คลื่นลูกใหม่นำทัพอินเด็กซ์ ก้าวที่หมื่นล้านในอาเซียน - Forbes Thailand

คลื่นลูกใหม่นำทัพอินเด็กซ์ ก้าวที่หมื่นล้านในอาเซียน

กว่าจะเติบโตเป็นอาณาจักรเฟอร์นิเจอร์มูลค่าเกือบหมื่นล้านบาท เส้นทางที่ทอดยาวคล้ายกับเรื่องเล่าของนักฝันที่ไขว่คว้าโอกาสและความสำเร็จ เมื่อเด็กหนุ่มตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดในภาคเหนือมุ่งหน้าแสวงโชคในเมืองใหญ่ ในจังหวะที่โชคชะตาพลิกผันและความขยันอดทน เส้นทางที่ถูกต้องจึงทอดยาวเป็นถนนสายหลักให้กับคลื่นลูกใหม่นำทัพสู่สมรภูมิการค้าในยุคปัจจุบันกับก้าวที่หมื่นล้านในอาเซียน

“ผมเป็นคนจังหวัดน่านเปิดร้านขายของชำในตัวเมือง หลังจากคุณพ่อเสีย ผมเรียนอยู่ชั้น ม.3 ไม่ได้เรียนต่อเพราะต้องทำงานที่บ้านเริ่มเปิดร้าน 6 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ได้หยุดแค่ตรุษจีนวันเดียว จนกระทั่งพบกับภรรยา (ขันทอง) แต่งงานและย้ายเข้ากรุงเทพอายุ 20 ต้นๆ เนื่องจากไม่ได้เรียนหนังสือ ทำงานไม่ได้ ค้าขายก็ไม่มีทุน หลังพิงฝาไม่รู้จะทำอะไร พอดีเพื่อนแนะนำช่างเฟอร์นิเจอร์ที่รู้จัก เราจึงเริ่มต้นจากตรงนั้น” พิศิษฐ์ ปัทมสัตยาสนธิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านอันดับ1 ของประเทศ เริ่มถ่ายทอดเรื่องราวเคียงข้าง กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ ทายาทผู้นำอาณาจักรคนต่อไป จากเก้าอี้พับสีแดงขาเหล็กของกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เฟิร์น จำกัด ได้เติบโตอย่างเป็นขั้นตอน ขยับขยายขนาดโรงงาน เพิ่มความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ ทำตลาดในประเทศและส่งออกกว่า 100 ประเทศตั้งแต่ปี 2528  จัดตั้งบริษัทต่างๆ เพื่อส่งออก นำเข้าเฟอร์นิเจอร์คุณภาพสูงจากต่างประเทศ บุกตลาดเฟอร์นิเจอร์ สำนักงาน ซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย และให้กำเนิดแบรนด์อินเด็กซ์ในปี 2537 เพื่อต่อยอดธุรกิจตามแนวคิดให้ครบการเป็นศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์ครบวงจร (one-stop shopping) ขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ คอมมูนิตี้มอลล์ (The Walk) ผู้จัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (POWER ONE) และบริษัทผู้ให้บริการสำหรับที่อยู่อาศัย “เราเริ่มจากห้างหุ้นส่วนจำกัดนครหลวงอุตสาหกรรมเป็นนครหลวงอุดมทรัพย์เปลี่ยนชื่อเรื่อยมา จนมาเป็นอินเด็กซ์ ขณะที่เริ่มพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากเหล็กเปลี่ยนเป็นผลิตจากไม้ปาร์ติเกิลบอร์ดที่น่าจะมีอนาคตกว่า และเริ่มทำการตลาดในต่างจังหวัดแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิม ด้วยการเสนอตกแต่งร้านค้าให้แลกกับมุมจัดแสดงสินค้าของเรา อินเด็กซ์เป็นรายแรกที่นำคอนเซปต์ตกแต่งร้าน โดยรวบรวมสินค้าหลากหลายที่เราผลิตเองนำมาจัดแสดง รวมทั้งเป็นรายแรกที่มีโฆษณาทางโทรทัศน์” ไม่เพียงกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้กับแบรนด์อินเด็กซ์ หากแต่พิศิษฐ์ยังสามารถขยายธุรกิจได้อย่างถูกที่และถูกเวลา โดยเริ่มต้นขยายสาขาในศูนย์การค้าทั่วประเทศเพื่อแจ้งเกิดแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ก่อนจะหาญกล้าปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านเป็นอาณาจักรเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ในลักษณะสแตนด์อโลน (standalone) พร้อมเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และเพิ่มสินค้าตกแต่งบ้านเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย อย่างไรก็ตาม ในยุคแห่งการแข่งขันไร้พรมแดนที่คู่แข่งต่างรุกไล่ช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด พร้อมกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัท พิศิษฐ์เล็งเห็นถึงจังหวะและเวลาที่เหมาะสมในการส่งมอบอาณาจักรให้กับลูกไม้ใกล้ต้นเป็นผู้นำทัพธุรกิจ “ในอดีตการแข่งขันไม่มาก คนผลิตน้อย แต่คนซื้อก็น้อย ตลาดเล็กมาก แต่ปัจจุบันเค้าโตขึ้น คนตื่นตัวกับการตกแต่งบ้านบาทขึ้น คู่แข่งมากขึ้น แต่ก็มีโอกาสเติบโตมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดที่สังคมกำลังขยายและคนไทยรายได้ปรับตัวสูงขึ้น ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน ต้องการบ้านที่อบอุ่น อยู่แล้วสบายขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่นิยมเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ตามไลฟ์สไตล์ และเน้นฟังก์ชั่นการใช้งานมากขึ้น” โอกาสและความท้าทายในวันที่น่านน้ำทางธุรกิจเปิดกว้าง ทายาทแห่งปัทมสัตยาสนธิพร้อมผนึกกำลังรับไม้ต่อทางธุรกิจ นำโดย กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริหารธุรกิจในภาพรวมทั้งหมด ขณะที่ทายาทแห่งปัทมสัตยาสนธิรับผิดชอบงานด้านอื่นๆ อาทิ พิชพิมพ์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการออกแบบได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ผมเป็นคนโชคดีที่ลูกทุกคนสามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่เด็ก และพร้อมกลับมาดูแลธุรกิจของครอบครัว เนื่องจากทุกวันหยุดผมกับภรรยาจะพาลูกๆ เดินในศูนย์การค้า ทำให้เขาซึมซับและผูกพันกับธุรกิจ เมื่อต้องเลือกเรียน เขาจึงเลือกในสิ่งที่รักและสามารถนำมาใช้กับธุรกิจครอบครัวได้ โดยที่ผมไม่ต้องชี้แนะหรือให้โจทย์การทำงาน ลูกๆ จะปรึกษากับทีมงานและบอกผมว่า กำลังจะทำอะไร ซึ่งผมแค่แนะนำ ส่วนเขาเป็นคนตัดสินใจและเดินหน้าธุรกิจตามทิศทางที่วางไว้” กฤษชนกกล่าวถึงทิศทางของธุรกิจครอบครัวที่วางไว้ “ธุรกิจต้องมีการเติบโตทั้งแนวดิ่งและแนวราบ แม้การเติบโตหลายอย่างอาจจะนอกแผนที่วางไว้ เช่น The Walk เราเริ่มในจังหวะที่ได้ทำเลดีพื้นที่ขนาดใหญ่ 20 ไร่บนถนนเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งเหมาะกับการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ และเราสามารถสร้าง Index Living Mall เป็นแม่เหล็กดึงดูดซึ่งกันและกันได้” สำหรับผลงานที่เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของทายาทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มต้นในปี 2555 กับการต่อยอดธุรกิจให้มากกว่าอาณาจักรเฟอร์นิเจอร์ตามจังหวะและโอกาส เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่ง ได้แก่ การขยายสู่ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ The Walk และ Index Living Mall โดยกลยุทธ์หลักที่ทายาทปัทมสัตยาสนธิมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างความต่างเหนือคู่แข่ง ได้แก่ กลยุทธ์ 4 Joy ประกอบด้วย Joy Price ราคาพึงพอใจ ไม่ต้องรอลดราคา Joy Design สไตล์การออกแบบที่หลากหลาย Joy Service การบริการที่เกินความคาดหวัง และ Joy Quality นำเสนอสินค้าคุณภาพมาตรฐาน พร้อมสร้างความหลากหลายที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัย “เราพยายามนำเสนอความเป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยหรือโมเดิร์น เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เราต้องทำให้ตัวเองดูเด็กอยู่เสมอ” กฤษชนกกล่าวย้ำถึงการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ที่พร้อมปรับเปลี่ยนตามไลฟ์สไตล์ เพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนทำงานที่เริ่มต้นสร้างครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีกำลังซื้อและให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยมากที่สุด ผลงานสร้างของทายาทล่าสุดที่สะท้อนถึงการให้ความสำคัญด้านการสร้างภาพลักษณ์ ได้แก่ “Sky Living by Index Living Mall” ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่อยู่ภายในสนามบินแห่งแรกของประเทศ โดยตั้งอยู่ในอาคาร 2 (Domestic Terminal) สนามบินดอนเมือง บริเวณทางออกขึ้นเครื่องหมายเลข 51 ด้วยการปรับเปลี่ยนที่นั่งพักคอยผู้โดยสารให้เป็นที่นั่งพักผ่อนสบายๆ กับเฟอร์นิเจอร์หลากหลายของอินเด็กซ์ และ Kids Zone ของเล่นก่อนขึ้นเครื่องสำหรับเด็ก รวมทั้ง มุมจำหน่ายของแต่งบ้าน และของฝากที่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ อินเด็กซ์ยุคผลัดใบดำเนินตามรอยทางของผู้ก่อตั้งที่ถ่ายทอดหลักคำสอนผ่านการปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ทายาทซึมซับตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงและเด็กชายไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแตกต่าง การพัฒนาสินค้าและธุรกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า พร้อมลองผิดลองถูกเพื่อความก้าวหน้าของบริษัท แม้ต้องสูญเสียเงินลงทุนโดยเปล่าประโยชน์ แต่หากเริ่มต้นดำเนินการแล้ว ทุกอย่างต้องทำให้ดีที่สุด รวมถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาบุคลากร ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของบริษัทในระยะยาว ผู้นำอาณาจักรปิดท้ายถึงความภาคภูมิใจในทายาท “อายุของลูกๆ แต่ละคนเมื่อเทียบกับเราสมัยก่อน เขาเก่งกว่าเรา เขาสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตกว่ารุ่นเราในเวลาที่รวดเร็วมาก จากในอดีตเราสามารถขยายสาขา 4 ปี 1 สาขา แต่เขาสามารถขยาย 3-4 สาขาต่อปี และยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี ตั้งแต่ลูกเข้ามาบริหารยอดขายเราไม่เคยสะดุด ซึ่งถือว่าลูกทุกคนทำได้ดีมาก เกินความคาดหมาย”   เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: นัทธ์ชนัน เพชรดี
คลิ๊กอ่าน "คลื่นลูกใหม่นำทัพอินเด็กซ์ ก้าวที่หมื่นล้านในอาเซียน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MAY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine