SF Cinema III: ก้าวต่อไปของพระรอง กับพระเอกวัย 23
ภาคต่อไปของ “เอสเอฟซินีม่า” กำลังถ่ายทำ จากฝีมือการกำกับของ ภานุวัจน์ ทอง-ร่มโพธิ์ ทายาทวัย 23 ใน ธีม ขยายสาขาออกหัวเมืองใหญ่และต่างประเทศ พร้อมกับสร้าง “พระรอง” ในตลาดโรงหนังไทย ให้เป็นบริษัทมหาชน
"สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์" CEO บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และทายาทคนโต "ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์" หรือ บอส ผู้ช่วย CEO ในวัย 23 ปี ย้ำถึงการตกแต่งอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแห่ง และความพยายามบำรุงรักษา หรือ ‘upkeep’ โรงภาพยนตร์ให้ดูใหม่และสะอาดตลอดเวลา ผ่านการพ่นโอโซนกำจัดกลิ่นและเชื้อโรค
การ upkeep โรงภาพยนตร์ เป็นส่วนหนึ่งของการ keep up กับการแข่งขันในธุรกิจโรงภาพยนตร์ของครอบครัว "ทองร่มโพธิ์" กว่า 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่ที่สุวัฒน์เข้ารับธุรกิจต่อจากบิดา "สมาน ทองร่มโพธิ์"ซึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อปี 2525
สุวัฒน์ในวัย 17 ปี ขณะเรียน ม.ศ.5 เข้าสืบทอดกิจการโรงภาพยนตร์ทันสมัยแห่งแรกหน้าตลาดสดขนาดใหญ่ ในจังหวัดตราด "ศรีตราดราม่า" จนกระทั่งขยายสาขาโรงภาพยนตร์ครอบคลุมภาคตะวันออกตั้งแต่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และสระแก้ว รวมทั้งทำให้กิจการสายหนังในชื่อ "สมานฟิล์ม" ได้เป็นตัวแทนจากค่ายหนังทุกค่าย
“แต่ก่อนโรงหนังเป็นแบบ stand alone มาตลอด กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนบางอย่าง โรงหนังอยู่ในที่เดียวกันนับสิบโรง ตอนนั้นผมคิดว่า ทำไมเราไม่ทำเอง เพราะหนังก็อยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว ผมอาจจะเป็น new comer ในกรุงเทพ แต่ไม่ใช่เด็กเพิ่งเกิด เราอยู่ในวงการมา 15 ปี เรามั่นใจเต็มร้อย” สุวัฒน์เล่าถึงความท้าทายช่วงเปลี่ยนผ่านจากสายหนังต่างจังหวัดสู่โรงภาพยนตร์ในเมือง
ความมั่นใจเกิดจากเล็งเห็นทำเลการสร้างโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ โดยเฉพาะในใจกลางกรุงเทพฯ ที่ยังไร้คู่แข่ง เอสเอฟจึงเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ชื่อของสมานฟิล์มถูกย่อเหลือ SF พร้อมเงินลงทุนจำนวน 600 ล้านบาทเนรมิต One Floor Entertainment พื้นที่ 25,000 ตร.ม. บนชั้น 7 ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เริ่มเปิดฉายเมื่อเมษายน 2542
เมื่อก้าวสู่ยุคใหม่ เอสเอฟเดินหน้าต่อยอดธุรกิจครอบครัวโดยภานุวัจน์ คลื่นลูกใหม่วัย 23 ปี แม้จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างประเทศนับตั้งแต่เปิดเอสเอฟสาขาแรกที่มาบุญครอง แต่หลังสำเร็จการศึกษาด้านบัญชีและการเงินจากประเทศออสเตรเลีย เขาเริ่มต้นทำงานกับครอบครัวทันทีในวัย 19 ปี รับผิดชอบงานขายข้าวโพดคั่วและบัตรชมภาพยนตร์เป็นงานแรก ก่อนจะขยับสู่งานด้านการตลาดในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดอาวุโสในปี 2553-2556
หน้าที่สำคัญเวลานี้ในฐานะผู้ช่วย CEO คือเดินหน้าการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตัวเขายอมรับว่าท้าทาย และกลุ่มเอสเอฟคงไม่ก้าวเป็นผู้เล่นหลักได้ในเวลาอันสั้น
“ความเปลี่ยนแปลงเหมือนจะง่ายแต่มันยาก มีหลายอย่างที่เราต้องปรับตัว วิธีคิดเปลี่ยนไป จากฐานที่เคยเป็น family business ผมคิดว่า ทุกคนรู้ว่าต้องทำอย่างไร มันอยู่ที่ willing ที่จะ change ตัวเองแค่ไหน” ทายาทรุ่นที่สามทิ้งท้าย