นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร ร่ายมนตร์ธุรกิจสร้าง Trik สู่สถาปนิกมิติใหม่ - Forbes Thailand

นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร ร่ายมนตร์ธุรกิจสร้าง Trik สู่สถาปนิกมิติใหม่

ส่วนผสมจากความหลงใหลด้านศิลปะและดนตรีกับความชำนาญด้านคณิตและวิทยาศาสตร์เมื่อวัยเยาว์ได้หลอมรวม นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร ที่ได้ค้นพบความชื่นชอบ “การแก้ปัญหา” ระหว่างการทำงาน จึงตัดสินใจไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษ และก่อตั้ง Trik บริษัทด้านสถาปนิกที่ผสมผสานเทคโนโลยีทันสมัยหลายแขนง ด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงก่อเกิดเป็นมนตร์ขลังของคำว่าสำเร็จพร้อมกับที่ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ กับการทำงานที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิต อดีตบัณฑิตวิศวกรรมแห่งรั้วจามจุรี ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการที่ต้องคิดค้น ลงมือ และแก้ปัญหา เมื่อโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นทำให้เธอค้นพบว่าตัวเองตกหลุมรักปัญหา พร้อมกับที่ความสำเร็จในการแก้ปัญหากลายเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตการทำงาน ทำให้เมื่อค้นพบว่ามีคอร์สเรียนที่ประเทศอังกฤษซึ่งตรงกับทักษะและความชอบของตัวเอง เนื่องจากผสมศาสตร์ด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน จึงตัดสินใจเดินทางไปแสวงหาความรู้ต่อทันที “ตอนเด็กชอบศิลปะและดนตรี แต่บังเอิญเราไปเก่งทางด้านคณิตและวิทย์ ทำให้เราได้มาทำงานด้านเทคนิคมาโดยตลอด จนเรามาเจอคอร์สนี้มันจึงเหมือนเป็นการผสมสิ่งที่ชอบในวัยเด็กเข้ากับความถนัดเป็นความลงตัวที่ทำให้ชอบมาก” นัตวิไล กล่าว โครงงานสุดท้ายก่อนจบเธอตัดสินใจทำเรื่อง Human Robotic Interaction เนื่องจากต้องการพัฒนาแบบร่าง 3D ให้สมจริงผ่านการทำงานของโดรน เพื่อเก็บข้อมูลโครงสร้างงานอาคารหรือวัตถุที่ต้องการในรูปแบบดิจิทัล และพัฒนาการควบคุมสิ่งของหรือวัตถุต่างๆ เป็นสามมิติได้ง่ายขึ้นและเป็นจริงที่สุด ในช่วงแรกของการพัฒนา งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงแค่คอนโทรลเลอร์ธรรมดาในการบังคับ ก่อนที่เธอจะมาต่อยอดให้กลายเป็น “ไม้กายสิทธิ์” ในการควบคุมทิศทางของโดรน โดยแนวความคิดนี้มีที่มาจากความช่างสังเกตของเธอที่เห็นผู้คนชอบใช้มือชี้กำหนดทิศทางบวกกับเรื่องราวในวรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซีชื่อดังที่เธอชื่นชอบ จากโครงการของเธอในวันนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเป็นนวัตกรรมสำคัญของ Trik และการเริ่มต้นทำธุรกิจ ณ ประเทศอังกฤษ “เทคโนโลยีไม้กายสิทธิ์ ได้สร้างชื่อและเรียกความสนใจจากบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการให้ทุนเพื่อต่อยอดการวิจัย และดึงตัวไปทำงาน” เธอกล่าวว่านี่คือทางเลือกที่ยากลำบาก เพราะเมื่อบริษัทอย่าง Microsoft ที่ให้ความสำคัญ ยอมลงทุนมหาศาลกับงานวิจัยชิ้นนี้ อีกทั้งยังมีองค์ประกอบมากมายที่พร้อมจะผลักดันให้เทคโนโลยีไม้กายสิทธิ์สร้าง Impact ให้กับโลกได้ แต่ในใจเธอกลับเห็นว่ามันจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเธอจะลงมือทำงานชิ้นนี้ด้วยตัวเอง “สิ่งที่ยากสำหรับการตัดสินใจคือเราไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ เพราะไม่ได้เติบโตมาในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยี แต่คือผู้ใช้มาโดยตลอด และมองไม่เห็นว่าจะไปได้ไกลขนาดไหน” นัตวิไล กล่าวยอมรับซึ่งตรงกันข้ามที่ปรึกษาโครงงานของเธอกลับมองต่างและสนับสนุนว่าการที่เทคโนโลยีจากไม้กายสิทธิ์มีคนให้ความสนใจจำนวนมากนั้นแสดงได้ว่าแนวคิดดังกล่าวเดินมาถูกทาง พร้อมกับสนับสนุนให้ลงมือทำด้วยตัวเอง เสียงแนะนำดังกล่าวนี้จึงพาเธอเปลี่ยนทิศจากการเข้าทำงานในบริษัทใหญ่มาสู่การเปิดบริษัทของตัวเอง นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร

ศาสตร์ของผู้ก่อตั้ง

ปี 2015 เธอนำชื่อโครงงานวิจัยมาก่อตั้งเป็นชื่อบริษัทในนาม Trik และนำเสนอไอเดียธุรกิจ 8 แบบ เดินสายเสนอบริษัทต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ ธุรกิจพลังงานอย่างวงการน้ำมัน ธุรกิจกังหัน สถาปัตยกรรมต่างๆ อาทิ อาคาร สะพาน สิ่งก่อสร้าง ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการใช้โดรนสามารถเก็บข้อมูลและมีประโยชน์ต่อธุรกิจแค่ไหนบวกกับทุนก้อนแรกจำนวนห้าหมื่นปอนด์ที่ได้จากรัฐบาลอังกฤษที่กำลังรณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและจัดการประกวดชิงรางวัลให้เฉพาะผู้หญิง เนื่องจากความกังวลในเรื่องการแข่งขันชิงทุนซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นผู้ได้ ซึ่ง UKRI หรือ UK Research and Innovation ได้เปิดประกวดชิงรางวัลที่เรียกว่า Women in Innovation Awards ประจำปี 2016 ซึ่งในปีนั้นมีผู้หญิงที่เสนอโครงการหลายหมื่นรายซึ่งเธอเป็นหนึ่งในผู้เข้าประกวด โดยเสนอหัวข้อ “drone system” และได้รับเลือกเป็น 1 ใน 15 ผู้ชนะการประกวด ในท้ายที่สุด ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจหัวเรือใหญ่แห่ง Trik ยอมรับว่าส่วนสำคัญซึ่งทำให้ Trik เติบโตมาได้ คือความช่วยเหลือสองด้านจากเพื่อนคนไทยในการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้อง และ Global Entrepreneur Programme (GEP) ซึ่งต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการมาทำธุรกิจที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่วีซ่าการทำงาน พัฒนาเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงเสริมศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการด้วยการเข้าโครงการพัฒนาสร้างทักษะที่สำคัญเพื่อผลิตผู้มีความสามารถเข้ามาพัฒนาประเทศอังกฤษ จากเงินรางวัลที่ได้รับจากรัฐบาลอังกฤษทำให้เธอมีเงินตั้งต้นและเริ่มจ้างทีมงานด้าน Engineer Development เพื่อพัฒนาซอฟท์แวร์ ควบปีแรกธุรกิจ เธอได้ผู้ร่วมลงทุนรายแรกจากบริษัทสำรวจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอาคารในแถบเทศบาลของประเทศอังกฤษที่ต้องการนำโดรนขึ้นบินเพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มอาคาร ตึกต่างๆ ซึ่งการทำงานช่วงแรกเป็นการผสมผสานข้อมูลภาพจากโดรนและการเขียนโครงสร้างเพื่อเกิดเป็นข้อมูลภาพสามมิติ (3D) แบบดิจิทัล ข้อได้เปรียบหนึ่งของการเป็นสตาร์ทอัพคือการมีเวลาได้เรียนรู้และพัฒนาความสำเร็จไปพร้อมๆ กับการสร้างผลงาน ทำให้ในช่วง 2 ปีแรก Trik มุ่งพัฒนาหัวใจ 4 ห้องอันได้แก่ การควบคุมโดรน, การพัฒนาการซอฟท์แวร์เพื่อการแสดงผลแบบดิจิทัล,  การพัฒนาดาต้าสู่ AI อัจฉริยะ และ การมุ่งเป้าพัฒนาส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า อาทิ หน้าตาของการแสดงผล การใช้งานที่ง่ายสำหรับลูกค้าและผู้ใช้งาน เป้าหมายที่เธอตั้งเป้าไว้คือการพัฒนาความสามารถของ Trik พยากรณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตจาก AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถมองเห็นปัญหาหรือช่องทางเพื่อลงมือแก้ไข อาทิ การคำนวณงบการซ่อมแซ่มอาคาร หากซ่อมแซ่มในปีนี้เปรียบเทียบกับสามปีข้างหน้า จะใช้งบประมาณเท่าไรและซ่อมแซมในส่วนใดบ้าง

นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร

ร่ายมนตร์สู่โลกธุรกิจ

จากบริษัทเล็กๆ ผ่านมา 4 ปี Trik เติบใหญ่ มีแรงและเต็มไปด้วยพละกำลัง มีบริษัทขนาดเล็กหลักร้อยเป็นลูกค้า มีบริษัทขนาดใหญ่ขอร่วมลงทุนมากขึ้น ได้รับเงินทุนรวมกว่า 30 ล้านบาท มีทีม engineering ราว 7-8 คน ที่สลับสับเปลี่ยนเข้ามาเข้าเป็นทีมงาน กล่าวได้ว่าการให้ความสำคัญของ นัตวิไล อุทุมพฤกษ์พร ในการสร้าง 3D Data Base อันสมบูรณ์รอบด้าน คือทิศทางที่ถูกต้องและเดินหน้าพร้อมๆ กับการพัฒนา AI ขับเคลื่อนให้ 3D Data Base ก้าวข้ามสู่ 4D Data Base ประมวลหาความเสี่ยง งบประมาณการลงทุนและบำรุงรักษาอาคารและสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องในอนาคตข้างหน้า ในขณะที่ส่วนที่เธอชอบและสนุกที่สุดคือการทำงานร่วมกับโดรนเพื่อเก็บข้อมูล เทคโนโลยีการเก็บภาพและวิดีโอจากโดรนทำให้การทำงานของเธอง่าย การควบคุมโดรนในมุมต่างๆ ช่วยเก็บรายละเอียดของโครงสร้าง ช่วยลดความผิดพลาดในการร่างแบบแทนการทำงานด้วยการวาดมือแบบสมัยก่อน ซึ่งการสร้างข้อมูล  3 มิติแบบดิจิทัลเป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษกำลังผลักดันในเกิดขึ้นจริง สิ่งที่ Trik กำลังพัฒนาอีกส่วนคือการทำงานที่เชื่อมการทำงานออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน อาทิ การทำงานในถ้ำหรือการทำงานกลางทะเล และการพัฒนาระบบเพื่อรองรับบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องดูแลระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการอยู่อาศัยหรือการคมนาคม “คิดเล็กหรือคิดใหญ่ก็ทำงานเท่ากัน” เธอกล่าวให้คิด เพราะไม่ว่าจะเป็นซอฟท์แวร์สำหรับบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ มีขั้นตอนทำงานเท่ากันใช้คนเท่ากันเพื่อให้ผลงานออกมาดี "แล้วทำไมเราถึงคิดและทำอะไรที่ใหญ่เอาไว้ ดังนั้นเวลาใครมาเล่าว่าจะทำอะไร จะบอกเสมอว่าจะเล็กจะใหญ่ เริ่มต้นทำเท่ากันดังนั้นทำให้ใหญ่ไปเลย" ในวันนี้ Trik และเธอได้รับการยอมรับมากขึ้น ปี 2018 เธอติดในรายชื่อ Forbes 30 under 30 แห่งภาคพื้นยุโรปในสาขา Industry ที่รวบรวมคนหนุ่มสาวในสาขาต่างๆ ที่ผลงานที่พวกเขาสร้างก่อให้เกิดการทำงานในแนวทางใหม่และส่งกระทบให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นก้าวไปข้างหน้า สำหรับสิ่งที่ท้าทายของเธอในวันข้างหน้าคือ การเติบโตของทีมงาน เธอพยายามจินตนาการว่าการบริหารงานในวันข้างหน้าจะต้องปรับและเปลี่ยนอย่างไร เพราะทีมงานอาจขยายไปมากถึง 500 คน ซึ่งเธอยังต้องการให้ทุกคนเข้าใจเทคโนโลยีที่มีและสามารถถ่ายทอดให้ลูกค้าเข้าใจเทคโนโลยีได้เหมือนตัวเอง เพื่อที่ลูกค้าจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในธุรกิจของเขาได้ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีที่เธอพัฒนากลับใช้เพื่อคนไทย เพื่อโบราณสถาน และเพื่อสถาปัตยกรรมที่สำคัญของประเทศเก็บ Data Base ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อการเรียนรู้และการบำรุงรักษาเพื่อโบราณสถานเหล่านั้นเป็นสมบัติของชาติต่อไป ภาพ: กิตติเดช เจริญพรๅ
ไม่พลาดบทความธุรกิจ เศรษฐกิจ การเงิน ติดได้ที่แฟนเพจ facebook Forbes Thailand Magazine