บ้านปู เพาเวอร์ เดินหน้าแผนต่อยอดธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พร้อมสร้างสมดุลพลังงานความร้อน และพลังงานหมุนเวียน ขยายการลงทุนต่างประเทศ สานต่อความมุ่งมั่นยกระดับการทรานส์ฟอร์มสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้แนวทาง Beyond Quality Megawatts
การสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปูที่มีความมุ่งมั่นขยายอาณาจักรพลังงานให้มีความหลากหลายอย่างต่อเนื่องด้วยการผนึกกำลังต่อยอดความรู้และความเชี่ยวชาญก่อตั้งบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าคุณภาพ ควบคู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปี 2539 พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตสู่การเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืนภายใต้การนำของ อิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเรือธงของกลุ่มบ้านปูที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
“ภาพรวมเราทำงานกับกลุ่มบ้านปูมากกว่า 30 ปี ตั้งแต่เรียนจบก็สมัครงาน Project Manager รับผิดชอบงานขุดขนดินที่เหมืองแม่เมาะประมาณ 2 ปี จึงย้ายไปธุรกิจไฟฟ้าในปี 2539-2540 ซึ่งบ้านปูชนะการประมูลโรงไฟฟ้า BLCP เรียกได้ว่าอยู่ในยุคบุกเบิกการทำโรงไฟฟ้าและได้มีส่วนร่วมหลายอย่าง โดยเรายังเข้าไปช่วยดูโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าอื่นๆ ด้วย เช่น โรงไฟฟ้าไตรเอน-เนอจี้ ก่อนจะย้ายไประยองดูแลการสร้างโรงไฟฟ้า BLCP ตั้งแต่ช่วงถมทะเลลงเสาเข็มแรกจน COD ซึ่งระหว่างนั้นเรายังตัดสินใจเรียน MBA เพราะสนใจต่อยอดการทำธุรกิจเป็นพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับไฟแนนซ์ การจัดการสัญญา และต้องการเห็นกรอบการทำธุรกิจ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้ที่ BPP ทั้งการบริหาร การเงิน บัญชี HR”
ซีอีโอวัย 53 ปี เล่าถึงเส้นทางการทำงานในกลุ่มบ้านปูหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม-เครื่องกล จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครในปี 2537 โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งวิศวกรโครงการในธุรกิจเหมืองของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการออกแบบทางวิศวกรรมโครงการต่างๆ การพัฒนาธุรกิจและงานด้านปฏิบัติการที่หลากหลายทั้งในธุรกิจเหมืองและธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ขณะที่รับตำแหน่งวิศวกรโครงการที่ บริษัทบ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ในปี 2542 โดยมีส่วนร่วมในการออกแบบทางวิศวกรรมโครงการต่างๆ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจ และการจัดการงานด้านปฏิบัติการที่หลากหลายทั้งในธุรกิจเหมือง ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ พร้อมอยู่เบื้องหลังความสำเร็จหลายโครงการ เช่น การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ และโรงไฟฟ้า BLCP ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producers: IPPs) และโรงไฟฟ้าของกลุ่มบ้านปู

นอกจากนั้น อิศรายังได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้วิศวกรโครงการพัฒนาการดำเนินงานโรงไฟฟ้า BLCP ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบ้านปูตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อสร้างในปี 2545 จนกระทั่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ยังได้รับมอบหมายงานหลายตำแหน่งสำคัญ โดยครอบคลุมการบริหารสัญญาหลักต่างๆ ของโครงการ เช่น สัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสัญญาการเดินเครื่องและซ่อมบำรุง สัญญาการซื้อขายถ่านหินและโรงไฟฟ้า และการประกันภัย
“หลังจากอยู่ที่ระยองประมาณ 16 ปีเจ้านายเก่าย้ายกลับมากรุงเทพฯ เป็น COO ที่บ้านปู เพาเวอร์ ต้องการหาคนที่มีความเข้าใจเรื่อง engineering, construction การเดินเครื่อง การบริหารสัญญา และดูเรื่อง asset management จึงชวนเราเข้ามาทำที่นี่ในปี 2562 ซึ่งความสนุกอยู่ที่การใช้หลายศาสตร์รวมกัน operation ต้องแข็งก่อนให้ได้ cashflow ออกมา และเบื้องหลังก็เป็นเรื่อง source of fund การจัดการด้านการเงิน การบริหารสัญญา เพื่อให้ประสิทธิภาพทั้งเทคนิคและ commercial ไปด้วยกัน”
อิศรากล่าวถึงการตัดสินใจออกจากการเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารสัญญา บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ในปี 2562 และรับตำแหน่งผู้อำนวยการสาย-สายงานบริหารทรัพย์สินของ บ้านปู เพาเวอร์ รับผิดชอบการบริหารสินทรัพย์และการบริหารความเสี่ยง
ก่อนจะขยับเป็นผู้อำนวยการสายอาวุโส-สายงานปฏิบัติการธุรกิจไฟฟ้า ดูแลการทำงานและประสิทธิภาพพอร์ตการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ด้วยความสามารถในการขยายพอร์ตธุรกิจผลิตไฟฟ้าทั้งพลังงานความร้อนและพลังงานหมุนเวียนไปในต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ทำให้ได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้ซีอีโอบริษัทหนึ่งในเรือธงของกลุ่มบ้านปู ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล
“โจทย์หลักเป็นการดูแล asset ปัจจุบันทั้งการบาลานซ์และขยายธุรกิจใหม่ที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งในอดีตพอร์ตของบ้านปู เพาเวอร์ จะเกี่ยวข้องกับถ่านหิน ก๊าซ แต่ช่วงหลังมี energy transition ใหม่ๆ นอกจาก renewable ยังมีเรื่อง energy infrastructure และ battery energy storage เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายธุรกิจในน่านน้ำใหม่ โดยเราใช้คำว่า Beyond Megawatts Portfolio ตามสโลแกนของบริษัท”

เป้าหมายธุรกิจปี 2568-2573
การเติบโตทางธุรกิจปี 2568-2573 ได้แก่ การสร้าง EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) รวมมากกว่า 1.8 เท่าเทียบจากปี 2565-2566 โดย 65% ของ EBITDA หรือ 2 ใน 3 มาจากธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด และมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตลงให้น้อยกว่า 0.549 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง
“กลยุทธ์ปี 2568-2573 เราต้องการบาลานซ์การเติบโตและความยั่งยืน ทำให้การขยายธุรกิจหรือการปรับพอร์ตต้องละเอียดรอบคอบโดยไม่เร็วเกินไปในจุดที่ไม่สามารถบริหารความเสี่ยงได้ และไม่ช้าเกินไปเพราะอาจจะตกเทรนด์ เช่น decarbonization เป็นหนึ่งในโจทย์ที่เราต้องตามเทรนด์ ซึ่งเป้าหมายของเรามี 3 เรื่อง ได้แก่ EBITDA รวมมากกว่า 1.8 เท่า และเพิ่ม Green EBITDA จาก 40% เป็น 65% ในปี 2573 หรือ 2 ใน 3 เป็น environmental friendly รวมถึงโฟกัสการปล่อย CO2 ลดลงเหลือ 0.549 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งต้องทำทั้งประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อบาลานซ์เงินที่ใส่ลงไปให้มีผลตอบแทนในแง่ของ carbon footprint ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”
ดังนั้น บริษัทจึงเดินหน้าสานต่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การบริหารจัดการต้นทุนในสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมด และการเสริมศักยภาพในการทำกำไรจากธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตอย่างมั่นคงในธุรกิจหลักของบริษัท พร้อมขยายการลงทุนไปสู่พื้นที่ใหม่ในธุรกิจที่จะสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างมีความรับผิดชอบตามแนวทาง Beyond Quality Megawatts ซึ่งตอกย้ำจุดยืนการเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานยั่งยืนชั้นนำที่มีการบริหารจัดการภาพรวมธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (decarbonization)
ขณะเดียวกันยังวางกลยุทธ์การดำเนินงานเชิงรุกในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และอินโดนีเซีย ด้วยการต่อยอดธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT (Combined Cycle Gas Turbines) ในสหรัฐอเมริกาผ่านการร่วมทุนกับ BKV โดยขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ภายใต้ชื่อโครงการ Cotton Cove ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ Barnett รัฐ Texas สหรัฐอเมริกา รวมถึงการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก
“ธุรกิจที่อเมริกาเรามีบริษัท BKV ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัทย่อยของบ้านปูใหญ่ที่ list ในตลาดหุ้น New York เมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นบริษัทที่มีความชำนาญด้านพื้นที่ วัฒนธรรมการทำธุรกิจและเชี่ยวชาญธุรกิจก๊าซ ซึ่งโครงการ Cotton Cove มี BKV เป็นเจ้าของแหล่งให้เราดึงก๊าซแยกพลังงานขายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมและ CO2 กลับลงไปใต้ดิน โดยต้องศึกษาความเหมาะสมทางด้านธรณีวิทยาและความปลอดภัยทางวิศวกรรมที่ต้องผ่านการอนุมัติรับรองจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ subsidy รวมถึงการซื้อโรงไฟฟ้า Temple I และ Temple II ซึ่งเราสามารถ synergy ทีมงานต่อยอดจากธุรกิจที่เราทำอยู่ และช่วยบริหารพอร์ตโฟลิโอ footprint ลด CO2 โดยเรายังสนใจการพัฒนาธุรกิจตามเทรนด์เรื่อง renewable energy และ BESS อย่างต่อเนื่อง”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, ออกแบบภาพปกโดย ธัญวดี นิรุตติศาสตร์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : AWS และภารกิจลงทุน ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ขุมพลังสะอาดแห่งอนาคต
