จักรยานสัญชาติไทย ขอท้าชิงเอาชัยในสนามธุรกิจจักรยานอันเข้มข้น ตั้งเป้ารายได้ราว 3,500 ล้านบาทในปีนี้
“ผมภูมิใจมากที่เป็นผู้ผลิตจักรยานแบรนด์ไทย” คือประโยคที่ สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายจักรยานแบรนด์ LA Bicycle ย้ำกับ Forbes Thailand ระหว่างการสนทนา สุรสิทธิ์ ชายผู้สั่งสมประสบการณ์ธุรกิจมาครึ่งศตวรรษ จึงไม่หยุดนิ่งในการคิดและพัฒนาสินค้ามาตอบความต้องการของตลาด “ผมมีหน้าที่หาสิ่งใหม่มาให้ทุกคนอยู่เสมอ” สุรสิทธิ์วัย 70 ปี บอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่น สุรสิทธิ์ เติบโตในครอบครัวชาวจีนจากย่านสำเพ็ง มีโอกาสเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเผยอิง เรียนต่อโรงเรียนสีตบุตรบำรุง หลังเลิกเรียนช่วยที่บ้านขายผ้า กระทั่งอายุ 19 ปี ก็ไปเรียนด้านพาณิชย์ที่เมือง Penang ประเทศมาเลเซีย และกลับมาประเทศไทยในปี 2510 เวลาเดียวกับที่ผู้เป็นพ่อก่อตั้ง บริษัท สามพรานการทอ จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านโรงงานสิ่งทอที่อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม โดยสุรสิทธิ์และน้องชายสุรพลจึงช่วยกันดูแลธุรกิจ วิถีแห่งจักรยานของสุรสิทธิ์ เริ่มต้นในปี 2531 เมื่อร่วมลงทุนเพื่อนชาวไต้หวันเปิดบริษัทส่งออกจักรยานไปต่างประเทศ เพียงกว่าขวบปีเขาก่อตั้ง บริษัท บางกอกไซเคิ้ล อินดัสเตรียล จำกัด ทำธุรกิจโรงงานรับจ้างผลิตจักรยานป้อนให้แบรนด์ต่างประเทศ มีตลาดหลักคือไต้หวันและหลายประเทศในยุโรป เมื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” พ่นพิษ จากจุดเริ่มต้นสู่จุดเจ็บทำเอาหุ้นส่วนชาวไต้หวันขอถอนการลงทุน แม้ได้รับผลกระทบแต่เขากลับพลิกวิกฤตและสู้ต่อ กลายเป็นจุดพลิกผันของธุรกิจเช่นกันเมื่อช่องว่างในตลาดจักรยานยังมีลู่ทางสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ เขาจึงตัดสินใจสร้างแบรนด์เพื่อจำหน่ายในเมืองไทย สู่จุดกำเนิดของ บริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและจำหน่ายจักรยานแบรนด์ LA Bicycle “การค้าขายทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่ถ้าเชื่อมั่นว่าเรามีเทคโนโลยีด้านนี้ และถ้าเชื่อมั่นว่ามีฝีมือ ทุกอย่างก็เป็นไปได้” คือสิ่งที่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ LA Bicycle คิดในขณะนั้น จากประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมเกิดเป็นยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ไทยราคาย่อมเยา ทนทาน แต่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ผลิตจักรยานสำหรับกลุ่มเด็ก กลุ่มชาวบ้านหรือเป็นที่รู้จักในชื่อจักรยานแม่บ้าน และจักรยานสปีดเกียร์เพื่อสร้างสมรรถนะจากการใช้จักรยาน โดยมี จันทนา ติยะวัชรพงศ์ ผู้เป็นหลานเข้ามาช่วยดูแลด้านการตลาด ไม่นานนัก LA Bicycle ได้กลายเป็นแบรนด์จักรยานที่คุ้นหูคนไทยพร้อมกับยอดขายที่มากขึ้น “ถ้าเป็นจักรยานที่ผลิตในไทย ทุกวันนี้เราครองส่วนแบ่ง 60-70%” สุรสิทธิ์ กล่าว ความแข็งแกร่งธุรกิจจักรยานสะท้อนอย่างเด่นชัดจากการผลิตจักรยานปีละ 500,000-600,000 คัน โดยบริษัทภายใต้ความดูแลของสุรสิทธิ์ พร้อมทั้งตัวแทนจำหน่ายกว่า 300 รายทั่วประเทศ ด้วยตัวเลขการเติบโตและกระแสความนิยมในการขับจักรยานส่งผลให้ตลาดจักรยานเติบโตต่อเนื่องอย่างมากในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โดยปี 2558 มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ราว 6,500 ล้านบาท ขณะที่มีผู้ใช้จักรยานราว 3 ล้านคนทั่วประเทศ เมื่อตลาดเปิดกว้างผู้เล่นที่หลากหลายต่างกระโดดเข้ามาเพื่อเจาะตลาดผู้ซื้อเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ทั้งการไหลบ่าของจักรยานต้นทุนต่ำกว่าจากประเทศจีน ความนิยมในจักรยานสปีดเกียร์ เป็นต้น LA Bicycle จึงออกกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้เพื่อปิดรูรั่วทางด้านธุรกิจ อาทิ การนำเข้าจักรยานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทุกกลุ่มผู้บริโภคในทุกสัดส่วนตลาด การสร้างแบรนด์ Infinite จักรยานสปีดเกียร์ พร้อมกับการร่วมมือ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ปั้นทีมจักรยาน Singha Infinite Cycling Team รวมไปถึงการสร้าง Culture Cyclist Shop สาขาใหญ่ที่พุทธมณฑลสาย 4 บนพื้นที่ราว 1,000 ตารางเมตร เพื่อเป็น bike studio รวบรวมจักรยานทุกแบรนด์ที่ผลิตและนำเข้าไว้ในที่เดียวกัน และการรุกตลาดจักรยานไฟฟ้า มี จุฑาทิพย์ ทายาทเป็นผู้บริหาร เป็นผู้นำพัฒนาและช่วงชิงสัดส่วนการตลาดจักรยานไฟฟ้า “เราต้องรู้ว่าจุดอ่อนของเราอยู่ตรงไหน เมื่อรู้แล้วก็ต้องเสริมให้แข็งแรงขึ้น” สุรสิทธิ์กล่าว สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ ในวัย 70 ปี ยังกระฉับกระเฉงและมีไฟในการทำงานอยู่เสมอ นอกจาก จุฑาทิพย์-ลูกสาวคนสุดท้อง ที่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจจักรยาน ยังมี สรัญญา-ลูกคนที่สอง รับผิดชอบส่วนงานรับจ้างผลิตจักรยานส่งออกต่างประเทศ ส่วนลูกๆ อีก 3 คนดูแลธุรกิจแตกต่างกันไป วรลักษณ์-ลูกคนโต ช่วยบริหารกิจการสิ่งทอ จันทิมา-ลูก คนที่สาม รับผิดชอบแบรนด์ Healthy Mate ซึ่งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และสถาพร-ลูกคนที่สี่ บริหารจัดการร้านอาหาร Midwinter Green ที่ เขาใหญ่ นครราชสีมา

คลิ๊กอ่าน "ปั่นสองล้อสู่เส้นชัย แบบ LA Bicycle" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MAY 2016ในรูปแบบ E-Magazine
