INET กับก้าวต่อของความสำเร็จหลังการบุกเบิกธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์และระบบคลาวด์ในประเทศ สู่การจัดตั้งทรัสต์โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกองแรกของไทยเพื่อลงทุนขยายศูนย์ Internet Data Center รับดีมานด์และความเปลี่ยนแปลงยุค work from anywhere พร้อมสนองตอบการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล
การเชื่อมโลกการสื่อสารไร้พรมแดนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีจุดเริ่มต้นจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ตามความต้องการในภาคธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นของศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประเทศไทย หรือ ITSC ในการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยขับเคลื่อนประเทศให้สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและจัดตั้ง บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด ในปี 2540 โดยเป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกที่สามารถแปรสภาพเป็นมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2544 “การใช้งานอินเทอร์เน็ตในช่วงแรกยังแพร่หลายเฉพาะมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐ โดยขณะนั้นเราทำงานเป็นนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน computer network ที่ NECTEC ซึ่งเราเห็นความต้องการในภาคธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก แต่เราให้บริการไม่ได้ ทำให้ อ. ไพรัช ผู้อำนวยการ NECTEC ในสมัยนั้นเล็งเห็นความสำคัญของการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารและพัฒนาประเทศด้วยการก่อตั้ง INET ขึ้น และเราได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง” มรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET กล่าวถึงการบุกเบิกเส้นทางเทคโนโลยีและการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ยังเป็นเรื่องใหม่ในช่วงเวลานั้น ด้วยความสนใจในสถิติคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เชิงตรรกะการคิดวิเคราะห์นับตั้งแต่เลือกศึกษาปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้รับทุนการศึกษาจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คว้าปริญญาโท สาขา Computer Science จาก University of Missouri-Columbia ประเทศสหรัฐอเมริกา- เติมเต็มดีมานด์เทคฯ -
พัฒนาการทางธุรกิจของบริษัทได้รับการต่อยอดการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มจากบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Access) สำหรับธุรกิจด้วยความเร็วที่หลากหลายครอบคลุมทุกจังหวัดก่อนจะขยายการให้บริการ Co-Location โดยให้บริการศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลไอเน็ต ซึ่งเป็นศูนย์กลางให้บริการสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการนำเสนอข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต ทั้งที่เป็นเครือข่ายสาธารณะและเครือข่ายส่วนบุคคล นอกจากนั้น บริษัทยังมุ่งเน้นการบริการ Cloud Solutions ประกอบด้วย Infrastructure as a Service (IaaS) เป็นการให้บริการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที Platform as a Service (PaaS) ที่ผู้ใช้บริการสามารถนำแอปพลิเคชันมาทำงานอยู่บนระบบดังกล่าวโดยไม่ต้องลงทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และ Software as a Service (SaaS) เป็นการให้บริการด้านแอปพลิเคชัน เช่น e-mail on Cloud, ERP on Cloud ในปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยผลประกอบการในปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 7.28 พันล้านบาท รายได้รวม 1.85 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 102.46 ล้านบาท โดยผลสำรวจธุรกิจให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยจาก IDC Semiannual Public Cloud Services Tracker ปี 2020 (ปี 2563) INET มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 ในไทย (รวมผู้ประกอบการต่างชาติ) คิดเป็นสัดส่วน 14.8% ของมูลค่าตลาดรวมกว่า 6 พันล้านบาท (197.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) รองจาก Amazon Web Services และ Microsoft ขณะเดียวกันบริษัทยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในกลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์ที่เป็นผู้ประกอบการไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 4 เกือบ 10% ตอกย้ำศักยภาพผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ของไทย พร้อมต่อยอดการให้บริการด้านดิจิทัล (Digital Service) อย่างต่อเนื่อง ด้วยความมั่นใจในเป้าหมายการเติบโต 20% จากรายได้ 1.85 พันล้านบาทในปี 2563 เป็น 2.2 พันล้านบาทในปีนี้ “เราเป็น local service provider สัญชาติไทยรายแรกที่ทำเรื่อง Cloud อย่างจริงจัง นอกจากการสร้างความมั่นใจในบริการที่มาตรฐานเดียวกับต่างประเทศและการรับรองความปลอดภัยต่างๆ แล้ว เรายังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้งานไม่ต่างจากช่วงแรกที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาใหม่ๆ เราต้องบรรยายเป็นปีเกี่ยวกับ World Wide Web การ login หรือการใช้ e-mail เมื่อเป็น Cloud ก็ต้อง educate ว่า คืออะไร มันต่างจากคอมพิวเตอร์อย่างไร หรือดีกว่าข้อมูลอยู่ที่บริษัทอย่างไร สุดท้ายเรามองว่า พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เราจึงเปิดให้ทดลองใช้ฟรีจนลูกค้าเริ่มเข้าใจและมั่นใจในการใช้งาน” นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการต่อยอดการบริการด้านดิจิทัล หรือ Digital Services อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น บริการ Business Platform ด้วยธุรกิจบริการ E-Transaction บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ E-Tax Invoice Service Provider เชื่อมโยงระบบกับกรมสรรพากรและเก็บรักษาข้อมูลใบกำกับอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานความปลอดภัยในระบบสารสนเทศ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่าตัวตามการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ที่ต้องการออกใบกำกับภาษีและใบเสร็จแบบอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 หรือช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นมา “รวมทั้งเรายังพัฒนา One Chat เป็น communication tool เหมือน Line ซึ่งให้บริการต่างๆ มาเชื่อมต่อได้ โดยเบื้องหลังของระบบยังสามารถแยกการใช้งานและสิทธิที่แตกต่างกันระหว่างการใช้งานกับเพื่อนหรือที่ทำงาน พร้อมใส่ digital signature สามารถอนุมัติการทำงานได้ ซึ่งเราเริ่มพัฒนามา 3 ปีแล้วให้ระบบมีเสถียรภาพและ user friendly เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจในราคาที่คนไทยซื้อได้ ด้วยมาตรฐานสากลภายใต้กฎหมายไทย และให้บริการโดยคนไทย”- ทรัสต์ดิจิทัลกองแรกของไทย -
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลกได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (new normal) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีไอทีและเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสื่อสารรองรับระบบ 5G การทำงานแบบ work from home หรือ work from everywhere รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ซึ่งส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐใช้งานระบบคลาวด์จากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการของธุรกิจศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล หรือ Data Center ในประเทศไทยยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเทรนด์โลก โดยมีปัจจัยหลักจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องการเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก (Big Data) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของหน่วยงาน International Data Center (IDC) ที่คาดการณ์จำนวนศูนย์ปฏิบัติการเพิ่มขึ้นเป็น 1,065 แห่งในปี 2564 “เราอยู่ในธุรกิจที่เติบโตในช่วงที่ธุรกิจอื่นถดถอย เพราะการให้บริการของเราเหมือนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ หลังจากใช้ที่อื่นและมาใช้เรา เขาทำงานได้ดีกว่าในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งการให้บริการ Cloud หลักๆ ต้องมีบ้าน หรือ Internet Data Center กระจายหลายแห่งเพื่อความสมบูรณ์และความมีเสถียรภาพ เช่น Amazon ที่มี Data Center ทั่วโลก เมื่อที่ใดที่หนึ่งเสียก็สามารถนำข้อมูลที่ backup ไว้ย้ายไปที่ใหม่ได้อัตโนมัติ” ดังนั้น บริษัทจึงวางแผนขยายการลงทุนศูนย์ Internet Data Center จากเดิมที่มีศูนย์ INET-IDC 3 แห่ง ได้แก่ อาคารบางกอกไทย ทาวเวอร์ (INET-IDC 1) อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ (INET-IDC 2) และที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี (INET-IDC 3) ด้วยการระดมทุนผ่านการจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไอเน็ต หรือ INET Leasehold Real Estate Investment Trust (INETREIT) เพื่อลงทุนครั้งแรกในทรัพย์สินโครงการ INET-IDC3 เฟส 1 มูลค่าลงทุนรวมไม่เกิน 4.5 พันล้านบาท “INET-IDC ขนาดใหญ่ของเราประมาณ 20 ไร่ที่สระบุรีเป็น Data Center ที่เราลงทุนไปจำนวนหลายพันล้านบาท ซึ่งเราต้องการต่อยอด IDC และ Cloud ที่ได้มาตรฐานเป็น infrastructure ของประเทศ เราจึงพิจารณาเรื่องระดมทุนที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศอย่างการจัดตั้งกอง REIT สำหรับ IDC โดยเฉพาะ เช่น สิงคโปร์ที่มีหลายกองทุน ซึ่ง INETREIT ของเราถือเป็น Digital Infrastructure REIT กองแรกของประเทศไทย” มรกตกล่าวอย่างมั่นใจในจุดแข็งการเป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์รายแรกๆ ของประเทศ และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมไอที พร้อมทั้งศูนย์ IDC ที่มีความทันสมัยได้มาตรฐานระดับโลก โดยได้รับรางวัล Center Service Vendor of the Year 2013 จากบริษัท Frost & Sullivan องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ขณะเดียวกัน INET-IDC ยังมีเครือข่ายสำรองที่สามารถใช้เป็นศูนย์สำรองข้อมูลกรณีฉุกเฉิน Disaster Recovery (DR) Site รวมถึงได้รับการออกแบบก่อสร้างภายใต้แนวคิด Clean, Green และ Energy Saving มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อระบบระหว่าง 3 ศูนย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบแม้กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน “คีย์สำคัญที่ทำให้เราสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอยู่ที่คำว่า INET ประกอบด้วย Innovation เรามีความมุ่งมั่นเปลี่ยนนวัตกรรมเป็นบริการ และ Neutral ความเป็นกลางที่ทำให้ลูกค้าเกิดความสบายใจในการใช้บริการ เช่น ลูกค้าหลายรายของเราที่เป็นคู่แข่งหรืออยู่ธุรกิจเดียวกัน แต่ให้ความไว้วางใจใช้บริการเราและ Energetic ความกระตือรือร้น สุดท้าย Trustworthy ความซื่อสัตย์เชื่อถือได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแกนกลางที่เราพยายามปลูกฝังเป็น DNA ขององค์กรในลักษณะ Learning by doing ให้ทุกคนเป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งกันและกัน พร้อมให้คนรุ่นใหม่ที่ทำงานกับเรามีความเชื่อและ passion อย่างเดียวกันในการสืบทอดเจตนารมณ์ของบริษัทต่อไป” มรกตย้ำในความสำคัญของ core value หรือคุณค่าหลักของบริษัท ประกอบด้วยนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งมีความหมายมากกว่าการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ดีขึ้น แต่ยังครอบคลุมถึงการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจของบริษัท และความเป็นกลาง (Neutral) โดยมุ่งสร้างการเติบโตพร้อมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน พันธมิตรคู่ค้าและสังคมไทย ภาพ บมจ. อินเทอร์เน็ตประเทศไทย อ่านเพิ่มเติม:- WETV ประกาศโร้ดแมป 3 ปี รุกตลาด วิดีโอสตรีมมิง ด้วยกลยุทธ์ “3X”
- CAROUSELL แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสอง ขึ้นแท่นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น
- ดาต้าเซ็นเตอร์รากฐานอนาคตแห่ง NEW S-CURVE ไทย
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine