ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร คุมทัพบรรจุภัณฑ์แก้ว BGC - Forbes Thailand

ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร คุมทัพบรรจุภัณฑ์แก้ว BGC

การหลอมรวมประสบการณ์บนเส้นทางการตลาด การขาย และการบริหารกับบริษัทข้ามชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศสู่การนำทัพยักษ์ใหญ่บรรจุภัณฑ์แก้วแห่งภูมิภาคอาเซียนที่มีอายุกิจการมากกว่า 48 ปี ให้สามารถขยายอาณาจักรหมื่นล้านได้อย่างแข็งแกร่งในฐานะ Total Packaging Solutions

ภารกิจการทรานส์ฟอร์มธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของประเทศและภูมิภาคอาเซียนให้เทียบชั้นบริษัทระดับโลก สู่โอกาสและความท้าทายบทใหม่ในการเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ ครบวงจรที่สามารถให้บริการครอบคลุมความต้องการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในการดำเนินงานและสร้างรายได้ให้สามารถเติบโตกว่าเท่าตัวตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2568 ภายใต้การนำของ ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC “จากประสบการณ์ทำงานกับบริษัทข้ามชาติ 18 ปี และบริษัทคนไทย 4 ปี เป็นหนึ่งในความคาดหวังให้เรานำความรู้และประสบการณ์มา transform องค์กรให้มีความเป็นอินเตอร์หรือทันสมัยมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่คุณปวิณให้มานอกจากการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง” ศิลปรัตน์กล่าวถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก ปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร ด้วยความเชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมนับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท Master of International Management (MIM) University of Denver สหรัฐอเมริกา พร้อมสะสมไมล์ทางการใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นความรู้นอกตำราที่สามารถปรับใช้ได้ตลอดเส้นทางการทำงาน  

- ขยายอาณาจักรบรรจุภัณฑ์ -

ภายใต้โจทย์ที่ได้รับศิลปรัตน์สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ประเทศในเขตโอเชียเนีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป พร้อมขยายการส่งออกและขยายฐานลูกค้าบริษัทอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเข้าขวดแก้วบางประเภทขายให้ลูกค้าที่ไม่สามารถผลิตหรือมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ เพื่อตอบสนองความต้องการบรรจุภัณฑ์และความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งเป็นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รูปแบบเฉพาะและตามแบบมาตรฐานสำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมต่างๆ 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ ขวดเบียร์ ขวดเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ (soft drink) บรรจุภัณฑ์แก้วสำหรับบรรจุอาหาร บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ยาฆ่าแมลงและยา บรรจุภัณฑ์แก้วใส่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เครื่องดื่มให้พลังงาน สุรา สุราปรุงแต่งรสชาติ (liquor) เป็นต้น โดยรวมกำลังการผลิต 3,495 ตันต่อวัน 11 เตาหลอม และ 35 ไลน์การผลิตจาก 5 โรงงาน ได้แก่ ปทุมธานี ขอนแก่น ปราจีนบุรี อยุธยา และราชบุรี “กำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วของเรา อยู่ที่ 40% ของประเทศไทย โดยสามารถผลิตได้ประมาณ 5 พันล้านชิ้นต่อปีในหลายรูปแบบตั้งแต่ขวดแก้วขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่ขายให้ธุรกิจแอลกอฮอล์ คิดเป็นรายได้ประมาณ 30-40% โดยหลักๆ จะเป็นขวดเบียร์ให้กลุ่มบุญรอด ตามด้วยบรรจุภัณฑ์ soft drink ประมาณ 30% บรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารประมาณ 20% ไม่ว่าจะเป็นซอส น้ำปลา และที่เหลือ 10% เป็นบรรจุภัณฑ์ยา ยาฆ่าแมลง และกลุ่มอื่นๆ” นอกจากนั้น ศิลปรัตน์ยังเล็งเห็นความสนใจในทุกโอกาสขยายอาณาจักรธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ด้วยการร่วมทุนหรือเข้าลงทุนในกิจการทั้งบรรจุภัณฑ์แก้วและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขยายการลงทุนผ่านการถือหุ้น 100% ใน บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม และเข้าถือหุ้น 100% ใน บริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษ มีกำลังการผลิตประมาณ 50,000 ตันต่อปีเพื่อปรับโมเดลธุรกิจสู่ Total Packaging Solutions ซึ่งส่งผลดีต่อการเพิ่มยอดขายสินค้าจากบรรจุภัณฑ์อื่นและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ขณะเดียวกันยังมุ่งขยายฐานลูกค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งบริษัทวางแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้การส่งออกในปี 2565 เป็น 12% เพิ่มจากปีก่อนที่ 9% โดยมุ่งเน้นเพิ่มยอดขายในประเทศสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่องและราคาขายที่ค่อนข้างดี รวมถึงแผนลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มกำลังการผลิตเตาหลอมแก้วที่ 1 ของโรงงานอยุธยาเป็น 400 ตันต่อวัน จากเดิม 320 ตันต่อวัน ซึ่งคาดการณ์เริ่มดำเนินการไตรมาส 1 ปี 2566 แล้วเสร็จไตรมาส 2 ปี 2566  

- ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน -

บททดสอบอันท้าทายช่วงวิกฤตโควิด-19 นับเป็นโอกาสสำคัญให้ศิลปรัตน์ได้แสดงฝีมือการบริหารธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนสินค้าที่จำหน่ายบรรจุภัณฑ์ได้ลดลงตามความต้องการบริโภคสินค้าและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา การลดอัตราสูญเสียในกระบวนการผลิต การปรับส่วนผสมวัตถุดิบเพื่อควบคุมต้นทุนโดยไม่กระทบคุณภาพ การเจรจาซัพพลายเออร์เพื่อล็อกราคาวัตถุดิบบางส่วน การนำเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานเข้ามาปรับใช้มากขึ้น และพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC
“ช่วงโควิด-19 เรามีต้นทุนการเก็บสินค้าใน warehouse ด้วยธรรมชาติของเตาหลอมทำงานที่อุณหภูมิ 1,600 องศาและใช้พลังงานสูงมาก ทุกครั้งที่เตาหลอมเย็นลงในอุณหภูมิห้องการจะทำให้ความร้อนกลับขึ้นมาได้ต้องใช้เงินประมาณ 40-50 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ปิดและจะทำงานต่อเนื่องถึง 15 ปีให้มากที่สุด แต่ช่วงโควิด-19 ดีมานด์ลดลง ทำให้เราต้องบริหารจัดการตรงนี้ เช่น ตัดสต๊อกขายบางส่วนให้เร็วขึ้น การลดราคา การวางเลย์เอาต์ใหม่ ส่วนต่อมาจะเป็นเรื่องคลัสเตอร์ที่ต้องปิดสายการผลิต ซึ่งเราเคยคำนวณเงินที่ต้องเสียไปประมาณ 6 ล้านบาท ถ้าต้องปิด 1 วัน ดังนั้น เราจึงต้องพยายามป้องกันไม่ให้โควิดเข้ามาเป็นคลัสเตอร์ในบริษัทเรา” ศิลปรัตน์กล่าวถึงความสำเร็จในการขับเคลื่อนองค์กรฝ่าวิกฤตด้วยรายได้จำนวน 1.25 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 523.4 ล้านบาทในปี 2564 โดยคาดการณ์การเติบโตปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดบริการตามปกติและความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ตามการบริโภคสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นทั้งเชิงรุกและเชิงรับในการเพิ่มยอดขายตามเป้าหมายและเพิ่มประสิทธิภาพบริหารต้นทุนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการมุ่งพัฒนานวัตกรรมทั้งในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มยอดขายและนวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุน ผ่านการวิจัยและพัฒนาโดยศูนย์ Technology and Innovation Center (TIC) ของบริษัท เช่น การนำขวดแก้ว lightweight ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้ปริมาณน้ำแก้วลดลงถึง 30% มาต่อยอดการวิจัยและพัฒนาสู่บรรจุภัณฑ์ประเภทอื่นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยลดต้นทุนได้ ด้วยเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมใหม่ 3-5 ผลิตภัณฑ์ในปีนี้ “เราสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้จากโรงงานที่เรามีอยู่ แต่หลักๆ จะเป็นการเพิ่มมูลค่ามากกว่า เช่น ขวดที่ผลิตยากหรือมีความซับซ้อนก็สามารถขายราคาแพงขึ้นได้ ซึ่งเราพยายามหาลูกค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นเพื่อเพิ่ม value ของเราจากกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิม และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากเครื่องจักรของเราให้มากขึ้น โดยการลด waste หรือของที่ต้องทิ้งนำไปหลอมใหม่จากเดิม 14% เหลือ 12% สมมติถ้าเราเคยต้องนำของกลับมา recycle ทิ้งและทำใหม่ 140,000 ตัน ปีนี้เราวางเป้าหมายลด waste เหลือ 120,000 ตัน ทำให้เราเพิ่มปริมาณขายของได้ 20,000 ตันหรือ 2% ถ้ายอดขายหมื่นกว่าล้าน 2% ก็เท่ากับ 200 ล้านบาท” ศิลปรัตน์ปิดท้ายถึงยุทธศาสตร์สำคัญในการมุ่งเน้นนโยบายดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้วยนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต การเพิ่มสัดส่วนใช้เศษแก้วในการผลิต การรีไซเคิลน้ำเสียก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ ควบคู่กับการดูแลสังคมและชุมชนรอบโรงงาน รวมถึงแผนลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทางเลือกแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 1 เตาจากปัจจุบัน 2 เตา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป   ภาพ: นัทธ์ชนัน เพชรดี อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine