พรินเตอร์ขนาดย่อมซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษแข็งสีขาวขุ่นถูกยกลงรถเข็นหลังลูกค้าตกลงใจว่าจะซื้อ สัปดาห์ถัดมา กล่องใบใหญ่ถูกส่งถึงบ้าน ข้างในเป็นโทรทัศน์เครื่องใหม่สภาพเรียบร้อยดี เพราะเครื่องถูกล็อกด้วยโฟม ส่วนตัวกล่องด้านในมีลอนรองรับแรงกระแทก
กล่อง หีบห่อ หรือบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ ทำมาจากกระดาษคราฟต์ ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ผลิตหลายราย หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UTP ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งในปี 2533 โดย ดร.ชิน ชินเศรษฐวงศ์ และเพื่อนในวงการสิ่งทอประมาณ 10 คน ร่วมลงทุนเป็นเงิน 150 ล้านบาท
ปี 2537 ได้ก่อตั้งโรงงานและเดินเครื่องจักร พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 360 ล้านบาท หลังจากนั้น 1 ปีจึงเริ่มผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟต์ทำผิวกล่อง และกระดาษทำลอนคุณภาพ
ปี 2547 นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มี ดร.ชิน ชินเศรษฐวงศ์ เป็นประธานกรรมการบริษัท ปีที่ผ่านมา บมจ.ยูไนเต็ด เปเปอร์ เป็น 1 ใน 5 ของบริษัทไทยที่ติดอันดับ Asia’s 200 Best Under A Billion หรือ 200 บริษัทมหาชนรายได้ต่ำกว่าพันล้านที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2019 จากการจัดอันดับโดย Forbes Asia
ก่อนจะมาสร้างธุรกิจของตนเอง ดร.ชิน เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทธุรกิจสิ่งทอรายใหญ่ของประเทศ ส่วนภรรยา อัจฉรา ชินเศรษฐวงศ์ ทำงานในธุรกิจของครอบครัว ปี 2521 ทั้งคู่ก่อตั้ง บริษัท ยูเนียนเปเปอร์คาร์ตอนส์ จำกัด (Union Paper Cartons Co., Ltd. - UPC) ผลิตแผ่นและกล่องกระดาษลูกฟูก ธุรกิจเติบโตด้วยดี ต่อมาได้ขยายกิจการอีกหลายแห่งโดยมี UPC เป็นบริษัทแม่ และ ดร.ชิน เป็นประธานกลุ่มบริษัทและวางนโยบาย
สร้างธุรกิจต้นน้ำ
ดร.ชิน และอัจฉรา มีบุตร 5 คน ทายาททุกคนหลังเรียนจบต้องเข้าไปรับผิดชอบกิจการของครอบครัวอย่างน้อย 1 แห่ง ยกเว้นบุตรสาวคนเล็กที่ดูแลกิจการโรงเรียน ซึ่งเป็นธุรกิจเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงงานทำบรรจุภัณฑ์กระดาษ และมอบหมายให้ วัชชระ ชินเศรษฐวงศ์ ทายาทคนที่ 2 ซึ่งเรียนจบปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ University of Arkansas สหรัฐอเมริกา เข้ามาดูแล บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการตั้งแต่บริษัทเริ่มก่อตั้ง
วัชชระเล่าว่า 30 ปีก่อนบิดาได้ชักชวนเพื่อนๆ (ซึ่งทุกคนอยู่ในวงการทอผ้า) ให้มาร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตกระดาษคราฟต์เพราะทางบ้านมีกิจการทำกล่องกระดาษลูกฟูก ต้องใช้กระดาษจำนวนมากเป็นวัตถุดิบ และเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต
บมจ.ยูไนเต็ด เปเปอร์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนโรงงานตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ถือเป็น “ธุรกิจต้นน้ำ” โดยผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟต์ สำหรับอุตสาหกรรมกล่องกระดาษแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟต์สำหรับทำผิวกล่อง (kraft liner board) และกระดาษคราฟต์สำหรับทำลอนลูกฟูก (corrugating medium) โดยรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งมาจาก UPC Group ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวชินเศรษฐวงศ์
ปี 2537 เริ่มก่อสร้างโรงงาน และซื้อเครื่องจักร อีก 1 ปีถัดมาจึงผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟต์ ปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงจาก 25 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเป็น 50 บาทต่อ 1 เหรียญ ส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น บริษัทจึงดำเนินการเจรจาเพื่อทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งปัจจุบันชำระหนี้ทั้งหมดแล้ว
“จุดที่ทำให้บริษัทดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือการที่เราหันมาลงทุนพลังงาน ตอนเราลงทุนใหม่ๆ ช่วงนั้นน้ำมันถูกมาก ไม่มีใครคิดว่าน้ำมันจะแพง มาถึงจุดหนึ่งปั่นไฟเองไม่ไหว ใช้น้ำมันไม่ไหว เรายิ่งเดินเครื่องจักรยิ่งขาดทุน ซื้อไฟอาจถูกกว่า แต่มีเครื่องแล้วไม่ใช้ก็กระไรอยู่ เราพยายามทุกทางก็ไม่ดีขึ้น นั่นคือจุดเปลี่ยนเราลงทุนถูกจังหวะ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงพอลงทุนเรื่องโรงไฟฟ้า ต้องใช้ทุนพอควรเลยตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากนั้นบริษัทเข้มแข็ง มีกำไรทุกปี”
ปลายปี 2548 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมผ่านการทดสอบการเดินเครื่องและเริ่มผลิตกระแสฟ้าไฟและพลังงานไอน้ำและมีการขยายกำลังการผลิตพลังงานความร้อนร่วมจาก 7.5 เป็น 9.5 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นปลาย
ปี 2551 จึงเริ่มขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติเห็นชอบให้บริษัทประกอบกิจการไฟฟ้าผลิตพลังงานควบคุมและจำหน่ายไฟฟ้าได้
เติบโตอย่างยั่งยืนคือเป้าหมาย
โดยปี 2546 บริษัทเริ่มโครงการสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 7.5 เมกะวัตต์ เพื่อลดต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำทำให้ลดต้นทุนพลังงาน จากเดิมใช้น้ำมันคิดเป็นต้นทุน 30% ปัจจุบันคิดเป็น 15%
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปี 2563 อุตสาหกรรมกระดาษคราฟต์มีความต้องการใช้ 3 ล้านตัน ขณะที่กำลังการผลิตอยู่ที่ 3.9 ล้านตัน โดยปีนี้ บมจ.ยูไนเต็ด เปเปอร์ มีกำลังการผลิต 2.5 แสนตัน ที่ผ่านมาลูกค้าเป็นบริษัทในเครือ 45% บริษัทนอกเครือ 45% ส่วนที่เหลือส่งออกต่างประเทศ และในปีนี้บริษัทจะเน้นตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจีน
“ควอเตอร์แรกขายต่างประเทศเกือบ 20% จากนี้ไปจะ maintain อย่างน้อย 20% ตลาดหลักยังเป็นเมียนมา เวียดนาม แต่เราเริ่มมองไปที่จีน เพราะมี potential พอสมควร กระดาษเขาไม่พอใช้ลูกค้าในประเทศ 80% เป็นลูกค้าประจำ”
ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 3,430.44 ล้านบาท กำไรสุทธิ 863.13 ล้านบาท จำแนกตามผลิตภัณฑ์เป็นรายได้จากกระดาษคราฟต์สำหรับทำลอนลูกฟูก 2,118.89 ล้านบาท กระดาษคราฟต์ทำผิวกล่อง 1,284.54 ล้านบาท การขายไฟฟ้า 12.67 ล้านบาท และอื่นๆ 14.35 ล้านบาท
แม้จะเป็นบริษัทผู้ผลิตขนาดกลาง อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ แต่บริษัทมีจุดแข็งคือ ลูกค้ารายใหญ่เป็นบริษัทของครอบครัวชินเศรษฐวงศ์ (ตามชื่อบริษัทที่กล่าวถึงข้างต้น) มีคำสั่งซื้อประมาณครึ่งหนึ่งของยอดการผลิตทั้งหมด
สำหรับทิศทางของบริษัทในอนาคต รองกรรมการผู้จัดการตอบว่า จากสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ระยะไกลได้
“เราตั้งเป้ายอดขายได้ แต่จะขายได้หรือเปล่าไม่รู้ แต่ดีที่เราไม่มีหนี้เลย ผมมองว่า ตลาดในประเทศและต่างประเทศคงชะลอตัว ตอนนี้ตลาดแกว่งมาก ทั้งการขายและซื้อ อาจจะขาดแคลนวัตถุดิบเพราะประกาศปิดประเทศ หลายประเทศไม่มีการอิมพอร์ตและเอ็กซ์พอร์ต วัตถุดิบที่เราใช้ในการผลิตเป็นเศษกระดาษ ส่วนหนึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ และส่วนใหญ่จากทวีปยุโรป แต่ช่วงนี้ยุโรปปิดหลายประเทศไม่มีสินค้าออกมา ซึ่งจะกระทบควอเตอร์ 2 มาก กำลังวางแผนว่าจะทำอย่างไรดี
“เราพึ่งเศษกระดาษต่างประเทศ 40% ใช้กระดาษรีไซเคิล 95-96% ส่วนที่เหลือเป็นเยื่อกระดาษ เป็นสิ่งที่น่าหนักใจ แต่ทำอะไรไม่ได้ ถ้าตลาดในประเทศไปได้ดีก็ไม่เป็นไร...ตอนนี้สต็อกวัตถุดิบยังสูงอยู่มาก เราเก็บไว้เต็มที่ พอใช้ได้ประมาณเดือนเศษๆ หากเกิดเหตุอะไรยังสามารถเลี้ยงตัวได้สักพัก ส่วนของที่ซื้อไปแล้วกำลังทยอยเข้ามา”
ปัจจุบันบริษัทมีสต็อกสินค้าพร้อมส่งปริมาณ 3 สัปดาห์ของกำลังการผลิต โดยเพิ่งสร้างโกดังเก็บสินค้าเพิ่มช่วงปลายปี 2562 มีพื้นที่ 1.8 หมื่นตารางเมตร สามารถเก็บสินค้าได้ถึง 1.8 หมื่นตัน ซึ่งมีกระดาษคราฟต์ครบทุกไซส์ ทุกเกรด
“ลูกค้าต้องการอะไรเรามีครบ ต้องมีทุกอย่างเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต ธรรมชาติของลูกค้าคือ จะใช้ของพรุ่งนี้ สั่งของวันนี้เป็นแบบนี้มานานจนลูกค้าเคยชิน สาเหตุเพราะตลาด over supply อุตสาหกรรมนี้มี capacity 3.9 ล้านตัน แต่ลูกค้าในประเทศมีความต้องการใช้งาน 3 ล้านตัน”
ในภาวะที่คนไทยต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อช่วยชาติ” เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังอดไม่ได้ที่จะช็อปปิ้งออนไลน์ นั่นอาจเป็นโอกาสหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้
ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง, บมจ.ยูไนเต็ด เปเปอร์ และวัชชระ ชินเศรษฐวงศ์คลิกอ่านฉบับเต็ม วัชชระ ชินเศรษฐวงศ์ กระดาษคราฟต์ ต้นน้ำนำ "UTP" ฝ่าวิกฤต ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine