วิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ตั้งเป้า 5 ปี NAM สู่โกลบอลแบรนด์ - Forbes Thailand

วิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ตั้งเป้า 5 ปี NAM สู่โกลบอลแบรนด์

รุ่น 3 ของครอบครัวที่ไปเรียนและสร้างครอบครัวอยู่ออสเตรเลีย เมื่อบิดามีปัญหาด้านสุขภาพเขาจึงต้องกลับมาช่วยดูแลกิจการ และพบว่าธุรกิจการผลิตเครื่องนึ่งฆ่าเชื้อสำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ครอบครัวทำอยู่นั้น เป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ในเอเชีย ล่าสุดเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    

    ความที่ในวัยเด็กเติบโตมาอยู่กับโรงงานตึกแถว ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน ชีวิตวนเวียนเหมือนเดิมทุกวัน เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับตนเอง หลังเรียนจบ ม.6 เขาจึงขวนขวายไปเรียนปริญญาตรีที่ต่างประเทศ ติดต่อทุกอย่างด้วยตัวเองกระทั่งก่อนเดินทางไม่กี่วัน บิดาจึงรู้ว่าเขาจะไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย วิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ทายาทหนุ่มวัย 45 ปีบอกว่า “ไปแบบหนี ไม่ได้กลับบ้าน 5-6 ปี”

    

เบอร์ 1 ในอาเซียน

     

    หลังเรียนจบปริญญาตรีด้าน Commerce และปริญญาโท Information System จาก University of Tasmania ประเทศออสเตรเลีย เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้านไอที และได้ทุนเรียนต่อปริญญาเอก เขาตั้งใจว่าจะปักหลักอยู่ต่างประเทศอีกนาน เพราะมีงานประจำ มีครอบครัว และซื้อบ้านไว้แล้ว ทว่าเมื่อบิดามีปัญหาด้านสุขภาพ ในฐานะลูกคนโตจึงกลับมาดูแลกิจการของครอบครัว ตอนแรกคิดว่าจะเข้ามาชั่วคราวเพราะต้องกลับออสเตรเลีย ทว่าท้ายสุดก็ไม่ได้กลับไป “กลายเป็นว่าผูกอย่างหนึ่งไปผูกอีกอย่างหนึ่ง เป็นเงื่อนใหญ่ที่ต้องดูแลและผลักดันให้ไปต่อ” 

    “พอเข้ามาปุ๊บเพิ่งรู้ว่าเราเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ในเอเชีย เพราะไม่ค่อยมีผู้ผลิตแบบนี้ แม้กระทั่งปัจจุบันเราเป็นที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านเครื่องนึ่งฆ่าเชื้อ...เดือนแรกก็ขอซื้อที่ดินขยายโรงงาน ตอนนั้นอยู่พระราม 3 เข้าไปคุยกับแบงก์ด้วยตัวเอง แบงก์ยังถามมี 5 ล้านจะกู้ซื้อสินทรัพย์ 10 กว่าล้านได้ไง เดิมคุณพ่อไม่ได้คิดวางแผนเติบโตขยายกิจการ” 

    วิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NAM เล่าถึงสาเหตุที่เขาเข้ามาสานต่อกิจการทั้งที่ไม่เคยถูกวางตัวมาก่อน และอธิบาบถึงลักษณะของธุรกิจว่าเป็นผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่ายอุปกรณ์ทำความสะอาดเครื่องมือทางการแพทย์ในระดับปราศจากเชื้อเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ 

    พูดง่ายๆ คือ วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์มี 2 แบบคือ ใช้แล้วทิ้ง และนำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น อุปกรณ์ หรือสายต่างๆ ที่สอดใส่เข้าไปร่างกาย เมื่อใช้แล้วเปื้อนเลือด เสมหะ หรืออื่นๆ ก่อนน้ำมาใช้กับคนไข้รายต่อไปต้องฆ่าเชื้อทำความสะอาดเพื่อให้อุปกรณ์ปราศจากเชื้อ เขาทำในแบบหลัง

    ช่วงที่โควิดระบาดหนักในปี 2563 NAM ได้มีส่วนร่วมสำคัญ โดยบริจาคเครื่องอบฆ่าเชื้อด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (พลาสม่า) ซึ่งเป็นนวัตกรรมของบริษัทจำนวน 25 เครื่อง ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขสำหรับอบฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 และชุด PPE ให้นำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก 

    “สายช่วยหายใจเกือบ 80% นำกลับมาใช้ใหม่ โรงพยาบาลหลายแห่งใช้เป็นพันเส้นต่อวัน...เป็น opportunity มากเลย เป็นหลังบ้านซึ่งเราไม่เห็น เตียงผ่าตัดใช้เสร็จแล้วทำไงให้สะอาด 50 ปีที่แล้วเราขาย (อุปกรณ์) ตัวเดียว วันนี้ขายหลายตัว เปรียบเหมือนครัว มองง่ายๆ เรามีเตา เตาไมโครเวฟ…จนวันนี้ลูกค้าให้พื้นที่มา เราสามารถสร้างครัวและทำครัวให้ด้วย ถ้าคุณไม่มีพื้นที่สร้างครัว เราเอาครัวโมบายล์มาให้ด้วย ผมสร้างได้ทั้งครัวตามมาตรฐานเลย” 

    จากยอดขาย 3-5 ล้านในปี 2543 ปี 2552 แตะหลักร้อยล้าน ล่าสุดปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,110.69 ล้านบาท กำไรสุทธิ 175.81 ล้านบาท ทั้งกำลังจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2566

    ปัจจุบัน NAM มีทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 700 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เป็นทุนเรียกชำระแล้ว 297.5 ล้านบาท โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 181 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25.86% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ 

    เงินทุนที่ระดมได้จะนำมาลงทุนในโรงงานผลิตแห่งใหม่ พัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ ร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ หรือมีนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ 

    “งบฯ 500 ล้าน ลงทุนในส่วนการตั้งโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์/เครื่องมือ ที่ใช้สำหรับดำเนินการผลิต เราซื้อที่ดินไว้ 17 ไร่ อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ก่อสร้าง อยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อรองรับการเติบโต หนึ่งในกลยุทธ์คือ หาโอกาสเติบโตกับพันธมิตร เราจะไปยุโรป อเมริกา ยากแล้ว ถ้าไม่มีพาร์ตเนอร์...การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลักๆ เพื่อเปิดขีดความสามารถให้โตอย่างจริงจัง ตามตลาดที่โตด้วย opportunity”

    

เริ่มจากเครื่องนึ่งไอน้ำ

    

     บริษัท นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2513 โดย วิชัย ชัยเทอดเกียรติ และครอบครัว เปิดร้านชื่อ “หนำซุย” เป็นธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กในอาคารพาณิชย์ เริ่มต้นจากการประกอบธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องนึ่งไอน้ำ (steam sterilizer) ด้วยพลังงานแก๊ส นำไปใช้ในกระบวนการทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องแรกที่ผลิตขึ้นโดยฝีมือคนไทย จำหน่ายให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ต่อมาขยายตลาดสู่สถานพยาบาลต่างๆ ของภาครัฐ 

    เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่อยอดการใช้งานให้สะดวกมากขึ้น ทัดเทียมกับมาตรฐานทางการแพทย์สากล ปี 2537 จึงลงทุนสร้างโรงงานแห่งแรกที่บริเวณถนนพระราม 3 เพื่อรองรับการผลิตที่ขยายตัวสูงขึ้น และจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศ ตั้งแต่สถานพยาบาลขนาดเล็กจนถึงโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งขณะนั้นสถานพยาบาลต่างๆ เริ่มมีการพัฒนามาตรฐานทางการรักษา โดยเฉพาะความสะอาดของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญต่อการรักษาและมีอัตราการติดเชื้อที่สูง 

    ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจ ผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับปราศจากเชื้อในโรงพยาบาลและสถานพยาบาล รวมทั้งผลิตและจัดหน่ายน้ำยาและวัสดุสิ้นเปลืองสำหรับใช้ร่วมกับเครื่องมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ และให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร อาทิ การบำรุงรักษาซ่อมแซมเครื่องมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ บำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

      1. กลุ่มผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ (manufacture and sales of medical devices หรือ SM) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่คิดค้น วิจัยและพัฒนา ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์สะอาด ปราศจากเชื้อ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่กับผู้ป่วยรายถัดไปได้ตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข 

      2. กลุ่มผลิตและจำหน่ายวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (manufacture and sales of medical consumables หรือ CS) บริษัทผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่ใช้ร่วมกับเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ และผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ร่วมกับเครื่องทำความสะอาด อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง ซึ่งใช้ควบคู่กับเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ น้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับงานล้างอุปกรณ์ในกระบวนการแช่และล้างทำความสะอาด และน้ำยาที่ใช้ในกลุ่มเครื่องฆ่าเชื้อในอากาศ 

      3. งานให้บริการ เป็นการให้บริการหลังการขาย บำรุงรักษา ซ่อมแซมเครื่องมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ปราศจากเชื้อ วางแผนและปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาลให้เป็นตามมาตรฐานสากล บริการบำบัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ 

    ลูกค้าสำคัญคือ โรงพยาบาลและหน่วยงานองค์กรทางด้านสาธารณสุข กว่า 1,200 แห่ง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. โรงพยาบาลรัฐซึ่งเป็นลูกค้าหลัก 2. หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาทางการแพทย์ตามมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ศูนย์บริการสาธารณสุขต่าง ศูนย์อนามัย เทศบาล มูลนิธิ เรือนจำ สถานบำบัดและพักฟื้นผู้ติดยา 3. โรงพยาบาลเอกชน 4. คลินิกเอกชนและอื่นๆ

    จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักงานหลัประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น การใช้อุปกรณ์และบริการจึงมีจำนวนครั้งมากตามไปด้วย เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตและให้บริการด้านนี้มีไม่มากนัก มีเพียงบริษัทจากยุโรปและจีน หากเป็นผลิตภัณฑ์จากยุโรปราคาสูงกว่าของ NAM 2-3 เท่า
“อุปกรณ์ที่ต้องฆ่าเชื้อเรามีเกือบครบทุกประเภท basic ครบหมดแล้ว รวม 230 SKU ต้อง specialize ลงไปอีก เรา plan จะผลิตเครื่องล้าง เครื่องเก็บฆ่าเชื้อ..การทำความสะอาดอุปกรณ์การแพทย์ที่ special มี niche ที่ต้องเข้าไปอีก การผ่าตัดแบบส่องกล้องเมื่อก่อนต้องเข้ารับบริการในตัวเมือง ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งก็ทำได้แล้ว”

    

อิงมาตรฐานสากลสร้างความเชื่อมั่น

     

    ตอนที่วิโรจน์มาสานต่อกิจการของครอบครัว ขณะนั้นบริษัทผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ แต่จากประสบการณ์ที่ได้ใช้ชีวิตในต่างประเทศทำให้เขามีความคิดว่า สินค้าต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลเพื่อให้ผู้ใช้บริการยอมรับ เขาจึงส่งให้หน่วยงานต่างประเทศตรวจสอบรับรอง ซึ่งแต่ละประเภทมีค่าใช้จ่ายหลักล้านบาท นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในขณะนั้น 

    “มาวันแรกสิ่งที่เราต้อง re-engineering ใหม่คือมาตรฐาน เริ่มเอา ISO มาจับ เราเคยทำงานที่ออสเตรเลีย น้องสาวภรรยาเป็นหมอมีโอกาสเข้าไปโรงพยาบาล ไปดูเครื่องมือแพทย์ เวลาโรงพยาบาลสั่งซื้อดูเรื่องมาตรฐาน จึงคิดว่าหากจะขายก็ต้องดูมาตรฐาน เรา (ผลิต) ได้มาตรฐานอเมริกา ยุโรป แต่ไม่ได้ส่งออกประเทศเหล่านั้น 

    “เราเอามาตรฐานมาจับ ไม่ได้เพื่อขาย แต่ต้องการให้คนไทยรู้ว่าเราผลิตมาตรฐานเดียวกับยุโรป อเมริกา เราทำแบบนี้ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว ลงทุนค่าตรวจตัวละ 2-3 ล้าน ซึ่งแพงมาก มี 2 ทางคือจะทำเพื่อไปต่อหรือยังไม่ทำ ขายและเก็บเงินไปเรื่อยๆ แต่ผมตัดสินใจไปทางนั้นเลย ถ้าเอาความคิดนี้ไปคุยกับยุโรป เขาก็ทำแบบนี้” 

    โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับมาตรฐานสากล อาทิ ASME, ISO 13485, ISO 9001, ISO 14001 และ CE Mark เป็นต้น และมีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่จดสิทธิบัตรแล้ว 40-50 ชิ้น 

    “ใช้เวลานานมากกว่าที่คนในประเทศยอมรับ 50 ปีเราล้มลุกคลุกคลาน มีเสียง complain ว่าเป็นของไทย ตอนนี้เราเติบโตจนส่งออกได้ แต่ยังมีแรงต้านอยู่บ้าง...บังเอิญว่าเราอยู่ใน position เป็นผู้ผลิตในประเทศที่ตอบโจทย์ solution ทั้งหมด...(ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้) นำเข้าจากยุโรปและจีน แต่หลักๆ เรา cover เกือบหมดในประเทศ ด้วยราคาที่ต่างกัน 2 เท่า” 

    ทั้งนี้ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์มูลค่า 96,587 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าสูงสุดคือ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์มูลค่า 36,534 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค และกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยมีมูลค่า 30,548 และ 29,509 ล้านบาท ตามลำดับ 

    ขณะที่มีการส่งออกเครื่องมือแพทย์มูลค่า 119,200 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกสูงสุด เป็นกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์มูลค่า 101,818 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค โดยมีมูลค่า 14,444 และ 2,937 ล้านบาท ตามลำดับ
ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตจากยุโรปต้องการเปิดตลาดเอเชีย แต่แข่งขันยากเพราะข้อจำกัดด้านราคาที่สูงกว่า 2-3 เท่า จึงใช้วิธีการร่วมทุนหรือเทคโอเวอร์บริษัทท้องถิ่นเพื่อใช้แบรนด์นั้นๆ จับกลุ่มตลาดระดับกลางและล่าง ซึ่ง NAM ก็ถูกทาบทามเช่นกัน 

    “ช่วงที่ผ่านมามีคนติดต่อขอซื้อเราเยอะ ขอเป็นพาร์ตเนอร์หรือซื้อบริษัท วันนี้ (ตลาด) ยุโรป อเมริกา โตเต็มที่ อุปกรณ์เป็นพรีเมียม ขายฝั่งนี้ลำบาก ลดราคาไม่ได้ สิ่งที่เขาทำคือ ซื้อบริษัท และมองว่า NAM มีสินค้า เป็นแบรนด์ระดับกลางและล่าง...แต่เราเป็นธุรกิจครอบครัวไม่คิดว่าจะขาย เราบอกแบ่งให้เท่านี้เขาก็บอกว่า 3 ปีให้ลดสัดส่วนลงก็คุยกันไม่จบ...ต่อมาได้คุยกับ ปตท. ซึ่งให้แง่คิดว่าทำไมเราไม่ไปซื้อเขา มีแบรนด์เราตรงนี้ แบรนด์ต่างประเทศอยู่ตรงโน้น ทำให้ vision ด้านการขยายตลาดกว้างขึ้น 

    “ตอนนี้ตลาดอยู่ที่บ้านเรามาก เอเชียมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน เขาพยายามมาที่นี่ ทั้งที่เราก็อยู่ที่นี่ มี player น้อยราย ทั้ง Johnson,s, 3M อยู่โน่นหมด แต่ NAM อยู่ที่นี่ เราต้องการ shining ให้รู้ว่าเราเป็น global player มาจากไทย...เรามีพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพ ทั้งด้านบุคลากร finance, connection ที่จะพาเราไปตรงนั้นได้ เราจะไปซื้อเขาแทน” 

    ความเชื่อมั่นนี้ด้านหนึ่งนั้นมาจากการที่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด บริษัทในกลุ่ม ปตท. เข้าร่วมลงทุนด้วยวงเงินประมาณ 800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหุ้น 17.65% เพราะเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ และร่วมกันขยายตลาดสู่ต่างประเทศ รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เครื่องมือที่ใช้ในห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน และห้องผู้ป่วยหนัก (ICU)
“เราอยากเป็น global brand เป็นเหตุผลให้เราร่วมกับ ปตท. ปลุกปั้นแบรนด์ไทยไปแบรนด์โลก กำลังการผลิต เทคโนโลยี วิจัย คน ต้องพร้อม...ตั้งเป้าว่า 5 ปีต้องเป็นที่รู้จักในเอเชีย เราขายเยอะที่เวียดนาม พม่า เราส่งไปจีน ตั้งไว้ข้างๆ กับแบรนด์ยุโรปเลย ทางนั้นซื้อ 2 ตัวแล้ว อยากให้มี awareness brand เราใน global” วิโรจน์กล่าวในตอนท้าย

    

    อ่านเพิ่มเติม : ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ญนน์ โภคทรัพย์ มืออาชีพนำทัพ CRC โตยั่งยืนคู่สังคม - ความยั่งยืน

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine