ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ กับภารกิจสร้าง "Innovation Thailand" - Forbes Thailand

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ กับภารกิจสร้าง "Innovation Thailand"

นวัตกรรมกำลังนำพาประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตได้อย่างไร ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กำลังนำพาองค์กรหัวก้าวหน้าแห่งนี้ รวบรวมคนเก่งในทุกมิติเพื่อค้นหานวัตกรรมช่วยชาติ

ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวโลกว่าเป็นดินเแดนแห่งรอยยิ้มและวัฒนธรรมแห่งการให้อันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยมาอย่างยาวนานและค้ำจุนประเทศ  แต่ความจริงแล้วยังมีสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดีไม่แพ้รอยยิ้มและวัฒนธรรมนั่นคือ “นวัตกรรม” ยิ่งในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้น ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมที่จะนำพาประเทศไปรอดได้ และนั่นคือภารกิจ ของ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA “เราได้เห็นไอเดียและความพลิกแพลง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมของคนไทยมากมาย โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต เช่น น้ำท่วม หรือในเหตุการณ์ล่าสุดคือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อแบบเรียลไทม์ รถเข็นเคลื่อนย้ายแรงดันลบ เครื่องช่วยหายใจ ชุดตรวจคัดกรองเชื้อเบื้องต้นจากน้ำลายที่รู้ผลใน 1 ชั่วโมง รวมถึงระบบสุขภาพทางไกล หรือ Telehealth ที่ทำให้คนไทยปรึกษาแพทย์ได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล” นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความจริงแล้วนวัตกรรมของไทยไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤตเท่านั้น แต่คนไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมมาโดยตลอด มีการต่อยอดจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากมาย นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. (NIA) ริเริ่มแคมเปญ Innovation Thailand ขึ้นมา เพื่อเปิดมุมมองใหม่ของประเทศไทยด้วยภาพลักษณ์ใหม่ด้านนวัตกรรม และชักชวนคนไทยให้มารับรู้และภาคภูมิใจในนวัตกรรมของไทย  

- มุ่งสร้างองค์กรหัวก้าวหน้า -

ดร.พันธุ์อาจ เข้ารับตำแหน่งที่ NIA ตั้งแต่ปี 2558 สมัยดำรงตำแหน่งวาะแรก (ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี) เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันแคมเปญระดับชาติ “Startup Thailand” เพื่อโปรโมตศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมด้านระบบนิเวศที่เหมาะในการเป็นศูนย์กลางของธุรกิจสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พร้อมกับการเข้ามาปรับภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กรให้ทันสมัย และเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ สอดรับกับพันธกิจขององค์กรที่มุ่งเสริมสร้างความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศ “ปัจจุบัน บุคลากรของเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ในกลุ่ม Gen M หรือ Millennial เราจึงต้องมีวิธีการส่งผ่านดีเอ็นเอที่แตกต่างไปจากหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐ และเตรียมความพร้อมรองรับบุคลากรใน Gen C ต่อไป ซึ่งในอนาคตเราอยากให้มีภาพลักษณ์เป็นองค์กรที่สดใหม่ เปี่ยมด้วยความเป็นมืออาชีพ จะเป็นองค์กรของรัฐที่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และค้นหาตัวเอง ให้เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง” ดร.พันธุ์อาจ ระบุ ดร.พันธุ์อาจ วางสถานะของสนช. ให้เป็นองค์กรหัวก้าวหน้า ในแง่การทำงานจึงวางนโยบายในเชิงรุกและวางกลยุทธ์ในเชิงยุทธศาสตร์ที่ท้าทายในด้านต่างๆ เพราะไม่ได้มองว่าจะสนับสนุนโครงการนวัตกรรมอะไรบ้าง แต่ให้คิดว่าเราคือคนสร้างระบบนวัตกรรมนั่นขึ้นมา “ผมมองว่า Passion คือสิ่งสำคัญ ผมจึงพยายามทำให้ทุกคนมี Passion และเปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานในสิ่งที่เขาสนใจเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองและฝึกให้เขาเป็น Trendsetter จากองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านนวัตกรรมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและสร้างรูปแบบให้เป็นระบบมากขึ้น” ผลจากความมุ่งมั่นทำงานของ NIA ประเทศไทยได้ขยับอันดับด้านนวัตกรรมขึ้นมาอยู่ที่ 44 จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ในอันดับที่ 51 เป็นการก้าวขยับขึ้นทีเดียว 7 อันดับ ถือเป็นความภูมิใจของคนทำงานด้านนวัตกรรม ซึ่งดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ NIA อยู่นี้ อยากให้ประเทศไทยขยับอันดับด้านนวัตกรรมไปอยู่ที่ระดับ 30 ขึ้นไป นี่คือเป้าหมายที่จะมุ่งไป ปัจจุบัน ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ซึ่ง NIA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นในประเทศไทย ได้แก่ ธุรกิจโทรคมนาคม อาหาร ประกันภัย และพลังงาน เป็นต้น  

- Innovation Thailand ทางรอด -

สำหรับ "Innovation Thailand" เป็นแคมเปญที่ NIA ริเริ่มขึ้นเพื่อชวนคนไทยให้มารู้จักและร่วมภาคภูมิใจกับนวัตกรรมฝีมือคนเไทย รวมทั้งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าคนไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยทำให้มีความสุข สะดวกสบาย และมีความประณีตในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทย และเป็นสิ่งที่ NIA หยิบยกมานำเสนอเพื่อเปิดมุมมองใหม่ของประเทศไทยที่แตกต่างไปจากเดิม ดร.พันธุ์อาจ ได้ให้ความหมายของ Innovation Thailand ในครั้งนี้ คือ นวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นหรือที่เรียกว่า Innovation for Crafted Living ทาง NIA ได้แบ่งออกได้เป็น 7 หมวด คือ
  1. Healthy Living นวัตกรรมเพื่อสุขภาพดีที่ไม่ใช่แค่การดูแลรักษาแต่รวมไปถึงการป้องกัน
  2. Easy Living นวัตกรรมเพื่อให้ผู้สูงวัย คนพิการ หรือผู้ที่ด้อยโอกาส ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและเท่าเทียมกับคนปกติแบบไร้รอยต่อ
  3. Smart Living นวัตกรรมเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่แหล่งพลังงานสะอาด การกำจัดขยะ ลดมลพิษ และคิดเผื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio-Circular-Green Economy)
  4. Connected Living นวัตกรรมที่เชื่อมโยงผู้ที่สนใจเรื่องเดียวกัน สร้างเป็นเครือข่ายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยลดช่องว่างทางความคิด
  5. Safe Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัย ครอบคลุมทุกมิติในการใช้ชีวิตทั้งในบ้านและนอกบ้าน
  6. Wealthy Living นวัตกรรมที่สร้างโอกาสและอาชีพใหม่ๆ ที่เลี้ยงตัวเองได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
  7. Happy Living นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และสันทนาการ เพื่อทำให้ชีวิตผ่อนคลายและมีความสุข
สำหรับแคมเปญ Innovation Thailand นี้ NIA ได้สื่อสารผ่านตัวแทนคนไทยด้านนวัตกรรม 7 คน มาร่วมกันสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทั้ง 7 ด้าน ผ่านคลิปวิดีทัศน์ โดยนวัตกรรมด้าน Heathy Living ถ่ายทอดผ่าน อิ๊ก กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้สร้าง App OOCA นวัตกรรมด้าน Easy Living ถ่ายทอดผ่าน ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้พัฒนา App PANNANA เพื่อผู้พิการทางสายตา นวัตกรรมด้าน Smart Living ถ่ายทอดผ่าน ครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Little Big Green นวัตกรรมด้าน Connected Living ถ่ายทอดผ่าน ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) นวัตกรรมด้าน Safe Living ถ่ายทอดผ่าน 5Lab ผู้พัฒนา App Covid Tracker แสดงผลพื้นที่ติดเชื้อ COVID-19 นวัตกรรมด้าน Wealthy Living ถ่ายทอดผ่าน รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้ก่อตั้งเพจและพอดคาสต์ MISSSION TO THE MOON และนวัตกรรมด้าน Happy Living ถ่ายทอดผ่านป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม ผู้บุกเบิกมิวสิคเฟสติวัลเมืองไทย ซึ่งจะมีการสื่อสารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทยให้คนไทยได้รับรู้และภาคภูมิใจ “การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ประเทศไทยเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” เป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพราะนวัตกรรมจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ทุกคนอยู่ได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย

ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand