วิจิตร เตชะเกษม นำ FVC ยกระดับคุณภาพชีวิต - Forbes Thailand

วิจิตร เตชะเกษม นำ FVC ยกระดับคุณภาพชีวิต

แม้ใจจริงอยากเป็นเพียงลูกจ้าง แต่ด้วยวิสัยทัศน์บวกความรับผิดชอบของ ‘วิจิตร เตชะเกษม’ ทำให้ต้องเป็นเจ้าของกิจการ จากธุรกิจนำเข้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบบำบัดน้ำ ต่อยอดมาทำหน่วยบริการฟอกเลือดไตเทียม ซึ่งกลายเป็นรายได้หลักในปัจจุบัน


    ดร.วิจิตร เตชะเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นอาจารย์ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ระหว่างนั้นทำงานเป็นนักวิจัยของบริษัทเอกชน ตามมาด้วยการเป็นโปรเจกต์แมเนเจอร์ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้งทำงานที่ บริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชัน จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดย สุภาพรรณ เยี่ยมแลงามกูล เมื่อรับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการเขาบอกว่า ขอเป็นคนกำหนดนโยบายเองและตั้งบริษัทอีกแห่งคือ FVC ด้วยเงินทุน 1 ล้าน ซึ่งเป็นเงินเก็บของตนเอง และบริหารทั้งสองบริษัทควบคู่กัน

    “ผมมีเงินเก็บอยู่ กะว่าหมดแล้วเลิก ตั้งใจให้คุณสุภาพรรณเรียน MBA on practice หวังว่าเขา fail เพราะผมชอบเป็นลูกจ้างสบายๆ มากกว่าเป็น owner แต่สุดท้ายต้องมาเป็น owner ไม่รู้จะทำยังไง ปีนี้อายุ 60 ปีแล้ว” วิจิตรกล่าวด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล


เริ่มจากอุปกรณ์บำบัดน้ำ

    บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC ก่อตั้งในปี 2538 ดำเนินธุุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์บำบัดน้ำให้บริสุทธิ์ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ปี 2543 ขยายเข้าสู่กลุ่มธุุรกิจเพื่อการพาณิชย์และที่พักอาศัย กลุ่มลูกค้า ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ

    อีก 2 ปีต่อมา บริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชัน จำกัด เข้าสู่ธุุรกิจออกแบบและติดตั้งระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์สำหรับหน่วยไตเทียม พร้อมบริการดูแล บำรุงรักษาเชิงป้องกันสำหรับระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์

    หลังนำบริษัท FVC จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ปี 2556 ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจบริการทางการแพทย์ในปี 2558 โดยตั้ง บจ. เคที เมดิคอล เซอร์วิส ดำเนินธุุรกิจให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และ บจ. เมดิคอล วิชั่น ดำเนินธุรกิจนำเข้า จำหน่าย และให้เช่าเวชภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องใช้ทางการแพทย์ รวมถึงจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ท่อลมรับสิ่งส่งตรวจทางการแพทย์

    ปี 2561 จัดตั้ง บริษัท ไฮ เฮลธ์แคร์ เซ็นเตอร์ จำกัด และเข้าซื้อแฟรนไชส์ของวุฒิศักดิ์คลินิก เพื่อเปิดให้บริการคลินิกเพื่อสุขภาพและความงาม


    FVC มีบริษัทในกลุ่ม 6 แห่ง เดิมแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย B1 กลุ่มอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านระบบน้ำ, B2 กลุ่มธุรกิจเพื่อการพาณิชย์และที่พักอาศัย นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบบำบัดน้ำให้บริสุทธิ์ ออกแบบ ประกอบ และติดตั้งระบบบำบัดน้ำ ปรับปรุง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม และที่พักอาศัย รวมถึงจำหน่ายและบำรุงรักษาอุปกรณ์อาหาร เช่น เครื่องผลิตน้ำแข็ง เครื่องจ่ายน้ำหวาน ให้กับร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารจานด่วน ปัจจุบันขยายตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจโรงแรม

    B3 หน่วยไตเทียมและบริการทางการแพทย์ ประกอบธุรกิจการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในรูปแบบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม และหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีหน่วยต่างจังหวัด และเครื่องไตเทียมมากกว่า 300 เครื่อง ลูกค้าคือสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน และ B4 กลุ่มธุรกิจความงามและผิวพรรณ ล่าสุดได้ยกเลิกไปในปี 2566


    จากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำให้บริสุทธิ์สู่ธุรกิจบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ดูแล้วเหมือนจะข้ามสายงาน เขาตอบว่า ความจริงแล้วไม่แตกต่างกัน โดยอธิบายว่า B2 ทำระบบน้ำสำหรับธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส เขาแค่ใช้วิธีการเดียวกันมาพัฒนาเป็นธุรกิจข้างต้น

    “ความหมายคือ B1 เวลาขายระบบสำหรับน้ำดี น้ำเสีย ลูกค้าเป็นโรงงานซึ่งมีช่าง engineer หน้าที่เราคือ ก่อสร้าง ออกแบบ ส่งมอบงาน maintenance เอง แต่ B2 food service (ลูกค้า) เช่น McDonald’s มีเป็นร้อย (ร้าน) ร้านสะดวกซื้อมีเป็นหมื่นสาขา เขามีทีม engineer กลุ่มหนึ่งที่เหลือจ้าง subcontractor เราโตมาจาก service provider ให้ McDonald’s, KFC พอกลับไปดูธุรกิจไตเทียม เป็นแบบเดียวกันคือ need engineering และบริการ เรามองเห็นโอกาสก็เอา solution แบบเดียวกันไปใช้ในระบบน้ำสำหรับไตเทียม”

    เป็นเวลากว่า 10 ปีที่กลุ่ม FVC ทำระบบวิศวกรรมน้ำให้กับบริษัทที่ทำธุรกิจฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยไม่สร้างหน่วยให้บริการเอง เพราะมีสัญญาใจกับลูกค้ารายใหญ่ในอดีตว่าจะไม่ทำธุรกิจด้านนี้ ต่อมาบริษัทดังกล่าวแจ้งว่าจะทำระบบน้ำเอง เขาจึงรุกเข้าสู่ธุรกิจนี้ในปี 2560 โดยเปิด บจ. เคทีเอ็มเอส (ปัจจุบันคือ บมจ. เคทีเอ็มเอส) และให้ภรรยา “กาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา” ซึ่งเป็นพยาบาลด้านไตเทียมเป็นผู้ดูแล


DNA ต้องชัด

    ช่วงแรกที่ขยายบริการเข้าสู่ธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส บริษัทวางระบบน้ำให้กับร้านสะดวกซื้อ Jiffy ภายในสถานีบริการน้ำมัน JET “ตอนนั้นเขามาเมืองไทยวางคอนเซ็ปต์ gas station ใหม่...เน้นร้าน Jiffy มีระบบน้ำและมีเซอร์วิสเชื่อมกับเครื่องทำน้ำแข็ง เปิดหน้าพร้อมๆ กัน McDonald’s, KFC ปีแรก start งบฯ ที่ 5 ล้าน...ทุกวันนี้ยอดขายใน food service ปีละ 300 ล้านบาทบวก

    ที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 มีรายได้ 379 ล้านบาท ก่อนขยับมาแตะหลัก 500 ล้านในปี 2562 ด้วยตัวเลข 537 ล้าน อย่างไรก็ดีระหว่างปี 2562-2563 บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน 252.27 และ 92.94 ล้านบาท ตามลำดับ จากกลุ่มธุรกิจความงามและผิวพรรณซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ (B4) ที่บริษัทซื้อแบรนด์และสินทรัพย์จากวุฒิศักดิ์ คลินิก จำนวน 21 สาขา และนำมาบริหารเองตั้งแต่ปี 2561 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ วิจิตรบอกว่า ธุรกิจความงามใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก ครั้นซื้อมาแล้วปรากฏว่าคนที่ต้องทำงานด้วย DNA ไม่ตรงกัน




เตรียมปั้นกลุ่มธุรกิจใหม่

    นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทผ่านมากว่า 25 ปี ผู้บริหาร FVC ไม่เคยหยุดนิ่งและมองหาโอกาสอยู่เสมอดังที่เขาบอกว่า “ถ้าเรามีเงินทุนพอจะเปิดบริษัทใหม่ มีเงินก้อนหนึ่งจะจัด portfolio อะไรขึ้นลง เราสามารถ manage business ด้วย portfolio ได้ หรือเอาอันเก่ามา maintain อย่างโรงงานอุตสาหกรรม เวลามีอะไรกระทบรายได้จากโรงงานแทบหายไปเลย”


    ปลายปี 2566 ทีมผู้บริหารได้แถลงผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 664.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 109.80 ล้านบาท คิดเป็น 19.79% จากปีก่อนหน้า

    ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านระบบน้ำ B1 บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า 8 งานมูลค่ารวม 50.94 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจพาณิชย์และที่พักอาศัย บริษัทได้รับคำสั่งซื้อในส่วนของงานติดตั้งเครื่องกรองน้ำและงานจำหน่ายเครื่องผลิตน้ำแข็งมูลค่ารวม 29.53 ล้านบาท บจ. เมดิคอล วิชั่น ได้รับคำสั่งซื้องานติดตั้งท่อลมรับส่งสิ่งส่งตรวจทางการแพทย์ 5 โครงการ มูลค่ารวม 5.2 ล้านบาท

    “เรามองว่าภายใน 5 ปีนี้ B1 จะ positioning ชัดเจน เตรียมเปลี่ยนสโลแกน B1 ให้เป็น Recycle Water and Energy ยุทธศาสตร์มุ่งไปด้านนั้น อะไรที่เกี่ยวข้องจับมารวมกันให้หมด มัน related กับกิจกรรมที่เรากำลังจะทำ แต่ยังบอกไม่ได้ ส่วน B3 จะลงทุนขยายโรงงานและเปิดหน่วยไตเทียมเพิ่ม”



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ FVC



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สุทธิเดช ถกลศรี NEO ฉีกกรอบปันบิ๊กคอนซูเมอร์

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine