นภัทร อัสสกุล ชูเสน่ห์ไทยอวดโฉม “บัญดารา” - Forbes Thailand

นภัทร อัสสกุล ชูเสน่ห์ไทยอวดโฉม “บัญดารา”

โจทย์ธุรกิจที่ได้รับจากครอบครัวให้นั่งเก้าอี้ขุนพลนำทัพโรงแรมในกลุ่มไทยสมุทรและโอเชี่ยน กรุ๊ป ในฐานะทายาทรุ่น 3 ประกาศความภาคภูมิโรงแรมเชนไทยสร้างชื่อทั่วโลกพร้อมร่วมขับเคลื่อนอาณาจักรหมื่นล้านข้ามผ่านความท้าทายและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง


    การเบนเข็มเส้นทางชีวิตและการทำงานที่แตกต่างจากข้าราชการหนุ่มอนาคตไกลในกระทรวงการคลังมาเป็นผู้บริหารโรงแรมในกลุ่มธุรกิจกงสีของครอบครัวในฐานะทายาทรุ่น 3 ที่เป็นกำลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนสร้างการเติบโตให้อาณาจักรอัสสกุล ซึ่งมีธุรกิจหลากหลายประเภท

    ภายใต้บริษัท โอเชี่ยนโฮลดิ้ง จำกัด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประกันชีวิต โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องแก้ว อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม ยกตัวอย่าง เช่น บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด(มหาชน), บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน), บริษัท โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัท สยามเอสเตท จำกัด เป็นต้น

นภัทร อัสสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามเอสเตท จำกัด และกรรมการ บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัท อาร์ เอ็ม ไอ จำกัด และ บริษัท แฮนส์ เมเนจเมนท์ จำกัด กล่าวถึงการเริ่มต้นศึกษาปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ สาขาผู้ประกอบการและสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Babson College, Massachusetts สหรัฐ-
อเมริกา และปริญญาโท สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

    เขาสั่งสมประสบการณ์ทำงานเป็นเศรษฐกร สำนักงานนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ประมาณ 5 ปี ก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัวในปี 2548 

    “เรารับราชการอยู่ 5 ปี เรียนโทที่ศศินทร์และกลับไปทำงานรับใช้ชาติ 1 ปี จึงออกมาช่วยที่บ้าน จากข้าราชการ C4 ถ้าอยู่ต่อน่าจะได้เลื่อนเป็น C5 เมื่อมาบริหารธุรกิจก็ต้องปรับเยอะมาก ซึ่งงานราชการที่เราทำสามารถช่วยเรื่อง manage คน และ expectation ได้ โดยเฉพาะการแปลความต้องการให้เป็นสิ่งที่เรา offer ได้ เพราะงานโรงแรมเป็นงานที่ทำให้คนมีความสุขและต้องดูแลด้วยความเข้าใจในความต้องการของผู้ที่มาใช้บริการ"


รับภารกิจปั้นโรงแรมเชนไทย

     แม้หมวกใบใหม่ที่ต้องสวมในฐานะทายาทจะแตกต่างจากการทำงานที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง แต่ นภัทรสามารถปรับประสบการณ์และผสมผสานแนวทางการบริหารธุรกิจได้อย่างลงตัว โดยมุ่งเน้นที่ความเข้าใจความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการมากที่สุดด้วยระบบการทำงานเป็นขั้นตอนเพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

    โปรเจ็กต์แรกที่นภัทรได้รับมอบหมายให้ดูแลการก่อสร้างบัญดารารีสอร์ท แอนด์ สปา สมุย ซึ่งเป็นโรงแรมขนาดใหญ่แห่งแรกของบริษัทที่ตั้งอยู่ติดกับหาดบ่อผุด เกาะสมุย 

    การดีไซน์ออกแบบเน้นความร่มรื่นของต้นไม้และความโปร่งรับลมทะเลเย็นสบายให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติบนเกาะ พร้อมดีไซน์ห้องพักให้มีหลากหลายรูปแบบเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เข้าพักได้อย่างครอบคลุมรวม 168 ห้อง และสิ่งอำานวยความสะดวก เช่น สปา ร้านเสริมสวยและทำเล็บ ห้องฟิตเนส มังกี้คลับ (คลับสำหรับเด็ก) สระว่ายน้ำา 4 สระ ห้องอาหาร และบีชบาร์ริมชายหาด“



    “เดิมที่นี่เจ้าของทำบังกะโลเล็กๆ ไว้ และคุณพ่อซื้อมา เพราะเรายังไม่มี footprint โรงแรมบนชายหาด ซึ่งจากการทำอสังหาริมทรัพย์มาก่อนทำให้เรารู้ว่าโลเกชั่นเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยความที่สมัยนั้นเกาะสมุยมีความเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์มาก โดยเฉพาะฝั่งเกาะช่วงเวลาเที่ยงคืนหรือตี 2 ขึ้นไปจะมืดมากจนสามารถเห็นทางช้างเผือกและนอนดูดาวสวยมาก แค่เดินบนหาดทรายและได้มานอนดูดาวที่นี่ก็มีความสุข ทำให้เราตั้งชื่อว่า บัญดารา ซึ่งมาจากหน้าบันและดารา รวมถึงจากที่คุณพ่อดูดวงพยัญชนะต่างๆ ก็เป็นชื่อที่ดีลงตัว”

     ระหว่างการก่อร่างสร้างโครงการบัญดารา รีสอร์ท แอนด์ สปา สมุย ให้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย นภัทรยังทุ่มเทศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมเชิงลึกจนกระทั่งเล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการเพิ่มโรงแรมในเครือและจำนวนห้องให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านต้นทุนและความคุ้มค่าในการลงทุนด้านการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์โรงแรม 

    รวมถึงการสร้างแบรนด์บัญดาราให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลังจากเปิดโรงแรมที่สมุยและดูหลักการทำงานหลายอย่าง ทำให้เข้าใจว่า การทำโรงแรมเดียวเหนื่อยกว่าการมีหลายโรงแรม เช่น การซื้อโฆษณาสำหรับโปรโมต 1 หน้า ไม่ว่าจะมีกี่โรงแรมก็ราคาเท่ากัน 

    ถ้ามีจำนวนห้องขายมากก็มีตัวหารมาก ดังนั้น นภัทรจึงเดินหน้าขยายธุรกิจและสร้างชื่อบัญดาราอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากโครงการบัญดารา สวีท สีลม กรุงเทพฯ และเปลี่ยนชื่อชินเฮาส์ให้อยู่ภายใต้แบรนด์ บัญดารา 

    ขณะเดียวกันยังเลือกปักหมุดโรงแรม 5 ดาวและ 3 ดาวในภูเก็ต ได้แก่ บัญดาราวิลล่า ภูเก็ต ซึ่งเป็นวิลล่าระดับ 5 ดาว มีห้องหลากหลายรูปแบบขนาดเริ่มต้น 60 ตารางเมตรขึ้นไป จำนวน 33 หลัง เน้นความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย และวิวมุมกว้างด้านทะเลที่ล้อมรอบด้วยต้นไม้ 


 

   ส่วนบัญดารา ภูเก็ต บีช รีสอร์ท ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวปะการัง โดยโรงแรมตั้งอยู่หน้าชายหาดเน้นการตกแต่งด้วยลวดลายของปะการัง และใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในห้องพัก 116 ห้องใช้โทนสีขาว สีฟ้า และสีทองของไม้สะอาดตา

    เราย้ำกับทีมงานเสมอว่าเราไม่ได้ขายห้องนอน แต่เราขายบรรยากาศความรู้สึกที่ลูกค้าเข้ามาพักผ่อน และดูแลเอาใจใส่ลูกค้าเหมือนคนในบ้าน โดยเราอาจจะไม่ได้มี tagline เก๋ๆ ไปขาย แต่เน้นอยู่กันนานๆ ลูกค้าบอกต่อ และสามารถจำชื่อแม่บ้านหรือบาร์เทนเดอร์ของเราได้”


ผนึกกำลังพลิกฟื้นธุรกิจ

    จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยถือเป็นบททดสอบความสามารถของคลื่นลูกใหม่ของครอบครัวอัสสกุลในการนำธุรกิจฝ่าวิกฤต และพลิกผลขาดทุนให้กลับมาเป็นกำไรอย่างรวดเร็วที่สุด

    “ธุรกิจที่เกาะสมุย 95% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราต้องอยู่กับความเป็นจริง ซึ่งเราเป็นโรงแรมท้ายๆ ที่ปิดในเกาะสมุย และดูแลพนักงานจ่ายเงินจนวันสุดท้าย เราหาวิธีให้พนักงานใช้พื้นที่เปิดร้านอาหารและให้เงินซื้ออุปกรณ์ครัว ทำให้หลังจากกลับมาเปิด พนักงานที่เกาะสมุยมาสมัครโรงแรมเราจำนวนมาก เพราะโมเดลธุรกิจเราดูแลแบบคนในครอบครัว เราอาจจะไม่ได้ให้ทุกอย่างที่มี แต่ให้ที่ดีที่สุดและเท่าเทียมกัน”

    นอกจากนั้น นภัทรยังเตรียมความพร้อมสร้างการเติบโตรับนักท่องเที่ยวเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังสถานการณ์โควดิ -19 คลี่คลายด้วยการรีโนเวตโรงแรมบัญดารา วิลล่า ภูเก็ต 

    เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่ติดทะเละแบบไม่มีถนนกั้น ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องอาจชำรุดทรุดโทรมลงก่อนเวลา รวมถึงปรับดีไซน์ให้สอดคล้องกับความนิยมของนักท่องเที่ยวไทยและเอเชียที่เข้ามาเที่ยวมากขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด-19

    “เราต้องทำตัวให้ดูใหม่ ไม่น่าเบื่อเพื่อให้เขาเลือกเรา ส่วนกรุงเทพฯ โควิด-19 ทำให้เรารู้ว่า anything’s possible และต้อง dynamic อย่าง service apartment ข้างหลังโรงแรมเราเปลี่ยนเป็น ASQ, Hospitel ผ่านมาหมดแล้ว เราจะทำอย่างไรให้รอด ทั้งลดเงินเดือนตัวเองและพนักงาน”

     ขณะที่นภัทรยังสนใจขยายการลงทุนผ่านการรับซื้อกิจการโรงแรมบนเกาะหรือทะเลเมืองรอง เช่น เกาะยาว เกาะเต่า และพะงัน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติที่เดินทางมายังเมืองไทย และเริ่มมองหาทางเลือกแหล่งท่องเที่ยวใหม่ 

    โดยการลงทุนพื้นที่ใหม่อาจจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปีนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและพิจารณาความเหมาะสมของครอบครัว ส่วนการบริหารโรงแรมจะมุ่งเน้นด้านการตลาดและการขายมากกว่าการเป็นเชนบริหารเต็มตัว 

    เนื่องจากเชื่อในภาพลักษณ์ของโรงแรมที่ควรมีคาแร็กเตอร์สะท้อนตัวตนของแบรนด์และเจ้าของโรงแรม รวมถึงความท้าทายในการสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าของโรงแรมควบคู่กับการสร้างการเติบโตให้กับโรงแรมที่รับบริหาร


    “เราคาดหวังการเติบโตที่จะกลับไปเท่าปี 2562 ได้ เพราะภาพใหญ่การท่องเที่ยวกลับมาแล้ว โอกาสมีมากมาย วันนี้เราอายุมากขึ้นก็อาจจะต้องหาทีมที่เข้าใจตลาดใหม่ แนวทางการสื่อสารที่อาจจะเปลี่ยนไป แต่โจทย์เดิมยังไม่เปลี่ยนคือลูกค้ายังมองหาสถานที่สบายกาย สบายใจและมีความสุข” 

    "ช่วงที่เราเปิดโรงแรมครั้งแรกอายุ 20 ปลายๆ เราสัญญากับพนักงานว่า เราเป็นแบรนด์ใหม่สำหรับคนไทยที่จะทำให้พนักงานทุกคนภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่และบอกกับพนักงานว่านอกจากเรื่องอย่าโกหกเรายังขอให้เหล่าพนักงานอย่าดูแลคนไทยเหมือนเป็นประชาชนชั้นสอง เพราะเราเคยพักโรงแรมของคนไทยในจังหวัดอื่นและไม่ได้รับการดูแลเช่นเดียวกับต่างชาติ เราจึงเน้นย้ำพนักงานให้ดูแลคนไทยกับต่างชาติเท่ากัน”

    นอกเหนือจากกุญแจความสำเร็จที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้ในระยะยาวด้วยบุคลากรหรือทีมงานของโรงแรมที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว 

    ทายาทรุ่น 3 ยังเผยถึงปิดท้ายหลักธุรกิจที่ได้รับการถ่ายทอดจากบิดาที่ส่ามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งการใช้ชีวิตและการทำงานว่าอย่าคิดว่าเราเก่งทุกเรื่อง และอย่าสอนคนอื่นทุกเรื่อง เช่น อย่าคิดว่าเราทำกับข้าวเก่งกว่าพ่อครัว เขามีอาชีพของเขาเพราะเขาเก่ง เราเลือกจ้างคนเก่งทำในสิ่งที่เราต้องการได้ มันคือการ management เหมือนผู้จัดการจะทำเองทุกเรื่องไม่ได้

    ส่วนหลักบริหารส่วนตัวของเราง่ายๆ คือ "ความซื่อตรง ใจเขาใจเรา ถ้าไม่อยากได้แบบไหนก็อย่าทำแบบนั้นกับคนอื่น และถ้าอะไรที่มองแล้วไม่เห็นทางออกอย่าเข้าไป ถ้าธุรกิจไม่ honest ผมไม่ทำ”


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์


อ่านเพิ่มเติม: ถาวร โกอุดมวิทย์ จรรโลงงานศิลปะ “หน้าผา รีสอร์ต”


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในรูปแบบ e-magazine