อรรถสิทธิ์ อินทรชูติ ยึดหลัก ‘Possible + Flexible’ หนุน Botanica แข็งแกร่ง 20 ปี - Forbes Thailand

อรรถสิทธิ์ อินทรชูติ ยึดหลัก ‘Possible + Flexible’ หนุน Botanica แข็งแกร่ง 20 ปี

​​'Possible + Flexible' ทุกอย่างต้องยืดหยุ่นและทำให้ได้ !!! นี่คือ 2 คีย์หลักที่ 'อรรถสิทธิ์ อินทรชูติ' นายใหญ่แห่งแบรนด์ Botanica จ.ภูเก็ต เลือกยึดปฏิบัติพร้อมสิร์ฟบ้านพูลวิลล่าสุดหรูตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้าระดับ Hi-End มานานตลอด 20 ปี

 

    หลังจัดอีเวนต์อย่างยิ่งใหญ่เพื่อฉลองธุรกิจครบรอบ 20 ปี ไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2567 ล่าสุดปี 2568 ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับท้องถิ่นของวงการพัฒนาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ จ.ภูเก็ต อย่าง โบทานิก้า ลักซูรี่ ภูเก็ต จำกัด ยังได้แถลงเปิดตัว ‘Botanica Grand Avenue’ โครงการเมกะโปรเจกต์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี มีขนาดพื้นที่ 178 ไร่ ตั้งอยู่ในย่านลากูน่า ภูเก็ต และมีมูลค่าโครงการสูงถึง 12,000 ล้านบาท 


    โดยความพิเศษของโปรเจกต์บิ๊กเบิ้มนี้ นอกจากจะมีพูลวิลล่าหรูระดับ luxury พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันแล้ว ภายในพื้นที่ขนาดใหญ่เกือบ 200 ไร่ดังกล่าว ยังเป็นที่ตั้งของ ‘HYTHE by Botanica’ (ไฮท์ บาย โบทานิก้า) อาคาร 6 ชั้น จำนวน 4 หลัง รวม 276 ยูนิต มูลค่าโครงการราวๆ กว่า 6.2 พันล้านบาท ถือเป็นโครงการคอนโดมิเนียมระดับมาสเตอร์พีซของโบทานิก้าที่เริ่มขยับเกมรุกเข้าสู่ตลาดอสังหาฯ แนวดิ่งเป็นครั้งแรก พร้อมคาดการณ์ ‘Botanica Grand Avenue’ จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2572



    เห็นข้อมูลอัปเดตความก้าวหน้าของการขยายตัวธุรกิจที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมทุนกับหุ้นส่วนทางธุรกิจเพื่อปักหมุดโครงการใหญ่มูลค่ารวมระดับหมื่นล้านเช่นนี้ แต่ทว่า อรรถสิทธิ์ อินทรชูติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โบทานิก้า ลักซูรี่ ภูเก็ต จำกัด กลับยิ้มหวานปนเสียงหัวเราะก่อนที่จะเริ่มต้นย้อนอดีตบอกเล่าเรื่องราวให้แก่ทีมงาน Forbes Thailand ฟังว่า “กว่าธุรกิจจะเติบโตมาแบบทุกวันนี้ได้ ผมก็เคยเจอปัญหาการเงินสะดุดแบบชาวบ้านทั่วไป เลยต้องหาหยิบยืมเงินคนอื่น ยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ถึงวันละแสนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปได้ และยังเคยโดนธนาคารหักเงินผ่านระบบหลังจากทำการกู้ยืมซื้อเพื่อที่ดินจนไม่มีเงินเหลือติดบัญชีมาแล้ว” 

 

Phase 1 : ยุคบุกเบิก ‘แรงปรารถนา ผลักดันทำธุรกิจ’

    ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 20 ปีก่อน ตอนเริ่มต้นธุรกิจช่วง 5 ปีแรก คุณอรรถ หรือ อรรถสิทธิ์ อินทรชูติ เจ้าของธุรกิจอสังหาฯ แบรนด์ ‘โบทานิก้า’ บอกว่า เขาไม่ได้เติบโตมาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย เมื่อเรียนจบปริญญาตรีด้านงานออกแบบสถาปัตย์ ก็เริ่มเปิดบริษัทเล็กๆ รับออกแบบก่อสร้างทั่วไป แต่เมื่อเห็นว่าผลงานของตนเองที่ออกแบบไปอย่างสวยงามแล้วสามารถขายได้ เขาก็เริ่มมี Passion ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า อยากที่จะทำธุรกิจอสังหาฯ พร้อมกับดีไซน์ออกแบบงานของตัวเองออกมาขายดูบ้าง ด้วยความที่ชอบต้นไม้สีเขียวๆ ที่ให้ความร่มรื่นและยังช่วยสร้างวิวทิวทัศน์ที่เป็น landscape สวยๆ อยู่แล้ว เขาจึงเลือกคำว่า ‘Botanica’ ที่หมายถึงพืชพรรณต้นไม้นานาชนิดต่างๆ ให้กลายมาเป็นชื่อแบรนด์”

    พอคิดจินตนาการทุกอย่างไว้ในหัวได้ปุ๊บ เราก็ไม่รอช้า รีบตัดสินใจลงมือทำเลย โดยการใช้เงินเก็บของตนเองราว 2 แสนบาท หยิบยืมจากแม่อีก 3 แสนบาท รวมเป็น 5 แสนบาท พร้อมกับชักชวนเพื่อนๆ คนสนิทให้มาร่วมลงทุนด้วย จึงกลายเป็นเงินลงทุนในยุคบุกเบิกช่วงแรกจำนวน 2 ล้านบาท 

    ทุกอย่างฟังดูเหมือนง่าย แต่ชีวิตจริงของการทำธุรกิจคงไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ...เพราะบ้านพูลวิลล่าจำนวนแค่ 5 หลัง เขากลับต้องใช้เวลานานถึง 4-5 ปีกว่าจะขายได้หมด ซึ่งระหว่างนั้นเขาก็เลือกที่จะหาซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ มาทำบ้านเดี่ยวขายในราคาหลังละ 13.5 ล้านบาท เป็นจำนวน 30 หลัง โดยเน้นขายราคาเท่าทุน ไม่เน้นทำกำไรมาก เพราะต้องการหาเงินสดมาหมุน สร้าง Cash Flow ให้ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ 

    “เพื่อนคนอื่นที่ร่วมลงทุนทำธุรกิจด้วยเขาถอดใจกันไปหมดแล้ว แต่ตัวผมเองยังใจสู้ ตอนนั้นภาษาอังกฤษที่จะต้องใช้สื่อสารกับลูกค้าต่างชาติ ก็ยังไม่ดี พูดไม่ค่อยได้ เราก็พยายามฝึกฝนโดยใช้ลูกค้านั่นแหละที่เป็นครูสอนภาษา ควบคู่ไปกับการเรียนรู้การบริหารธุรกิจในด้านต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เปรียบเสมือนเป็นเด็กฝึกงานที่ได้เรียนรู้ทุกอย่างในชีวิตจริง” ผู้บริหารโบทานิก้า กล่าว 


    ทั้งนี้ ลูกค้ารายแรกที่ตัดสินใจซื้อบ้านพูลวิลล่าโครงการแรกของโบทานิก้าเป็นคนอังกฤษ, 2-3 ปีถัดมา ก็มีลูกค้ารัสเซียสนใจมาซื้อบ้านทีเดียวถึง 3 หลัง ซึ่ง ลูกค้ารายนี้ก็ยังกลายมาเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทของอรรถสิทธิ์จนถึงปัจจุบัน ส่วนบ้านหลังสุดท้ายเป็นลูกค้าจากแคนาดา 

 

Phase 2 : ยุคแห่งการเรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนาการเติบโต

    ถัดจากช่วง 5 ปีแรก มาสู่ช่วงปีที่ 6-7 ธุรกิจของแบรนด์ Botanica ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่ผิดพลาดมา พร้อมแก้ปัญหาในทุกด้านๆ ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า และปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยโดยรอบซึ่งยากต่อการควบคุม จึงทำให้โครงการพูลวิลล่าอีก 5 หลัง ที่สร้างขึ้นโดยพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ในยุคการเติบโตช่วงที่ 2 นี้ สามารถขายได้เร็วมากขึ้นเมื่อเทียบกับโครงการก่อนหน้า 

    “ผมเรียกตัวเองว่า Mr. Possible + Flexible เพราะผมฟังเสียงของลูกค้าเป็นหลัก ทุกอย่างสามารถยืดหยุ่นและแก้ไขได้ !!! ทุกสิ่งที่ลูกค้าบอกเราหรือทุกสิ่งที่เขาต้องการ ในฐานะที่เราเป็นเพียงนักธุรกิจรายเล็กๆ แต่เราพร้อมบริการเสิร์ฟให้เขาได้ทุกอย่าง ยกตัวอย่าง เช่น เราพร้อมแก้แบบทุกอย่างได้หมด เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า Niche Market ระดับ Luxury ได้อย่างรวดเร็วทันที เรามีแรงบันดาลใจในเรื่องของดีไซน์อยู่แล้ว ไม่เคยมองว่าความต้องการของลูกค้าจะเป็นปัญหา ถ้ามีลูกค้าหลุดเข้ามาหาผมเมื่อไร ผมจะทำทุกทางไม่ปล่อยให้เขาหลุดมือไปอย่างแน่นอน” 


    นอกเหนือจากเรื่องของการเรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุง พร้อมบริการทุกอย่างให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดีแล้ว นักธุรกิจท้องถิ่นของภูเก็ตรายนี้ ยังบอกด้วยว่า ธุรกิจอสังหาฯ ในยุคนั้น บ้านสไตล์บาหลี ถือเป็นเทรนด์ฮิตที่เหล่าดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่ต่างก็ทำกัน อีกทั้งยังมีลูกค้าบางรายถามเขาว่า ทำไมไม่ทำตามอย่างคนอื่นบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็ตกผลึกความคิดตัวเองได้ว่า เขาต้องการครีเอทสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบที่มีสไตล์แตกต่าง โดดเด่นจากที่อื่น หรือหลุดจากกรอบเดิมๆ มากกว่า ซึ่งแนวคิดของการสร้างความต่างอย่างมีสไตล์เหล่านี้ ได้กลายมาเป็นตัวช่วยในการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าระดับ Luxury ต่อเนื่องไปจนถึง Ultra Luxury ได้มากที่สุด

 

Phase 3: ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ธุรกิจที่แข็งแกร่ง

    ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ช่วงยุคแรกของการเปลี่ยนแปลง อรรถสิทธิ์เริ่มขยับขยายการเติบโตให้เพิ่มขึ้น ด้วยการซื้อที่ดินมาจำนวน 4 ไร่ และเตรียมแผนที่จะพัฒนาก่อสร้างโครงการใหม่ต่อ ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าต่างชาติชาวรัสเซียที่สนใจอยากมาร่วมลงทุนเพื่อให้โครงการมีขนาดใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่เคยแพลนไว้ว่า 4 ไร่ ใช้เงินลงทุน 35 ล้านบาท จึงกลายมาเป็นขนาด 10 ไร่ ใช้เงินลงทุนสูงถึง 100 ล้านบาท สำหรับพูลวิลล่า 20 หลัง ซึ่งหลังจากที่ทั้งคู่ตกลงร่วมทุนกันพร้อมกับวางเงินมัดจำเพื่อซื้อที่ดินไปเรียบร้อยแล้ว ในเวลาถัดมาไม่นานหุ้นส่วนคนดังกล่าวก็ประสบปัญหาทางการเงิน จึงได้ขอถอนตัวจากโปรเจกต์นี้แบบกะทันหันโดยที่อีกฝ่ายไม่ทันตั้งตัว !!!

    “เหตุการณ์นี้มันทำให้ช็อกมาก มันเหมือนฟ้าผ่าลงมากลางชีวิตผม เพราะช่วงนั้นเรากู้เงินแบงก์มาซื้อที่ดินเป็นเงินก้อนใหญ่ พอหุ้นส่วนถอนตัวออกไปแบบกะทันหัน รายจ่ายต่างๆ ก็ยังมีอยู่รอบด้าน Cash Flow หรือ กระแสเงินสดของธุรกิจบริษัทเราก็ยังไม่คล่องแล้วเราจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าที่ดิน” นักธุรกิจที่ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่เริ่มต้น เล่าถึงช่วงเวลาที่เขายากลำบากและยังจดจำไม่เคยลืม



    “ผมเชื่อเลยว่าคนทำธุรกิจดีเวลลอปเปอร์รายเล็กๆ ส่วนใหญ่ ก็น่าจะเคยมีประสบการณ์หยิบยืมเงินคนอื่นมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและยอมที่จะเสียดอกเบี้ยแพงๆ เพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นช่วงนั้นไปได้ก่อนมาแล้วทั้งนั้น ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน ผมขอกู้เงินจากคนรู้จักเป็นจำนวน 10 ล้านบาท ยอมเสียดอกเบี้ยวันละ 100,000 บาท หากคิดเป็นดอกเบี้ยรายปีก็สูงถึง 360% แล้วผมกู้มา 7 วัน ก็ต้องจ่ายค่าดอกไปสูงถึง 700,000 บาท”

    แบงก์ที่กู้เงินมาซื้อที่ดินก็เร่งรัดให้จ่ายหนี้สินเดือนละ 2 ล้านบาท ทุกๆ เดือน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งหาเงินมาจ่ายหลังจากหยิบยืมเงินจากคนอื่นให้ได้ในระหว่างที่สถานะทางการเงินก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง ผู้บริหารเจ้าของแบรนด์ Botanica ยังเล่าติดตลกให้ฟังด้วยว่า “วันนั้นผมมีเงินอยู่ในบัญชีทั้งหมด 78,000 บาท ตื่นเช้ามาตั้งท่าจะให้ภรรยารีบถอนเงินออกมาก่อนที่จะถูกแบงก์ตัดเงินผ่านบัญชี สรุปว่าแบงก์ไวกว่า ตัดเงินผมไปเรียบร้อย ทั้งเนื้อทั้งตัว และตัวเลขในทุกบัญชี ผมไม่เหลือเงินเลยสักบาท” !!!

    ได้ฟังมาถึงจุดนี้หลายคนคงงง ไปพร้อมๆ กับลุ้นระทึกว่า ‘คุณอรรถ’ หาวิธีรับมือและแก้ไขจนก้าวผ่านอุปสรรคมาได้อย่างไร? นักธุรกิจที่พร้อมลุยทุกสถานการณ์ และกล้าเสี่ยงในเชิงธุรกิจบอกว่า ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน แต่ก็โทรชวนรุ่นน้องคนสนิทให้ออกมากินข้าวเป็นเพื่อน แล้วก็ถือกระดาษม้วนใหญ่แผ่นหนึ่งไปด้วย ซึ่งกระดาษม้วนนี้ คือ แผนผังของโครงการ Phase 4 ในยุคถัดไป

    “รุ่นน้องผมก็งง โครงการนี้ยังขายไม่ได้เลย แถมยังเป็นหนี้ก้อนโตด้วย จะไปต่อโครงการใหม่ได้อย่างไร ผมก็บอกเขาว่า โครงการนี้มันแพง เพราะราคาต้นทุนที่ดินอยู่ในทำเลแพง เราก็เลยต้องขายของแพงไปด้วย ก็เลยขายยากอีกทั้งเรายังเป็นผู้เล่นในตลาดหน้าใหม่ ลูกค้าก็เลยยังไม่มีความมั่นใจที่จะเอาเงินเยอะๆ มาซื้อกับเรา ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าหลายรายที่สนใจบ้านโครงการนี้ แต่เรื่องราคาอาจจะยังรับไม่ไหว ดังนั้นถ้าเราขยับไปหาที่ดินในทำเลที่ถูกกว่า ออกแบบ Product สินค้ามาให้ตอบโจทย์กับลูกค้าได้ เราก็น่าจะขายสินค้าได้คล่องขึ้น” 

    นี่คือ 'วิสัยทัศน์' ในการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอรรถสิทธิ์ เขายังบอกด้วยว่า วิธีนี้ก็เปรียบเสมือนกับนิทานเรื่อง ‘หนูกับราชสีห์’ นั่นแหละ !!! เพราะสุดท้ายโครงการ Phase 4  ที่เขาฟุ้งไอเดียให้รุ่นน้องฟังระหว่างที่มีเหลือ 0 บาท ติดบัญชี ก็ขายได้หมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ก่อนที่โครงการ Phase 3 จะขายหมด

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการ Phase 3 นั้น อรรถสิทธิ์ พยายามทุกวิถีทางที่จะทยอยขายบ้านพูลวิลล่าเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบด้าน เขาลงทุนจ้างบริษัทเอเจนซี่นายหน้าค้าที่ดินอันดับ 1 ของภูเก็ต เพราะหวังว่าจะช่วยให้ขายบ้านแก่กลุ่มลูกค้าต่างชาติได้ง่าย แต่ทว่าเงินที่ลงทุนไปกลับเสียเปล่าขายไม่ได้เลยสักหลัง เขาเลยตัดสินใจยกเลิกสัญญาว่าจ้าง พร้อมกับหาวิธีการง่ายๆ อย่างเช่น ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ Facebook ในการเพิ่มเพื่อนที่เป็นนายหน้าหรือทำธุรกิจอยู่ในหมวดอสังหาฯ เช่นเดียวกัน 

    ควบคู่ไปกับการโพสต์ภาพตัวอย่างบ้านพูลวิลล่าสวยๆ ที่ต้องการขายเป็นประจำทุกๆ วันอย่างต่อเนื่องจนสุดท้ายก็มีนายหน้าสนใจ พร้อมกับหาลูกค้ามาซื้อบ้านได้ แต่เขาก็ต้องขายแบบขาดทุนจากราคาที่ตั้งไว้ จากเดิมบ้านหลังละ 35 ล้านบาท ก็ถูกต่อราคาจนเหลือ 20.5 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ทยอยปรับราคาขายขึ้นมาได้จนหมด 

    “ผมยอมขายขาดทุนในช่วงนี้ เพราะไม่อยากให้ธุรกิจล้ม เลยต้องหาเงินมาหมุนให้มันยังเดินต่อไปได้ หลายคนอาจจะเจอปัญหาแล้วท้อ ยอมแพ้ไปง่ายๆ ทุกคนล้วนเจอปัญหาเหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองมุมไหน และจะยังมีใจสู้ต่อไปได้อีกหรือเปล่า” 



    อรรถสิทธิ์ ยังบอกด้วยว่า หลังจากที่เขาโพสต์ขายบ้านผ่าน Facebook แบบถี่ ซึ่งช่วงนั้นเพื่อนๆ หลายคนในออนไลน์ก็อาจจะเบื่อที่เขาโพสต์แต่แนวเดิมๆ ทุกๆ วัน แต่สุดท้ายสิ่งที่เขาเลือกทำก็เขาตาบริษัทนายหน้าค้าที่ดินรายหนึ่ง จึงพาลูกค้ารายแรกจากฮ่องกงมาให้ 

    “ลูกค้าเขาอยากได้บ้านของเรา แต่ไม่อยากได้บ้านติดหนี้แบงก์จึงขอให้เราไปเคลียร์หนี้กับทางธนาคารให้ได้ก่อน นั่นจึงเป็นที่มาของการที่ผมไปหากู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อจะรีบเคลียร์เรื่องนี้ให้ได้ภายใน 7 วัน ซึ่งหลังจากที่เราแก้ปัญหานี้ได้ Product ของเราก็ทยอยขายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น และพลิกกลับมาทำให้เรากลายเป็นผู้นำในตลาดท้องถิ่นได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี”

 

Phase 4: 20 ปี แห่งการพัฒนา ก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง

    บริษัท โบทานิก้า ลักซูรี่ ภูเก็ต จำกัด เติบโตอย่างเห็นได้ชัดหลังจากสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย จากเดิมบ้านที่เคยขายได้ 20-30 หลัง ก็พุ่งพรวดเป็น 200-300 หลัง บริษัทเคยจ้าง ‘พนักงานขาย’ ในช่วงก่อนโควิดจำนวน 3 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 16 คน, สถาปนิก จากเดิมมีจำนวน 4 คน กลายเป็น 40 คน โดยปัจจุบัน Botanica มีพนักงานรวมทั้งสิ้น 320 คน และควาดว่าภายในปี 2568 นี้ จะมีเพิ่มขึ้นอีกเป็นทั้งหมด 350 คน

    “ที่เรามีสถาปนิกถึง 40 คน เพราะเราเน้นเรื่องการ Operation ออกแบบแก้ไขทั้งก่อนและหลังการสร้างบ้านเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้าพร้อมแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด เราให้ความสำคัญกับบุคลากรภายในองค์กรมากๆ ซึ่งช่วงแรกอาจจะหาคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วยยาก เพราะคนเก่งที่มี Know How ด้านนี้เขาจะเลือกไปอยู่องค์กรใหญ่ๆ มีชื่อเสียงมากกว่า แต่ปัจจุบันปัญหานี้ก็หมดไป เราสร้างชื่อให้ลูกค้าและกลุ่มคนในธุรกิจนี้มีความเชื่อมั่นต่อแบรนด์มากขึ้น” อรรถสิทธิ์ กล่าว 



    เมื่อถามว่า ทุกวันนี้เรียกได้ว่าแบรนด์ Botanica ประสบความสำเร็จเป็นที่หน้าพอใจแล้วหรือไม่? เจ้าของธุรกิจผู้ปลุกปั้นแบรนด์มาตลอด 20 ปี บอกว่า ความสำเร็จมันไม่มีจริง !!! เพราะเป้าหมายต่างๆ ที่เราตั้งไว้ ก็เปรียบเสมือนเวลาที่เราวิ่ง 4 × 100 เมตร พอเราวิ่งชนะเข้าเส้นชัยแล้ว เราก็ต้องวิ่งหาเป้าหมายใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดนิ่ง 

    “เมื่อก่อนก็เคยคิดว่าถ้าเราทำโครงการระดับนี้สำเร็จ ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของเราแล้ว แต่พอเราผ่านเป้าหมายนั้นมาได้ เราก็ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ เพราะต้องพัฒนา ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในทุกปี ผมให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางก่อนจะไปถึงเป้าหมายมากกว่า มันก็เหมือนกับเกมที่เราต้องเจอกับความสุขหรืออุปสรรครวมถึงประสบการณ์ที่ดีในก้าวต่อๆ ไป”

    ท้ายนี้ นายใหญ่ผู้ขับเคลื่อนแบรนด์ Botanica ยังบอกอีกด้วยว่า “นับเป็นความโชคดีที่คู่แข่งแบรนด์ใหญ่ๆ จากกรุงเทพฯ พร้อมใจกันมาปักหมุดแข่งขันกันในภูเก็ตมากขึ้น จากเดิมที่เราเคยแข่ง เคยชกแต่มวยวัด เขาก็ขยับดึงให้เรามาชกสู้อยู่บนสนามมวยลุมพินี ถึงผมจะเป็นสถาปนิก ชื่นชอบงานศิลปะ แต่สำหรับเรื่องการทำธุรกิจ ผมใส่ความอาร์ตเข้าไปแค่ 30% ที่เหลือเราต้องใช้เหตุผล และต้องรู้หลักการบริหาร การขาย และการตลาด เพราะถ้าจะใช้ความเป็นศิลปินแค่อย่างเดียว ธุรกิจคงไม่เติบโตมาได้ตลอด 20 ปี มี 27 โครงการที่เกิดขึ้น คิดเป็นมูลค่ารวมของโครงการทั้งหมด 51,000 ล้านบาท นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน”

 

ภาพ : วรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สานต่อปณิธานของตระกูล 'ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร' ปักธงโรงแรมหรู ‘อมัน นายเลิศ กรุงเทพ’

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine