การจับมือกันของ นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความมุ่งมั่นก่อตั้งโรงพยาบาลคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล สู่การปฏิวัติยกระดับองค์กรตามยุทธศาสตร์ ABV ชูความสามารถรักษาโรคซับซ้อน พร้อมส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงรุกควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยีและการบริการ Telemedicine รับชีวิตวิถีใหม่ตอบเทรนด์โลก
บริเวณศูนย์กลางธุรกิจขนาดใหญ่แห่งใหม่ใจกลางเมือง (New Central Business District หรือ New CBD) เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลอายุกว่า 28 ปี ซึ่งเริ่มต้นจากความมั่นใจของบรรดาที่มีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมมือกันสร้างมาตรฐานทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสามารถให้บริการการรักษาพยาบาลได้ครอบคลุมทุกโรคในอัตราค่าบริการที่คุ้มค่าและสมเหตุสมผล (value for money services) ด้วยความพร้อมพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป “ช่วงปี 2535 เศรษฐกิจเติบโตเต็มที่ และดีมานด์โรงพยาบาลเอกชนสูงมาก ซึ่งเราและทีมแพทย์รวมถึงคนไข้จำนวนมากกว่า 100 คน เล็งเห็นโอกาสจึงร่วมกันก่อตั้ง โรงพยาบาลและถือหุ้นคนละเล็กละน้อยรวมกันเพราะต้องการสร้างโรงพยาบาลทีมี่คุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล รักษาได้ทุกโรค และค่ารักษาสมเหตุสมผล โดยในขณะนั้นเรามองด้านคุณภาพและสิ่งที่ต้องการทำมากกว่าการมองธุรกิจเป็นหลัก” นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการเริ่มต้นสร้างโรงพยาบาลจากจำนวนเตียงจดทะเบียน 160 เตียงเป็น 312 เตียง และจำนวนบุคลากรมากกว่า 2,000 คนในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้พัฒนาคุณภาพและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมการรักษาโรคทั่วไป และโรคเฉพาะทางที่หลากหลาย ประกอบด้วย 2 สถาบันทางการแพทย์ ได้แก่ สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้า สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า รวมทั้ง 22 ศูนย์การแพทย์ ได้แก่ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สูตินรีเวช ศูนย์ศัลยกรรม ศูนย์อายุรกรรม ซึ่งครอบคลุมการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาโรคมะเร็ง ขณะเดียวกันยังมีศูนย์กุมารเวชกรรมศูนย์กระดูกและข้อพระรามเก้า ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์รังสีวิทยา ศูนย์จักษุ ศูนย์หู คอ จมูก ศูนย์ทันตกรรม ศูนย์จิตเวช ศูนย์ผิวหนังและศัลยกรรมความงาม ศูนย์สุขภาพเส้นผม ศูนย์รักษ์ข้อ W9 Wellness Center คลินิกเต้านม และคลินิกไทรอยด์ “เราพัฒนาคุณภาพมาตลอดตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาลวันแรกก็มีคนไข้ 100 กว่าคน และขีดความสามารถรักษาได้ทุกโรค โดยเฉพาะโรคซับซ้อน เช่น การผ่าตัดบายพาสหัวใจตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาลการผ่าตัดเปลี่ยนไต การทำเด็กหลอดแก้วที่ทำได้เป็นรายแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเราสามารถรักษาได้ทุกโรค โดยทีมแพทย์ประจำหรือแพทย์เฉพาะทาง 120 คน และแพทย์ไม่เต็มเวลา 400 คน รวมมากกว่า 500 คน” เปิดยุทธศาสตร์ ABV ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์เทคโนโลยีและวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อแทบทุกธุรกิจทั่วโลก เช่นเดียวกับการให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งนายแพทย์เสถียรได้เล็งเห็นความสำคัญในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจโรงพยาบาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และความต้องการยุคดิจิทัลในรูปแบบ new normal ด้วยยุทธศาสตร์ ABV “ยุทธศาสตร์หลังโควิด-19 ของเราเรียกว่า ABV ประกอบด้วย A คือ Advance Medical Treatment การรักษาโรคซับซ้อน เช่น เปลี่ยนไต ผ่าตัดแผลเล็ก เบาหวาน ผ่าตัดกระดูก ส่องกล้อง และ B คือ Better Health คือ การฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยไม่ต้องป่วยก็มาโรงพยาบาลได้ ซึ่งเรามีศูนย์ Wellness Center เป็นสถาบัน Fix & Fit เช่น ห้องเยือกแข็ง Ice Lab การออกกำลังกายในน้ำ คลินิกรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ส่วน V คือ Virtual Hospital หรือการพัฒนาโรงพยาบาลดิจิทัลในรูปแบบ Telemedicine” สำหรับยุทธศาสตร์การรักษาโรคซับซ้อน ซึ่งโรงพยาบาลมีความมั่นใจในความชำนาญของทีมสหวิชาชีพ เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนไต การผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ การผ่าตัดสมอง การผ่าตัดต่อมไทรอยด์แบบไร้แผล เป็นต้น ด้วยความพร้อมของทีมแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยในการดำเนินการรักษาต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้ายังเป็นศูนย์รักษาโรคไตและเปลี่ยนไตแบบครบวงจร ที่มีสถิติการเปลี่ยนไตเป็นอันดับ 1 ของโรงพยาบาลเอกชน นับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการถึงปัจจุบัน (อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ยกระดับ Virtual Hospital สำหรับยุทธศาสตร์สุดท้ายที่เป็นหัวใจสำคัญในการปรับตัวเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์และประสิทธิภาพกระบวนการทำงานภายใน เพื่อก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปทางดิจิทัล (digital transformation) ของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการปรับปรุงกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการติดต่อประสานงาน การวิเคราะห์ข้อมูลและด้านการให้บริการ “การยกระดับโรงพยาบาลเป็น Digital Hospital เริ่มตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อนที่เราพยายามเปลี่ยน manual เป็นระบบคอมพิวเตอร์ และเปลี่ยนซอฟต์แวร์ พร้อมปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง 2-3 ปีที่แล้วจึงเริ่มแอปพลิเคชันใหม่จากหลายพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วยนำระบบไอทีเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ ประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลและสร้างประสบการณ์ให้ทั้งแพทย์ พยาบาลคนไข้ ได้รับความสะดวกสบายในการดูแลและสำคัญที่สุดคือ ความผิดพลาดน้อยลงเพราะใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมด” นายแพทย์เสถียร กล่าวถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายขอบเขตและรูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ และสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้บริการ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้ป่วยใน (IPD in-Rooms Application) ใช้ในการเรียกพยาบาล สั่งอาหารดูข้อมูลค่าใช้จ่าย เป็นต้น แอปพลิเคชันสำหรับผู้ป่วย (Praram 9 Patient Mobile Application) ช่วยในการนัดหมายการตรวจรักษา การลงทะเบียนผู้ป่วย การเตือนรับประทานยา และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการพัฒนาศูนย์บัญชาการควบคุม (Command Center) สำหรับการติดตามและเฝ้าระวังโรค หรือภาวะที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานการทำงานของหัวใจ “เราวางแผนเรื่อง Virtual Hospital มา 3-4 ปีแล้ว ด้วยการวางโครงสร้างไอทีให้รองรับและเริ่มทำจริงตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาด เราสามารถช่วยให้คนไข้ประจำของเราหลายคนที่ไม่ต้องการเข้ามาที่โรงพยาบาลสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ภูมิต้านทานไม่ดีจึงไม่ต้องการมาโรงพยาบาลในช่วงนั้น แต่เขามีความกังวลกับการรักษาต่อเนื่อง เราก็ให้ Telemedicine กับคุณหมอโรคมะเร็ง และตรวจร่างกายทางไกลได้ ซึ่งบริการนี้ยังสามารถใช้กับลูกค้าต่างประเทศได้ เช่น คนไข้เมียนมาและกัมพูชาที่เคยผ่าตัดหรือรักษาโรคมะเร็งกับเรา ช่วงปิดประเทศก็สามารถทำTelemedicine ให้คนไข้เจาะเลือดและส่งมาให้เราตรวจแล็บ ติดตามอาการพร้อมส่งยาไปให้ได้” ทั้งนี้นายแพทย์เสถียร ย้ำในหลักการทำงานที่เป็นหัวใจของทุกธุรกิจไม่เฉพาะการบริหารงานโรงพยาบาล ได้แก่ ด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการได้รับการยอมรับ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก รวมทั้งการดูแลบุคลากรในองค์กรให้มีความสุขและความภาคภูมิใจในงานที่ทำ พร้อมส่งมอบการบริการที่ดีและสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้บริการ “พนักงานต้องภูมิใจในงานที่ทำ และรู้สึกว่า ได้ส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพที่ได้หรือราคาที่เหมาะสม เมื่อเราสามารถรักษาโรคยากๆ ได้สำเร็จทุกคนจะรู้สึกมีความสุข ซึ่งเราจะให้เขารักษาความรู้สึกนั้นไว้เพื่อให้การทำงานมีเป้าหมายในการดูแลคุณภาพการรักษาพยาบาล นอกจากนั้น ก็เป็นการดูแลให้พนักงานมีความสุข เช่น Doctor Lounge ให้แพทย์ได้ relax สังสรรค์ สร้าง community ขึ้นมา” ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine