รุ่น 2 กลุ่มฮาโก้ต่อยอดธุรกิจหมื่นล้าน - Forbes Thailand

รุ่น 2 กลุ่มฮาโก้ต่อยอดธุรกิจหมื่นล้าน

ตระกูล “ดาวพิเศษ” ผู้บุกเบิกกลุ่มฮาโก้หนึ่งในเจ้าตลาดสินค้าสุขภัณฑ์แบบ B2B และยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตก๊อกนํ้าเพื่อการส่งออก ภายใต้ทายาทรุ่น 2 ฐิติพงศ์ และพีรพงศ์ เร่งขยายธุรกิจ โดยเฉพาะร้านอาหารและโรงแรม พร้อมเตรียมรุกธุรกิจร้านอาหารในต่างแดน ต่อยอดธุรกิจหมื่นล้าน

ผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์นานาชนิดที่ได้รับการคัดสรรและจัดเรียงอย่างสวยงามบนชั้น 28 ในเนื้อที่ 1,200 ตารางเมตร ณ ตึกเดอะไนน์ทาวเวอร์ บี ไม่ใช่พียงโชว์รูมสินค้าอันยิ่งใหญ่แต่ยังเป็นเหมือนสถานที่ระลึกถึง “ตำนาน” ของ บริษัท ฮาโก้ กรุ้ป (1991) จำกัด ที่ก่อตั้งมากว่า 40 ปี โดย สมพงศ์ ดาวพิเศษ ผู้ฝ่าฟันชีวิตขัดสนในวัยเด็ก และมุ่งมั่นเอาชนะอุปสรรคทั้งปวงจนก่อร่างสร้างธุรกิจหมื่นล้านในปัจจุบัน สมพงศ์ในวัย 77 ปี ปรากฏตัวพร้อมกับ อรัญญา ผู้เป็นภรรยา ฐิติพงศ์ บุตรชายคนโต และ พีรพงศ์บุตรคนเล็กของครอบครัว เพื่อต้อนรับทีม Forbes Thailand อย่างอบอุ่น และถ่ายทอดเรื่องราวของการต่อสู้และไม่ยอมแพ้ต่อความยากจน กระทั่งก่อตั้งบริษัทและขยับขยายจนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าสุขภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศ กลุ่มฮาโก้ยังร่วมทุนกับบริษัทเยอรมนีสร้างโรงงานผลิตก๊อกน้ำ เป็นเจ้าของโรงแรมหรูอย่าง คาซา เดอ ลา ฟลอร่า ที่เขาหลัก จ.พังงา และร้านอาหารดังนาม “เสวย” ครอบครัวดาวพิเศษยังถือหุ้นราว 30% ในบริษัท บุญถาวร เซรามิค จำกัด เจ้าของศูนย์รวมของตกแต่งบ้านบุญถาวรที่มียอดขายรวมปี 2557 ราว 9.79 พันล้านบาท กำไรสุทธิราว 393 ล้านบาท ล่าสุด สมพงศ์เปิดเผยว่า มูลค่าธุรกิจโดยรวมที่ตระกูลดาวพิเศษเข้าไปลงทุนน่าจะสูงถึงราว 2 หมื่นล้านบาท รุ่นบุกเบิกสมพงศ์เกิดในครอบครัวยากจน พ่อเป็นชาวประมงและแม่มีอาชีพเลี้ยงหมู แต่โชคยังเข้าข้างเขา เพราะได้รับการสนับสนุนจากบาทหลวงให้เข้าศึกษาฟรีในโรงเรียนเซนต์คาเบรียล แลกกับการช่วยงานในพิธีต่างๆ ทางศาสนา สมพงศ์จบการศึกษามัธยม 8ด้วยการสอบเทียบ เขาตอบแทนบาทหลวงที่ช่วยอุปการะ ด้วยการรับหน้าที่สอนหนังสือนักเรียนชั้นประถม 1 ในโรงเรียน ได้เงินเดือนตอบแทน 650 บาท พร้อมกับสอนพิเศษหารายได้เพิ่มอีกทาง เวลาต่อมา เขากับพรรคพวกตัดสินใจเปิดโรงเรียนชื่อ เซ็นต์ปีเตอร์ แต่ก็ดำเนินการได้เพียง 3 ปีก่อนจะปิดตัวลง เพราะต้องคืนที่ดินให้เจ้าของ ทำให้เงินที่เก็บสะสมมาหมดไป เขาจึงตัดสินใจสอบชิงทุนโคลัมโบเพื่อไปศึกษาต่อด้านการตลาดที่ออสเตรเลียโดยใช้เวลาศึกษาอยู่ที่นั่นกว่า 3 ปีเขายอมรับว่าการศึกษาและประสบการณ์ในต่างประเทศ เปิดโลกทัศน์เขาให้กว้างขึ้นและความรู้ด้านการตลาด ได้ตอกย้ำความคิดที่จะสร้างธุรกิจตัวเองให้เป็นจริงขึ้นมา “ความรู้สำคัญที่สุด แต่ผมไม่มีเงิน จึงอาศัยทุนการศึกษามาตลอด ผมเลือกเรียนการตลาดก็เพื่อเป็นพ่อค้า” สมพงศ์กล่าว เขากลับเมืองไทยเมื่ออายุ 27 ปี และเริ่มต้นลงทุนต่าง ตั้งแต่ตัวแทนขายหนังสือ ร่วมลงทุนขายสินค้าเคมี จำหน่ายสุขภัณฑ์แทนจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของสมพงศ์คือ การเป็นตัวแทนของ ผลิตภัณฑ์โกรเฮ่(Grohe) ก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์สัญชาติเยอรมัน ซึ่งเขาเห็นโอกาสในตลาด จึงชักชวนเพื่อนสนิทอย่าง วิวัฒน์ ทยานุวัฒน์ (ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท บุญถาวร เซรามิค จำกัด) เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน ทั้งคู่ช่วยกันขายสุขภัณฑ์นำเข้าของโกรเฮ่จนเติบใหญ่ในอีก 10 ปีต่อมา จนวันหนึ่งสมพงศ์ได้ชักชวนวิวัฒน์ให้ขยายธุรกิจเพิ่มเติมทั้งคู่ได้ตัดสินใจตั้งบริษัทร่วมทุน บุญถาวร ขึ้นมี 3 สาขาในช่วงเริ่มต้น สาขาแรกตั้งอยู่ที่รังสิต บนเนื้อที่ 10 ไร่ ตามด้วยสาขาปิ่นเกล้าและบางนาในขณะที่บุญถาวรกำลังเติบโต จนวันหนึ่ง สมพงศ์เล็งเห็นโอกาสที่จะทำให้บริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วยการสร้างโรงงานผลิตสินค้าในประเทศ เขานำความคิดนี้ไปปรึกษากับซีอีโอทุกคนในโกรเฮ่ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธกลับมาทุกครั้ง เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มเปลี่ยน จีนมีบทบาทสำคัญ และเศรษฐกิจในเอเชียก็เริ่มเติบโตโกรเฮ่จึงทบทวนแผนการลงทุน และตัดสินใจร่วมทุนกับกลุ่มฮาโก้ตั้งโรงงานผลิตก๊อกน้ำที่ อ.แกลง จ.ระยอง บนเนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งแรกของโกรเฮ่ นอกประเทศเยอรมนี โดยสินค้าที่ผลิตมากกว่า 90% จากโรงงานแห่งนี้ถูกส่งออกไปทั่วโลก สมพงศ์ยังมองการณ์ไกล ขยายธุรกิจไปยังด้านอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพิงกิจการเดียวเขาเริ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารเสวยซึ่งเป็นร้านอาหารเก่าแก่ของตระกูลโดยมีรุ่น 2 เข้ามาบริหารงาน “ตอนนี้ผมอายุ 77 แล้ว จะไปถืองานไว้คนเดียวได้อย่างไร ต้องให้ลูกๆ มาช่วยขอให้เขาทำจริง รู้จริง และมั่นใจในสิ่งที่ทำ” สมพงศ์กล่าวถึงลูกชายทั้งสอง คือ ฐิติพงศ์วัย 34 ปี และพีรพงศ์ วัย 32 ปี ฐิติพงศ์ พกความรู้ปริญญาตรีด้านกราฟิกดีไซน์จาก Savannah College of Art and Design สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทด้านการตลาดจาก Kingston University ประเทศอังกฤษ เข้ามาดูแลกลุ่มฮาโก้ในตำแหน่ง Senior Marketing Director รับผิดชอบธุรกิจด้านสุขภัณฑ์ โดยเขายังเดินตามกลยุทธ์ที่สมพงศ์วางไว้เพื่อต่อกรกับคู่แข่งรายใหญ่ ด้วยการคงความสัมพันธ์อันดีกับหุ้นส่วนซัพพลายเออร์ ผู้ร่วมงาน และลูกค้าการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพการมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีคุณภาพสินค้าเป็น “แต้มต่อ” ขณะที่บทบาทของพี่ชายอยู่ที่ธุรกิจสุขภัณฑ์เป็นหลักน้องชายอย่างพีรพงศ์ ซึ่งตอนนี้เป็น Director ของกลุ่มฮาโก้ ก็ขอฉีกแนวมาทำธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ด้วยเหตุว่าไม่ชอบขายสุขภัณฑ์ และต้องการสร้างแบรนด์ของตนเองในฐานะรุ่น 2 จึงสานต่อธุรกิจโรงแรมที่ช่วงเริ่มแรกสมพงศ์ ผู้เป็นพ่อเริ่มบุกเบิก เพราะเห็นว่าการสร้างโรงแรมคือการเพิ่มมูลค่าให้ที่ดินเมื่อ เขาหลัก จ.พังงา คือจุดหมายติดอันดับโลกของผู้ชื่นชอบท้องทะเล สมพงศ์จึงซื้อที่ดินเพื่อสร้าง ลา ฟลอร่า รีสอร์ท แอนด์ สปา และเปิดในราวไตรมาส 3 ปี 2547 โดยมีอัตราการเข้าพักเต็มต่อเนื่องทว่า สึนามิที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนั้นได้คร่าชีวิตพร้อมกวาดสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินไปแทบสิ้น ทำให้พีรพงศ์ซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ปี 2 คณะบริหารธุรกิจ สาขาบัญชี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯ-พังงา อยู่เสมอเพื่อช่วยดูแลธุรกิจโรงแรม ถึงกับท้อแม้ภรรยาและลูกๆ จะมองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจโรงแรมที่พังทลาย แต่สมพงศ์ก็เลือกจะสู้ เพราะมองว่าเขาหลักยังสวยงามและยังดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกต้นเดือนมกราคม ปี 2548 เขาสั่งทรายมาถมที่เพื่อสร้างโรงแรมขึ้นใหม่ และช่วงนั้นเมื่อมีใครมาเสนอขายที่ดิน สมพงศ์ก็รับซื้อหมดเนื่องจากราคาถูก จากเดิมที่มีอยู่ 5-6 ไร่ มาถึงตอนนี้เขามีที่ดินผืนงามติดถนนและติดทะเลรวมแล้วกว่า 100 ไร่ “ถ้าตอนนี้ผมจะขายที่ดิน มูลค่าก็เพิ่มขึ้นหลายเท่า” สมพงศ์เสริมปลายปี 2548 ลา ฟลอร่า รีสอร์ท แอนด์สปา ก็เปิดตัวอีกครั้ง ด้วยงบลงทุนราว100 ล้านบาท จากนั้นสมพงศ์ก็ให้ลูกๆ ลุยธุรกิจโรงแรมเต็มที่ ฐิติพงศ์ใช้จุดแข็งของกลุ่มฮาโก้ที่ทำงานร่วมกับสถาปนิกมากมาย เชิญสถาปนิกมือรางวัลมาร่วมงาน เช่น ดวงฤทธิ์ บุนนาค มาออกแบบเดอะ นาคา จ.ภูเก็ต และนำสุขภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่กลุ่มฮาโก้จัดจำหน่ายมาใช้ในโรงแรมทั้งหมด ส่วนพีรพงศ์ซึ่งนอกจากระดมความคิดกับพี่ชายแล้ว ยังรับผิดชอบการบริหารจัดการต่างๆ ด้วยปัจจุบัน ครอบครัวดาวพิเศษมีโรงแรม 6 แห่ง ครอบคลุมลูกค้าระดับกลาง-ไฮเอนด์โดย 3 แห่งอยู่ที่เขาหลัก และอีก 3 แห่งอยู่ใน จ.ภูเก็ต ภายใต้ บริษัท เอส.ที.พี.กรุ๊ป แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งครอบครัวร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น สยายปีก “เสวย” พี่เขยของสมพงศ์ผู้มีชื่อว่า “เสวย” ได้เปิดร้านเสวยที่ห้างไทยไดมารูในปี 2515 ต่อมาครอบครัวของสมพงศ์ได้ร่วมหุ้นเปิดสาขาที่ริเวอร์ซิตี้ หลังหมดสัญญาเช่าพื้นที่เสวยก็อนุญาตให้เขาทำร้านอาหารในชื่อเดิมต่อ สมพงศ์จึงเปิดสาขาที่เป็นของตนเองในย่านศรีนครินทร์และที่ป่าตองถึงกระนั้น ร้านเสวยก็เป็นเหมือนธุรกิจกึ่งงานอดิเรก เพราะธุรกิจหลักของครอบครัวคือสุขภัณฑ์ กระทั่งเมื่อพีรพงศ์มาจับงานโรงแรมเต็มตัวและมีแนวโน้มไปได้ดี เขาจึงขอปัดฝุ่นร้านเสวยให้ทันสมัยขึ้น “ทุกคนรู้จักร้านเสวย แต่ที่แปลกคือรู้จักแต่ไม่ไปกิน เพราะเขาติดภาพว่าร้านนี้เน้นกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่” ภารกิจรีแบรนด์ดิ้งร้านเสวยจึงเกิดขึ้นในปี 2556 วางตำแหน่งให้เป็นร้านอาหารไทยสไตล์ casual dining เจาะกลุ่มลูกค้าทุกวัย มีฐิติพงศ์และภรรยาที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาช่วยปรับภาพลักษณ์ ลดเมนูลงครึ่งหนึ่งให้เหลือราว 150 เมนู และทำการตลาดในโลกออนไลน์ ปัจจุบันมีร้านเสวยทั้งหมด 8 แห่ง อยู่ในย่านพระราม 9 ท่ามหาราช ปิ่นเกล้า เป็นต้น ล่าสุดคือสาขาสุขุมวิท 26 เปิดเมื่อเดือนเมษายนนี้ ซึ่งพีรพงศ์วางให้เป็นสาขาเรือธง ด้วยพื้นที่กว่า 900 ตารางเมตรเสิร์ฟทั้งอาหารไทยและอาหารทะเลเหมือนสาขาป่าตอง และลงทุน 15 ล้านบาท สร้างครัวกลางขึ้นที่ถนนจันทน์ รองรับการผลิตอาหารได้ 15 สาขา เพื่อรักษามาตรฐานรสชาติอาหารให้คงที่ พีรพงศ์กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารเสวยยังมีรายได้ไม่มากนัก เนื่องจากอยู่ระหว่างขยายงานและปรับภาพลักษณ์ เขาคาดว่ารายได้รวมปีนี้น่าจะอยู่ที่ 240-250 ล้านบาทเพิ่มจาก 180 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการขยายสาขา ขณะที่ปีหน้ารายได้รวมน่าจะอยู่ที่ 270-280 ล้านบาท สมพงศ์ยังคงเป็นที่ปรึกษาให้ลูกๆ แต่ก็มีบ้างที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน “โชคดีที่คุณพ่อเป็นคนหัวสมัยใหม่ เปิดใจฟังความคิดเห็นของลูกและก้าวทันโลก อย่างเรื่องการตลาดดิจิทัล คุณพ่อก็ให้นำมาใช้” ฐิติพงศ์เสริมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างคนสองรุ่น ทิศทางการเติบโตของธุรกิจใต้ชายคาบ้าน “ดาวพิเศษ” จะยังคงเดินหน้าเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น โดยมีทายาทรุ่นที่ 2 เป็นผู้กุมบังเหียน “วันหนึ่งคุณพ่อก็คงให้สลับกันดูแลเพราะฉะนั้นเราต่างต้องดูแลธุรกิจที่เรารับผิดชอบให้อยู่ตัวและทำให้เต็มที่มากที่สุด” พีรพงศ์ปิดท้าย   เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ และ สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "รุ่น 2 กลุ่มฮาโก้ ต่อธุรกิจหมื่นล้าน" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine