ธุรกิจเครื่องบินให้เช่าเหมาลำของ MJets ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ตั้งเป้าภายใน 2 ปีมีสำนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ
จากการคาดการณ์ขององค์กรวิจัยการตลาด Mordor Intelligence ระบุว่า อุตสาหกรรมเครื่องบินเจ็ตและการบินส่วนบุคคลปี 2568 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 17,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะสูงถึง 33,380 ล้านเหรียญในปี 2573 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 13.92% แม้การเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำราคาสูงกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับสายการบินทั่วไป ทว่าสำหรับบางคนแล้วถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง
“Value การจ่ายแพง จ่ายถูก วัดกันยาก แต่ใครทำให้ mission เขาสำเร็จลุล่วงอาจสำคัญกว่า ลูกค้าเราทำไมไม่บิน business class, first class มันก็ถึงเหมือนกัน...แต่ commercial airline ใช้เวลา 2-3 วัน ขณะที่เราใช้เวลาวันเดียว...สิ่งที่เราพยายามพูดเสมอคือ เงินเสียไปหาใหม่ได้ แต่เวลาเป็นสิ่งที่เสียไปแล้วไม่สามารถเอากลับได้ private jet เหมือนเป็น tool ที่ช่วยให้นักธุรกิจหรือคนที่เวลาทุกอย่างมีค่า ใช้เป็นเครื่องร่นเวลาให้ หรือ prolong เวลาให้การเจรจาธุรกิจลุล่วงได้ ประชุมไม่เสร็จก็เลื่อนเวลาบินออกไป”
ณัฏฐภัทร สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด (MJets) ให้บริการเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวและการบินส่วนบุคคล ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อธิบายถึงเหตุผลที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ ซึ่ง 90% เป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจบริการครบวงจร โดย MJets ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 โดยความร่วมมือระหว่าง William E. Heinecke แห่ง Minor Group และ Kirit Shah แห่ง GS Group ต่อมาปี 2553 ได้สร้างศูนย์บริการอากาศยานส่วนบุคคลครบวงจร (FBO) แห่งแรกในประเทศไทย
บริษัทให้บริการธุรกิจ 7 กลุ่ม ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ บริการเครื่องบินพยาบาล การบริหารเครื่องบิน บริการอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคลพร้อมห้องรับรองพิเศษ ซ่อมบำรุงเครื่องบิน บริหารธุรกิจการบินส่วนบุคคลและการบริการภาคพื้นแบบครบวงจร และให้คำปรึกษาและดำเนินการซื้อขายเครื่องบิน
ในส่วนของธุรกิจเครื่องบินเช่าเหมาลำมีเครื่องบิน 5 ลำ ขนาด 6-16 ที่นั่ง ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสำหรับการเช่าเหมาลำเครื่องบินขนาด 6 ที่นั่ง ชั่วโมงละ 500,000 บาท โดยเส้นทางที่ให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในระยะรัศมี 6 ชั่วโมง เส้นทางที่บินเป็นประจำคือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน

คนทั่วไปอาจรู้จัก MJets ว่าเป็นผู้ให้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำ ทว่า การตั้งสำนักงานในต่างประเทศไม่มีธุรกิจนี้ แต่จะเป็นบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น บริการซ่อมบำรุงเครื่องบิน บริการอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคลพร้อมห้องรับรองพิเศษ
ลูกค้าหลักของ MJets เป็นบุคคลที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูง ผู้บริหารองค์กรและนักธุรกิจระดับสูง เจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักการทูต ผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยมีลูกค้าที่ใช้บริการเป็นประจำ 20-30 ราย หมายความว่า หากต้องเดินทางจะไม่ใช้บริการสายการบินพาณิชย์ทั่วไป แต่เรียก MJets เท่านั้น อีกกลุ่มเป็นลูกค้าทั่วไป สำหรับบริการเครื่องบินพยาบาลรับส่งผู้ป่วย บริษัทมีเครื่องบินให้บริการ 3 ลำ

“เราทำกับโรงพยาบาลทุกแห่ง มีเครื่องบินเป็น ambulance ใหญ่สุด แต่ไม่มีทีมหมอประจำ ถ้าลูกค้าต้องการไปโรงพยาบาลไหนก็ใช้ทีมแพทย์ของที่นั่น ambulance เรา standby 24 ชั่วโมง...มีบินวันละ 2-3 flight ลูกค้าไม่ใช่ผู้ป่วย แต่เป็นบริษัท insurance นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศหรือภูมิภาคนี้โดยเฉพาะยุโรปมี insurance เกือบ 100% ซึ่งครอบคลุมถึง airlift เวลาเจ็บป่วย ด้วยความที่ประเทศไทยเป็น medical hub ของ region รอบๆ ผู้โดยสารตกหน้าผาที่ลาว เราก็ไปขนส่งให้เวียดนาม พม่า กัมพูชา แทบเป็น route หลัก รวมถึงเมืองท่องเที่ยวหลักในไทย เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย เราไม่ได้รับผู้โดยสารที่มีโอกาสเสียชีวิตบนเครื่อง ส่วนใหญ่ต้อง stabilize ก่อน เราทำธุรกิจนี้มายังไม่เคยเสียผู้โดยสาร on flight เลย”
ส่วนบริการซื้อขายเครื่องบินเฉลี่ยขายได้ปีละ 3-4 ลำ ซึ่งมีลูกค้าจากต่างประเทศด้วย “พอเรามีชื่อเสียงในตลาด ลูกค้าก็มาหาเราบอกว่าอยากได้เช็กให้หน่อยเครื่องลำไหนดี การซื้อเครื่องบินมัน complicate ต้องใช้ know how และ industry knowledge ค่อนข้างเยอะ ผมมาจาก commercial airline เชื่อว่า 90% ไม่รู้หรอกว่าซื้อขายเครื่องบินทำไง พอซื้อเสร็จแล้วบริหารต่อยังไง ทำไมการซื้อขายพวกนี้จึงค่อนข้าง niche เราอยู่ในธุรกิจมานาน ลองผิดลองถูกมาเยอะ ก็พอจะมี knowledge ที่ทุกคนมา utilize เป็น consultant แบบ totally การใช้จ่ายแต่ละวัน operation ลูกค้าใช้แบบไหน...บางคนอยากใช้บริษัทที่อเมริกา หรือหา financial โซลูชันต่างๆ เราทำได้หมด”
ผ่านมาหลายวิกฤต ณัฏฐภัทร สีบุญเรือง ซีอีโอหนุ่มเข้าร่วมงานกับ MJets ในปี 2562 มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบินมากกว่า 10 ปี กับสายการบินระดับโลก เขาเริ่มงานแรกที่ Qatar Airways โดยประจำอยู่ที่ Doha, Hanoi ในตำแหน่ง Commercial Manager จากนั้นย้ายไปเป็น Country Manager ของสายการบิน Jet Airways ดูแลประเทศไทยและอินโดไชน่า กระทั่งสายการบินปิดตัวลง และทำงานช่วงสั้นๆ กับสายการบินโลว์คอสต์ของอินเดียชื่อ GoAir ที่ Mumbai ในตำแหน่ง Consultant-Commercial, Marketing and Operation for Thailand
“ตอนทำงานที่ Qatar Airways เป็น commercial strategy development ดูภาพใหญ่ทั้งองค์กร…ตอนนั้นผมอายุน้อยสุดในบรรดา country manager 100 กว่าคนทั่วโลก โชคดีด้วยที่นายที่ประเทศไทยผลักดัน และไป head office เร็ว...ได้เห็นภาพใหญ่ เห็นกระบวนการความคิด ทุก function ที่อยู่ใน commercial ทั้งหมด พอย้ายไปที่ country ก็ leading คน local พออยู่อินเดียดูส่วนเอเชีย-แปซิฟิก ช่วยในเชิง restructure international revenue”

3 เดือนก่อนที่ Jet Airways จะล้มละลาย เจ้าของสายการบิน GoAir ทาบทามให้เขามาร่วมงาน เขารอจนเคลียร์งานกับ Jet Airways จนวันสุดท้ายจึงตอบตกลง โดยขอเซ็นสัญญาแค่ 2 เดือนก่อน ภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก GoAir คือ เซ็ตอัพและพัฒนาแผนธุรกิจสำหรับประเทศไทย “ไม่ใช่แค่เปิด station แต่ set up infrastructure” คราวที่ตอบรับทำงานที่ MJets เขาคิดว่ามีความรู้เกี่ยวกับตลาดนี้บางส่วนแล้ว “พอมาทำ จริงๆ แทบจะรู้ไม่ถึง 10% industry นี้เลย”
ในวัย 32 ปี ณัฏฐภัทรมารับตำแหน่งแทนซีอีโออายุ 60 ปีที่เกษียณจากงาน โจทย์ที่ได้รับจากเจ้าของคือ บริษัทต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง “ผมมาปี 2562 ดูแล้วไม่มีทางทำได้ก็ขอ financial support มาก้อนหนึ่งเพื่อเคลียร์บางส่วน หลังจากนั้นไม่ได้ขออีกเลย...คือเรามีหนี้ครับ สำหรับผม trust หรือ credibility สำคัญ ถ้า once เราผิดนัดกับแบงก์ ทุกแบงก์ไปกันหมด เราขอให้มาจ่ายแทนเราบ้าง หลังจากนั้นทยอยคืน โชคดีที่ owner เข้าใจและเห็น vision ว่าธุรกิจนี้สามารถเติบโตได้ขนาดไหน”
หลังรับตำแหน่งได้ 6 เดือน ประเทศไทยมีวิกฤตจากการระบาดของโควิดส่งผลให้สายการบินต่างๆ หยุดให้บริการระยะหนึ่ง นั่นหมายความว่า ไม่มีรายได้เข้ามา แต่ MJets ไม่เคยหยุดบินสักวัน “มี expat อยู่รอบๆ ประเทศไทยเยอะมาก…แล้ว corporate มาหาผมบอกว่า ไม่รู้จะตอบครอบครัวเขายังไง เพราะส่งเขาไป (ทำงาน) เท่าไรก็จ่าย airline ไม่มีใครบิน เราเป็นรายเดียวที่ทำ เราทำทุกเคสทั้ง Southeast Asia...รายได้จากส่วนนี้ไม่เยอะแต่ช่วยให้มีเงินสด...ประเทศไหนเปิดประเทศก่อนเราไปเลย ช่วงแรกส่งคนกลับประเทศตนเองคือ airline หยุดบินหมดแล้วทุกคนกลับประเทศไม่ได้ คนที่ติดในประเทศพม่า ลาว อาจมาทางรถ แต่ลาวไปสิงคโปร์ไม่ได้ จากจีนกลับไปสิงคโปร์ก็ไม่ได้ จากไทยกลับไปญี่ปุ่นหรือเกาหลีไม่ได้ ก็เหลือเรารายเดียว เราทำทุก mission บางครั้งขาดทุนก็ทำ เพื่อเอา cash flow เข้ามา”
ความที่มีประสบการณ์จาก Jet Airways เมื่อเห็นสัญญาณจากสถานการณ์โควิด เมื่อรัฐบาลไทยประกาศปิดประเทศ เดือนถัดมาเขาทำแผนเสนอบอร์ดทันทีว่า หากรายได้ลดลงเหลือ 50%, 25% หรือ 0% ต้องทำอย่างไร ขอลดเงินเดือนพนักงาน 6 เดือน (แต่สิ้นปีมีรายได้เข้ามาก็คืนให้ สรุปว่าหักเงินเดือน 3 เดือน) และรีไฟแนนซ์
“ก่อนหน้านี้ผมอยู่จน Jet Airways ล้มละลาย นายเอาผมไปช่วย transformation restructure บางส่วน มันเป็น big learning curve เราเห็นว่าก่อนจะล้มมี sign ล้มปุ๊บใครมา help ได้ ไม่ได้ จะโดน force ขนาดไหน…owner ก็ต้อง safe บริษัทใหญ่ เรามองว่าถ้าไม่ safe ตัวเอง ไม่ maintain ตัวเอง หากไม่มีเงินจะลำบาก ถ้ามีเงินสดเราพอมี option เอาเครื่องบินไปทำตรงนั้นตรงนี้ได้..."
“แบงก์ยังถามทำไมรีบผมบอกขอตอนนี้ พอถึงตอนนั้นทุกคนมาขอรีไฟแนนซ์ you ไม่ consider I แล้ว แบงก์โอเค ด้วยความที่ปีก่อนหน้านั้นก็ไม่กำไร ผมเข้ามาปุ๊บก็ refinance ค่อนข้างเยอะ โชคดีว่ามีเวลา 6 เดือน...ช่วยให้เรามีเงินสดมากกว่าปกติ ทำให้สามารถ sustain ช่วงโควิดแบบ unplanned...ช่วงโควิด airline ขอกู้แบงก์หรือกู้ใครก็ตาม term แย่มากๆ แต่เราทำก่อน”
จากรายได้ 659 ล้านบาท ในปี 2564 ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 1,138 ล้านบาท และพลิกกลับมามีกำไรเป็นปีแรก ส่วนไตรมาสหนึ่งของปี 2568 ทำได้ตามเป้าหมาย โดยรายได้จากธุรกิจในประเทศเติบโต 10% แต่ซีอีโอหนุ่มขอไม่เอ่ยถึงตัวเลข

มุ่งสู่แบรนด์ระดับโลก
แนวทางดำเนินการของ MJets ถูกกำหนดโดย 3 เสาหลักคือ 1. การขยายตัวในระดับภูมิภาค เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากนักเดินทางเพื่อธุรกิจและนักเดินทางเพื่อการพักผ่อน 2. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการขยายบริการ (investment in infrastructure & service expansion) โดยพัฒนาเครือข่าย FBO เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการอากาศยาน และปรับปรุงบริการซ่อมบำรุง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเจ้าของเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวและผู้ให้บริการ ด้วยเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศการบินส่วนตัวที่ครบวงจร 3. เสริมสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และยกระดับประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อ
ปีที่ผ่านมาบริษัทเพิ่งลงทุนใน WingsOverAsia ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 17 ล้านเหรียญสิงคโปร์ “บริษัทที่เราลงทุนเป็นบริษัทเดียวที่เป็นสิงคโปร์ 100% เขาเป็นสตาร์ทอัพ ทำมายาวนานเกือบ 10 ปีเป็นคู่แข่งของรายใหญ่ๆ มี social club โรงเรียนการบิน มี hangar...ในสิงคโปร์ทุกคนโฟกัสในสิ่งที่ใหญ่ แต่ขาด small detail แต่ private jet ทุกอย่างเป็น detail เราก็เลยเห็น opportunity gap...ปีนี้ที่เราโฟกัสจริงๆ คือการลงทุนด้าน infrastructure เช่น private jet terminal การซ่อมบำรุง ทุกคนมีฝูงบิน มี private jet เยอะ มีการเดินทางค่อนข้างสูง แต่ไม่มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีมาตรฐานแบบเรา เครื่องบินพวกนี้ทำไมต้องจอดใน hangar เพราะไม่ได้บินถี่เหมือนเครื่องบินพาณิชย์ เปรียบเหมือน high value item ของเจ้าของ หากตากฝนทำให้เกิดสนิม ส่งผลต่ออันตรายในอนาคต ต้องมี facility แบบนี้เพื่อรองรับ"
“เราเป็นรายแรกที่ไปลงทุนในอินเดียเกือบ 10 ล้านเหรียญ สร้างมา 6 ปีแล้ว คาดว่าจะเปิดกลางปี 2568 เรา joint venture กับ local partner เราไปในนามผู้เชี่ยวชาญ ฝั่งอินเดียมองเห็นโอกาสแต่ไม่มี know-how เราไม่ได้ดูตลาด inbound แต่ดูตลาด domestic ว่าเขาขาดอะไร ที่อินเดียมี terminal hangar ไว้จอดเครื่องบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา เราไปเสริม infrastructure ให้เขาแข็งแกร่ง”
ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า บริษัทมีแผนลงทุนในอีกหลายประเทศ และคาดว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดด “ไม่ใช่แบบ 2X แต่เป็น multiple ถ้าดูจาก data บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน รวมถึงตลาดเครื่องบินมือสองที่เข้ามาใน Southeast Asia เรามองว่าอีก 10 ปี ตัวเลข double แน่นอน…แต่ละประเทศที่ลงทุนไม่ได้ link กลับมากรุงเทพฯ แต่มองว่าประเทศเขามี private jet เท่าไร ขาดอะไร ตัวเครื่องบิน private jet โตมาก แต่ infrastructure ยังล้าหลัง เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ”

ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ MJets
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “Weng Sam Lam” นำ ROCTEC เจาะเทรนด์โซลูชัน ICT ครบวงจร
