขึ้นด้วย “ยังมีโครงการที่มีศักยภาพและล็อกซเล่ย์ อยากจะเข้าไป เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เราอยากทำแต่ยังมีติดเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกไม่ได้ง่ายๆ แต่ถ้ามีโอกาสดีๆ ดูโครงการแล้ว มีตัวเลขที่เหมาะสม มีรีเทิร์นที่เหมาะสม มีความเสี่ยงที่เหมาะสม เราก็สนใจที่จะเข้าไป” ส่วนแผนรุกตลาดต่างประเทศนั้น กลุ่มธุรกิจที่เข้าไปจะเป็นกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักส์ โดยที่ผ่านมาล็อกซเล่ย์เป็นคนส่งข้าวไปขายที่ประเทศจีน โดยขายที่ปั๊มน้ำมันไซโนเปค ซึ่งเป็นปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ของจีนเหมือนกับ ปตท ในไทย มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และได้ต่อยอดนำกลุ่มสแนคเข้าไปขายเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนในประเทศเมียนมา ล็อกซเล่ย์เป็นตัวแทนขายน้ำมันเครื่องคาสตรอลซึ่งยังไปได้ดี ธุรกิจในต่างประเทศยังมีรายได้ไม่มากแค่ระดับ 100 ล้านบาท ซึมซับจากรุ่นสู่รุ่น-ปรับสู่สไตล์ที่ใช่ เมื่อถามว่าได้นำวิธีการบริหารในรุ่นบิดามาเป็นส่วนสำคัญในการต่อยอดธุรกิจล็อกซเล่ย์ยุคนี้ด้วยหรือไม่ เฉลิมโชคบอกว่า “ทุกคนจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ไม่มีใครเหมือนกัน ซึ่งไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก แต่โดยส่วนตัวก็ได้มีการซึมซับทั้งการบริหารงาน ตั้งแต่รุ่นลูกก็ซึมซับมา ตรงส่วนไหนที่ทำแล้วเหมาะสมก็มาทำต่อ ส่วนไหนถ้ามาทำยุคนี้ไม่เหมาะสมเราก็ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยมาก มีบางครั้งที่ผมเดินไปปรึกษาคุณพ่อด้วยเช่นกันในฐานะเป็นเอ็มดีกับแชร์แมน ส่วนในฐานะพ่อลูก อย่างผมเป็นลูกชายคนโตทำงานอยู่ที่นี่ก็จะมีทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวที่คุยกันเป็นประจำ” เฉลิมโชคเริ่มต้นงานในล็อกซเล่ย์ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ แล้วค่อยๆ เรียนรู้งานมาเรื่อยๆ ด้วยความเป็นคนที่มีบุคลิกคล่องแคล่ว มีการตัดสินใจที่เด็ดขาด คุณพ่อเลยไว้วางใจให้เป็นมือหนึ่ง คุมงานประมูลทั้งภาครัฐและเอกชนจนถึงวันนี้ 18 ปีแล้ว แม้ไม่รู้สึกกดดันอะไรมากเหมือนช่วงเริ่มต้น แต่เขายังรู้สึกว่าการบริหารงานธุรกิจของครอบครัวมีความยาก สำหรับเป้าหมายรายได้ปีนี้ ล็อกซเล่ย์ ตั้งเป้าไว้สูงถึง 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากประมูลโครงการภาครัฐเป็นหลักบวกกับโครงการที่เป็น backlog รวมถึงธุรกิจดาวเด่น และตั้งเป้าเติบโตต่อปี 10% จากนี้ไป ซึ่งปัจจัยภายนอกที่จะขับเคลื่อนให้ล็อกซเล่ย์ทำได้ตามเป้าอย่างสวยงาม คือเงินจากภาครัฐที่จะใส่เข้ามาผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในอีกไม่นาน   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร คลิกอ่าน เฉลิมโชค ล่ำซำ ดัน ‘ล็อกซเล่ย์’ ทะยานสู่เป้าโฮลดิ้งคอมพานีพันล้านเหรียญ  ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand Magazine ฉบับ กันยายน 2561 ได้ในรูปแบบ e-Magazine