ภารกิจยกระดับบุญเติมสู่ธนาคารชุมชนให้บริการทางการเงินเข้าถึงทุกภูมิภาค พร้อมผนึกกำลังเดินหน้าอัปเกรดตู้เต่าบินขวัญใจมหาชน และขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้ากิ้งก่าปักหมุดทำเลศักยภาพทั่วประเทศเชื่อมต่อนวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงการใช้ช่องทางเติมเงินผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นบททดสอบอันท้าทายของธุรกิจเติมเงินและระบบชำระเงินอัตโนมัติที่เคยสร้างปรากฏการณ์แจ้งเกิดตู้เติมเงินสำเร็จในปี 2552 ด้วยความสามารถในการปรับตัวและการวางรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งทำให้บุญเติมยังคงครองใจผู้ใช้บริการเติมเงินทั่วประเทศจำนวนกว่า 14 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% จากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (prepaid) กว่า 70 ล้านเลขหมายทั่วประเทศในปี 2566 ภายใต้การนำของ ณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART
“สไตล์เราเหมือนเด็กหลังห้องไม่ค่อยสนใจเรียน เราไม่อยากต่อ ม.ปลาย จึงเรียนสายอาชีพด้านบัญชีต่อเนื่องถึงปริญญาตรี 7 ปี และปริญญาโทเลือกบัญชีบริหารเพราะชอบการบริหารจัดการที่เน้นการคิดนอกกรอบ ซึ่งหลังจากเรียนจบก็ออกมาทำงานที่โรงงาน garment ใหญ่ พนักงาน 3,000 คน ด้วยการเดินทางที่ไกลมากทำให้ตัดสินใจลาออกและเริ่มต้นใหม่กับบริษัทเครื่องทำน้ำอุ่นน้ำร้อนแบรนด์เยอรมันในช่วงก่อตั้งมีพนักงาน 10 คนจนกลายเป็นโรงงานใหญ่ โดยนอกจากจะเป็นหัวหน้าส่วนต้นทุน เรายังได้สั่งสมประสบการณ์หลายอย่างทั้งจัดซื้อ, BOI, ISO และเรียนเรื่องภาษีเพิ่มที่หอการค้า ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้จัดการบัญชีในธุรกิจอาหารซึ่งได้เรียนรู้การ operation สาขา โรงงาน และช่วยเปลี่ยนแปลงระบบ manual เป็น POS ดึงข้อมูลเข้าศูนย์กลางจนบริษัทมีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น”
ณรงค์ศักดิ์กล่าวถึงเส้นทางการศึกษาปริญญาตรี สาขาบัญชีต้นทุน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และปริญญาโท สาขาบัญชีบริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานหลากหลายธุรกิจตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กถึงโรงงานขนาดใหญ่ ก่อนจะรับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2552 ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรับจ้างผลิตประกอบแผงวงจรอุปกรณ์โทรคมนาคมและอิเล็กทรอนิกส์
“เมื่อ 16 ปีที่แล้วเราเข้ามาในฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีบริษัทในเครืออยู่ 2-3 บริษัท และธุรกิจหลากหลายทั้งโรงงาน อิเล็กทรอนิกส์ งานซอฟต์แวร์ SAP ให้ภาครัฐ โดยจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเก่งขึ้นเกิดจากคุณพงษ์ชัยให้โอกาสเราได้เรียนรู้และรับผิดชอบการนำระบบ SAP มาใช้กับกลุ่มฟอร์ททั้งหมด เพราะมีประสบการณ์ implement ซอฟต์แวร์ ORACLE และ Microsoft แต่ SAP เป็นโปรแกรมที่มีหลาย module แต่ละ module ยังแยกย่อยลงไป ซึ่งเราต้องเข้าใจตัวโปรแกรมและรู้จักระบบการทำงานต่างๆ สุดท้ายใช้เวลาประมาณ 9 เดือนก็ implement สำเร็จ คุณพงษ์ชัยเห็นเราสามารถจัดการเรื่องระบบได้จึงมอบหมายให้เข้ามาช่วยดูแลการนำฟอร์ท สมาร์ท เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ”
แปลงร่างบุญเติมตอบดีมานด์
โจทย์ธุรกิจที่ได้รับในการนำธุรกิจตู้เติมเงินเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai พร้อมรับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชีของฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ร่วมยกระดับมาตรฐานบริษัทมหาชนเริ่มต้นซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ชื่อย่อ FSMART ได้สำเร็จในปี 2557 โดยสามารถแสดงฝีมือขับเคลื่อนอาณาจักรให้เติบโตอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของบริษัทเมื่อปี 2561
“ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ก่อตั้งในปี 2551 ดำเนินธุรกิจตู้บุญเติมประมาณ 4 ปีก็ต้องการเข้าตลาดฯ คุณพงษ์ชัยให้เราเข้ามานั่งที่นี่ในฐานะผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและ CFO เมื่อปี 2556 ทำให้เราต้องรู้ทุกเรื่องและทำทุกอย่างให้พร้อมสำหรับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบ การสร้างมาตรฐาน การบริหารงานทำกำไร การทำให้อนาคตชัดเจน ซึ่งช่วงที่เข้ามายังมีตู้บุญเติมอย่างเดียว โดยปัจจุบันเราขยายธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจ vending machine อย่างการลงทุนในฟอร์ท เวนดิ้ง ทำเต่าบินในปี 2558 และล่าสุดทำเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า GINKA”
ปัจจุบันบริษัทแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติ ด้วยเครือข่ายตู้บุญเติมผ่านตัวแทนบริการและพันธมิตรทางธุรกิจครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศจำนวน 125,407 เครื่อง (ณ วันที่ 31 ธันวาคม ปี 2566) โดยสามารถให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) การชำระเบี้ยประกันภัย ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ชำระเงินค่าสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ซื้อเพลงออนไลน์ ชำระค่าปรับ บริการเติมเงินบัตรโดยสารรถสาธารณะ บริการอื่นๆ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้เพิ่มการติดตั้งกล้องและเครื่องอ่านบัตรประชาชนยกระดับสู่ตู้อัจฉริยะ รวมถึงขยายช่องทางรับชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ Big C โดยรวมจุดให้บริการเคาน์เตอร์แคชเชียร์กว่า 3,600 จุดทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันยังเดินหน้าขยายธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร ซึ่งบริษัทได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนธนาคารหรือสถาบันการเงินส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านตู้บุญเติมที่เป็นเหมือนธนาคารชุมชนจากทำเลที่ตั้งและบริการทางการเงินครอบคลุมการรับฝาก โอน ถอนเงินสดจากบัญชี รวมถึงบริการเปิดบัญชีธนาคารผ่านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) พร้อมขยายขอบเขตบริการสินเชื่อทุกรูปแบบสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคลของลูกค้าองค์กร โดยรวมจำนวนธุรกรรมฝากโอนมากกว่า 17 ล้านรายการตลอดปี
“เมื่อ 7 ปีที่แล้วธนาคารให้บริการเติมเงินมือถือไม่คิดค่าธรรมเนียม ทำให้เราได้รับผลกระทบและเพิ่มบริการเติมเกมบวกรับชำระเงินจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และเป็นที่มาของการเป็นตัวแทนธนาคาร โดยธนาคารไม่ต้องมีต้นทุน เพราะเราเป็นตัวแทนและเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ซึ่งระหว่างทางเรายังมีเครื่องชั่งน้ำหนักที่เป็นผู้ให้บริการมากที่สุดในประเทศ รวมถึงขยายธุรกิจสินเชื่อในช่วง 4-5 ปีที่แล้วด้วยการขอใบอนุญาตจากแบงก์ชาติเปิดบริษัทปล่อยสินเชื่อ โดยช่วงแรกเน้นกลุ่มคนที่ทำธุรกิจบุญเติมกับเราจากพาร์ตเนอร์และตู้เติมเงินของเราที่มี 120,000 จุด ซึ่งเราต้องจ่ายรายได้ให้ทุกเดือน โดยเรายังลองกับลูกค้าบุญเติมจำนวนมากกว่า 10-20 ล้านคน จากข้อมูลการเติมเงินที่สามารถนำมาวิเคราะห์ประมวลผลได้”
ด้านธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้าเป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านบริการรับชำระเงิน ด้วยการเป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินคาเฟ่อัตโนมัติแบรนด์เต่าบิน ซึ่งมีจุดบริการเต่าบิน 6,392 จุดทั่วประเทศ และมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น 51.62% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.29 พันล้านบาทในปี 2566 รวมถึงพัฒนาตู้ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์กิ้งก่า (GINKA) รูปแบบ AC type ชาร์จแบบปกติ และ DC Type แบบชาร์จเร็ว พร้อมระบบรับชำระเงินหลากหลายช่องทาง เช่น การจ่ายเงินผ่าน QR code, E-Wallet, GINKA Credit
“กลุ่มฟอร์ททำธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำครบวงจรตั้งแต่การดีไซน์และผลิตทำให้สามารถจัดการบริหารต้นทุน การแก้ปัญหารวดเร็ว และคุณภาพการบริการ โดยเรายังมีระบบหลังบ้านที่แข็งแรงมาก และเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาได้เองอย่างการรับชำระ payment เราต้องขอใบอนุญาตภายใต้แบงก์ชาติควบคุม ด้วยจำนวนธุรกรรมที่เข้ามาเท่ากับธนาคารเล็กๆ ทำให้มาตรฐานหรือระบบเราต้องให้ได้เหมือนธนาคารขนาดเล็ก ศูนย์ไอที ดาต้าเซ็นเตอร์ ศูนย์สำรองระบบ ซอฟต์แวร์ระดับโลก รวมถึงโมเดลธุรกิจเรากับพาร์ตเนอร์ที่วางไว้ให้ทุกคนได้กำไร”
ณรงค์ศักดิ์กล่าวถึงศักยภาพและกลยุทธ์การแข่งขันของบริษัทที่เน้นจุดติดตั้งที่มีคุณภาพและบริหารยอดเติมเงินรวมต่อตู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ระบบออนไลน์ที่สามารถตรวจสอบยอดการทำรายการได้ทันที มีความแม่นยำสูง ถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมรองรับบริการทางการเงินจากการเป็นตัวแทนธนาคารที่ได้รับอนุมัติโดยธนาคารแห่งประเทศไทย 8 ธนาคาร และเพิ่มบริการถอนเงินสดผ่านตู้บุญเติม Mini ATM โดยยังคงเดินหน้าการพัฒนานวัตกรรมและบริการใหม่อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันบริษัทยังวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ต่อยอดความได้เปรียบในการแข่งขันจากการประหยัดต่อขนาด จำนวนเงินที่ใช้ในการลงทุน ความรู้ ประสบการณ์ในการบริหารจัดการ ระบบเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการตัวแทน และบริการหลังการขาย รวมถึงจำนวนจุดบริการมากที่สุดครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
“ตู้เติมเงินหรือรับชำระเงินอัตโนมัติในปัจจุบันคู่แข่งลดจำนวนลงมาก โดยเรายังมีกลุ่มลูกค้าเงินสดตามต่างจังหวัดที่เข้าถึงบริการทางการเงินยาก แม้ช่องทางการเติมเงินจะเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เราลดลงแต่ไม่หายไป เราคิดว่าธุรกิจนี้อยู่ได้และยังเป็นธุรกิจแกนหลักที่โครงสร้าง ecosystem สามารถต่อยอดธุรกิจอื่นได้ ด้วยตัวแทนที่มีทั่วประเทศ ร้านค้า รวมถึงระบบ payment ของเรามาตรฐานเดียวกับธนาคาร ส่วนธุรกิจตัวแทนธนาคารหรือสินเชื่อเป็นธุรกิจที่น่าจะเติบโตเพรา win-win ทุกฝ่าย โดยเราต้องการเป็นธนาคารชุมชนจากตู้บุญเติมที่มีทุกหมู่บ้านและเป็นตู้สารพัดนึกสามารถทำธุรกรรมทางการเงินเช่นเดียวกับธนาคาร ขณะที่ vending machine เต่าบินประสบความสำเร็จในเฟสแรกและพัฒนาเวอร์ชันต่อๆ มา พร้อมย้ายตู้หาทำเลศักยภาพควบคู่กับการอัปเกรดตู้ให้ฉลาดขึ้น”
ชูนวัตกรรมยกระดับชีวิต
บทพิสูจน์ความสามารถการขับเคลื่อนอาณาจักรของณรงศักดิ์สะท้อนชัดในผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการเงินและสินเชื่อครบวงจรที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลที่ให้สมาชิกองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคนผ่านทางแอปพลิเคชันมียอดเพิ่มขึ้น 96.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดวงเงินสินเชื่อคงค้างประมาณ 518 ล้านบาท NPL 5.7% ต่อยอดการปล่อยกู้ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ย 19.43 ล้านบาทในไตรมาส 2 หรือเพิ่มขึ้น 172.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ขณะที่ธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติยังเป็นรายได้หลักของบริษัทซึ่งได้รับความนิยมใช้บริการอย่างต่อเนื่องด้วยรายได้รวม 519.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้บุญเติม โดยมีจำนวนรายการฝากโอนเงินผ่านตู้บุญเติมรวม 3.47 ล้านรายการจากการเป็นตัวแทน 8 ธนาคารและสามารถถอนเงินสดผ่านตู้บุญเติมได้ 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
ส่วนกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน (equity income method) จากการถือหุ้น บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 26.71% ซึ่งจำนวนตู้เต่าบินในไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 6,596 ตู้ทั่วประเทศ และติดตั้งเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA Change Point มากกว่า 152 จุดชาร์จ พร้อมรับรู้รายได้ในอนาคต
“ธุรกิจเกี่ยวกับตู้เติมเงินและชำระเงินยังเป็นสัดส่วนรายได้หลัก 75% ธุรกิจตัวแทนธนาคาร สินเชื่อ 23% ส่วน vending machine เต่าบิน, GINKA 2-3% ซึ่งแนวโน้มในอนาคตธุรกิจแรกยังเป็นแกนหลักที่เรารักษาระดับการเติบโตได้ ธุรกิจสินเชื่อจะเห็นตัวเลขก้าวกระโดดใน 1-3 ปี ขณะที่ตู้อัตโนมัติสามารถต่อยอดได้หลายอย่างจากนวัตกรรมระบบ payment ที่เชี่ยวชาญ และสาขาทั่วประเทศ โดยสัดส่วนรายได้ 3-5 ปีข้างหน้า ธุรกิจตู้เติมเงินและชำระเงินอาจจะอยู่ที่ 50% จากเดิม 75% ธุรกิจสินเชื่อตัวแทนประมาณ 35-40% เครื่องชาร์จ GINKA น่าจะเติบโตคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10%”
สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมุ่งเน้นบริหารงานให้มีรายได้เพิ่มทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการเงินและสินเชื่อครบวงจรที่มีแผนขยายพอร์ตสินเชื่อเติบโตกว่าปีก่อน 80-100% ควบคู่การเน้นให้บุญเติมเป็นจุดให้บริการทางการเงินครบวงจรพร้อมกับเพิ่มการเป็นตัวแทนธนาคารและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินการอย่างน้อย 1 ธนาคารจากเดิมที่มีอยู่ 8 ธนาคาร รวมถึงเร่งขยายบริการฝากโอนสำหรับกลุ่มลูกค้าต่างด้าว (CLMV) เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันบริษัทจะรักษาฐานรายได้ในกลุ่มธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินอัตโนมัติ โดยวางแผนเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อตู้ (ARPU) ด้วยการเพิ่มบริการใหม่ เช่น แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือหรือบริการอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าอย่างทั่วถึงผ่านตู้บุญเติมมากกว่า 122,000 จุด พร้อมขยายช่องทางเคาน์เตอร์แคชเชียร์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้งานของลูกค้า
“ภาพใน 3-5 ปีข้างหน้าเรามองเรื่องการทำธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืนโดยการขยายธุรกิจจากตู้บุญเติมทำให้ภาพลักษณ์ของเราเปลี่ยนจากผู้นำเครือข่ายตู้อัตโนมัติที่ทำเรื่องการเติมเงินครบวงจรเป็นบริษัทนวัตกรรมของคนไทยที่พัฒนานวัตกรรมใหม่ควบคู่กับการตอบแทนสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์นวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เช่น บุญเติมที่ช่วยให้คนทั่วประเทศเข้าถึงบริการทางการเงิน ตู้เต่าบินที่ใช้วัตถุดิบพรีเมียมในราคาย่อมเยา GINKA ตอบโจทย์สีเขียวและสิ่งแวดล้อม”
เอ็มดีธุรกิจวัย 44 ปี ปิดท้ายถึงหลักการบริหารที่สอดคล้องกับการเป็นองค์กรนวัตกรรม ซึ่งสนับสนุนทีมงานให้สามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและเรียนรู้พัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา โดยเน้นการทำงานลงรายละเอียดเชิงลึกและถูกต้องชัดเจน พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานที่สั่งสมและบทเรียนจากความผิดพลาดเป็นแนวทางให้พนักงานปรับใช้แสดงฝีมือในการทำงาน
“พนักงานที่นี่เกือบ 500 คน แบ่งเป็นหลายธุรกิจอย่างตู้บุญเติมการจัดการเหมือนธนาคาร เราใช้ไอทีหารายได้ ซึ่งเราต้องดูแลตู้ให้ทำงาน 24 ชั่วโมง คุณภาพการให้บริการเป็นเรื่องสำคัญ เรามีเครือข่ายตัวแทนทั่วประเทศที่เรามองเป็นพาร์ทตนอร์ ส่วนธุรกิจสินเชื่อ GINKA เต่าบินก็จะแตกต่างกัน โดยจากประสบการณ์ที่ทำหลายอย่าง ทำให้เราเป็นคนลงในรายละเอียด ส่งผลให้ทีมงานต้องรู้ลึกและถูกต้อง รวมถึงธุรกิจของเรา เทคเปลี่ยนเร็ว เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลาเหมือนเป็นผู้สร้าง ทีมงานต้องกระฉับกระเฉง การวิเคราะห์ข้อมูลต้องเร็ว”
Forbes Facts
- การเติมเงินผ่านช่องทางบุญเติมยังเป็นบริการหลักที่สร้างรายได้ทางธุรกิจ โดยเปลี่ยนแปลงจากการเติมเงินค่าโทรศัพท์เป็นการซื้อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือมากขึ้น
- ในปี 2566 เครือข่ายตู้บุญเติมอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 30% จำนวน 37,795 ตู้ ตามด้วยภาคกลาง 26% จำนวน 32,207 ตู้ ภาคเหนือ 14% จำนวน 17,283 ตู้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล 11% จำนวน 13,434 ตู้ ภาคใต้ 10% จำนวน 13,220 ตู้ และตะวันออก 9% จำนวน 11,468 ตู้
- ตู้ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า GINKA สามารถจ่ายเงินและใช้บริการได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านแอปพลิเคชันเช่นเดียวกับตู้บุญเติมและเต่าบินที่ใช้หน้าจอทัชสกรีน พร้อมสายชาร์จเคเบิลอัจฉริยะระบบจัดการสายไฟที่สายดึงกลับ
เครดิตภาพ : วรัชญ์ แพทยานันท์ และ FSMART
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล PCE สานต่อน้ำมันปาล์มยั่งยืน