ศรีตรังนำทัพยางไทย แจ้งเกิดแบรนด์ระดับโลก - Forbes Thailand

ศรีตรังนำทัพยางไทย แจ้งเกิดแบรนด์ระดับโลก

พี่น้องแห่งสินเจริญกุลพร้อมผนึกกำลังนำศรีตรังผงาดบนเวทีโลกอย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะผู้นำการผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก รุกชิงส่วนแบ่งทางการตลาดโลกขยับสู่ 15% พร้อมเดินหน้าลงทุนสร้างโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตทั่วประเทศ

ราคายางที่ยังคงตกต่ำและไม่มีทีท่าฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ทายาทธุรกิจผู้ค้ายางรายใหญ่ของโลกต้องทุ่มเทเวลาให้กับการบริหารความ เสี่ยงด้านราคาควบคู่กับการดูแลความเสี่ยงทางธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากการขยายอาณาจักรยางธรรมชาติที่เคยทำรายได้มากกว่าแสนล้านบาทในปี 2555 ภายใต้หลักการ “ชัดเจน โปร่งใส ตรงไปตรงมา และมีความรับผิดชอบ” ซึ่งได้รับการถ่ายทอดและเน้นย้ำจากดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล ผู้เป็นบิดา ระยะเวลากว่า 29 ปี ศรีตรังสามารถขยายอาณาจักรได้อย่างสง่างาม ลูกไม้ใกล้ต้นเริ่มย้อนระลึกถึงรุ่นปู่ผู้ก่อตั้ง เมื่อสมหวัง สินเจริญกุล ตัดสินใจนำประสบการณ์ในอุตสาหกรรมยางพารากว่า 40 ปี พร้อมก่อตั้ง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียน 31 ล้านบาท ในปี 2530 เริ่มด้วยโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันที่หาดใหญ่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ พร้อมมอบหมายให้ทายาท คือ ดร.ไวยวุฒิ เป็นผู้นำทัพศรีตรังบุกขยายอาณาจักรในไทยและต่างประเทศ ศรีตรังสามารถขับเคลื่อนธุรกิจเป็นผู้นำการผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ ที่สุดของโลก โดยใช้เวลาเพียง 4 ปีหลังก่อตั้งธุรกิจก็สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปี 2534 และก้าวต่อไปยังตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ในปี 2555 โดยเป็นบริษัทไทยเพียงแห่งเดียวที่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์สองตลาดฯ หรือ Dual Listing ปัจจุบันศรีตรังก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยางธรรมชาติครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไล่ตั้งแต่เจ้าของสวนยางพาราจำนวนกว่า 50,000 ไร่ในภาคเหนือ เจ้าของโรงงานครอบคลุม 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป และธุรกิจบริการ โดยมีโรงงานยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้นจำนวนกว่า 30 โรงงาน ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเมียนมา รวมกำลังการผลิต 1,500,000 ตันต่อปี ซึ่งมากกว่าผลผลิตรวมทั้งปีของประเทศเวียดนาม นอกจากนั้น บริษัทยังมีโรงงานถุงมือที่หาดใหญ่และสุราษฎร์ธานีที่นับว่าเป็นโรงงานถุง มือขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตรวม 14,000 ล้านชิ้นต่อปี และโรงงานท่อโฮโดรลิคแรงดันสูง รวมถึงงานบริการที่ครอบคลุมด้านการขนส่งนำเข้าและส่งออก โดยศรีตรัง ให้บริการนำเข้าและส่งออกมากกว่า 60,000 ตู้ต่อปี งานวิศวกรรมพัฒนาเครื่องจักรฝีมือคนไทย งานสารสนเทศ งานวิจัยพร้อมพัฒนาต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยบริษัทมีจำนวนพนักงานรวมในไทยและต่างประเทศประมาณ 1.2 หมื่นคน พร้อมสำนักงานครอบคลุม ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ จีน สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม เพื่อให้การติดต่อประสานในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้อย่างราบรื่น ภายใต้อาณาจักรศรีตรังที่แข็งแกร่ง วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล เข้าใจถึงความรับผิดชอบในฐานะบุตรชายคนโตของ ดร.ไวยวุฒิ ภายหลังจบการปริญญาโทและเติมเต็มประสบการณ์การทำงานจากธนาคารชั้นนำในประเทศ เขากลับสู่ร่มเงาของอาณาจักรศรีตรังและรับตำแหน่ง กรรมการบริหารของบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน “ผมได้รับมอบหมายให้ดูแล back office เป็นหลัก โดยรับผิดชอบงานด้าน risk management, branding, CSR และ investor relation ส่วนน้องชาย 2 คน คือ วิชญ์พล ดูแลในส่วนของเทรดดิ้ง รวมทั้งด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิทย์นาถรับผิดชอบด้านงาน CSR และธุรกิจถุงมือของบริษัทตั้งแต่การขาย การทำการตลาด และการสร้างแบรนด์ ขณะที่คุณพ่อเป็นประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการให้ทิศทางกลุ่ม ศรีตรังในไทยและประจำที่สิงคโปร์ โดยมีผม คุณอา และน้องชายช่วยกันดูแลในประเทศไทย” วีรสิทธิ์เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของสามพี่น้องสินเจริญกุล พี่น้องสินเจริญกุลผนึกกำลังกันสร้างแบรนด์หรือเพิ่มมูลค่าให้ชื่อของศรีตรัง ติดปีกสู่แบรนด์ผู้นำระดับโลก ด้วยการจัดตั้งทีม branding เพื่อสร้าง brand awareness ให้ทุกคนรู้จักศรีตรังมากขึ้น พร้อมสร้างผลงานปั้นแบรนด์ถุงมือทางการแพทย์ชื่อ “Sri Trang Gloves” จากการรับจ้างผลิตและส่งออกเกือบ 90% นับตั้งแต่ปี 2532 สู่การสร้างแบรนด์และคุมตลาดครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 ในประเทศ
วิทย์นาถ (ซ้าย) เริ่มทำงานกับกลุ่มศรีตรังเป็นคนแรกจากพี่น้องทั้งหมด ในตำแหน่ง Strategic Branding Executive ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 4 ก่อน
ไม่เพียงการสร้างผลงานให้ได้รับการยอมรับและสานต่อเจตนารมณ์ของบิดา หากแต่วีรสิทธิ์ยังต้องเผชิญความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงจากยุคเริ่มก่อตั้ง โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงทั้งด้านราคาและปริมาณความต้องการยาง นับตั้งแต่ช่วงหลังปี 2554 ต่อเนื่องถึงปี 2558 อุตสาหกรรมยางธรรมชาติยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากราคายางที่ลดลงถึง 80% และยังส่งสัญญาณราคาอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องถึงปี 2560 โดยความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาในปีนี้ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และยางธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาขายสินค้าหรือรายได้ของบริษัท โดยแนวทางหลักที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยง เช่น การเปิดจุดรับซื้อจำนวนมาก พร้อมขยายจุดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณาราคาซื้อขายในตลาดและราคาที่ควรจะรับซื้อให้มีความเหมาะสมและ เป็นธรรม ความผันผวนจากเศรษฐกิจภายนอก กลยุทธ์การดำเนินงานของศรีตรังในปีนี้และได้รับการกำหนดให้เป็น year of standardization ด้วยเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินงานภายใต้ “one cost” และ “one technology” โดยมาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวนี้จะช่วยลดความซับซ้อนของการทำงานและทำให้เกิด การประหยัดจากการผลิต รวมทั้งช่วยให้กระบวนการผลิตง่ายขึ้น เพื่อนำพาองค์กรให้มีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในเวที ระดับโลก โจทย์หนึ่งซึ่งสำคัญที่ วีรสิทธิ์ ได้รับคือ การเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดระดับโลกจาก 10% เป็น 15% ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า การจัดตั้งแผนก Research & Development พร้อมทั้งมุ่งขยายกำลังการผลิตด้วยการเพิ่มจำนวนโรงงานอย่างน้อยปีละ 1 แห่งรวม 10 แห่งใน 10 ปีข้างหน้า “หลักๆ เป็นโรงงานยางธรรมชาติ จากความต้องการในตลาดโลก 11 ล้านตัน เราสามารถผลิตป้อนให้โลกหรือขายได้จริง 1.2 ล้านตัน หรือคิดเป็น 10% เราต้องการขยายเป็น 15% จึงต้องขยายกำลังการผลิต เพื่อให้ได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงในอนาคตจะทำการศึกษาโรงงานผลิตถุงมือและผลิตภัณฑ์ใหม่อื่นๆ เพิ่มเติม” “เราเป็นอันดับ 1 ในโลกด้านกำลังการผลิตยางธรรมชาติ เช่น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางข้น ทิ้งห่างอันดับ 2 เกือบครึ่ง หากเทียบในระดับโลก ประเทศไทยสามารถผลิตยางธรรมชาติมากที่สุด 4 ล้านตัน ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 3.8 ล้านตัน ประเทศเวียดนามผลิตได้ 1.2-1.3 ล้านตัน ซึ่งกำลังการผลิตของศรีตรังเพียงแห่งเดียวเทียบเท่ากับเวียดนามทั้งประเทศ รวมกัน” แม้ ดร.ไวยวุฒิจะนั่งประจำที่ สิงคโปร์ แต่ยังคงเป็นผู้ให้ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทย ไม่เพียงด้านธุรกิจ หากแต่ยังมุ่งมั่นด้าน corporate social responsibility (CSR) โดยเฉพาะการเป็นกลุ่มโรงงานสีเขียวหรือ green concept ซึ่งผู้จัดการโรงงานทั้ง 30 โรงงานต้องมีส่วนร่วมเป็นจิตอาสาหรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัท พร้อมกำหนดงบประมาณจำนวน 10% ทุ่มเทให้กับงานด้าน CSR ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัลด้าน CSR จำนวนมากจากหลายสถาบัน เช่น รางวัล SET Sustainability 2015 และ รางวัล Thailand Sustainability Investment 2015 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งรางวัล CSR Recognition 2014 และรางวัล CSR-DIW continuous Award ในปี 2557 วีรสิทธิ์กล่าวถึงอาณาจักรศรีตรังที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ซึ่งเกิดจากวิสัยทัศน์และแนวปฏิบัติของ ดร.ไวยวุฒิ ที่ ถ่ายทอด อันได้แก่ ความสุจริตโปร่งใส ยึดมั่นในคำสัญญา โดยปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม และกล้าคิด กล้าทำในสิ่งใหม่ ด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ และมองหาทางเลือกใหม่ พร้อมวิเคราะห์ความเป็นไปได้ วางแผน และสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง “คีย์ที่ทำให้เป็นอันดับ 1 เกิดขึ้นตั้งแต่รุ่นปู่และรุ่นพ่อที่ทุกคนมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และให้โอกาสพนักงานทุกระดับได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ รวมทั้งเรื่องความโปร่งใส สุจริต ไว้ใจได้ โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลที่ศรีตรังให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก” สไตล์การบริหารธุรกิจของวีรสิทธิ์ มุ่งเน้นการสื่อสารภายในองค์กร โดยให้ความสำคัญกับการประชุมทุกฝ่ายงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศรีตรังมีสำนักงานและโรงงานทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีการดูแลและอัพเดทผลการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายเป็นประจำ โดยใช้ความยืดหยุ่นและการเปิดโอกาสให้ทีมงานสามารถพูดคุยได้อย่างใกล้ชิด ทำให้การบริหารจัดการสามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล ในฐานะทายาทธุรกิจยางธรรมชาติระดับโลกปิดท้ายถึงเป้าหมายที่วางไว้ “ผม ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน และพัฒนาพืชเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศไทยนั่นก็คือยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่ม มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว พร้อมทั้งตั้งใจดูแลพนักงานทุกคนของศรีตรังให้ดีที่สุด เพราะทุกคนเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ที่ร่วมแรงร่วมใจ ทำงานกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณปู่ จนมารุ่นคุณพ่อ และรุ่นผมในปัจจุบัน ผมจะทำให้ศรีตรังที่ทุกคนร่วมสร้างร่วมฟันฝ่าเป็น sustainable organization ต่อไป” เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: Satra P.
คลิ๊กอ่าน "ศรีตรังนำทัพยางไทย แจ้งเกิดแบรนด์ระดับโลก" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 ในรูปแบบ E-Magazine