บิ๊ก คาเมร่า ปักหลักเจ้าสังเวียนตลาดกล้อง - Forbes Thailand

บิ๊ก คาเมร่า ปักหลักเจ้าสังเวียนตลาดกล้อง

จากยุคกล้องฟิล์มขาวดำสู่ยุคนวัตกรรมแห่งกล้องดิจิทัลชื่อของ ชาญ เธียรกาญจนวงศ์ ถูกบันทึกลงประวัติศาสตร์ในฐานะผู้นำธุรกิจกล้องเมืองไทยที่ไม่เคยหวั่นต่ออุปสรรคและความท้าทาย ภารกิจต่อจากนี้ของเหล่าทายาทคือการขยายส่วนแบ่งตลาดให้เป็น 70% พร้อมมองหาโอกาสในประเทศเพื่อนบ้าน

ชาญ เธียรกาญจนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท บิ๊กคาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกกับ Forbes Thailand ว่า ความสำเร็จนั้นไม่เคยได้มาเพราะ “โชคช่วย” หากแต่เป็นการมี “วิสัยทัศน์” ผนวกกับความเป็น “นักสู้” ที่มุ่งมั่นปลุกปั้นให้ร้านจำหน่ายกล้องนาม “บิ๊ก คาเมร่า” สามารถฟันฝ่าขวากหนามจากวันที่มรสุมทางการเงินรุมเร้า จนถึงวันย่างเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ซัดให้ธุรกิจกล้องฟิล์มไทยซวนเซครั้งยิ่งใหญ่ ในวันนี้ บิ๊ก คาเมร่า ไม่เพียงแค่รอดแต่กลับผงาดขึ้นเป็นศูนย์รวมกล้องและอุปกรณ์ค้าปลีกครบวงจร มีสาขา 240 แห่งทั่วประเทศ เป็นธุรกิจค้าปลีกกล้องที่ใหญ่ที่สุดในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน ปี 2559 ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท มีรายได้รวมและกำไรสุทธิ ณ วันที่ 30 กันยายนปีเดียวกัน ที่ราว 3.87 พันล้านบาท และ 545.6 ล้านบาท พร้อมพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง หนุ่มใหญ่วัย 60 ปี ปรากฏตัวพร้อมธนสิทธิ์ ลูกชายคนโตผู้เป็นหนึ่งในกำลังหลักของเขาที่ บิ๊ก คาเมร่า แกลเลอเรีย สาขา ดิ เอ็มควอเทียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาเด่นชาญในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจพาเราดำดิ่งสู่อดีต เริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่เกิดในครอบครัวฐานะยากจน โดยพ่ออพยพมาจากเมืองจีน เด็กชายชาญจึงต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเมื่ออายุย่างเข้า 20 ปี ชาญทำงานเป็นลูกจ้างธุรกิจค้าส่งอุปกรณ์ล้างรูป โดยมีจุดเปลี่ยนจากชีวิตลูกจ้างคือการถูกเบี้ยวค่าคอมมิชชั่นของผลกำไรตามที่สัญญาไว้ก่อนหน้านี้ ชาญจึงตัดสินใจเจรจากับเถ้าแก่จนได้เงินก้อนมาทั้งสิ้น 6 หมื่นบาทและลาออกพรอ้มความคิดจะสร้างธุรกิจของตัวเองจึงถูกจุดประกายขึ้น ชาญชิมลางทำธุรกิจของตัวเองเมื่ออายุราว 27 ปี โดยเป็นพ่อค้าขายส่งสินค้าอุปกรณ์ล้างรูปต่างๆ ซึ่งเป็นงานเหมือนกับครั้งที่เคยเป็นลูกจ้าง จากประสบการณ์ที่สั่งสมบอกชาญว่าต้องไม่ไปท้าชนกับรายใหญ่ทว่า ต้องหาช่องว่างทางการตลาดให้เจอในที่สุดเขาก็พบว่าตลาดที่ควรเจาะเข้าไปคือร้านถ่ายรูปรายเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองซึ่งรายใหญ่เข้าไปไม่ถึง ชาญดึงดูดลูกค้าด้วยการเสนอบริการและเครดิตที่ดี และแล้วในระยะเวลาไม่นานธุรกิจก็ค่อยๆ เติบโต   ปี 2533 เขาก่อตั้ง บริษัท ชาญ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ทำธุรกิจค้าส่งอุปกรณ์ถ่ายภาพ จวบจนปี 2538 ชาญมีทีมขาย 12 คนทั่วประเทศที่พร้อมเดินสายเข้าถึงลูกค้ารายเล็กในจังหวัดต่างๆ ซึ่งผลจากการทำงานหนักดังกล่าว ทำให้ ชาญ เอ็นเตอร์ไพรส์ กลายเป็นบริษัทค้าส่งอุปกรณ์ถ่ายรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในเวลาต่อมา ชาญจับตาดูความเป็นไปในธุรกิจกล้องและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เขาเห็นว่าการค้าส่งไม่น่าจะใช่ทางรอดในยุคที่การค้าเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เมื่อธุรกิจค้าปลีกเข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้มีประสิทธิภาพกว่าจึงตั้ง บริษัท บิ๊ก คาเมร่า จำกัด ขึ้นในปี 2540 จำหน่ายกล้องผ่านร้านบิ๊ก คาเมร่า แห่งแรกที่คาร์ฟูร์ สาขาสุวินทวงศ์ ตามด้วยสาขาบางใหญ่ แต่ก็ต้องประสบสภาวะขาดทุนทำให้เริ่มสับสนถึงแนวทางการทำธุรกิจ แต่ความวุ่นวายใจก็หมดไปเมื่อสาขารังสิตและเชียงใหม่ที่เพิ่งเปิดกิจการได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี จึงตัดสินใจขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชาญเล่าว่า ในช่วงที่ขาดทุนนั้น เขาแก้ปัญหาด้วยการปิดตัวธุรกิจค้าส่ง แล้วนำเงินมาจ่ายหนี้บริษัทที่ให้เครดิตสินค้ามาจำหน่ายก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อรักษาเครดิตทางธุรกิจไว้ จากนั้นค่อยทยอยจ่ายหนี้และดอกเบี้ยรวมแล้วราว 40 ล้านบาทให้ธนาคาร ซึ่งมีหลักประกันเงินกู้เป็นอาคารสำนักงานและบ้านของเขา ชาญเริ่มจ่ายหนี้ในปี 2542 และปลดหนี้ได้ในปี 2547 “สไตล์ผมถ้าอะไรไม่ใช่ ผมจะไม่อาลัยอาวรณ์เลยว่าตั้งมากี่ปีหรือขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งมาแล้ว อย่างธุรกิจค้าส่งผมก็ไม่ยึดติด ถ้าต้องปิดก็คือปิด” ชาญ กล่าวตรงไปตรงมา สอดรับกับบุคลิกของเขาที่ดูโผงผางและกล้าลุย เขากล่าวติดตลกว่าถ้าวันนั้นไม่มีวิสัยทัศน์และไม่มีใจที่กล้าพอจะเปลี่ยนแปลงอะไร คงต้องไปขายเต้าฮวยเสียแล้ว ทุกวันนี้ ชาญปล่อยมือจากธุรกิจลงบ้างเพื่อให้ลูกๆ ได้แสดงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ออกมาอย่างเต็มที่ แต่หากเป็นเรื่องที่จะมีผลสำคัญต่อองค์กร เขายังคงเป็นผู้ตัดสินใจหลักอยู่นั่นเอง “ผมพูดกับลูกๆ ว่าสมมติผมสร้างตึก 5 ชั้น หน้าที่ของผมคือสร้างโครงสร้างให้แข็งแรง ส่วนตึกหลังนี้จะสวยหรือไม่สวยก็อยู่ที่รุ่นเขาว่าจะออกแบบตกแต่งอย่างไร” ชาญพูดพร้อมหันไปหา ธนสิทธิ์ ลูกชายวัย 34 ปี ซึ่งกล่าวเสริมว่าพ่อของเขาเป็นคนทำงานหนัก เวลาว่างของชาญจึงไม่ใช่การเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ทว่า กลับเป็นการสนทนากับภรรยาและลูกๆ ถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ สิ่งนี้เองทำให้เขาและชิตชัย น้องคนรองซึ่งอายุห่างกันเพียง 1 ปี ซึมซับและเรียนรู้ธุรกิจกล้องมาตั้งแต่เด็กบทบาทผู้จัดการทั่วไปสองพี่น้องเริ่มภารกิจรีแบรนดิ้ง บิ๊ก คาเมร่า ให้ทันสมัย เพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่อีกสองรายคือโฟโต้ฮัทและโฟโต้ไฟล์ พวกเขาว่าจ้างบริษัทภายนอกทำการสำรวจว่าลูกค้าจดจำ บิ๊ก คาเมร่า ได้จากอะไรคำตอบที่ได้คือสี ซึ่งประกอบไปด้วยสีแดง น้ำเงิน และขาว ทั้งคู่จึงปรับโลโก้ที่ชาญเคยออกแบบไว้เป็นรูปตัว “B” และมีมงกุฎให้เป็นชื่อร้านภาษาอังกฤษ มีผีเสื้อซึ่งเป็นตัวแทนของสีสันอยู่ด้วย และนำ 3 สีที่เป็นเหมือนภาพจำของแบรนด์มาใช้“ตอนแรกผมไม่ยอม โลโก้ (อันเก่า) นี้เฮงผมทำมาจนเจริญแล้วจะเปลี่ยนได้อย่างไร” ชาญกล่าวกับเราพลางหัวเราะ แต่เมื่อได้ฟังเหตุผลจากลูกๆ แล้วเขาจึงยินยอม “ผมโบราณก็จริง แต่ผมรับฟัง” ธนสิทธิ์และชิตชัยยังปรับรูปแบบร้านและการจัดวางให้เป็นระบบการขับเคี่ยวสูงเป็นแรงผลักให้ทั้งคู่คิดปรับกลยุทธ์ธุรกิจครั้งใหญ่ราวปี 2553-2554 พวกเขามองถึงการนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อทำให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้น “คุณพ่อบอกว่าธุรกิจของเราขยายตัวอยู่แล้ว และเราก็ไม่ต้องการเงิน แต่ผมมองว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทมั่นคงและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เหมาะกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าปรับตัวไม่ทัน วันหนึ่งเราอาจเจ๊งโดยไม่รู้ตัวก็ได้” ธนสิทธิ์เอ่ย ชาญปฏิเสธแทบจะทันทีเมื่อลูกๆ มาปรึกษา เขายืนกรานว่าบิ๊ก คาเมร่า ยังมีกำไรและไปได้ดีภายใต้การบริหารงานแบบครอบครัว อีกประการเป็นเพราะชาญเกรงว่าความเป็นเจ้าของจะหายไป สองพี่น้องจึงเก็บความคิดดังกล่าวไว้และรอจังหวะหารือกับผู้เป็นพ่ออีกครั้ง ธนสิทธิ์ทอดเวลา “ผมเคยคุยกับภรรยาช่วงก่อนเข้าตลาดหุ้นว่า วันนี้ถ้าไม่ยอมเสียหายก็หมายความว่าเราไม่ยอมวาง ถ้าหมดลมแล้วลูกไม่มีประสบการณ์ บริษัทก็จะเสียหายและล่มสลาย วันนี้เรายังอยู่และถ้าให้ลูกทำแล้วเกิดความเสียหาย เรายังควบคุมได้และเขาก็จะเก่งขึ้นเอง” คือหนึ่งในเหตุผลของชาญ ในปัจจุบันปัญหาชวนขบคิดและต้องแก้ไขให้ทันสถานการณ์คือการเผชิญหน้ากับการมาถึงของสมาร์ทโฟนที่ตีตลาดกล้อง compact อย่างหนัก ผู้บริหารพ่อลูกจึงตัดสินใจจำหน่ายสมาร์ทโฟน โดยวางให้เป็นธุรกิจอีกหนึ่งขาที่จะเกื้อกูลธุรกิจกล้อง เกิดเป็นร้าน BIG Mobile by BIG Camera ในปี 2556 ขณะนี้มีราว 25 สาขา จำหน่ายสมาร์ทโฟนแท็บเล็ต และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มีแบรนด์อาทิ Samsung Sony I-Mobile Asusเป็นต้น และในเดือนตุลาคมปีที่แล้วก็ได้รับสิทธิ์จาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ท เวอร์ค จำกัด ในการบริหาร AIS Shop by Partner จำนวน 3 สาขา พร้อมคาดหวังการเติบโตที่สูงขึ้น ธนสิทธิ์ตั้งใจเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดกล้องของบิ๊ก คาเมร่า ให้ได้ถึง 70% จึงวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจไปสู่การพิมพ์ภาพ ปี 2558 จึงเริ่มติดตั้งเครื่องพิมพ์ภาพ Quick Print Station สั่งพิมพ์ภาพจากสมาร์ทโฟนได้ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ร้านบิ๊ก คาเมร่า สาขาต่างๆ และปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับฟูจิฟิล์ม เปิดร้าน Wonder Photo Shop by BIG Camera ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ให้บริการพิมพ์ภาพจากกล้อง “เราจะขยายการพิมพ์ภาพให้เป็นธุรกิจหลักในอนาคต” พร้อมเตรียมเปิดร้าน Wonder Photo Shop เพิ่มอีก 5 สาขาในต้นปีนี้ พร้อมทั้งมองหาโอกาสในตลาดต่างประเทศ อาทิประเทศเวียดนาม ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยคือกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปรุกธุรกิจค้าปลีกที่นั่นอย่างจริงจัง ส่วนบิ๊ก คาเมร่า เองอาจเข้าไปทำธุรกิจในรูปแบบการร่วมทุนกับนักธุรกิจในพื้นที่ เมื่อไรแม้ตลาดกล้องอาจไม่เติบโตเป็นมูลค่าหมื่นล้านเหมือนเมื่อก่อน แต่ชาญและธนสิทธิ์ก็จะยังเดินหน้าเพื่อรักษาเก้าอี้ผู้นำในธุรกิจไว้อย่างไม่หวั่นเกรงใคร “พ่อเคยพูดกับผมว่า เศรษฐกิจที่ดีมากๆ ก็มีคนเจ๊ง เศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดก็มีคนรวย เพราะฉะนั้นการค้าขึ้นอยู่ที่คนทำคำสอนนี้ผมเอามาสอนลูกๆ อยู่เสมอ” ชาญปิดท้าย  
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "บิ๊ก คาเมร่า ปักหลักเจ้าสังเวียนตลาดกล้อง" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560