"กลุ่มธุรกิจเบียร์" ธุรกิจเสาหลักที่สร้างรายได้ให้บุญรอดฯ ในวันนี้ ตกเป็นความรับผิดชอบของ ปิติ ภิรมย์ภักดี ที่ต้องเผชิญโจทย์ที่ท้าทายไม่แพ้กันจากสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรงดุเดือดต่อเนื่อง ทั้งในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ ในภาวะที่การบริโภคเบียร์ทั่วโลกกำลังชะลอตัวลง
บนห้องทำงานชั้น 3 ของอาคารสำนักงานใหญ่ย่านบางกระบือ มองเห็นเวิ้งกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยา ปิติให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand ด้วยบุคลิกที่เคร่งขรึม พูดจาฉะฉาน ถึงแนวทางธุรกิจของบุญรอดฯ ในอนาคต “ต้องได้ ต้องได้ และต้องได้” เป็นแนวทางการบริหารและทำงาน ปิติ ภิรมย์ภักดี ในขณะที่ สันติ ย้ำสอนลูกๆ ว่า “วันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ไม่ได้ มะรืนต้องได้” ซึ่งนำมาสู่เป้าหมายผลักดันให้ธุรกิจหมื่นล้านบาทพุ่งแตะแสนล้านบาท ปิติ เล่าว่าหลายปีที่ผ่านมา ค่ายสิงห์หวนคืนบัลลังก์ผู้นำตลาดเบียร์ ด้วยส่วนแบ่ง 72% หลังจากในปี 2546 มีส่วนแบ่งเหลือเพียง 26% แต่ทว่ายุคนี้ต้องยอมรับว่าเผชิญกับความท้าทายภาวะตลาดเบียร์มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท หลังจากตลาดติดลบต่อเนื่องมาถึง 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2556-2557 จากนี้ไปอัตราเติบโตในตลาดเบียร์จะไม่หวือหวา และยังมองเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคตถึง 2 ปีข้างหน้าว่า จะยังไม่ฟื้นตัว การมองมาที่การบริหารต้นทุนระบบซัพพลายเชนทั้งหมด หากบริหารได้ดีตามแผน ภายใน 2 ปีนี้ หรือระหว่างปี 2558-2559 จะลดต้นทุนลงถึง 10% ซึ่งจะผลักดันให้ธุรกิจของบริษัทเติบโต 15-17% แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจของบริษัทจะให้ความสำคัญกับการขยาย นันแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหาร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน ซึ่งรวมแล้วสร้างรายได้ให้กับบริษัทในสัดส่วน 40% ส่วนธุรกิจแอลกอฮอล์สร้างรายได้สัดส่วน 60% แต่ปิติจะไม่ยอมลดบทบาทธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นธุรกิจสืบทอดมาตั้งแต่พระยาภิรมย์ภักดี “การทำงานของผมวางเป้าหมายเสมอและมองถึงอนาคต วาดหวัง 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจของบุญรอดบริวเวอรีจะต้องเติบโตมากกว่าเท่าตัว หรือรายได้เพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท เป็น 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งในสถานการณ์ตลาดในประเทศไม่ดี แน่นอนว่า ธุรกิจจะเติบโตต้องมาจากต่างประเทศ” ปิติ เบนเข็มการเติบโตไปที่ตลาดเพื่อนบ้าน ตั้งงบลงทุน 1 พันล้านบาท เพื่อบุกตลาด มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม และจีน ใน 3 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ารายได้ต้องเติบโต 15-20% ต่อปี ผลักดันธุรกิจของเบียร์สิงห์ ให้มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มจาก 8% เป็นถึง 15% หรือเท่ากับต้องมีเงินกลับเข้ามา 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน เขายังได้วางยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนให้ บุญรอดบริวเวอรี ก้าวสู่ตำแหน่ง 1 ใน 5 ของเอเชียในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนันแอลกอฮอล์ ซึ่งวิธีการบริหารจัดการที่ทำให้องค์กรโตรวดเร็ว จึงมองถึงการซื้อกิจการระดับภูมิภาคทั้งกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรงงาน หรือครอบคลุมทั้งหมดระบบซัพพลายเชน โดยล่าสุดบุญรอดฯ เซ็นสัญญากับพันธมิตรทางธุรกิจต่างประเทศ เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกันกับพี่ชาย ภูริต ภิรมย์ภักดี ที่มีบทบาท CEO คู่กัน ปิติบอกว่า แม้จะทะเลาะกันบ้าง แต่พวกเขามองว่า จุดเริ่มต้นของการเถียงกัน คือ ที่มาของการทำงานร่วมกัน ต่างใช้เหตุและผลคุยกันตลอดเวลา เมื่อสวมบทบาทของผู้สืบทอดกิจการ ปิติ มองว่า ในฐานะผู้นำองค์กร เขามีคติ 4 ข้อ ที่ยึดถือ คือ 1.ภาวะผู้นำไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดเวลา แต่เมื่อถึงคราวจำเป็น ก็ต้องดึงออกมาใช้ 2.คำว่า "ผู้บริหาร" ไม่ได้หมายความว่า ผู้บริหารอย่างเดียว ต้องบริหารบุคลากร ผู้ถือหุ้น นักลงทุนให้พึงพอใจ 3.ผู้รู้ ต้องแสวงหาความรู้ ที่จะมาพัฒนาองค์กรให้ก้าวและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน การดึงศักยภาพของพนักงานออกมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 4.ทำตัวเป็นผู้ฟัง ไม่ใช่มั่นใจตัวเอง รับฟังความคิดเห็นปัญหาและแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่อง: วันเพ็ญ พุทธานนท์ และ รัชนีย์ ศรีวัฒนชัยคลิ๊กอ่าน "สิงห์หนุ่มผยอง คะนองศึก" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ DECEMBER 2014